บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน4)

ตอน 1, 23

โดย มือเก่า

 

“ร่วมกันสู้” หน้า 46-47

เย็นประมาณ 5 โมงครึ่ง องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนประชาธิปไตย ได้จัดการปราศรัยที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ของวันที่ 7 เมษายน ขบวนนักศึกษา นำโดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เดินทางมาถึงสวนรื่นฯ เพื่อมอบดอกไม้ดำ และหรีด ที่เขียนข้อความว่า

“ขอประณาม พลเอกสุจินดา คราประยูร ต่อการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ด้วยวิธีการแทรกแซงทางการเมือง และบ่อนทำลายประชาธิปไตย”

ผลเลือกตั้ง ฝ่ายเสียงข้างมากก็ต้องได้จัดตั้งรัฐบาล และย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือนายกฯ แต่เสียงข้างน้อย กลับไปแทรกแซงการแต่งตั้งของเสียงข้างมาก จึงน่าคิด ว่าฝ่ายใดกันแน่ ที่บ่อนทำลายกติกาประชาธิปไตย (มือเก่า)

“เนชั่น” เหลียวหลังรำลึก

7 เมษายน 2535 พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช. นำชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ คนที่ 19

8 เมษายน 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เริ่มอดข้าวประท้วงนายกฯ คนกลางที่หน้ารัฐสภา ตั้งแต่เวลา 01.00 น.

“ร่วมกันสู้” หน้า 45

เช้ามืดวันที่ 7 เมษายน มีโปสเตอร์คัดค้านติดเต็มไปหมดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พรรคประชาธิปัตย์ ใช้ข้อความว่า ประชาธิปไตยไร้ศักดิ์ศรี ถ้านายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนพรรคพลังธรรม พูดตรงๆ ว่า คัดค้านคนกลางเป็นนายกฯ

“ร่วมกันสู้” หน้า 50

พรรคพลังธรรม มีมติให้ ส.ส.พรรคแต่งชุดดำไว้ทุกข์ให้กับนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยแต่งชุดดำทุกครั้งที่ไปสภา พร้อมทั้งนำเครื่องหมายติดที่อกเสื้อว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ออกเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป

พรรคความหวังใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ตกลงไว้ทุกข์ด้วย

โธ่! (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 43-44

อาจารย์วิทิต มันตราภรณ์ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย แถลงว่า ครป. ไม่เห็นด้วยกับการที่เสนอแต่งตั้ง พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ เนื่องจากขัดกับหลักการประชาธิปไตย…เป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมือง ซึ่งพลเอกสุจินดา เคยให้สัญญาต่อประชาชนหลายครั้งแล้วว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกฯ และอาจจะคืนอำนาจให้ประชาชน

ดังนั้น หากพลเอกสุจินดาคืนคำ ก็จะเป็นการเสียสัจจะ ซึ่งบุคคลที่ไม่รักษาสัญญา ก็ไม่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ

สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ถึงจะเรียกว่า ไม่ได้มาตามหลักการประชาธิปไตย เพราะมาจากคณะปฏิวัติแต่งตั้ง แต่เวลานั้นกลับไม่มีประท้วงต่อต้าน พอสมัยพลเอกสุจินดามาตามหลักการประชาธิปไตยชัดเจน เพราะมาจากเสียงข้างมากของการเลือกตั้ง อำนาจทางการเมือง พลเอกสุจินดาก็ไม่เคยมี เพราะไม่เคยเป็นนายกฯ หรือ รมต. อำนาจปฏิวัติก็หมดไปตั้งแต่มีการเลือกตั้ง แล้วจะเรียกว่าสืบทอดอำนาจได้อย่างไร

แปลกจัง เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ทำไมท่านอาจารย์ยังใช้คำว่า อาจจะ คืนอำนาจให้ประชาชน (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 51-53

ที่สหรัฐอเมริกา นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้ประสานงานนักศึกษาไทยในสหรัฐ แถลงว่า … วันที่ 16 เมษายน สหพันธ์ฯ จะยื่นหนังสือถึงสถานทูตในวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งลาออก… จะนำหรีดดำไปมอบให้กับรัฐบาล รสช. โดยผ่านสถานทูต

อาจารย์สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้แถลงว่า นักวิชาการได้พร้อมแล้ว ที่จะออกแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบว่า การเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกสุจินดา ไม่ถูกต้องอย่างไร

อาจารย์ผ่องศักดิ์ ผ่องแผ้ว แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า การเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา ลาออกจากนายกฯ เริ่มจาก 2 ขั้นตอน คือ :-

1. ตำหนิ 5 พรรคการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์

2. ผลักดันให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก

รธน. เดียวกัน ที่ทำให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกฯ คนกลางได้นานถึง 8 ปี พอพลเอกสุจินดาจะเป็นนายกฯ คนกลางบ้าง กลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ก็กฎหมายเดียวกัน แปลกดีไหม? (มือเก่า)

“แนวหน้า” 7 พฤษภาคม 2535 (แถวที่อยู่ ใต้วันพฤหัสบดีที่ 7)

คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับพลเอกสุจินดา ว่าไม่ควรออกมาโจมตีนายกฯ เพราะเข้ามาอย่างถูกต้อง

น่านับถือ คุณหญิงสุพัตรา ที่ไม่ยอมบิดเบือนความจริง

“ข่าวพิเศษ” 5-11 มิถุนายน 2535 หน้า 44

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ให้สัมภาษณ์

…ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงนอกสภา ระบอบประชาธิปไตยต้องแก้กันในสภา…สุจินดามาด้วยวิธีการไม่สมัครผู้แทนฯ ผมไม่แคร์ เพราะพลเอกเปรม ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผมไม่เดือดร้อนกับพลเอกสุจินดา เพราะว่าเขามาตามกติกา

…ขณะนี้ไม่มีเผด็จการ รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง ช่วงหลัง 23 กุมภาพันธ์ 2534 สิเป็นเผด็จการ ทำไมไม่ประท้วง ไม่ขับไล่นายกฯ อานันท์ ตรงนี้ผมเห็นว่า เป็นเรื่องของนักการเมืองที่จูงมวลชนไป

“ไทยรัฐ” 2 พฤษภาคม 2538 ตอบผู้อ่าน จาก จิ้งจกสีเขียว

พลเอกสุจินดา คราประยูร มาตามความถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย แต่มีคนให้ร้าย ป้ายสี บิดเบือน ทิ่มตำ

เสียดาย บุคคลชั้นมันสมองของประเทศ หลายท่าน มีสมองล้ำเลิศ แต่ไม่มีความเป็นธรรม น่าจะมี ดร.สมเกียรติ เยอะๆ (มือเก่า)

“แนวหน้า” 6 พฤษภาคม 2535 หน้า 4 บุคคลแนวหน้า

พลเอกสุจินดา คราประยูร เอาหลังพิง “กติกา” ฝ่ายค้าน นิสิตนักศึกษา ก็ปักหลักสู้เหมือนกัน ยืนยันว่าเมื่อไม่ลงเลือกตั้ง ก็อย่านั่งเก้าอี้นายกฯ

อ้างต่อไปอีกว่า พวกทำปฏิวัติให้ร่าง รธน. ตามความต้องการของตน มีการสืบทอดอำนาจ ดังนัน รธน. ฉบับนี้จึงใช้ไม่ได้ การอ้างเช่นนี้น่าแปลก ตรงเพิ่งจะมาอ้าง หลังจากพลเอกสุจินดา ได้เป็นนายกฯ เรียบร้อยแล้ว

หลังจากเป็น ส.ส. ระหว่างรีรอ คุมเชิง ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ พรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล ก็ยังไม่มีพรรคไหน นักการเมืองแสดงการคัดค้าน รธน. สักราย มีแต่วิ่งกันขาขวิดอยากจะเป็นใหญ่เป็นโตกัน จนรู้ผลการต่อสู้ และพลเอกสุจินดาได้เป็นนายกฯ ฝ่ายที่แพ้จึงเปิดฉากรุมถล่มกันเป็นการใหญ่

ล้วนแต่เรื่อง ไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่น่าเชื่อ (มือเก่า)

“แนวหน้า” 6 พฤษภาคม 2535 หน้า 4 บุคคลแนวหน้า

…อ้างกันว่า ไม่มีความชอบธรรม เพราะพลเอกสุจินดาเป็นผู้ทำปฏิวัติ เป็นผู้ปล้นประชาธิปไตย ปราบนักการเมืองโกงชาติ ปราบไม่จริง กลับยอมให้พวกถูก “ยึดทรัพย์” มาเป็น รมต. ร่วมรัฐบาลเดียวกัน ทำเหมือนตบตาประชาชน นี่คือเสียงกล่าวหาของฝ่ายค้าน

“ร่วมกันสู้” หน้า 38

ค่ำของวันเลือกตั้ง พรรคการเมือง 5 พรรค ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยหนุน พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้ เพราะพลเอกสุจินดาไม่ยอมให้ผู้ถูกยึดทรัพย์เป็น รมต.

ผู้จัดการ ฉบับพฤษภาคมทมิฬ หน้า 18

ในระบอบประชาธิปไตย ถ้านักการเมืองได้รับเลือกมาจากประชาชน ถือว่าประชาชนยอมรับ จะปฏิเสธไม่ให้เป็น รมต. ไม่ได้…ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา ทั้งที่คนเหล่านั้นถูกกล่าวหา บางคนได้รับเลือกคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในจังหวัด บางคนเสียงมากในประเทศ แล้วจะมีข้อแม้อะไรไปตอบโต้กับหัวหน้าพรรคที่เลือกคนเหล่านั้นมาเป็น รมต.

เหตุผลของพลเอกสุจินดา ที่ “จำยอม” (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 93-96

ดร.อมร รักษาสัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่พลเอกสุจินดานำมาอ้างเพื่อรับตำแหน่งนายกฯ นั้น ฟังไม่ขึ้น…

4. การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ได้มีการใช้เงินกันมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในฐานะคนกลางที่เป็นนายกฯ คงจะอยู่ในฐานะที่จะควบคุมดูแลการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุด

คำกล่าวเช่นนี้ เท่ากับเป็นการประณาม และหมิ่นประมาทศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของ ส.ส. ทั้งปวงโดยตรง ฉะนั้น ส.ส. จึงควรจะมีมติให้ถอนคำพูด หรือขอขมาต่อรัฐสภา

“ร่วมกันสู้” หน้า 59-60

“ห้าพรรคที่สนับสนุนพี่ มีเสียงเกินครึ่งเพียง 15 เสียงเท่านั้น การลงมติกฎหมายสำคัญๆ หรือการพิจารณางบประมาณ มีสิทธิ์ถูกคว่ำได้ทุกเมื่อ เพื่อประคับประคองรัฐบาลให้มีอายุต่อไป พี่คงจะต้องตั้งหน่วยส่งกำลังบำรุง หรือตั้งตู้ ATM ในสภา ส่งกำลังบำรุงไม่อั้น (แก่ ส.ส. ที่คิดจะตีตัวออกห่าง)

แล้วข้อเขียนเช่นนี้ เป็นการประณามและหมิ่นประมาทศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของ ส.ส. หรือไม่ (มือเก่า)

จากการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง วันที่ 4 พฤษภาคม 2535

“ข่าวพิเศษ” ฉบับ 8-14 พฤษภาคม 2535 หน้า 7

19.05 น. อุทัย พิมพ์ใจชน เลขาธิการพรรคเอกภาพ…จวกพลเอกสุจินดา สุดแรงเกิดว่า คืออาชญากรทางการเมือง “ที่ว่า ฉ้อโกง เพราะมีการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ …พลเอกสุจินดาได้แถลงว่า เขาและพลอากาศเอกเกษตรจะไม่เป็นนายกฯ แล้ววันนี้…ที่ไหนเป็นนายกฯ”

หากผมเป็นคริสต์ คงต้องบอกว่า…โอ พระบิดา เอาสุจินดาไปลง…เร็วๆ เถิด

อุทัยจบการไล่ทิ่มของเขา ด้วยการฝากให้ประชาชนพิจารณา “นายกฯ ผู้ไม่ยอมพิจารณาตัวเอง”

ผู้ที่เพราะสถานการณ์บังคับ ต้องกลับมารับตำแหน่งนายกฯ ทั้งๆ ที่ประกาศสละสิทธิ์ไปแล้ว ถูกกล่าวหาว่า เป็นอาชญากรทางการเมือง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มบริหารประเทศให้เกิดความเสียหายแต่ประการใดเลย แล้วผู้ที่ปลุกระดมประชาชนให้ออกมาบาดเจ็บล้มตาย ประเทศชาติเสียหายย่อยยับ คือ อาชญากรหรือกบฏ? (มือเก่า)