บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน12)

AFP PHOTO / FRANCIS SILVAN

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11
โดย “มือเก่า”

“แนวหน้า” 18 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ สู้จนได้คำตอบ

พล.ต.จำลอง ปราศรัยต่อไปว่า การที่ทุกคนเสี่ยงออกจากบ้านมาชุมนุม ก็เพื่อสร้างทางตันให้ พล.อ.สุจินดา ขณะนี้ พล.อ.สุจินดา มีทางออกคือ หนึ่ง สร้างสถานการณ์ให้ยืดเยื้อต่อไป สอง จับผู้นำการต่อต้าน… จับวันไหนเกิดเรื่องแน่ สาม หากประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ประชาชนก็มีเป็นแสนๆ คน สี่ เลือกหนทางปฏิวัติ แต่ถ้าปฏิวัติ…ประชาชนเป็นแสนๆ จะต้องสู้แน่นอน ทางที่ห้า คือ ยุบสภา ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งได้อีก 90 วัน หากทำเช่นนั้น ก็ต้องประณามว่า เป็นคนเห็นแก่ตัว เพราะเลือกตั้งมาได้ไม่นาน ก็หาเรื่องให้เสียงบประมาณเลือกตั้งใหม่อีก ทำให้ ส.ส. ตกงานทั้งสภา ทั้งที่ต้องการให้ลาออกคนเดียว

ถ้ายุบสภา คือเห็นแก่ตัว เพราะต้องเสียเงินเลือกตั้งใหม่ แต่ฝ่ายที่ไม่อยากให้ยุบสภา เพราะไม่อยากรอ อยากได้รัฐบาลใหม่ทันที ทำให้บ้านเมืองเสียหายหรือเปล่า และเสียมากกว่างบฯ เลือกตั้ง หรือไม่ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 149

วันที่ 17 พฤาภาคม … ครูประทีปจะต้องรีบเดินทางไปวงเวียนใหญ่ เพื่อปราศรัยกับประชาชนฝั่งธนบุรี แล้วชวนให้เดินทางไปสมทบที่สนามหลวง

“มติชน” 18 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ ฝ่ายค้าน-ฝ่ายหนุน ชิงประชาชน

…โดยนางประทีปกล่าวปราศรัยว่า ขอเชิญชวนประชาชนไปร่วมฟังปราศรัยที่ท้องสนามหลวง แต่ถ้าจะเห็นแก่ความสนุก ขอให้ดูดนตรีอยู่ที่นี่ แล้วอยู่ภายใต้เผด็จการไปอีก 10 ปี

เวลา 16.30 น. นางประทีป ได้นำประชาชนบริเวณวงเวียนใหญ่ ประมาณ 200 คน เดินเท้าไปยังท้องสนามหลวง

“ผู้จัดการ” ฉบับพฤษภาคมทมิฬ หน้า 49

เวลา 16.40 น. เวลาเดียวกัน นายอำนาจ สถาวรฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยธนบุรี ได้นำประชาชนจากวงเวียนใหญ่ ประมาณ 2,000 คน เดินทางด้วยเท้ามาร่วมชุมนุมที่สนามหลวง

แปลก ทำไมต้องไปพาประชาชนมาเอง ก็แปลว่ามีประชาชนจัดตั้งด้วย แล้วจะมีบทบาทอะไรหรือไม่ ในการเคลื่อนขบวน (มือเก่า)

“แพรวเฉพาะกิจ” หน้า 18

…พอดีขบวนของ พล.ต.จำลอง เดินทางมาถึง…พล.ต.จำลอง ตัดสินใจหยุดขบวนที่สะพานผ่านฟ้า ไม่มุ่งหน้าไปทำเนียบ อย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

“ผู้จัดการ” ฉบับพฤษภาคมทมิฬ หน้า 63

พล.ต.จำลอง ได้ขึ้นประกาศบนเวทีอีกครั้งว่า ให้ประชาชนกลับมาหลังแนวสิ่งกีดขวาง…พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนช่วยนำสิ่งกีดขวาง กลับมาวางขวางถนนไว้ดังเดิม

“ร่วมกันสู้” หน้า 148

ที่ประชุมยังได้เตรียมแก้ปัญหา หากทหาร ตำรวจ ไม่ยอมให้เราเดินไปทำเนียบ ยกกำลังออกมาปิดกั้นจะทำอย่างไร ตกลงกันว่า กั้นตรงไหน เราก็หยุดตรงนั้น

“ร่วมกันสู้” หน้า 155

ผมยืนบนหลังคารถตู้ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ขอให้ประชาชนหยุดตรงเชิงสะพานผ่านฟ้า และอย่าได้ไปยั่วยุตำรวจ เราชุมนุมอย่างสันติ ตำรวจกั้นตรงไหน เราก็หยุดตรงนั้น

ถ้ากั้นตรงไหน ก็หยุดตรงนั้น ก็ต้องหยุดที่ “ผ่านฟ้า” น่ะซิ เพราะเคยถูกกั้นมาแล้ว จากการย้ายครั้งที่ 2 ดังนั้น การอ้างไปทำเนียบ น่าจะเป็น “ลับลวงพราง” เพราะถ้าบอกไปทำเนียบ ก็ต้องถูกหยุด ติดด่านที่ “ผ่านฟ้า” อยู่ดี ดังนั้น จุดหมายปลายทางของการเคลื่อนขบวนออกจากสนามหลวง ก็น่าจะเป็น “ผ่านฟ้า” นี่แหละ ที่ซึ่ง พล.ต.จำลอง บอกว่า “เป็นที่ซึ่งมีทางแยกมากที่สุดในกรุงเทพฯ”

ดังนั้น “ผ่านฟ้า” ก็น่าจะเป็นชัยภูมิ

ที่เหมาะที่สุด แก่การก่อการจลาจลอีกด้วย” (มือเก่า)

“ข่าวสด” 18 พฤาภาคม 2535 หน้า 22

หัวข้อ ประกาศเคลื่อนม็อบไปทำเนียบ

เวลา 21.15 น. หลังจาก พล.ต.จำลอง ปราศรัยจบ…พล.ต.จำลอง นพ.สันต์ และ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขึ้นรถตู้นำขบวนประชาชนนับแสนคน ออกเดินทางจากสนามหลวง โดยประกาศว่าจะไปชุมนุมประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปให้กำลังใจกับ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร

…นอกจากรถตู้ที่ พล.ต.จำลอง และกรรมการสมาพันธ์ฯ ประชาธิปไตยนั่งไปแล้ว ยังมีขบวนรถปิกอัพ 4 คัน พร้อมกระสอบป่านเตรียมไว้วางพาดบนลวดหนาม เพื่อให้รถวิ่งข้ามไป อันเป็นกลยุทธ์ที่ พล.ต.จำลอง นำมาจากการรบในเวียดนาม

หัวข้อ ปะทะจุดแรกที่ผ่านฟ้า

21.35 น. …รถปิกอัพนำขบวนทั้ง 4 คันเร่งเครื่องเสียงดังลั่น พุ่งเข้าชนเครื่องกีดขวาง พร้อมกับโยนกระสอบป่านคลุมทับลวดหนาม เหตุการณ์ชุลมุนเกิดขึ้นทันที

สื่อรายงานชัดเจน ถึงเหตุการณ์ปะทะ แต่ก็มีผู้รับรู้ รับทราบน้อยมาก เป็นความจริงที่ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง ว่าเหตุร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครคือผู้จุดชนวน (มือเก่า)

“ข่าวสด” 18 พฤาภาคม 2535 หน้า 22

หัวข้อ แหกลวดหนาม ยึดรถดับเพลิง

22.00 น. ฝูงชนที่โกรธแค้นเพราะถูกฉีดน้ำเข้าใส่ได้รวมตัวกันติด…พากันฮือเข้ายึดรถดับเพลิงที่ปักหลักอยู่…เอาไว้ได้ทั้ง 10 คัน แล้วใช้สิ่งของขว้างปาเข้าใส่ตำรวจ จนตำรวจต้องถอยหนี จากนั้นผู้ที่ยึดรถไว้ได้ ประกาศชัยชนะด้วยการฉีดน้ำเป็นลำขึ้นสูงไปในท้องฟ้า ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชน…พากันเคลื่อนผ่านแนวลวดหนาม ที่ถูกประชาชนรื้อจนทลายหมดแล้ว …ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากตั้งหลักได้ ก็ยกกำลังกลับมายึดรถดับเพลิงทั้ง 10 คันคืนได้หมด

หัวข้อ ยึดแล้วทุบรถดับเพลิง

…ระหว่างที่ผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่มแรก ฮือข้ามแนวลวดหนาม ที่มีการใช้กระสอบป่านวางคลุมบนลวดหนามแล้ว รถดับเพลิงได้พยายามฉีดน้ำสกัด แต่สู้คลื่นคนที่โหมฮือเข้ามามืดฟ้ามัวดินไม่ได้ น้ำในรถดับเพลิงทั้ง 8 คันหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว ฝูงชนแห่เข้ายึดรถ กรูกระชากเอาตำรวจดับเพลิงลงมา กระทืบอย่างบ้าคลั่ง ตำรวจส่วนที่เหลือต้องเผ่นหนีอย่างไม่คิดชีวิต รถดับเพลิงถูกทุบทำลาย กระจกและอุปกรณ์ต่างๆ ในรถพังยับเยิน

หัวข้อ ตีกัน ตร.เจ็บ-คนตกคลอง

ขบวนผู้ชุมนุมประท้วง ฮือฝ่าแนวป้องกัน มุ่งหน้าไป สน.นางเลิ้ง ตำรวจตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ทำให้ประชาชนแตกฮือ แต่กลับมารวมตัวกันใหม่ และกรูเข้าใส่ตำรวจ จนต้องถอยกรูด …ตำรวจส่วนหนึ่งต้องงัดกระบองขึ้นมาไล่ตีประชาชนที่ฮือเข้าใส่

ถึงประชาชนมือเปล่า แต่คลื่นคนที่มืดฟ้ามัวดิน

ตำรวจยังต้องเผ่นหนี อย่างไม่คิดชีวิต (มือเก่า)

“ข่าวสด” 19 พฤษภาคม 2535 หน้า 2

23.30 น. การเผชิญหน้า ที่เพิ่มความตึงเครียดระอุขึ้นมาถึงขีดสุด กลุ่มคนสุมท่อนไม้จุดไฟ จะเผาสะพานวันชาติ แต่ถูกดับได้

แต่จุดร้ายแรงที่สุด กลับเป็นหน้าสะพานผ่านฟ้า ประชาชนที่ข้ามสะพานไปได้ บุกยึดสถานีดับเพลิงภูเขาทองและเผารถดับเพลิงแล้ว 3 คัน

00.30 น. ประกาศภาวะฉุกเฉินออกโทรทัศน์ทุกช่อง ย้ำว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายตำรวจ และทำลายทรัพย์สินของบ้านเมือง ขณะเดียวกัน หน้าสะพานผ่านฟ้า รถดับเพลิงที่ถูกยึดไว้ได้ กลายเป็นเชื้อเพลิงอีก 6 คัน

เหตุการณ์วุ่นวาย กลายเป็นจลาจล จนทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน (มือเก่า)

“มติชน” 18 พฤษภาคม 2535 หน้า 20

การเคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงนั้น ในส่วนหน้า ยังมีรถมอเตอร์ไซค์จำนวนหลายร้อยคันนำขบวน โดยมอเตอร์ไซค์ได้บีบแตรให้จังหวะ เสียงดังลั่นตลอดเส้นทาง

21.30 น. …ขบวนแรก ซึ่งได้นำโดยมอเตอร์ไซค์มาถึง ก็ได้ลงมาพยายามดึงลวดหนามออกไป…หลังจากนั้น มีรถกระบะโตโยต้าสีครีม เลขทะเบียน 1 ฌ 2568 ซึ่งเป็นรถของผู้ชุมนุม ติดเครื่องขยายเสียงพยายามขับแหวกรั้วลวดหนามออกไป

21.40 น. ฝูงชนสามารถฝ่าลวดหนามออกไปได้สำเร็จ โดยใช้รถลุยนำออกไปก่อน…

เตรียมมาพร้อม

มีมอเตอร์ไซค์ และรถกระบะไว้ฝ่าด่าน

มติชนรายงานทะเบียนรถไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย (มือเก่า)