บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน2)

โดย “มือเก่า”

“ร่วมกันสู้” หน้า 28 โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

“เรื่องรัฐธรรมนูญ ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมพี่ทั้งสองถึงปล่อยให้ร่าง รธน. ผ่านวาระ 2 ออกมาอย่างนี้ ทั้งเรื่อง “ที่มา” และ “อำนาจ” ของวุฒิสมาชิก เป็นเรื่องฟ้องอยู่ชัดๆ ว่า คณะ รสช. ของพี่ต้องการจะสืบทอดอำนาจอย่างไม่ถูกต้อง หลายคนหลายกลุ่ม จึงต้องออกมาคัดค้าน”

รธน. ฉบับ รสช. มีจุดประสงค์ที่ไม่ต้องการใช้อำนาจทหาร ในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มิชอบอีกต่อไป หรือ ไม่อยากให้เกิดการปฏิวัติอีกนั่นเอง จึงให้อำนาจวุฒิสมาชิก ดูแลกลั่นกรองรัฐบาลแทน ถ้ารัฐบาลบริหารไม่ชอบมาพากล พาชาติบ้านเมืองเสียหายล่มจม วุฒิฯ ก็สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ก็มีผู้แปรเจตนาหาว่าจะสืบทอดอำนาจ จนเมื่อล้ม รธน. ฉบับ รสช. แล้ว รธน. ฉบับใหม่ก็ให้อำนาจวุฒิสมาชิกอยู่ดี แต่ให้วุฒิฯ มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะวุฒิฯ อาจจะมาจากพรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่

ถ้าพรรคที่เป็นรัฐบาล มีวุฒิฯ อยู่ในสังกัดมากก็บริหารบ้านเมืองอย่างเผด็จการได้เลย

“ไทยรัฐ” 15 พฤษภาคม 2535 คอลัมน์ของ “ฉลามเขียว”

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่กำลังใช้อยู่ขณะนี้ เป็นฉบับที่ 15 แต่มีเพียงฉบับเดียว คือ ฉบับปี 2517 เท่านั้น ที่กำหนดว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.

ตั้งแต่ปี 2475 จนปัจจุบัน 60 ปีพอดี ทำไมคนเฒ่าคนแก่ คนที่ผ่านประชาธิปไตยมาแล้ว และตายไปแล้วมากมาย ทำไมจึงเขียน รธน. เปิดกว้างเอาไว้ ว่านายกฯ จะมาจากไหนก็ได้ มันน่าศึกษานะครับ

เพราะท่านเหล่านั้นมีความคิดกว้างไกล คงเห็นว่า การจะนำเอาประเทศชาติไปขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคการเมืองเพียงไม่กี่คน เป็นเรื่องคับแคบ สู้เปิดกว้างให้คนดีมีความรู้ความสามารถในประเทศไทย มีโอกาสขึ้นบริหารประเทศได้

และขอบคุณ คุณฉลามเขียว ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก

เสียดายที่ข้อมูลนี้ยังแพร่หลายไม่มากพอที่จะหยุดยั้งความเข้าใจผิดของมหาชนได้

“ร่วมกันสู้” หน้า 25

ประเด็นที่กำหนดว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น หวั่นเกรงกันว่า จะร่าง รธน. เพื่อปูทางให้นายทหารใหญ่ของ รสช. มาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการของ รสช. หรือของคณะปฏิวัติออกไปไม่สิ้นสุด ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงกับบ้านเมืองอย่างยิ่ง

ชัดเจน คัดค้าน รธน. ก็เพราะกลัว พลเอกสุจินดา จะมีสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ มาแย่งเก้าอี้ที่ถูกหมายจอง? ทั้งๆ ที่ประเด็นนายกฯ คนกลาง รสช. ไม่ได้ร่างขึ้นใหม่ แต่มีอยู่ใน รธน. แล้วตั้งแต่ปี 2475-2535 เว้น 2517 เพียงปีเดียว แล้ว รธน. ก็เปิดกว้างให้มีนายกฯ คนกลางได้เหมือนเดิมอีก รสช. เพียงแค่คงร่างเดิมไว้เท่านั้น

ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงได้อย่างไร ในเมื่อเหตุการณ์ยังไม่เกิด กล่าวหาล่วงหน้า คือการใส่ร้ายป้ายสีหรือเปล่าหนอ

“ร่วมกันสู้” หน้า 36

สิ่งที่ประชาชนวิตกกันมาก ก็คือ การเอานายทหารที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการปฏิวัติ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 มาเป็นนายกฯ เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการชัดๆ

ประชาชนไม่สนใจหรอก ถ้าไม่มีใครเป็นตัวตั้งตัวตี ปลุกระดมประชาชนให้เข้าใจผิดๆ

เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็เท่ากับการคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ว่าจะอำนาจนายกฯ อำนาจ รมต. อำนาจปฏิวัติ อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ล้วนต้องหมดไปตามกฎหมาย แล้วจะเอาอำนาจอะไรไปสืบทอด ผิดกฎหมายนะขอรับ

“ร่วมกันสู้” หน้า 70

ประชาชนทราบดีว่า การเป็นนายกฯ ของ พลเอกสุจินดา เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และได้วางฐานกำลังที่จะสืบทอดอำนาจไปอีกนับสิบปี เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่บ้านเมืองของเรา

“ร่วมกันสู้” หน้า 72

การสืบทอดอำนาจคณะปฏิวัติ และวางแผนสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 10 ปีนั้น ประชาชนเห็นชัดแล้วว่า จะก่อให้เกิดผลเสียหายมากมายแก่ประเทศชาติต่อไป ซึ่งนับวันจะเข้าไปสู่ระบอบเผด็จการมากยิ่งขึ้น มีผลกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพบูชาเทิดทูนของเรา ทั้งจะทำให้ต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกนับเป็นหมื่นๆ ล้านบาท

ไม่สบายหรือเปล่าหนอ

“ร่วมกันสู้” หน้า 27 กลางย่อหน้า 2

…คราวนี้ พี่ทำให้เขาตกงานกันหมด ตั้งแต่นายกฯ ไปจนถึง ส.ส. อีก 357 คน ใครที่เจ็บช้ำน้ำใจ ถ้าเขาขึ้นมาเป็นใหญ่ เขาต้องล้างแค้นแน่ อย่างน้อย ก็ให้พี่ต้องตกงานบ้าง

แสดงว่า ท่านก็รู้ว่า อำนาจไม่ใช่ของจีรังยั่งยืน และผลการเลือกตั้ง ย่อมไม่มีอะไรแน่นอน แม้ตำแหน่ง ผบ.ทบ., ผบ.ทอ., ผบ.ทร. ก็อาจถูกย้าย หรือถูกปลด ดังนั้น จะหวังสืบทอดอำนาจได้อย่างไร ถ้าให้มีการเลือกตั้ง

“มติชนสุดสัปดาห์” 8 พฤษภาคม 2535
ฉบับที่ 611 หน้า 11-12 รายงานข่าวดังนี้ :-

อย่างน้อยนับแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เขาก็เป็นบุคคลอันเป็นแกนนำคนหนึ่ง ของคณะทหารหนุ่มที่ถูกเรียกในภายหลังว่า “ยังเติร์ก” ร่วมกับ พันเอกมนูญ รูปขจร เพื่อน จปร.7 ด้วยกัน

คณะนายทหารกลุ่มนี้ ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โค่นรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และสนับสนุนให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ

พันโทจำลอง ศรีเมือง นายทหารจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประจำสำนักนายกฯ พร้อมๆ กับการเป็นวุฒิสมาชิก

และเมื่อรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำเนินนโยบายผิดพลาด เมื่อได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 พันเอกจำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหอกของวุฒิสมาชิกสายทหาร วิ่งเต้นล็อบบี้ร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อผลักดัน & บีบคั้น ให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออก

จากนั้น จึงสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผบ.ทบ. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อมีนาคม 2523 โดย พันเอกจำลอง ศรีเมือง เป็นเลขาธิการนายกฯ

ถ้าข่าวของ “มติชน” เป็นจริง ท่านก็อยู่ในวงการปฏิวัติ รัฐประหาร เหมือนกัน และหลายสมัยด้วย ท่านโค่นรัฐบาลพลเรือน นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และสนับสนุนรัฐบาลทหารถึง 2 สมัย และท่านก็เคยเป็นวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งมาแล้วด้วย

“ร่วมกันสู้” หน้า 58

ผมเคยเป็นเลขาธิการนายกฯ ของป๋า ขอยืนยันว่า สถานการณ์ต่างกันมาก และวันนั้นกับวันนี้ ก็ต่างกันถึง 12 ปี แนวความคิดเรื่องคนกลางเป็นนายกฯ นั้น ล้าสมัยเสียแล้ว

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกฯ คนกลางตั้งแต่มีนาคม 2523 จนถึงกรกฎาคม 2531 รวม 8 ปีที่ท่านเป็นนายกฯ คนกลาง บ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรือง ระหว่าง 8 ปีท่านยุบสภา 3 ครั้ง และก็ได้รับการเสนอให้กลับมาเป็นนายกฯ คนกลางทุกครั้ง จนมีเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลกันมา 5 พรรค ก็ไปพบท่านที่บ้านสี่เสา ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 เพื่อขอให้ท่านเป็นนายกฯ คนกลางอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ท่านปฏิเสธ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงขึ้นเป็นนายกฯ คนต่อไป (จากหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” ของ ดร.วิษณุ เครืองาม หน้า 68)

ดังนั้น ประเด็นนายกฯ คนกลาง ยังเพิ่งเสนอใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อ 27 กรกฎาคม 2531 เพียง 3-4 ปีก่อนถึง 2535

ส่วนเรื่องนายกฯ คนกลาง “ล้าสมัย” ท่านตัดสินจากอะไร
หรือตัดสินเพื่อผลประโยชน์ของท่านเอง

“ร่วมกันสู้” หน้า 31

“การชุมนุมคัดค้าน รธน. นับวันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น สภา รสช. ถูกกล่าวหาว่า จะใช้ รธน. เป็นเครื่องสืบทอดอำนาจ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 พลเอกสุจินดา จึงนัดแถลงข่าวครั้งใหญ่ โดยมี พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. นั่งซ้าย พลเรือเอกวิเชษฐ การุณยวนิช ผบ.ทร. นั่งขวา เป็นข่าวพาดหัวตัวโตๆ ใน น.ส.พ.ทุกฉบับ เพราะไม่คิดมาก่อนว่าจะมีการให้คำมั่นสัญญาถึงขนาดนั้น

พลเอกสุจินดา กล่าวว่า เราขอยืนยันว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยสมาชิกสภา รสช. และขอยืนยันในที่นี้…และขอยืนยันจุดยืน…ก็ขอยืนยันว่า พลเอกสุจินดา และพลอากาศเอกเกษตร จะไม่เป็นนายกฯ พรรคการเมืองต่างๆ จะได้สบายใจได้

แสดงว่า พลเอกสุจินดาและคณะ ก็รู้เท่าทันว่าการคัดค้าน รธน. เพราะนักการเมืองประสงค์ต่อเก้าอี้นายกฯ แต่ด้วยความจริงใจ และจุดยืนเดียวกันทั้งคณะ ที่ไม่ต้องการอำนาจบริหารประเทศ ท่านจึงออกมาประกาศเจตนาชัดเจนต่อหน้าสาธารณชน โดยลงท้ายว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะได้สบายใจได้

ฝ่ายหนึ่ง ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เพื่อแสวงอำนาจ อีกฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจก็ถอยจากอำนาจ มีสิทธิ์ ก็ประกาศสละสิทธิ์ แต่ก็ยังถูกหาว่า เป็นเผด็จการ หวังสืบทอดอำนาจ ไม่น่าเชื่อจริงๆ


ตอน 1