นายพล นักธุรกิจรายใหญ่-นักการเมือง ในธุรกิจแข่งม้าในไทย (4)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ธุรกิจม้าแข่งในไทย

เจ้าของคอกม้า สมาชิกสามัญ 44 คอก

เจ้าของคอกม้า สมาชิกสามัญมีความน่าสนใจคือ

กลุ่มแรก กลุ่มนักการเมือง

เป็นนักธุรกิจต่างจังหวัดที่มีพลังทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่น ซึ่งดึงดูดให้พรรคการเมืองในกรุงเทพฯ ต้องมาพึ่งบารมีของพวกเขา

เจริญ พัฒนดำรงจิตร หรือ เสี่ยเล้ง เจ้าพ่อขอนแก่น ที่เป็นทั้งเจ้าของสนามม้า สนามมวยในขอนแก่น เป็นนักธุรกิจประสบความสำเร็จในธุรกิจพืชไร่ ข้าวโพด ในยุคบุกเบิกภาคอีสาน ต่อมาทำไร่มันสำปะหลัง สวนป่ายูคาลิปตัส สนและไผ่ตง ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านบาท พื้นที่ 4,000 ไร่

สัมปทานป่าไม้ในเมียนมา ตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี พัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัท ขอนแก่นเจริญ ทาวเวอร์ ตลาดสด อาคารพาณิชย์ โรงแรม ธุรกิจครอบครัว มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท1

เขาก้าวสู่วงการม้าแข่งและมวยในขอนแก่น เป็นเจ้าของคอกม้าใหญ่ ร่วมกับ วิญญู คุวานนท์ เจ้าของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โค้วยู่ฮะ2 พร้อมด้วยการรั้งตำแหน่งนายกสมาคมแข่งม้าและนายกสมาคมมวย

เจริญ พัฒนดำรงจิตร เป็นตัวอย่างดีที่สุดของนักการเมืองท้องถิ่นที่มีคอกม้าแข่ง สนามม้าแข่งและค่ายมวยที่ส่งนักมวยเข้าชก สร้างทั้งความร่ำรวย เป็นผู้กว้างขวางในสังคมชนบท

เป็นแม่เหล็กให้ชนชั้นนำอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคกิจสังคม (ทศวรรษ 1970) ต้องเข้ามาพึ่งบารมีทางการเมืองของเจริญ พัฒนดำรงจิตร เพื่อให้แกนนำของพรรคกิจสังคมสมัยนั้นคือ สุรัชต์ โอสถานุเคราะห์ สุวิทย์ คุณกิตติ และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นฐานเสียงของพรรคกิจสังคมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลช่วงนั้น

กรณี ปรีชา ชัยรัตน์ คนดังจังหวัดอุดรธานี คล้ายคลึงกับ เจริญ พัฒนดำรงจิตร แต่ไม่ถึงกับมีความสัมพันธ์และสนับสนุนการเมืองในระดับชาติ

ปรีชา ชัยรัตน์ เป็นประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิศาลเจ้าปู่ย่า3 ใจบุญด้วยการบริจาคให้กับชาวบ้านในอุดรธานีเป็นประจำ เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม4 ตลาดปรีชาและอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโรงแรม บ้านเชียงอุดรธานี เจ้าของสนามม้าอุดรธานี หรือ อินเตอร์เกมส์ปาร์ค5 ฟาร์มเลี้ยงม้าและวัวสายพันธุ์ต่างประเทศ

สรุป ในยุคบุกเบิกภาคอีสาน ช่วงทศวรรษ 1970 ความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารจากสหรัฐอเมริกา เพื่อทำสงครามในเวียดนามและลาว และทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทย

การสร้างถนน ฐานทัพ บุกเบิกพืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฝ้าย ความเป็นเมือง บาร์ อาบอบนวด โรงแรม มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ปั๊มน้ำมัน เอเย่นต์จำหน่ายรถยนต์ ได้สร้างนักธุรกิจท้องถิ่นที่มากอิทธิพล ซึ่งได้ผันตัวมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นผู้มีชื่อเสียง และเป็นที่พึ่งของพรรคการเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ ในการเมืองระดับชาติ

น่าสังเกตว่า ธุรกิจม้าแข่งและสนามม้า ช่วยเสริมสร้างความสำคัญของเจ้าของคอกม้า เจ้าของสนามม้าและเจ้าของสนามมวยในภาคอีสานด้วย

 

กลุ่มที่สอง กลุ่มทหารบก

กลุ่ม พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ทหารบกและเครือข่าย เกี่ยวข้องกับสนามม้าและการเมืองไทยร่วมสมัยโดยตรง

พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 11 นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 22 เป็นทหารราบสังกัดกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ นับเป็นนายทหารที่โดดเด่นและน่าจะมีเส้นทางก้าวหน้าในการรับราชการทหาร

เพราะนอกจากได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขายังเกิดในครอบครัวนายทหาร เขาเป็นลูกชายคนที่ 4 ของผู้มีความสำคัญในทางทหารและการเมืองคือ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา วุฒิสมาชิก (1968) แม่ทัพภาคที่ 1 (1975-1976) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 1978

แล้วผู้ที่ช่วยให้ พล.อ.วิชญ์สนิทกับ บูรพาพยัคฆ์6 คือ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ่อของเขาเอง พล.อ.ยศรู้จักมักคุ้นนักการเมือง โดยเฉพาะ เสนาะ เทียนทอง เพราะเขาเป็นผู้ชักชวนเสนาะสู่สนามการเมือง ลงสมัครในนามพรรคชาติไทยตอนนั้น

เสนาะทำธุรกิจคือ บริษัท ส.เทียนทอง จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระแก้ว7 พล.อ.วิชญ์ยังมีเส้นทางเกี่ยวข้องกับสนามม้าและม้าแข่งอย่างยาวนานด้วย

พล.อ.วิชญ์สัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมัยที่ พล.อ.วิชญ์อยู่กรมทหารพรานที่ 12 จังหวัดสระแก้ว ก่อนมาเติบโตที่กรมทหารราบที่ 1 พัน 3 รอ.8

พล.อ.วิชญ์เริ่มต้นสัมผัสกับสนามม้าและม้าแข่ง ตั้งแต่รุ่นพ่อของเขา เมื่อ พล.อ.ยศ เทพหัสดินฯ เป็น ประธานคณะกรรมการอำนวยการแข่งม้า ราชตฤณมัยสมาคมฯ ตั้งแต่ปี 1975 ต่อมา พล.อ.วิชญ์ก็ดำรงตำแหน่งเดียวกันนี้เหมือนกับพ่อของเขา

กลุ่ม พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดินฯ ประกอบด้วย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พ.อ.ดิลก ธนภัทร์ พ.ต.อ.ประทักษ์ รมยานนท์ สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ กลุ่มนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับราชตฤณมัยสมาคมฯ ในฐานะกรรมการอำนวยการในช่วงทศวรรษ 2000 จนถึง 2018

ในปี 2006 พล.อ.วิชญ์กับพวก ได้แก่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์9 ก่อตั้งบริษัท บางกอกดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท บิสเนส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่ทำธุรกิจขายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ บริษัททั้ง 2 ตั้งอยู่ ณ ราชตฤณมัยสมาคมฯ10

2 บริษัทนี้ทั้งประกอบธุรกิจและเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทั้งสองบริษัทได้งานในรัฐวิสาหกิจที่ทหารมีบทบาท เช่น โรงงานยาสูบ

กลุ่ม พล.อ.วิชญ์ปรามการใช้ราชตฤณมัยสมาคมฯ เดินงานการเมืองในช่วงการขับไล่ทหาร ปี 2010 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สมัยที่ยังรับราชการทหารช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สมัยนั้นกลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ บางคนยังให้การสนับสนุน และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และนายทหารผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร คือ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ซึ่งเป็นเจ้าของคอกม้า คอกอัศวโยธิน และเคยเป็นนายกสมาคมนักแข่งม้าแห่งประเทศไทยอีกด้วย11

ในที่สุด พล.อ.ประวิตรได้ให้ พล.อ.วิชญ์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมการจัดแข่งม้าแทน พล.อ.บุญเลิศ แล้วกดดันไม่ให้ พล.อ.บุญเลิศและพรรคพวกใช้ราชตฤณมัยสมาคมฯ เป็นสถานที่ดำเนินการ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์และกลุ่มของ พล.อ.ประวิตรอีกต่อไป

ให้สังเกตว่า สมาชิกของกลุ่ม พล.อ.วิชญ์ล้วนเป็นเจ้าของคอกม้า คือ เจริญ พัฒนดำรงจิตร (คอกปาณีรัชต์) สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ (คอกวัชรวิทย์) พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (คอกพลอยศักดา) พ.อ.ดิลก ธนภัทร (คอกอาสา) พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดินทร์ฯ (คอก เอส วาย) กลุ่มนี้ยังมีบทบาททางการเมืองต่อไป แม้มีการยุบสนามม้าราชตฤณมัยสมาคมฯ แล้ว (หลังปี 2018)

กลุ่มของ พล.อ.วิชญ์ยังคงรวมตัวเพื่อบริหารราชตฤณมัยสมาคมฯ พยายามจัดหาสถานที่ใหม่ก่อสร้างสนามม้า หาทางชำระหนี้สิน 1,300 ล้านบาท

พวกเขายังมีบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะ พล.อ.วิชญ์เคยเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ เคยเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นผู้ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ (ปัจจุบัน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค) ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.วิชญ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร ในขณะที่เขาเคยเป็นคู่แข่งคนสำคัญกับ พล.อ.ประยุทธ์ชิงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2011 และได้พลาดโอกาสนั้น12

เขาเป็นกรรมการมูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่ พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน13

 

สรุป

จากธุรกิจแข่งม้า เจ้าของคอกม้า นักการเมืองท้องถิ่นเติบโตรวดเร็วและสัมพันธ์กับนักการเมืองและนายพลระดับชาติ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย เช่น พล.อ.ไตรรงค์สัมพันธ์กับกลุ่ม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้แก่ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดินฯ และพ่อของเขา พล.อ.ยศ เทพหัสดินฯ นายพลคนสำคัญแห่งวงค์เทวัญ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นมิตรและร่วมงานกับบูรพาพยัคฆ์โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ดังนั้น ธุรกิจแข่งม้า สนามม้า คอกม้าจึงเป็นช่องทางแห่งประโยชน์ร่วมกันทางการเมือง หาใช่ศัตรูทางการเมืองของฝักฝ่ายการเมืองอย่างที่ใครๆ คิด

 


1ผู้จัดการ, ทำเนียบ นักบริหารเด่นภาคอีสาน, (ขอนแก่น แมนเนเจอร์มีเดีย, 2538 ) : 37

2กองบรรณาธิการ ฐานสัปดาห์วิจารณ์ “ขนานนามว่า ก๊อดฟาเธอร์” สำนักพิมพ์ 222, 2538) : 91-128. ร่วมลงทุนเปิดคาสิโน ที่ศรีลังกา

3มูลค่า 100 ล้านบาท อ้างจาก “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ผู้จัดการออนไลน์ 4 กุมภาพันธ์ 2562 : 1.

4สัมภาษณ์ นักธุรกิจจังหวัดอุดรธานี วันที่ 2 และ 5 ตุลาคม 2022

5เนื้อที่กว่า 100 ไร่ เป็นบริเวณพื้นที่อยู่อาศัย ห่างจากเขตเทศบาลนครอุดรธานี 1 กิโลเมตร อ้างจาก “เสี่ยปรีชา ลั่นเดินหน้าสนามม้าแข่งอุดรฯ ต่อ” Udontoday.co 28 ตุลาคม 2561

6พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เหล่าจินดา

7ปรัชญา นงนุช, “บิ๊กน้อย ลูกหม้อวงค์เทวัญ ร่างทรงบูรพาพยัคฆ์ เครือข่าย สนามม้านางเลิ้ง” Spacebar 1 2565 : 3.

8เพิ่งอ้าง : 3.

9ถอนหุ้นจากบริษัท ธันวาคม 2007

10“2 บริษัทฐานทุน เสธ.อ้ายกับพวก” สำนักข่าวอิสระ 21 พฤศจิกายน 2555 ที่ทำการของทั้ง 2 บริษัทอยู่ที่ 183 สนามม้านางเลิ้ง ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพ 10300

11อ้างจาก ตาราง เจ้าของคอกม้ากิตติมศักดิ์ ใน อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์, “นายพล นักธุรกิจใหญ่-นักการเมืองกับธุรกิจแข่งม้าในไทย (3)” มติชนสุดสัปดาห์ 2567

12ปรัชญา นงนุช, “บิ๊กน้อย ลูกหม้อวงค์เทวัญ ร่างทรง บูรพาพยัคฆ์ เครือข่ายสนามม้านางเลิ้ง” Spacebar, 1 สิงหาคม 2565, : 2.

13มี เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิ มีอดีตรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.พัฑฒะนะ พุธานานนท์ เป็นกรรมการมูลนิธิ ภายหลังเป็นกรรมการบริหาร บริษัทไทย เบฟเวอเรจ อ้างจาก อสรพิษ, “มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ‘บ้านใหญ่’ ตัวจริง เสียงจริง” เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ 18 กุมภาพันธ์ 2561