บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน19)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18
โดย “มือเก่า”

“แพรว เฉพาะกิจ” หน้า 52-53 คืนหนึ่งในโรงแรมรอแยล
โดย ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย (คืนวันที่ 18)

เมื่อเข้าไปในห้องพัก…พักหนึ่งก็มีเสียงคนเคาะประตูดังลั่น พร้อมมีเสียงตะโกนอยู่ข้างนอกว่า ช่วยด้วยครับ ช่วยด้วยค่ะ อึงอลไปหมด และมีเสียงคนวิ่งชุลมุนกันอยู่ คงเป็นคนที่หลบหนีทหารขึ้นมา…

คนข้างนอกเคาะประตูหนักขึ้น เราลังเลกันอยู่เพราะถ้าเปิดรับเขาเข้ามา เราอาจจะได้รับอันตราย แต่สักพักก็มีเสียงผู้หญิงร้อง ช่วยด้วย ช่วยด้วย ทหารกำลังจะไล่ขึ้นมา เพื่อนเราชาวญี่ปุ่นเลยเปิดประตูให้เข้ามา ปรากฏว่าเขาไม่ได้มาเพียง 2-3 คน แต่มีทั้งหมด 25 คน เป็นผู้หญิง 3 คน นอกนั้นเป็นผู้ชาย อยู่ในวัยหนุ่มสาวด้วยกันทั้งหมด มีแก่บ้าง กลางคนเพียง 2-3 คน ทุกคนหน้าตาตื่น แต่งตัวมอมแมมใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์เสียเป็นส่วนใหญ่ ยืนกันแน่นห้อง

…ปรากฏว่า คนที่เข้ามาซ่อนตัวในห้องของเรา นอกจากจะยึดพื้นที่บนเตียงนอน ห่มผ้าห่มอย่างสบายแล้ว ยังหลับเสียอีก เกือบ 20 คนหลับสนิท แถมยังกรนเสียงดังอีกด้วย ในขณะที่พวกเราไม่กล้าคุย แต่ก็ต้องทนให้เสียงกรนพวกนี้ดังขึ้นเป็นระยะๆ…และเราไม่สามารถจะห้ามได้

เวลาผ่านไปสักพัก มีเสียงเคาะประตูหน้าห้องเรา พวกเราเงียบกริบ ไม่มีใครกล้าตอบ จากนั้นก็เสียงถีบประตู เข้าใจว่าเป็นเสียงทหารพูดว่า ไม่เปิด กูยิงนะ

สุดท้าย เพื่อนชาวญี่ปุ่นของเรา ซึ่งแต่งตัวดีที่สุด ดูท่าเป็นนักท่องเที่ยวมากที่สุด จึงลุกขึ้นไปเปิดประตู แล้วก็พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า เขาเป็นนักท่องเที่ยว เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เขากลัว เลยไม่กล้าเปิดประตู โชคดีที่มีพนักงานของโรงแรมรอแยลขึ้นมาด้วยคนหนึ่ง ทหารเลยบอกว่า อ๋อ นี่เป็นแขกของเขา งั้นเราไม่รบกวน แล้วเขาก็ปิดประตู

…ในท่ามกลางความเงียบกริบนั้น ฉันกลัวถูกรุมประชาทัณฑ์ตายอยู่ข้างในมากกว่าออกไปข้างนอกเสียอีก

ผู้ที่หนีทหารขึ้นมา ไปปฏิบัติการอะไรมาเอ่ย ถึงได้เหนื่อยอ่อนนอนหลับ โดยไม่เกรงใจเจ้าของห้อง

เจ้าของห้อง กลับหวาดกลัวผู้มาอาศัย อาจจะเหมือนกับ สยามรัฐ ที่เห็นผู้เข้ามาอาศัยในสำนักงาน จะขับไล่ออกไปก็ไม่กล้า เกรงว่าจะเป็นพวก “กองหน้าของม็อบ” และเมื่อขบวนใหญ่แตกแล้ว “กองหน้า” ก็ไม่มีที่หลบซ่อนตัว

“เดลิมิเรอร์” 23 กุมภาพันธ์ 2537 คอลัมน์ “ศอกกลับ”

กรณีนายเด่น หรือ นายวีรพล มาภัย ที่ร่วมแก๊งยาเสพติด ข่มขืนแล้วคว้านท้องฆ่าเปลือยผู้หญิงที่จรัญสนิทวงศ์ ซอย 13 บางกอกใหญ่ ไอ้หมอนี่ถูกยิงไส้ทะลักในเหตุการณ์พฤษภากาลี ถ้าตายลงในเหตุการณ์ก็คงกลายเป็นวีรชนไปอีกคน เป็นที่เคารพสักการะของพวกคลั่งประชาธิปไตย มีอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานเป็นที่ระลึกให้

มีแต่ผู้ด่าว่าทหาร โหดร้าย

แต่ผู้เผาบ้านเผาเมือง ถูกยกย่องให้เป็น

วีรชน!

“แนวหน้า” 18 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ “สู้จนได้คำตอบ”

(ก่อนเคลื่อนขบวน วันที่ 17 พฤษภาคม 2535)

พล.ต.จำลอง ปราศรัยต่อไปว่า…หากจับก็จะเกิดแกนนำอีก 70 คน จับอีก 70 ก็เกิดอีก 700 จับ 700 เกิดอีก 7,000 จับวันไหน เกิดเรื่องแน่ ตนรับรอง

“ดอกเบี้ย” ฉบับประชาธิปไตยเลือด หน้า 70.5

02.55 (คืนวันที่ 17 ต่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2535)

พล.ต.จำลอง ประกาศว่า ถ้าทหารมาคืนนี้ จะยอมให้จับตัวไป พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตยทั้งหมด (7 คน)…และหากจับตัวจริง ประชาชนจะได้ลุกฮือทั้งประเทศ

ก็จริงอย่างที่ท่านลั่นวาจาไว้ พอท่านถูกจับระหว่าง 15.00-16.00 น. วันที่ 18 กลางคืนก็เกิดเรื่องเลย

“มติชนสุดสัปดาห์” 29 พฤษภาคม 2535 หน้า 15

คืนวันที่ 18 พฤษภาคม แก๊งรถจักรยานยนต์นับพันคันออกอาละวาดทั่วกรุง ทำลายป้อมยามตำรวจ ป้อมสัญญาณไฟจราจร ตลอดจนฝูงชนบุกเข้าเผาทำลายกรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ และ สนง.สลากกินแบ่งรัฐบาล

“แก๊งรถจักรยานยนต์” ดำเนินการแบบจรยุทธ์อุบัติขึ้นแบบฉับพลันทันที โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทันตั้งตัว ปฏิบัติรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ และกระทำอย่างมีวินัย มีเป้าหมายแจ่มชัด ว่าต้องการสำแดงประสิทธิภาพในการทำลายระดับไหน

“ข่าวไท” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 หน้า 28

กลุ่มม็อบเริ่มมีอาการโกรธแค้นมากขึ้น คือกลุ่มที่มาจากชุมชนแออัด ของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ คนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะ เคลื่อนที่เร็วได้ เกรงว่าคนพวกนี้จะเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย ด้วยการ “เผา” ซึ่งยากต่อการควบคุมมาก คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่รักเคารพครูประทีปมาก อันตรายและปัญหาน่าจะเกิดอยู่ตรงจุดนี้ และคนกลุ่มนี้

จับวันไหน เกิดเรื่องแน่

“ข่าวสด” 19 พฤษภาคม 2535
หัวข้อ ใช้รถเมล์แทนบังเกอร์ เตรียมลุย

21.40 น. กลุ่มผู้ประท้วง ได้นำรถเมล์ ขสมก. ที่ยึดได้ 5 คัน ไปจอดหน้าสำนักงานสลากฯ กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น นั่งอยู่ในรถ และหลังคารถ เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งส่งเสียงด้วยความเคียดแค้น ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำชุมนุมถูกจับไป

หัวข้อ ทัพ จยย. ยึดรถเมล์ทั่วกรุง

21.50 น. กลุ่มผู้ประท้วง ได้ขี่รถจักรยานยนต์จำนวนหลายคัน มุ่งหน้าไปยังถนนลาดหญ้า ยึดรถ ขสมก. ได้อีก 1 คัน บริเวณสะพานยมราช ยึดรถ ขสมก. ได้อีก 2 คัน

สถานการณ์บานปลายไปกันใหญ่ 22.15 น. ยึดรถเมล์ได้อีก 11 คัน นำมาจอดขวางแนวรักษาการณ์ของทหาร บนถนนราชดำเนิน และทยอยปล่อยลมยางทีละคัน

ผู้ที่ยึดรถเมล์ คือ ทัพ จยย.

แล้ว ทัพ จยย. ทำเพื่อใครเล่า

“ร่วมกันสู้” หน้า 175

ตั้งแต่ตอนค่ำของวันที่ 18 พฤษภาคม กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่มีบทบาทมาก คือ “ขบวนการมอเตอร์ไซค์เพื่อประชาธิปไตย” สามารถรวมตัวกันได้นับพันๆ คันจากย่านเยาวราช และวงเวียนใหญ่ ออกปฏิบัติการจรยุทธ์ทั่วกรุง ประกอบไปด้วยคนหนุ่มสาวที่ห้าวหาญ มีความแค้นเคืองที่เห็นทหาร ตำรวจ ฆ่าประชาชน

ขบวนการมอเตอร์ไซค์เพื่อประชาธิปไตยนี้ ปราบได้ยาก เพราะเคลื่อนที่ได้เร็ว ไปได้ทั้งซอกเล็กซอกน้อย นัดชุมนุมได้เร็ว สลายตัวเร็ว เปลี่ยนจุดชุมนุมไปที่อื่
นได้ว่องไวมาก ทหาร ตำรวจ ตามไม่ทัน

การอ้างว่า ขบวนการมอเตอร์ไซค์ออกมา เพราะแค้นทหาร ตำรวจ ฆ่าประชาชน ไม่น่าจะใช่ เพราะก่อนหน้านั้น คืนวันที่ 17 ตำรวจมีแต่กระบอง วันที่ 18 จนกระทั่งจับ พล.ต.จำลอง ก็ยังไม่มีการปราบปราม จึงยังไม่มีการฆ่า หรือเสียชีวิต

แต่พอมีขบวนการมอเตอร์ไซค์ออกมา เพื่อทำลายบ้านเมืองโดยเฉพาะ ทางการจึงต้องเข้าระงับเหตุ แต่มอเตอร์ไซค์เป็นพันๆ คัน และเคลื่อนที่เร็ว จะหยุดได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้อาวุธ

“แพรว เฉพาะกิจ” เรื่อง ม็อบไฮเทค
โดย วิชัย เชิดชีวศาสตร์ หน้า 36

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ม็อบมอเตอร์ไซค์เกิดขึ้นตั้งแต่การชุมนุมคัดค้านการร่าง รธน. วาระ 2 เพียงแต่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองขณะนั้น ไม่ทันสังเกต “ปรากฏการณ์ใหม่” ที่เกิดขึ้น ม็อบมอเตอร์ไซค์ปรากฏตัวให้ได้สังเกตเห็น ก็ตอนที่ พล.ต.จำลอง พาฝูงชนออกจากหน้ารัฐสภา ในคืนวันที่ 6 พฤษภาคม โดยการนำหัวขบวนออกไป เมื่อ พล.ต.จำลอง ถูกย้ายออกจาก Killing Field ในวันที่ 18 พฤษภาคม คืนนั้นเอง ม็อบมอเตอร์ไซค์ก็แตกหน่อระบาดออกไปทั่วกรุง ส่วนหนึ่งใช้แจ๊กเก็ตตราดอกทานตะวันเป็นเสื้อทีม จึงถูกโยงว่าเป็นม็อบก่อการร้ายรับจ้าง แถมยังโยงไปถึงคนจ่ายเงินที่ชื่อ ว. อีกด้วย

ดังนั้น ม็อบมอเตอร์ไซค์ น่าจะใช้ชื่อว่า ขบวนการมอเตอร์ไซค์ เพื่อ พล.ต.จำลอง เพราะปรากฏตัวพร้อม พล.ต.จำลอง ในการประท้วงแทบทุกครั้ง

“ข่าวสด” 13 มิถุนายน 2535 หน้า 21

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ สอบสวนวิกฤตการณ์การเมือง 17-20 พฤษภาคม ที่ประชุมได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง

พล.ต.จำลอง ชี้แจงว่า การเตรียมการเคลื่อนย้ายม็อบ ได้เตรียมการกันมาก่อน แต่ตนไม่ได้ประกาศให้เคลื่อนย้าย ผู้ประกาศคือ นพ.เหวง โตจิราการ กระทำตามมติสมาพันธ์ ส่วนขบวนการมอเตอร์ไซค์ ตนไม่ทราบ…

…เรารู้ว่า ในสภาแทบไม่มีโอกาสในการต่อสู้ เราจึงทำกันทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งพวกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามใจ แต่ถ้าไม่ทำ ก็คงไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนถึงวันนี้

…ตอนหลังรัฐบาลกลับใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งไม่มีใครคิดมาก่อน หากรู้ว่าจะเกิดเรื่อง ตนก็จะไม่ไปร่วมชุมนุม

…ส่วนเรื่องแก๊งมอเตอร์ไซค์นั้น ตนไม่เห็นมี…

เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นนายกฯ คนกลางก็มีอยู่ใน รธน. เกือบ 60 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2475 จนถึง 2535 เว้นปีเดียวคือปี 2517 จึงไม่เข้าใจว่า รธน. ที่ใช้มาตลอด 59 ปี ทำไมจะต้องรีบแก้ไข ให้ได้ทันที ทันใจ ของผู้ใดกันเล่า

และทำไม รัฐบาลถึงต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ท่านไม่เคยพูดถึงเลย ท่านพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวมาตลอด อีกครึ่งท่านพยายามกลบเกลื่อน กลบมิด ปิดบังทำไม เรื่องขบวนการมอเตอร์ไซค์ ก็เป็นเรื่องแปลก ที่ท่านบอกไม่ทราบ ไม่เห็น ทั้งๆ ที่ท่านเขียนเล่าเองใน “ร่วมกันสู้” หน้า 175 หนังสือวางจำหน่าย มิถุนายน 2535 แปลว่าท่านต้องเขียนเสร็จก่อนให้การกับคณะกรรมการสอบสวน
wk05220161223-1