เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ‘ไหว้ทีก๊องแซ’ วันปีใหม่ที่แท้ของชาวฮกเกี้ยนและหงวนเซียว จบเทศกาลตรุษจีน (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ดังที่เล่าไปว่าการไหว้ทีก็องแซนับว่าเป็นงานพิธีที่มีขนมต่างๆ มากที่สุดในบรรดางานพิธีทั้งหลาย บ้านใดคนน้อยก็ต้องลดปริมาณลงแต่ไม่ลดชนิด เป็นงานออกหน้าอวดเครื่องโต๊ะในบ้านและเป็นงานรวมญาติมิตร

ปีนี้ผมเพิ่งได้ลองจัดไหว้ทีก๊องแซอย่างเต็มรูปแบบ ต้องขอบคุณญาติมิตรที่มาร่วมงานกัน บางท่านมาตั้งแต่ตั้งโต๊ะปีแรกจนบัดนี้ ที่สำคัญคือเทียนเต็กซือหูที่ให้คำแนะนำอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและศิษย์ร่วมสำนักเซียงกองต๋องทุกคนที่มาช่วยทั้งงานเบื้องหลังคือจัดเครื่องบูชา จัดโต๊ะ ตัดกระดาษอะไรต่างๆ และงานเบื้องหน้าคือสวดมนต์ (ซ่งเก๊ง) และช่วยประกอบพิธีกรรม

พิธีกรรมสำคัญแบบจีนมักจะต้องมี “ฎีกา” (ส่อ) สำหรับทูลถวายรายงาน นี่ก็นับเป็นขั้นตอนอันเนื่องมาจากระบบราชการในจีนเอง

คือถือว่าเทพเจ้านั้นเป็น “เจ้า” จริงๆ จะอัญเชิญหรือเซ่นไหว้ก็ต้องแต่งหนังสือหรือฎีกาเข้าไปทูลถวายก่อน ในฎีกานั้นก็มีรูปแบบตามขนบ ที่ต้องบอกรายละเอียดของงาน ใครเป็นเจ้าภาพ ใครร่วมพิธีที่ไหนอย่างไร

ผมไม่มีความรู้ภาษาจีน ท่านว่าต้องใช้คำอย่างเก่า ไม่ใช่ภาษาจีนปัจจุบัน และเป็นภาษาราชการมิใช่ภาษาปาก ต้องแต่งให้สละสลวย เมื่อแต่งแล้ว คนอ่านก็จะต้องมีความรู้สามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง มีจังหวะและสำเนียงตามระเบียบแบบแผน ฎีกาจึงเป็นอีกเรื่องที่ยากสำหรับคนไหว้เจ้า เพราะไม่ใช่แค่รู้ภาษาจีนแล้วจะทำได้

หลายงานจึงทิ้งเรื่องนี้ไปเสีย หรือที่เคยเห็น เขาเขียนฎีกาเป็นภาษาไทยเหมือนประกาศเทวดาเอามาใช้ในพิธีจีนกันแล้วครับ

 

การส่งฎีกาไปก็มีพิธีกรรมอยู่อีก ถ้างานธรรมดาก็เผาส่งธรรมดา เช่น การเผากระดาษอย่างอื่น อาจมีพิธีกรรมแทรกอยู่บ้างเช่นท่องคาถาส่งฎีกา หากเป็นงานสำคัญก็แต่งเทวดาส่งสาร ตัดเครื่องกระดาษเป็นรูปเทวดาขี่นกหรือม้า แล้วปลุกเสกถวายเหล้า จากนั้นจึงให้รูปเทวดานั้นนำฎีกาไป

ส่วนการสวดมนต์ (ซ่งเก๊ง) ในงานพิธีสำคัญ ส่วนใหญ่หากมีการเชิญพระหยกเทวราชก็มักมีพิธีกรรมสวดมนต์ด้วยก่อนจะอ่านฎีกาทูลถวาย

บทสวดมนต์ที่ใช้ในพิธีกรรมอย่างจีน มีทั้งมาจากพุทธศาสนาและศาสนาเต๋าที่เป็นทางการ คือมีข้อกำหนดว่าต้องสวดบทไหนอย่างไร โดยมากมาจากคัมภีร์สำคัญและใช้กันในอาราม

กับอีกแบบคือบทสวดอย่างชาวบ้าน บางทีก็ผสมกันหมดทั้งพุทธทั้งเต๋าและไสยเวท หลายบทเป็นปกรณ์หรือนิทานลำนำที่ชาวบ้านแต่งกันเอง ไม่ปรากฏในคัมภีร์หลวง แต่นิยมนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์

บทที่ใช้กันโดยมากตามขนบที่ผมศึกษามา คือบททำวัตรเช้าเย็นแบบชาวบ้าน เรียกในภาษาฮกเกี้ยนว่า “เตียวบ๊อกโคสย่ง” มีทั้งคัมภีร์ชาวบ้านผสมกับบทสวดจากพุทธศาสนา แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดโดยเฉพาะในทางการเมืองอยู่ด้วย

จะเล่าในที่นี้ก็มิสมควร เพราะเป็นเรื่อง “ภายใน” และยืดยาวมาก

 

ที่เล่าว่ามีฎีกาและมีสวดมนต์ในการไหว้ทีก๊องแซนั้น บ้านคนทั่วๆ ไปเขาก็มิได้ทำกันขนาดนี้หรอกครับ คงเป็นเพียงผู้ใหญ่จุดเทียนธูปและกล่าวคำอธิษฐานที่เป็นสวัสดิมงคลต่างๆ เท่านั้นเอง ที่มีฎีกาและมีสวดมนต์มักเป็นเรื่องของศาลเจ้าและสำนักไสยเวทเสียมากกว่า

เมื่อไหว้ทีก๊องแซแล้ว คนมักไม่ใคร่พักผ่อนหลับนอนกัน ส่วนมากก็กินเลี้ยงกันต่อ หากบ้านใดไหว้หมูย่างเป็นตัวหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ ก็สับแบ่งกันกินกับคนร่วมงานเสียเดี๋ยวนั้น

ที่สำคัญของไหว้ทีก๊องจะไม่แจกผู้ร่วมงานทันที แต่จะต้องแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกจะนำไปถวายแด่แท่นบูชาเทพเจ้า เช่น พวกหง่อสิ้ว บิ๊ดเจี่ยน ขนมเข่ง ฯลฯ อันเป็นของสำคัญบนโต๊ะไหว้ กระถางธูปไหว้ทีก๊องนั้นก็จะเชิญเข้าบ้าน และนำธูปใหญ่ปักลงในกระถางประจำบ้าน

ส่วนที่สองจะแบ่งถวายแท่นบูชาบรรพชนในบ้านและส่วนสุดท้ายจึงจะแจกจ่ายผู้ร่วมงานให้ทานเป็นมงคล ถือว่าทีก๊องทรงประทานของไหว้เหล่านี้แด่เทพเจ้า เทพบิดรหรือบรรพชนจนมาถึงมนุษย์ไปตามลำดับ

อันนี้ก็เรื่องระบบคิดแบบจีนอีก คือของบรรณาการผู้ใหญ่มอบลงมาให้ผู้น้อยได้ ไม่ถือเป็นการดูถูกแต่กลับถือว่าเป็นเกียรติด้วยซ้ำ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความโปรดปรานและความมีใจใหญ่กว้างของผู้ปกครอง ในสมัยโบราณของจีนเมื่อกษัตริย์เซ่นไหว้แล้วจะต้องแบ่งเนื้อสัตว์สังเวยนั้นประทานแก่ขุนนางน้อยใหญ่ หากไม่แบ่งปันถือว่าบกพร่อง

คัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื่อก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้

 

เมื่อวางของไหว้ไว้ที่แท่นบูชาแล้วจะต้องทิ้งไว้สามวันตามคติว่า “ศุภมงคลเทพสถิตสามทิวา” จุดธูปบูชาตลอดทั้งสามวันจึงค่อยยกบรรดาของไหว้ทั้งหลายออก

พวกของเซ่นไหว้ที่ทำจากน้ำตาลทรายมักจะละลายทำวุ้นหรือบิเป็นชิ้นใช้ชงเครื่องดื่ม แต่ผมเคยได้ยินบางท่านก็นิยมตั้งเอาไว้นานๆ อาจตั้งที่หิ้งพระหรือที่เต่กี้จู้ในบ้านก็มี

หลังจากวันที่เก้าก็ใกล้จะจบเทศกาลตรุษจีนและการเซ่นไหว้อันยาวนานแล้วครับ ถัดไปอีกหกวันก็มาถึงวันสุดท้ายของตรุษจีนเสียที แต่นับว่าเป็นเทศกาลย่อยซ้อนเข้าไปอีก คือ “หงวนเซียว”

เทศกาลหงวนเซียวหรือหยวนเซียว มีความหมายว่า “เพ็ญแรก” เพราะอยู่ในวันสิบห้าค่ำเดือนอ้ายจีน ถือเป็นวันเพ็ญแรกในรอบปี

บ้างก็เรียกเทศกาลชาวนาเพราะจะได้ทำการเพาะปลูกแล้ว

หรือเรียกเทศกาลโคมไฟเพราะนิยมแขวนโคมไฟประดับประดาตามที่ต่างๆ ให้คนออกไปชมเพ็ญแรกพร้อมโคมไฟอันสวยงาม

บางท่านถือว่าเป็น “วันพระ” แรกในปีนั้น ก็ต้องสวดมนต์ไหว้พระตามที่ได้ปฏิบัติมา

แต่มีของไหว้พิเศษที่สำคัญในเทศกาลนี้สองอย่าง

อย่างแรกคือขนมบัวลอยงาดำหรือขนมบัวลอยใส่ไส้ที่เรากินๆ กันตามร้านน้ำเต้าหู้นั่นแหละครับ ต่างกับทึงอี๋ที่เป็นบัวลอยธรรมดา นับเป็นของในเทศกาลนี้โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ชาวฮกเกี้ยนยังมีขนมพิเศษอีกอย่างในช่วงหงวนเซียว คือขนมเต่าที่ทำด้วยแป้งขนมโก๋ เรียกว่า “หองเพี้ยนกู๊” มีขนาดและรูปร่างแตกต่างจาก “อั่งกู๊” หรือขนมเต่าแดงธรรมดาๆ ที่เราใช้ไหว้เจ้าตามเทศกาลทั่วๆ ไป

 

ผู้ทำหองเพี้ยนกู๊จะปั้นแป้งขนมโก๋อ่อนให้เป็นรูปเต่า มีรูปลักษณ์ตามแต่จะจินตนาการขึ้นมา มักจะมีขนาดใหญ่ตั้งแต่สองฝ่ามือไปจนเป็นเมตร ตัวเต่าทาสีแดงอันเป็นสีมงคลและนิยมเขียนลวดลายและคำอวยพรมงคลต่างๆ ลงไป ของไหว้ชนิดนี้นับว่าอวยพรให้มีอายุยืนยาวเหมือนเต่า

นอกจากจะใช้เซ่นไหว้ในเทศกาลหงวนเซียวแล้ว ทางภูเก็ตยังนิยมนำไปไหว้ “พ้อต่อก๊อง” หรือ อัคนีชวาลมุขเปตรผู้เป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร ในงานอุทิศกุศลเดือนเจ็ดจีน

ในประเพณีของคนจีนระนองบ้านผม หองเพี้ยนกู๊ยังนิยมใช้ไหว้ในงานแซยิดหรืองานเทวสมภพขององค์เทพ โดยเฉพาะองค์แพทยเทพโปเส้งไต่เต่ และเป็นขนมเสี่ยงทายดวงชะตาด้วย

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ ยังมีร่องรอยการไหว้หองเพี้ยนกู๊ในงานหงวนเซียวที่ศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย ศาลเจ้าฮกเกี้ยนสำคัญในพระนคร เพียงแต่ของชาวตลาดน้อยใช้แป้งสาลีทำรูปเต่าตัวมิใช่แป้งขนมโก๋อย่างทางปักษ์ใต้ แต่ก็เห็นเค้าลางของประเพณีเดียวกันอยู่

ผมเข้าใจว่าที่ต้องไหว้หองเพี้ยนกู๊ในเทศกาลหยวนเซียวก็เพราะมันตรงกับวันเทวสมภพของ “เทียนก๊วนไต่เต่” นภามาตยเทพหรือเทพเจ้าผู้ปกครองฟ้า เป็นหนึ่งในคณะมาตยเทพสามองค์ (ซำก๊วนไต่เต่) ผู้ปกครองฟ้า (เทียนก๊วน) ดิน เต่ก๊วน) และน้ำ (จุ้ยก๊วน) ซึ่งถือว่ามีศักดิ์ใหญ่รองลงมาจากองค์พระหยกเทวราช (หยกหองสย่งเต่, เง็กเซียนฮ่องเต้) เลยทีเดียว

 

เมื่อไหว้เทศกาลหงวนเซียวจบลงแล้ว คืนนั้นก็จะปลดผ้าแดงมงคล (หมึงฉาย) หน้าบ้านลง เก็บข้าวของประดับในเทศกาลตรุษจีนออก ก็เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลเซ่นไหว้ต้นปีอันยาวนานเสียที

มักกล่าวกันว่า เซ่นไหว้ครบจนถึงหงวนเซียวแล้วจะ “เทียนก๊วนซู่ฮก” คือ นภามาตยเทพจะทรงประทานบุญวาสนามาให้ เป็นมงคลไปตลอดทั้งปี

ปัจจุบันน้อยบ้านที่จะเซ่นไหว้ยาวนานครบถ้วนเช่นนี้ เพราะใช้กำลังทรัพย์และความทุ่มเทมาก จึงเลือกเอาเฉพาะวันสำคัญๆ ในเทศกาลหรือที่สืบทอดกันมาในครอบครัว ไม่จำเป็นจะต้องเซ่นไหว้มากมายเช่นนี้ก็ได้

แต่ที่ได้เขียนเรื่องตรุษจีนมายืดยาวถึงสิบตอนเข้านี่แล้ว อย่างน้อยหากได้รู้ว่าประเพณีเดิมเป็นอย่างไรและมีเหตุผลความคิดใดอยู่เบื้องหลังก็น่าจะเป็นประโยชน์บ้างกระมัง

ขอบคุณที่ติดตามมาจนจบซีรีส์นี้ครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง