‘ผู้’ ประดับอินทรธนู และข้อแนะนำ-ชี้แนะ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

‘ผู้’ ประดับอินทรธนูและข้อแนะนำ-ชี้แนะ

วันเวลาที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ เพิ่งผ่านพ้นวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันข้าราชการพลเรือนมาได้เพียงวันเดียว

เมื่อวานนี้มีเหตุการณ์เล็กๆ เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในชีวิต แม้ไม่ใช่เหตุการณ์ใหญ่โตอะไร แต่ผมนึกว่าถ้าบันทึกไว้เป็นหลักฐานก็เห็นจะดี

ช่วยๆ กันอ่านหน่อยนะครับ

เรื่องมีอยู่ว่า ในราว 20 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่ผมยังอยู่ในราชการ ขณะที่ผมเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม นอกจากหน้าที่ปกติแล้ว ผมยังเป็นอาจารย์พิเศษผู้สอนหนังสือในหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความตั้งใจพิเศษที่จะรับนักเรียนหรือคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอกมาแล้ว เข้ามาเรียนหนังสือและฝึกอบรมด้วยวิธีการที่มีทั้งการเรียนการสอนในชั้นเรียน การอภิปรายสัมมนา การทำงานเดี่ยว การทำงานกลุ่มรวมไปถึงการฝึกงานในต่างจังหวัดและต่างประเทศด้วย

หลักสูตรนี้มีความยาวสองปี เรียนจบแล้วก็แจกนักเรียนที่เรียนสำเร็จไปทำงานอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

เราเรียกนักเรียนเหล่านี้ว่า นปร. ซึ่งย่อมาจากคำว่า โครงการนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่

ผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตรนี้ไม่ได้รับสิทธิพิเศษที่จะไปเลื่อนขั้นปรู๊ดปร๊าดแต่อย่างใด ก็เป็นข้าราชการปกตินี่แหละ แต่อาจจะมีแต้มต่ออยู่นิดหนึ่งว่า มีทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับจากหลักสูตรซึ่งทำให้สามารถทำราชการได้ในแบบแผนที่ไม่ค่อยเหมือนใครอื่นเขา

 

ย้อนกลับไปต่อความเดิมครับ ว่ามีอยู่คราวหนึ่ง ผมต้องเดินทางไปราชการที่จังหวัดตาก เพื่อไปตรวจเยี่ยมพื้นที่พักพิงผู้พลัดถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกของเรา พูดง่ายๆ ก็คือประเทศพม่าหรือเมียนมานี่แหละ บ้านเมืองเขารบรากันมาตั้งแต่ครั้งโน้นแล้ว

ทางราชการไทยได้จัดให้ผู้ที่อพยพหนีภัยสงครามพลัดถิ่นฐาน เข้ามาอยู่ในบ้านเรามีที่พักอาศัยชั่วคราวเป็นค่ายหรือเป็นแคมป์อยู่ตามตะเข็บชายแดนฟากข้างเรา

คนจำนวนเป็นหมื่นมาอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็นเวลานาน ย่อมเป็นธรรมชาติอยู่เองที่จะมีเรื่องระหองระแหงกันบ้าง มองด้วยสายตานักกฎหมายก็บอกว่ามีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และคดีอาญาก็อาจจะใหญ่โตถึงขนาดฆ่ากันหรือทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสก็มีอยู่

เรื่องอย่างนี้แหละครับที่คนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมต้องเดินทางไปพูดคุยกับหน่วยงานทั้งหลายรวมทั้งหัวหน้าผู้พลัดถิ่นด้วยว่า ถ้าเกิดคดีขึ้นแล้วเราจะทำอย่างไรกัน

 

เรื่องมันไม่ง่ายตรงไปตรงมานัก เพราะพื้นที่ที่ว่านั่นอยู่ห่างไกลเสียเหลือเกิน เจ้าหน้าที่ของเราจะปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ครบถ้วนอย่างไร เรื่องอย่างนี้ต้องคุยกันยาวครับ

ไหนๆ ผมก็จะต้องเดินทางไปจังหวัดตากแล้ว ผมจำได้ว่าช่วงเวลานั้นมีนักเรียนในหลักสูตร นปร.คนหนึ่งฝึกงานอยู่กับผู้ราชการจังหวัดตาก น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ชวนนักเรียนคนนี้ให้ไปเปิดหูเปิดตาได้เห็นข้อเท็จจริงเรื่องที่เล่ามาข้างต้น จะได้เป็นโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำราชการจากของจริงภาคสนามด้วย

ว่าแล้วผมก็มีหนังสือไปขออนุญาตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อขอให้ราชการรายนี้เดินทางไปราชการกับผม

และแน่นอนว่าท่านผู้ว่าฯ ก็ได้กรุณาอนุญาตด้วยความเต็มอกเต็มใจ

 

ถึงวันเดินทางจริง ทั้งผม ทั้ง นปร.และคนอื่นๆ ก็เดินทางออกไปทำงานในพื้นที่ ได้รับฟังปัญหา ได้ปรึกษาหารือและช่วยกันคิดวางระบบที่จะทำงานให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยความราบรื่นในระยะยาว

อีกหลายเดือนต่อมาเมื่อถึงวงรอบที่ นปร.ต้องฝึกงานกับผู้บริหารตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ณัฐ ผู้เป็น นปร.เจ้าเก่าจากจังหวัดตาก ก็สมัครมาฝึกงานอยู่กับผมเป็นเวลาสามสี่เดือน คราวนี้เราเลยได้พบกันบ่อยขึ้น เรียกว่าพบกันทุกวันราชการ และแต่ละวันก็พบกันแบบเช้ายันเย็นเสียด้วย

ระหว่างนั่งรถไปไหนมาไหน หรือพอมีเวลาว่างอยู่บ้าง ผมก็ใช้จังหวะเวลานั้น “สอนหนังสือ” หรือเล่าเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับการทำราชการในวันข้างหน้าให้ณัฐได้ฟัง เขามีเรื่องอะไรสงสัยก็สอบถามพูดคุยกัน

ผมปฏิบัติอย่างนี้กับ นปร.ทุกคนทุกรุ่นที่มาฝึกงานอยู่กับผม

ผมแน่ใจว่าการทำงานและการสอนหนังสืออย่างนี้ของผม ผมสนุกแน่ แต่ นปร.สนุกหรือไม่ ผมไม่รับรองครับ ฮา!

เมื่อจบหลักสูตรแล้วต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป จากกระทรวงยุติธรรมผมก็ย้ายไปกระทรวงศึกษาธิการ ย้ายไปสำนักนายกรัฐมนตรี และเกษียณอายุราชการอย่างเต็มภาคภูมิแล้วในเวลานี้

 

ส่วนณัฐยังคงอยู่ในราชการยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน โดยเขาทำงานอยู่ในหน่วยราชการระดับกรมแห่งหนึ่ง และเมื่อเร็ววันนี้ผมได้ข่าวว่า ณัฐได้เลื่อนตำแหน่งแห่งที่ขึ้นเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นสายงานด้านวิชาการที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เรียกว่าน้องๆ หรือเฉียดๆ ระดับรองอธิบดีเลยทีเดียว เพียงแต่ว่าไม่ใช่สายงานบริหารที่จะไปสั่งงานลูกน้องให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ หากแต่เป็นสายงานวิชาการที่มีความรับผิดชอบเป็นอีกแบบหนึ่ง

ณัฐติดต่อมาว่า ในวันข้าราชการพลเรือน คือวันวานนี้ เขาจะขอให้ผมช่วยประดับอินทรธนูสำหรับเครื่องแบบข้าราชการชุดสีกากีให้เขาได้หรือไม่ เพราะตำแหน่งระดับนี้อินทรธนูเปลี่ยนไปจากอินทรธนูระดับเดิมที่เขาใช้ประดับอยู่

ถามมาแบบนี้ ทำไมจะไม่ได้ล่ะครับ

 

และแล้วเราก็ได้พบกันบ่ายวานนี้ นี่เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ผมได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากข้าราชการรุ่นน้อง รุ่นลูกศิษย์ให้เป็นผู้ประดับอินทรธนูใหม่เอี่ยมให้กับเขา

เสร็จขั้นตอนอันแสนสั้นแล้วเราพอมีเวลาคุยกันอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำงานต่อ นอกจากการกล่าวแสดงความยินดีกับเจ้าตัวแล้ว ในฐานะคนเป็นครูก็อดไม่ได้ที่จะต้องสาธยายมนต์อะไรบางอย่าง

หัวใจเรื่องที่ผมพูดกับณัฐเมื่อวานนี้มีอยู่สองข้อ

ข้อแรก คือตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับโอกาสในคราวนี้ ในทัศนะของผมเป็นผลมาจากการที่เจ้าตัวได้ทุ่มเทวิริยะอุตสาหะและความสามารถให้กับทางราชการจนปรากฏผล แต่ต้องนึกเตือนใจตัวเองต่อไปว่า ตำแหน่งหรือหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้ ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สูงมากขึ้นเท่าไร ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นก็ติดตามมาเหมือนกัน

มองในแง่มุมหนึ่ง การอยู่ในตำแหน่งสูงนี้เป็นโอกาสให้เราได้ทำอะไรหลายอย่างที่ในขณะเมื่อเราเป็นผู้น้อยเราไม่มีโอกาส เราจึงควรใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเองและเกิดประโยชน์กับหน้าที่การงานให้เต็มที่

 

ข้อสอง ข้อนี้เป็นความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับการทำราชการ นั่นคือความเห็นของผมว่า การทำราชการต้องประกอบด้วย “ศาสตร์” และ “ศิลป์” อยู่คู่กันเสมอ

คำว่า ศาสตร์ นั้น ผมหมายถึงหลักวิชาความรู้ต่างๆ เช่น คนทำงานเป็นนิติกร ก็ต้องมีความรู้วิชากฎหมาย รวมตลอดถึงวิชาอื่นที่จำเป็นเกี่ยวข้องให้เพียงพอแก่การทำงาน ขวนขวายที่จะเพิ่มพูนความรู้และข้อมูลใหม่อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าเรียนจบรับปริญญามาแล้วก็หยุดความรู้ของตัวเองอยู่แค่นั้น

พอก้าวขึ้นไปถึงระดับบริหาร ก็ต้องมีความรู้ในศาสตร์อื่นที่ลุ่มลึกกว้างขวางมากขึ้น เช่น การบริหารงาน บริหารคน บริหารเงิน เป็นต้น

ส่วนคำว่า ศิลป์ นั้น ผมหมายถึงศิลปะในการทำงานให้กลมกล่อมละมุนละม่อม พูดจาเข้าหูคน สามารถทำงานร่วมทีมกับคนอื่นได้อย่างสนิทใจ มีอัธยาศัยไมตรีกับเพื่อนผู้ร่วมงานในทุกระดับ แต่อย่าได้เลยเถิดไปถึงขั้นประจบประแจง หรือยกตนข่มท่าน

ในทัศนะของผม ผู้ที่ผสมสัดส่วนระหว่างศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันได้อย่างพอเหมาะลงตัว ชีวิตก็จะมีความสุขในราชการ และน่าจะมีโอกาสที่จะได้ก้าวหน้ายั่งยืนในราชการตามจังหวะเวลาของแต่ละคน

 

เรื่องที่ผมคุยให้ณัฐฟังเหล่านี้ ผมไม่แน่ใจว่าตำราเล่มไหนเขียนไว้บ้างหรือเปล่า แต่ตัวผมเองได้ยึดถือปฏิบัติแล้วเห็นว่าได้ผลดี จึงนำมาแบ่งปันให้ลูกศิษย์ได้ทรงจำและได้นำไปพิจารณาใช้ประโยชน์

ส่วนสำหรับท่านผู้อ่าน นึกว่าฟังนิทานอ่านเล่นเพลินๆ ก็แล้วกันนะครับ

อย่าซีเครียด อย่าซีเครียด