‘อียู’ สรุปปมโลกเดือด (2)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
(Photo by CHRISTIAN JAMMET / AFP)

ความเดิมในคราวที่แล้วกล่าวถึงผลสรุปรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปที่ชี้ให้เห็นว่าผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกเดือดทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างความปั่นป่วนอลหม่านให้กับชาวยุโรปในทางลบอย่างไรบ้าง

ตอนต่อไปของรายงานชิ้นนี้ จำแนกความเสี่ยงออกเป็นกลุ่มๆ และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา แนวทางป้องกันในอนาคต

ในกลุ่มแรกเป็นระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด นำไปสู่ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (eutrophication) หรือปรากฏการณ์สาหร่ายพิษสะพรั่ง (algae blooming)

สาหร่ายพิษสะพรั่งเกิดจากสิ่งมีชีวิตซากพืชที่ตายจมลงสู่ท้องทะเลหรือแหล่งน้ำแบคทีเรียจะย่อยสลายซากเหล่านี้ ด้วยการดึงออกซิเจนมาใช้ในปริมาณมาก ทำให้น้ำขาดออกซิเจนและพื้นที่นั้นๆ มีปริมาณออกซิเจนต่ำมาก ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งทำให้สีของน้ำในทะเลหรือแหล่งน้ำเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว เหลือง หรือน้ำตาล

ในความเป็นจริงสาหร่ายพิษสะพรั่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ แต่กระบวนการใช้เวลาเป็นหลายสิบปีหรือหลายร้อยปีกว่าจะเกิดขึ้น ปัจจุบันสาหร่ายพิษสะพรั่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากภาวะโลกเดือด

โลกเดือดเป็นเพราะมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลกจนมีความเข้มข้นสูงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนรุนแรง ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายพิษสะพรั่งอย่างที่เห็นในปัจจุบันนั่นเอง

 

สาหร่ายพิษสะพรั่งมีชื่อเรียกอีกหนึ่งชื่อคือ “กระแสน้ำแดง” (Red Tide) หรือในบ้านเราเรียกว่า “ขี้ปลาวาฬ” ทำให้สีของน้ำในทะเลและทะเลสาบเปลี่ยนเป็นสีแดง

สาหร่ายพิษสะพรั่งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะไปจับกินอาหารทะเลปนเปื้อน สภาพน้ำเน่าเสียที่มาจากสาหร่ายพิษสะพรั่งกระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกทั้งปริมาณสัตว์น้ำลดลง

วารสารจีโอฟิสิกคัล รีเสิร์ชท์ เคยตีพิมพ์ผลวิจัยของนักวิจัยสหรัฐ ซึ่งพบหลักฐานโยงภาวะทะเลเดือดในมหาสมุทรแปซิฟิกเชื่อมโยงกับการเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาลของสาหร่ายทะเลสายพันธุ์ที่เป็นพิษนำไปสู่คำสั่งระงับทำประมงชั่งคราวทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ

ทีมนักวิจัยศึกษาสาหร่ายทะเลที่เรียกว่า P. australis ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายพิษทั้งหมดพบว่าน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำให้สาหร่ายเหล่านี้โตเร็วขึ้น 2-3 เท่าตัวกว่าปกติ และหากมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะเจาะ สาหร่ายเหล่านี้สามารถผลิตสารพิษที่เรียกว่า Domoic acid ที่สะสมในสัตว์ทะเลจำพวกกุ้ง หอยและปู แล้วเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเป็นอันตรายมากขึ้น

สารพิษนี้ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร อาการชัก การสูญเสียความจำ และเสียชีวิตได้หากสารพิษปริมาณมากเข้าไปในกระแสเลือดของโลมา สิงโตทะเลและมนุษย์

สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปวิตกกังวลว่าปรากฏการณ์สาหร่ายพิษสะพรั่งจะส่งผลพืชสัตว์ใต้ทะเลบอลติกและทะเลดำ จึงเป็นความเสี่ยงที่มองข้ามไปไม่ได้

อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงยังมีส่วนสำคัญทำให้เกิดปะการังฟอกขาว จะทำให้บรรดาฝูงปลาและสัตว์ใต้ท้องทะเลพากันอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในแหล่งอื่นที่มีอุณหภูมิน้ำทะเลเย็นกว่า มีผลกับห่วงโซ่อาหารใต้ทะเล การขยายพันธุ์ของสัตว์ใต้ทะเลนั้นๆ เปลี่ยนไป

ระบบนิเวศมีความซับซ้อนในหลายมิติที่ความรู้มนุษย์ยังทะลุไปไม่ถึง แต่ประเมินว่าภาวะโลกเดือดมีผลต่อระบบนิเวศทั้งในกลางและปลายศตวรรษนี้

ภาวะโลกเดือด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบปริมาณน้ำฝนเกิดภัยแล้งที่ยาวนานและรุนแรงกว่าและไฟป่าที่เพิ่มขึ้น

ในยุโรปตอนใต้ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าได้รับการจัดอันดับว่า “วิกฤต” ซึ่งนําไปสู่ระดับความเร่งด่วน

ไม่เพียงเฉพาะ “โลกเดือด” มีผลต่อระบบนิเวศทางน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำเสื่อมโทรม แต่การใช้ที่ดินที่ไม่ยั่งยืนและกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมทําให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ระบบนิเวศเหล่านี้จึงต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ

มลพิษจากกิจกรรมทางการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการทำเหมืองมีผลต่อระบบนิเวศน้ำจืด นําไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศ เช่น ในภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาของแม่น้ำโอเดอร์ (Oder) ในปี 2565

แม่น้ำโอเดอร์ไหลจากชายแดนสาธารณรัฐเช็กผ่านเมืองออสตราวาของโปแลนด์และเยอรมนีลงสู่ทะเลบอลติก ช่วงฤดูร้อนของปี 2565 เกิดภัยแล้งทั่วยุโรป ระดับน้ำในแม่แน่โอเดอร์ลดลง ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงด้วย ประกอบกับโรงงานตามแนวแม่น้ำปล่อยสารเคมีอันตราย อย่างเช่น ปรอท ทำให้แม่น้ำที่ขาดออกซิเจนอยู่แล้วเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายพิษสะพรั่ง

บรรดาสัตว์น้ำอย่างปลา กุ้งน้ำจืด หอยและสัตว์ชนิดอื่นๆ ตายเป็นเบือ เฉพาะปลาที่ลอยตายเพราะน้ำเป็นพิษ ชาวโปลิชจับขึ้นมาได้กว่า 100 ตัน ส่วนที่ฝั่งเยอรมนีอีกไม่น้อยกว่า 35 ตัน

ความสมบูรณ์ของป่าไม้ในยุโรปมีส่วนสำคัญมากในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อ 3 ปีก่อน ยุโรปสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 280 ล้านตัน หรือราว 7 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่ภาวะโลกเดือดยังสร้างความเสียหายกับป่าไม้ของยุโรปอย่างมากเพราะเป็นตัวการทําให้เกิดไฟป่า ภัยแล้ง ลมพัดแรง ศัตรูพืชและการแพร่ระบาดของโรครุนแรงขึ้นที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศต่อระบบนิเวศในภูมิภาคของยุโรป ถิ่นที่อยู่ และสายพันธุ์ของยุโรปมีความแตกต่างกัน

ระบบนิเวศในเทือกเขาแอลป์และภาคเหนือมีความเสี่ยงเป็นพิเศษเนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานของพืชพันธุ์หรือสัตว์ป่ามีข้อจำกัด

ในขณะที่ภาคใต้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษจากการขาดแคลนน้ำและความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ป่าไม้ น้ำจืดและแหล่งที่อยู่อาศัยชายฝั่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่พรุเป็นหนึ่งในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก ค้างคาว และหอยเป็นหนึ่งในกลุ่มสายพันธุ์ที่ได้รับรายงานว่าได้รับผลกระทบในทางลบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน แต่อีกจำนวนมากจะได้รับผลกระทบในอนาคต

ดังนั้น ความเสี่ยงต่อระบบนิเวศบนบก น้ำจืด ทะเล และชายฝั่งจึงมีผลอย่างมากต่อความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านน้ำ และสุขภาพของมนุษย์

 

รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปชี้ว่า การวางนโยบายเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ควรได้รับการปรับปรุงและรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศให้เข้มแข็งมากขึ้น

การปลูกป่าและการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสามารถช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่ต้องพิจารณาสภาพภูมิอากาศในอนาคตเพื่อให้แน่ใจว่าป่าที่ปลูกใหม่หรือป่าที่งอกใหม่ยังคงอยู่ในที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในช่วงอายุที่ยาวนาน

นอกจากนี้ จะต้องคำนึงเรื่องการใช้พื้นที่ป่าและที่ดินที่แตกต่างกันเมื่อเวลาผ่านไปจําเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ

กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของยุโรปควรจัดลําดับความสําคัญของการลดการปล่อยมลพิษโดยไม่ต้องพึ่งพาป่าไม้มากเกินไป

ในอนาคตป่าไม้ควรมีบทบาทเสริมในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

คําแนะนําสําหรับประเทศสมาชิกในการปกป้องระบบนิเวศในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจําเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างการวางแผนด้านพื้นที่ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง การปกป้องระบบนิเวศชายฝั่งที่จําเป็นภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การลดมลพิษจากกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรมควรมีความสําคัญในการปกป้องระบบนิเวศของยุโรปภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่สําคัญและลําดับความสําคัญของนโยบายสําหรับกลุ่มอาหาร

ความเสี่ยงต่อการผลิตพืชผลเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในคลัสเตอร์ “อาหาร” โดยมีความรุนแรงของความเสี่ยงอยู่ในระดับวิกฤตในยุโรปตอนใต้แล้ว ผลกระทบด้านสภาพอากาศกระทบต่อการผลิตอาหารภายในและภายนอกยุโรปสามารถสร้างความเสี่ยงที่สําคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารภายในทวีปภายในกลางศตวรรษ

ยุโรปเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการผลิตอาหารและความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากผลผลิตพืชผักผลไม้ในยุโรปกําลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศอย่างมาก

ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 สี่เดือนแรกของปี 2566 เป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทั้งเดือนเมษายน 2565 และเดือนเมษายน 2566 ทําลายสถิติสําหรับเดือนที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุดในยุโรปเฉพาะสเปนเป็นแหล่งผลิตน้ำมันมะกอกได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สเปนเข้าสู่ฤดูร้อนโดยมีน้ำที่เก็บในอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 20%

40% ของพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในภาวะแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก 80% เกษตรกรและเจ้าของปศุสัตว์ชาวสเปนบอกกับสื่อว่า “นี่คือหายนะอย่างแท้จริง”

 

ในนโยบายด้านสุขภาพ สหภาพยุโรปสนับสนุนการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพสําหรับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศในประเทศสมาชิก จะเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองพลเรือน ระดมบุคลากรทางการแพทย์และเสบียงข้ามพรมแดนในช่วงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ

การเพิ่มความรู้ให้กับทีมแพทย์ฉุกเฉินควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อวินิจฉัยโรคที่ไม่เคยแพร่หลายในประเทศหรือภูมิภาคนี้มาก่อน

กลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดเช่นเด็กหรือผู้สูงวัย ควรรวมอยู่ในนโยบายที่เกี่ยวข้องและมาตรการปรับตัวด้านสภาพอากาศทั้งหมด

การวางแผนเชิงพื้นที่และมาตรฐานอาคาร จะต้องเป็นนโยบายหลักในการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อน

สหภาพยุโรปสามารถใช้อํานาจทางกฎหมาย เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยและสุขภาพในที่ทํางาน เพื่อสร้างข้อกําหนดบังคับและกลไกการบังคับใช้ที่เข้มงวดเพื่อปกป้องคนงานกลางแจ้งจากความร้อนสูง เช่น ในการเกษตรและการก่อสร้าง

สหภาพยุโรปกําลังดําเนินมาตรการเพื่อจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อโรคติดเชื้อ เช่น นโยบายอียูฟอร์เฮลท์ (EU4Health)

ระบบเฝ้าระวังโรคสําหรับระบบที่ไวต่อสภาพอากาศอาจต้องเสริมความแข็งแกร่งและประสานกันทั่วยุโรป เช่น โครงการควบคุมพาหะและโรคติดเชื้อ

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปภาพรวมผลกระทบในยุโรปที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกเดือด การนำเสนอแนวทางรับมือและการป้องกันในอนาคต

กลับมามองที่บ้านเรา อย่าเพิ่งถามหาแผนการรับมือภาวะโลกเดือดในอนาคตเหมือนอย่างยุโรป ถามแค่ระยะสั้นๆ เช่น แผนแก้ปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ที่ฟุ้งไปทั่วภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ถูกตราหน้าว่าเป็นเมืองมลพิษอันดับ 1 ของโลก จะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่จึงแก้ปัญหาสำเร็จเสร็จสิ้น? •