บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน18)

(ภาพบน) รถดับเพลิงก็ถูกเผา รถดับเพลิงที่เจ้าหน้าที่นำไปฉีดน้ำสกัดกั้นผู้ชุมนุมไม่ให้ผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล ถูกผู้ชุมนุมเผาทำลายจนเสียหายหลายคัน (ภาพล่างซ้าย) จากผู้จัดการ ฉบับพฤษภาคมทมิฬ หน้า 115 (ภาพขาวล่าง) วิ่งเข้าใส่ เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปราบจลาจลและตำรวจท้องที่ กำลังวิ่งเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ที่ฝ่าแนวกั้นเข้ามาได้จนเกิดการปะทะกันจนบาดเจ็บกันไป (ไทยรัฐ)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17
โดย “มือเก่า”

 

สยามรัฐ 22 พฤษภาคม 2535 ฝันร้าย 15 ชั่วโมงในสยามรัฐ หน้า 4-5 เมื่อประตูกระจกถูกทุบ ก็ทำให้กลุ่มคนหนุ่ม 4-5 คนเล็ดลอดเข้ามา พวกเราจะขับไล่ออกไปก็ไม่กล้า เกรงว่าจะเป็นพวกกองหน้าของม็อบ ขืนไปทำอะไรรุนแรงประเดี๋ยวเป็นได้ยุ่งกันใหญ่ ก็เลยต้องจำใจให้เขาอยู่ โดยจับตาดูว่า จะไม่มาก่อความวุ่นวาย หรือวางเพลิงในที่ทำงานของเรา

…ไม่เคยมีครั้งใดในชีวิตผม ที่อยากจะเห็นวันใหม่ เท่ากับเมื่อเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 เลย ทุกนาทีที่ผ่านมา มันนานจนไม่รู้อะไรจะมาเทียบได้

แต่แล้วฝันร้ายยังไม่ยอมจบลงง่ายๆ มีผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ไปยืนหน้าประตู เกิดด่าทอทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เข้าให้ ด่าเสร็จก็วิ่งแจ้นขึ้นมาบนสยามรัฐ ทำให้ทหารอีกประมาณ 20 คนกรูตามเข้ามาด้วย ผมเองที่เพิ่งกำลังโล่งอก และกำลังจะชงกาแฟกินถึงกับตะลึง คิดอยู่ในใจว่าเรือกูจะล่มเมื่อจอดเสียแล้วหรือ

สยามรัฐ เห็นบทบาทของ “กองหน้า” ชัดเจน เลยไม่อยากให้ผู้ต้องสงสัยว่าเป็น “กองหน้า” มาอาศัยอยู่ในสำนักงาน (มือเก่า)

เราก็ให้ความร่วมมือกับทหารทุกประการ เปิดโอกาสให้เขาเข้าตรวจค้นสำนักงานได้อย่างเต็มที่ …ทหารเตือนว่าอย่าเพิ่งออกไปไหน รอให้เขาเคลียร์สถานการณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

พวกเราที่เป็นนักข่าวจากที่อื่น และของสยามรัฐ ต่างก็หลุดรอดกันมาได้ แต่ปรากฏว่า มีอยู่ประมาณเกือบ 20 คน ที่ปะปนเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ไม่เห็น โดนจับตัวไป ผมนั้นถึงกับใจหายวาบ เมื่อเห็นคนหนึ่งที่พยายามเจรจาจะพาเราออกจากสำนักงาน เมื่อตอนดึก ถูกจับตัวไปด้วย

ตอนดึกหลังจากที่ผจญกับรถน้ำมัน และรถก๊าซแล้ว ชายคนนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน บอกผ่านนักข่าวผมมาว่า จะติดต่อให้นำกำลังมาพาพวกเราออกไป ตอนแรกผมก็เข้าใจว่า อาจเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ เพราะมีวิทยุมือถืออยู่ด้วย ตัวก็ใหญ่ หุ่นก็ให้ แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ตอนนั้น ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่ออกไป

ฝ่ายผู้ชุมนุม “หลอก” ใช้นักข่าว (มือเก่า)

บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นไม่กล้าโผล่หัวออกนอกชายคา ฝั่งซ้ายก็มีพวกม็อบอยู่ ขวามือก็เป็นทหาร แล้วกลุ่มม็อบหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ก็ใกล้กว่าแถวทหารตรงสี่แยกคอกวัว ขืนเดินตามไปเป็นขบวนใหญ่เกือบร้อยคน เกิดพวกม็อบเข้าจู่โจม เราก็ต้องวิ่งแตกขบวน

พอเห็นหน้าไอ้คนชวนให้ยกขบวนหนีตอนดึก ว่าถูกจับเข้าเท่านั้นแหละ ลมจะใส่เอาเสียให้ได้ กาแฟที่ชงไว้ เลยไม่เป็นอันกิน

เวลา 11.00 น.เศษ ผมได้ข่าวไม่ดีมาว่า ม็อบเคลื่อนขบวนจากต่างจังหวัดเข้ากรุง

ถึงตอนนี้ ผมทนไม่ได้แล้ว รู้ตัวดีว่า ถ้าต้องค้างคืนกลางเสียงปืนอีกคืนเดียว สติคงขาดผึงแน่ จึงได้ลงไปขอร้องกับนายทหารพันตรีท่านหนึ่ง เพื่อขอยกทีมกลับบ้าน

ซึ่งในที่สุด ทุกคนก็ได้กลับบ้าน พ้นจากฝันร้าย ที่น่าจะนับว่า 20 ชั่วโมงเห็นจะได้

ฝันร้ายในคืนวันที่ 18 เพราะชุมนุมอย่าง “สันติ” หรือ? (สังเกต สยามรัฐ รายงานว่า กลุ่มม็อบอยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์) (มือเก่า)

“แพรวเฉพาะกิจ” เรื่องของ สังวาล พระเทพ หน้า 107

เพื่อนบอกว่า เขาประกาศว่าผู้ร่วมชุมนุมกำลังเผากรมประชาสัมพันธ์อยู่ ช่วงประกาศคือ ยี่สิบสี่นาฬิกากว่า เลยออกไปดูกันอีก…จอดรถแถวๆ บางลำพู แล้วก็เดินไปดู

ไม่เห็นเผาเลย ข่าวที่ให้กับประชาชน ทำไมเหมือนเป็นการใส่ร้ายประชาชน นี่หรือคนรักประชาธิปไตย (ไอ้…)

รุ่งเช้า ได้ข่าวกรมประชาสัมพันธ์ถูกเผา มีรูปข่าวกำลังฉีดน้ำ เป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนจะเผา เหตุผลคือ ข่าว น.ส.พ.ฉบับหนึ่ง ลงคำให้สัมภาษณ์พ่อตาเขาค้อ กาแล็กซี่ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตอนตีสี่ ถูกทหารไล่ยิง หนีไปบนชั้น 2 บริษัทไม้อัดไทย ว่าถูกทหารยิงลงมาจากกรมประชาสัมพันธ์ ชั้นบนตอนตีสี่ แล้วใครล่ะจะเข้าไปเผาได้ ทหารอยู่บนนั้นเต็ม

มีความพยายามที่จะเผากรมประชาสัมพันธ์จริงตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่ม แต่ไม่สำเร็จ จากรายงานของแพรวเฉพาะกิจและดอกเบี้ยสุดสัปดาห์

แต่ข่าวของพ่อตาเขาค้อ น่าจะคลาดเคลื่อน ที่ว่าทหารอยู่เต็มกรมประชาสัมพันธ์ ดังรายงานจากข่าวต่อไปนี้ :- (มือเก่า)

“ข่าวสด” 19 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ ใช้รถเมล์แทนบังเกอร์เตรียมลุย

21.15 น. ผู้ชุมนุมประท้วง ได้ยึดรถดับเพลิง 2 คัน เตรียมนำไปสมทบกับผู้ประท้วง ที่กรมประชาสัมพันธ์

21.25 น. ฝูงชนที่มาชุมนุมนั้น ตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เพิ่มจำนวนแน่นครืด

“พฤษภาทมิฬ” เล่มเล็ก หน้า 31

03.55 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ได้ยึดรถน้ำมันมาได้

“สยามรัฐ” 22 พฤษภาคม 2535

กลุ่มม็อบหน้ากรมประชาสัมพันธ์ มันก็ใกล้กว่าแถวทหาร ตรงสี่แยกคอกวัวเสียด้วยสิ

ข่าวสด พฤษภาทมิฬ และสยามรัฐ ต่างรายงานตรงกัน ว่าฝ่ายที่อยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ คือ ฝ่ายผู้ชุมนุม

แพรวเฉพาะกิจ” หน้า 69 บันทึกของ “เหยื่ออธรรม”

ต่อมามีคนบอก กรมประชาสัมพันธ์ถูกเผา แต่เท่าที่เห็น รถกระบะของกรมประชาสัมพันธ์ สีเขียวหลายคัน ถูกลากมาจอดเป็นแนว อีกแนวหนึ่ง ผู้คนที่คั่งแค้นบางคนก็หยิบไม้ทุบตีรถด้วยความเจ็บแค้น แล้วจุดไฟเผา มีรถบรรทุกก๊าซหรือน้ำมันไม่ทราบ เพราะมองเห็นไม่ชัด พยายามขับเข้าไปเพื่อหวังจะเผาเป็นปราการอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ หลายคนบอกอาจเป็นเพราะเชื้อเพลิงในรถหมด

“ดอกเบี้ยสุดสัปดาห์” ฉบับที่ 53 24-30 พฤษภาคม 2535 หน้า 19

…เวลาเกือบ 20.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ก็ได้พยายามที่จะรุกไล่พวกทหาร โดยมีการเผารถส่วนตัวยี่ห้อ BMW ของนายทหารคนหนึ่ง ซึ่งย้ายออกไปไม่ทัน จากนั้นจึงได้ขับรถ ขสมก. เข้ามาเผาบริเวณหน้ากองสลาก 2-3 คัน จนกระทั่งเกือบ 3 ทุ่ม กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขับรถบรรทุกน้ำมันขนาด 2 หมื่นลิตรเข้ามา หมายจะเผาตึกกองสลาก แต่ไม่สามารถจะปีนฟุตปาธขึ้นไปได้ จึงได้จุดไฟเผา ห่างแค่ไม่ถึง 5 เมตร จากนั้น จึงได้เคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปเผาตึกกรมประชาสัมพันธ์

แพรวเฉพาะกิจ และดอกเบี้ยสุดสัปดาห์ รายงานตรงกันว่า ก่อนเที่ยงคืน มีความพยายามที่จะเผากองสลาก และกรมประชาสัมพันธ์ แต่เผาครั้งแรกไม่สำเร็จ

“พฤษภาทมิฬ” เล่มเล็ก หน้า 31

เวลา 03.55 น. กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งปักหลักอยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ได้ยึดรถน้ำมันมาได้ ฝ่ายทหารเข้ารุกโต้ตอบ ด้วยปืนอีกครั้งหนึ่ง เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุม เพิ่มความโกรธแค้นมากยิ่งขึ้น จึงกรูเข้าไปในกรมประชาสัมพันธ์ และได้จุดไฟเผา เปลวไฟลุกไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไปจนแดงฉานเห็นกันทั่ว

กรมประชาสัมพันธ์ ถูกเผาสำเร็จ เมื่อเกือบตี 4 (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” 170 (คืนวันที่ 18)

เป็นเรื่องแปลก ทหารต้องการขับไล่ประชาชนออกไปให้หมด แต่กลับสกัดไว้หมดทุกทางไม่ให้ออก ประชาชนไม่รู้จะไปทางไหน เล็ดลอดตามช่องทางเล็กๆ ออกไปได้บ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนที่เหลือจึงถูกจับ และถูกยิงอยู่บริเวณนั้น นอกจากนั้น ยังกั้นตลอดเวลา ไม่ให้ส่งข้าวส่งน้ำอีก ทารุณมาก

“ร่วมกันสู้” หน้า 165

…ทหารได้ปิดกั้นการส่งเสบียงให้เราอย่างเข้มงวด แต่ประชาชนฉลาด หาทางส่งเข้ามาจนได้

“ร่วมกันสู้” หน้า 177

ตลอดระยะเวลาของการชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลใช้วิทยุ ฝ่ายประชาชนที่ชุมนุมใช้โทรศัพท์มือถือ สามารถติดต่อกลับไปที่บ้าน หรือบริษัทห้างร้านของตนได้ตลอดเวลา รวมทั้งสั่งอาหาร น้ำดื่ม เต็นท์ รถ และอื่นๆ ไปใช้ในกิจการชุมนุมได้อย่างสะดวก

“ร่วมกันสู้” หน้า 168 (คืนวันที่ 18)

…ทหารเข้ามาตรึงกำลัง และปิดทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกือบทุกด้าน ผู้ร่วมชุมนุมจึงไปรวมกันอยู่หน้าโรงแรมรอแยลบ้าง ใกล้สี่แยกกระทรวงเกษตรฯ บ้าง ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลยไปจนถึงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรมประชาสัมพันธ์ และบางลำพู แต่ละจุด ยิ่งเย็นลง ก็มีคนมาร่วมชุมนุมมากขึ้นๆ

“ร่วมกันสู้” หน้า 170 เล่าถึงคืนวันที่ 18 ประชาชนออกไม่ได้ แต่ในหน้า 168 คืนเดียวกัน เล่าว่า มีคนมาร่วมชุมนุมมากขึ้นๆ สับสนอีกแล้ว (มือเก่า)