บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน3)

โดย “มือเก่า”

“ร่วมกันสู้” หน้า 32

เมื่อผู้ยิ่งใหญ่ของ รสช. ประกาศออกมาเป็นมั่นเป็นเหมาะหลังการเลือกตั้งจะไม่เป็นนายกฯ แน่นอน หลายคนก็คลายใจหายห่วงเรื่องการสืบทอดอำนาจ ทำให้การคัดค้าน รสช. แผ่วลงๆ จนผ่านการพิจารณาวาระ 3 ในสภาไปอย่างสบาย ยอมให้ รธน. ผ่านไปก่อน ตรงไหนไม่ถูกต้อง ก็ตามไปแก้ในสภา

พอ พลเอกสุจินดา ปฏิเสธจะไม่เป็นนายกฯ รธน. ก็กลายเป็นไม่มีปัญหา ทุกคนลงสมัครตามกติกาใน รธน. ที่ยังคงประเด็นนายกฯ คนกลาง ที่ใช้มาตลอดเกือบ 60 ปีต่อไป

และน่าเสียดาย ที่ท่านไม่ได้ทำตามคำพูดของท่านที่ว่า ตรงไหนไม่ถูกต้อง ก็ตามไปแก้ในสภา เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมา ท่านใช้วิธีทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เพื่อบีบบังคับให้ พลเอกสุจินดา ลาออกทันที แทนที่จะใช้วิธีแก้ รธน. ซึ่งทำให้ พลเอกสุจินดา ต้องออกเหมือนกัน แต่คงไม่ได้ดังใจท่าน (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 25-26

ในการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง คัดค้านการร่าง รธน. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 นั้น ผมได้เอาคำในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่ง มาพูดเทียบเคียงว่า

“พี่จะยืนช้างอยู่ใต้ร่มไม้ทำไม เชิญมาทำยุทธหัตถีกันเถิด”

วันที่ 18 คณะ รสช. เพิ่งประกาศยืนยันแล้วยืนยันอีกไม่ต้องการตำแหน่งนายกฯ วันที่ 19 ท่านยังนำคำท้าสำคัญในประวัติศาสตร์มาประกาศทำไม ข้อสำคัญ คำกล่าวนี้เป็นของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ท้ารบในสนามรบ ไม่ได้ท้ากับคนชาติเดียวกันหรือสถาบันเดียวกัน (มือเก่า)

ไม่ได้หมายความว่า ผมท้านายทหารรุ่นพี่ๆ ในคณะ รสช. ให้ออกมาสมัคร ส.ส. แข่งกับผม เพราะตอนนั้นผมยังเป็นผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่มีความคิดที่จะสมัคร ส.ส. เลย

แต่ผมหมายถึง พี่ๆ ในคณะ รสช. ที่ประสงค์จะเป็น รมต. หรือนายกฯ ให้ลาออกมาสมัคร ส.ส. ถือเป็นการชอบธรรม ไม่เอาเปรียบใคร ผมจึงเสนอแนะไปเช่นนั้น

เชื่อ 1,000% ว่าท่านหวังดี เสนอแนะเพื่อคนอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองเล้ย (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 37

ต้องสารภาพซ้ำ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งว่า ผมไม่ใฝ่ฝันที่จะเป็นนายกฯ…ที่ประชุมพรรคหยิบผมขึ้นมา เพื่อชูให้ประชาชนเลือก เนื่องจากการสุ่มประชามติ ถามความเห็นประชาชนตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกเปรม มาจนถึงรัฐบาล คุณอานันท์ ผลก็มักจะออกมาว่า ผมเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นนายกฯ ผมเป็น “นายกฯ สุ่ม” มาหลายสมัย

เชื่ออีกแล้ว ว่าท่านไม่ใฝ่ฝันจะเป็นนายกฯ

สงสัยนิดเดียว หลังจาก พลเอกสุจินดา ออกมาประกาศจะไม่เป็นนายกฯ ท่านก็ไปลาออกจากผู้ว่าฯ กทม. ทั้งๆ ยังเหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกตั้ง 2 ปี ต้องเสียเงินเลือกตั้งกันใหม่

ท่านทิ้งตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เพื่ออะไรเล่า เพื่อหวังตำแหน่งที่ต่ำกว่ากระนั้นหรือ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 38

ค่ำของวันเลือกตั้ง พรรคการเมือง 5 พรรค คือ สามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร…ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยหนุน พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้…พลเอกสุจินดา ไม่รับเป็นนายกฯ ทุกคนที่ทราบข่าวนี้ ต่างก็รู้สึกตรงกันว่าโล่งอกไปที

เมื่อพลาดจาก พลเอกสุจินดา 5 พรรคก็หันมาชู คุณณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกฯ

ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป สหรัฐก็บอกมาว่า ได้ประกาศไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ให้คุณณรงค์เข้าสหรัฐ เพราะสงสัยอาจจะมีส่วนพัวพันกับยาเสพติด การสรรหาตัวนายกฯ จึงค้างเติ่ง

ผลการเลือกตั้ง เสียงข้างมากสนับสนุน พลเอกสุจินดา ขึ้นเป็นนายกฯ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ แสดงว่า พลเอกสุจินดา เจตนาผิดคำพูดหรือไม่ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 39

พรรคพลังธรรม จึงจัดให้มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ของพรรคเป็นการด่วน มีมติว่า “เรื่องส่วนตัวของ คุณณรงค์ วงศ์วรรณ…ต้องใช้เวลานานกว่าจะทำความกระจ่างให้เกิดขึ้น ขณะนี้ประเทศชาติจำเป็นต้องมีนายกฯ มาบริหารงานโดยไว พรรคพลังธรรมจึงเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง คุณณรงค์ วงศ์วรรณ ควรจะถอนตัวจากการได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ”

“มติชนสุดสัปดาห์” 3 เมษายน 2535 หน้า 10

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้แสดงความพยายามอย่างเต็มกำลัง ที่จะจัดตั้งรัฐบาลอีกขั้วหนึ่ง แต่ พลเอกชวลิต ก็มีสภาพไม่แตกต่างไปจากมลทินที่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ เผชิญอยู่ เนื่องแต่กรณีกฐินแอลเอ ซึ่งคนในขบวนของ คุณหญิงพันธุ์เครือ ถูกตำรวจสหรัฐจับในข้อหาขนเฮโรอีน

พรรคเสียงข้างน้อย ก็ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ตำแหน่งนายกฯ จึงกลับมาหา พลเอกสุจินดา อีกครั้งหนึ่ง (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 39

ต่อมามีข่าวหนาหูว่า จะเอา พลเอกสุจินดา เป็นนายกฯ อีก ใครต่อใครหันมาท้วงติง พลเอกสุจินดา เป็นการใหญ่ด้วยความหวังดี กลัวจะก้าวพลาด

ผมคนหนึ่งละ ที่เป็นห่วงพี่สุ

แปลกจัง พลตรี อาสาเป็นนายกฯ ได้

แต่ พลตรี กลับเป็นห่วง ถ้า พลเอก จะเป็นนายกฯ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 40

พี่สุเป็นนายกฯ ผมต้องค้าน ค้านมาตั้งแต่ต้น และต้องค้านตลอดไป จนกว่าพี่สุจะพ้นจากตำแหน่ง

คนหนึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อย เป็นเผด็จการได้

อีกคนหนึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยเหมือนกัน ก็ต่อต้านเผด็จการได้

ว่าแต่เขา อิเหนาอย่าเป็นเองแล้วกัน

พฤติกรรมของเผด็จการ คือ เอาแต่ใจตัว ต้องการอะไรก็ต้องได้ ถือความคิดตนเป็นใหญ่ ไม่ฟังใคร และบ้าอำนาจ (มือเก่า)

“ผู้จัดการ” พฤษภาทมิฬ หน้า 9

1 ธันวาคม 2534 ผมยืนยันไม่เล่นการเมือง ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่เป็นนายกฯ โดยเด็ดขาด

บอกไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่เล่นการเมือง เมื่อไม่เล่นก็ไม่รับตำแหน่งนายกฯ

28 มกราคม 2535 ไม่ใช่ว่าผมไม่กล้าตัดสินใจ ผมพูดอยู่ตลอดเวลา ว่าผมตัดสินใจไม่เล่นการเมือง

หนังสือ “หลักไท” 11-17 กรกฎาคม 2535

ฝ่าย พลเอกชวลิต ขอร้อง พลเอกสุจินดา ว่า ขอเวลาพี่บริหารประเทศชาติ 2 ปี จากนั้นจะมาช่วยกันให้น้องสืบทอดอำนาจต่อไป แต่บิ๊กสุปฏิเสธว่า “ชีวิตผมไม่เล่นการเมือง และไม่ต้องการเป็นนายกฯ” จน พลเอกเปรม ต้องออกมาห้ามทัพด้วยตนเอง

สื่อต่างๆ รายงานตรงกันว่า พลเอกสุจินดา ปฏิเสธการขึ้นสู่อำนาจนายกฯ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลับถูกหาว่า เจตนาสืบทอดอำนาจ เป็นธรรมหรือไม่ (มือเก่า)

“สยามโพสต์” 4 พฤษภาคม 2540 หน้า 3

พลันที่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ ไม่สามารถฝ่าด่านเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 19 เพราะถูกแบล๊กลิสต์ห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ลั่นสัญญาประชาคมไว้ก่อนหน้า ว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ก็จำใจต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ด้วยการรับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 19 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535

พลเอกสุจินดา ได้หลั่งน้ำตา กล่าวต่อขุนทหารตอนหนึ่งว่า “ผมมีความจำเป็นต้องเสียสัตย์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ถ้ามีก็ด้วยเหตุผลเดียวว่า เพราะความเป็นทหาร ที่มีคติประจำใจว่า จะยอมเสียสละได้แม้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความจำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ การเสียชื่อเสียง การเสียสัจวาจา ก็เป็นความจำเป็น”

ผู้ที่ปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีก ไม่ไยดีต่อตำแหน่งนายกฯ แต่ไม่อาจฝืนโชคชะตา ฟ้าลิขิต ต้องมาเป็นนายกฯ จนได้ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 46

ในตอนสายที่รัฐสภา…4 พรรคการเมือง คือ ความหวังใหม่ ประชาธิปัตย์ พลังธรรม และเอกภาพ ยืนหยัดที่จะสนับสนุนบุคคลที่เป็น ส.ส. เท่านั้น ขึ้นเป็นนายกฯ

“ร่วมกันสู้” หน้า 45

ผมได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า…ประชามติทุกครั้ง ประชาชนต้องการนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงอยากให้ 5 พรรคการเมือง ทบทวนเสียใหม่ และการคัดค้านนายกฯ ที่มาจากคนกลาง จะเริ่มต้นตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป

ชอบกล การเลือกตั้ง ก็คือ ประชามติเหมือนกันมิใช่หรือ เป็นประชามติทั้งประเทศ และถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย ไม่ใช่ประชามติสุ่ม (มือเก่า)


ตอน 1
ตอน 2