บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน15)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14
โดย “มือเก่า”

 

“ร่วมกันสู้” หน้า 163

ไชยวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า เขาอาจจะมาจากผู้ใหญ่ให้มารับข้อเสนอนี้ แต่เขาอาจไม่รู้ว่า สนามหลวงนั้นถูกล้อมไว้หมดแล้ว ช่วงสี่แยกคอกวัวมีทหารอากาศอยู่ ซ้ายมือมีทหารเรือ ตำรวจอยู่ด้านขวา ฟากโรงเรียนสตรีวิทย์ อีกด้านก็ยันไว้กับทหารบก เพราะฉะนั้น มันปฏิบัติไม่ได้

“ร่วมกันสู้” หน้า 10

เนื่องจากเมื่อคืนที่แล้ว ผู้ร่วมชุมนุมอิดโรยเหลือเกิน ต้องหลบกระสุนปืนกันหัวซุกหัวซุน จึงพากันกลับไปพักเป็นจำนวนมาก ตอนเย็นจึงจะกลับมา

เมื่อทหารมาเจรจา ขอให้ย้ายกลับไปสนามหลวงในเช้าวันที่ 18 พล.ต.จำลอง เป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ยอมย้าย แต่จากข้อเขียน พล.ต.จำลอง อ้าง ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ว่ามันปฏิบัติไม่ได้ แปลว่า ออกไปไม่ได้ แต่อีกหน้าหนึ่งเล่าว่า มีผู้กลับไปพักจำนวนมาก (มือเก่า)

“มติชนสุดสัปดาห์” 29 พฤษภาคม 2535 หน้า 15

อรุณรุ่งของวันที่ 18 พฤษภาคม สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือ ซากปรักหักพัง

“วิดีโอ” ม้วนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ถ่ายเก็บเหตุการณ์ ขณะ สน.นางเลิ้ง และ กก.สด. ถูกเผา

ขณะที่หน่วยข่าวกรมตำรวจ รายงานเหตุการณ์เมื่อค่ำวันที่ 17 พฤาภาคม ระบุว่า

กองหน้าของม็อบ เรียกว่า ฮาร์ดคอร์ มีแกนนำประมาณ 200-300 คน นำฝูงชนราว 2,000-3,000 คน ล่วงหน้ามาก่อนม็อบ พล.ต.จำลอง ราวครึ่งชั่วโมง และเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บนสะพานผ่านฟ้า

สื่อรายงานตรงกันหมด ว่าผู้ชุมนุมมี “กองหน้า” ทางการก็มีเทป วิดีโอ บันทึกเหตุการณ์ไว้ แต่ก็ยังมีผู้บิดเบือนกล่าวหาทางการสร้างสถานการณ์ (มือเก่า)

“มติชนสุดสัปดาห์” 1-7 กันยายน 2549 ฉบับที่ 1359 หน้า 12

สัมภาษณ์ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี

วีรกรรมหนึ่ง ที่ พล.อ.พัลลภ เคยเล่าอย่างภาคภูมิใจ

นั่นคือ กรณี พฤษภาทมิฬ

เขาคือ “ผู้นำ” ในการเผาสถานีตำรวจนางเลิ้ง

พล.อ.พัลลภ เล่าว่า ตอนนั้นนักศึกษาโดนตำรวจไล่ตี เขาจึงคิดเอาคืน ด้วยการนำนักศึกษาบุกสถานีดับเพลิงที่ภูเขาทอง พอเปิดห้องไป ก็เจอขวดเบียร์ ขวดเหล้า

ผมนึกถึงระเบิดเพลิง ก็เลยบอกนักศึกษาว่า น้องๆ เดี๋ยวเราตีตำรวจพวกนี้กัน ก็เอาน้ำมันจากรถดับเพลิง เอาเสื้อตำรวจที่ยึดมา นั่งทำระเบิดเพลิงได้ 50 ลูก

ตอนตี 1 เขาก็บอก พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ ที่มีชื่อเล่นว่า หมึก “ไอ้หมึก ตอนตี 2 ค่อยตีตำรวจ เพราะนักศึกษาเขาไม่ยอม” พอตี 2 พล.ท.พิรัช ก็นำทีมเข้าตีกลุ่มตำรวจ ขว้างระเบิดเพลิงเข้าใส่ จากนั้นก็บุกเผา สน.นางเลิ้ง

ขอบคุณนักศึกษา (มือเก่า)

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นเพื่อนร่วมรุ่น จปร.7 กับ พล.ต.จำลอง ถ้าจะสร้างสถานการณ์ ควรจะเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใด เพราะ พล.อ.สุจินดา ไม่ยอมใช้นโยบายปราบปรามง่ายๆ ตั้งแต่ชุมนุมครั้งแรก 6-12 พฤษภาคม ก็ไม่มีการสลายฝูงชน จน พล.ต.จำลอง ถึงกับพูดว่า “ผมท้าทุกวัน ว่าเมื่อไหร่จะลุยมาซักที จะได้รู้แล้วรู้เรื่อง” และพูดต่อไปว่า “ในยุคที่ทหาร 3 เหล่าทัพเป็นพวกเดียวกัน แต่เขาไม่กล้าประกาศภาวะฉุกเฉิน ปล่อยให้ประชาชนมายึดถนนราชดำเนิน”

ถ้าครั้งนี้ ยึดถนนเฉยๆ อีก ก็ไม่มีการปราบปรามแน่นอน แต่เมื่อมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น จนทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว ก็ยังไม่มีการปราบปราม ได้แต่ใช้ความอดทน อดกลั้น จนผ่านไปได้ตลอดคืน รุ่งเช้าจึงเข้าเจรจา ขอให้ย้ายกลับสนามหลวง

แสดงว่า พล.อ.สุจินดา มีเจตนาจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนหรือไม่ (มือเก่า)

“เดลินิวส์” 20 มิถุนายน 2535

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาสอบสวนเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี นายเดช บุญ-หลง เป็นประธาน ในการประชุมครังนี้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ ได้นำคณะนายตำรวจผู้ใหญ่ ประกอบด้วย พล.ต.ท.ณรงค์ เหรียญทอง ผบช.น. พล.ต.ท.ธนู หอมหวล ผบช.ก. พล.ต.ต.รังสิต ญาโณทัย ผบก.ป.รวมทั้ง สวญ.สน.นางเลิ้ง เข้าชี้แจงด้วย

พล.ต.ท.ณรงค์ กล่าวชี้แจงว่า ตนอยู่บริเวณผ่านฟ้าตลอดเวลา ได้กำชับให้ตำรวจอดทนและอดกลั้น แต่สิ่งที่เป็นชนวนก่อเหตุ เช่น มีการขว้างปา ด่าทอ ยั่วยุตำรวจ ในที่สุดก็มีการปะทะกัน เนื่องจากตำรวจต้านกำลังผู้ชุมนุมไว้ไม่ได้ ผู้ชุมนุมได้ล้อมกำลังตำรวจไว้ เพราะสามารถเข้ามาได้หลายทาง หลังจากนั้น มีการเผา สน.นางเลิ้ง แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามรักษาเอาไว้อย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถป้องกันไว้ได้

พล.ต.ท.ธนู กล่าวเสริมว่า สภาพของตำรวจตอนนั้น ตนคิดว่าแย่ที่สุด เพราะรัฐบาลไม่ได้เอาใจใส่หรือหามาตรการป้องกันให้เลย…โล่ที่ตำรวจถือ เป็นโล่หวาย ที่เอามาจากกรมราชทัณฑ์ บางขวาง ซึ่งหนัก บางอันไม่มีหู ไม่สามารถจับได้

เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไร ตำรวจมักถูกด่าว่าเสมอ ผบช.ก. กล่าว จากนั้นกรรมาธิการคนหนึ่ง ถามว่า จะอธิบายภาพตำรวจทุบตีประชาชนอย่างไร พล.ต.ท.ธนู กล่าวว่า ภาพนั้นแบ่งออกเป็นช่วงๆ ขณะที่ประชาชนแย่งรถดับเพลิง…

ผบช.ก. กล่าวว่า เมื่อมีการขว้างปาสิ่งของจนตำรวจได้รับบาดเจ็บ และเกิดความโมโห โดยเฉพาะการขว้างระเบิดเพลิงที่กรมโยธาธิการ เราสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 3 คน และมีการทุบตี ซึ่งตนได้ขอร้องว่าอย่าทำเช่นนั้น จากนั้นมีการพยายามนำรถดับเพลิงมาทำลายรั้วลวดหนาม รวมทั้งใช้มอเตอร์ไซค์มาดึงรั้วลวดหนาม ซึ่งเมื่อประชาชนเอารั้วลวดหนามออกไป ก็มีการตะโกนว่า “ฆ่ามันเลย” ตำรวจบางคนกลัวถึงกับถอดเสื้อแล้ววิ่งหนี ตนขอให้ทุกท่านพูดความจริง ตนเป็นเพียงคนเล็กๆ ไม่มีอำนาจอะไร

ส่วนเรื่องเสื้อเกราะ ซึ่งปรากฏเป็นภาพตามหน้า น.ส.พ. ปรากฏว่า ได้มีการซักถามจากกรรมาธิการอย่างมากเช่นกัน ในเรื่องนี้ พล.ต.ท.ณรงค์ ชี้แจงว่า ในเรื่องเสื้อเกราะ ได้มีรถของกองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ นำมาแจกจ่ายให้ตำรวจ แต่ถูกผู้ชุมนุมยึดรถ และได้นำเสื้อเกราะนั้นมาแจกจ่ายแก่ผู้ชุมนุมด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการยึดวิทยุมือถือมาใช้ด้วย

พล.ต.ต.รังสิต กล่าวเสริมว่า ที่บอกว่า คนสวมเสื้อเกราะเป็นตำรวจกองปราบฯ นั้น ในเรื่องนี้ตนขอปฏิเสธว่าไม่ใช่ เพราะตนมีหลักฐานแน่นอน เพราะได้จับกุมคนหนึ่งขณะไปเคลียร์ที่วัดราชนัดดา ซึ่งกว่าจะได้ตัว ตำรวจก็สาหัสทีเดียว คนที่ถูกจับได้นั้น ชื่อ นายสุทัศน์ พูนลำพู พร้อมของกลางคือ วิทยุมือถือ 2 เครื่อง และโทรศัพท์มือถืออีก 1 เครื่อง

บุคคลคนนี้เป็นชาว จ.เลย ถูกจ้างวานมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่ตัวยังค้นพบบัตรสมาชิกพรรคนั้นอีกด้วย… พล.ต.ต.รังสิต กล่าวว่า ตนมาที่นี่ยังรู้สึกหนาวๆ ว่าจะถูกขึ้นเขียงหรือไม่ หากตนเปิดเผยพยานก็จะต้องถูกสังหารหมด ฝ่ายเสียหายหากเป็นใหญ่ขึ้นมา ตนอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ได้

ความในใจของนายตำรวจ ที่ควบคุมสถานการณ์ (มือเก่า)

“ไทยรัฐ” 20 มิถุนายน 2535
(เล่าข่าวจากไทยรัฐ ส่งไปเดลิมิเรอร์)

…พล.ต.ต.รังสิต ญาโณทัย ผบก.ป. ชี้แจงว่า นายสุทัศน์ พูนลำพู ตอนจับได้มีลักษณะมอมแมม น้ำมันเบนซินหึ่ง มีเศษกระจกรถตำรวจ สน.บุคคโล ติดเต็มตัว เมื่อสอบถามตอบว่า อยู่จังหวัดเลย จะมาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ถามประชาธิปไตยคืออะไร เผด็จการคืออะไร ก็ตอบไม่ได้

บอกแต่ว่า “เขา” ให้มา ซึ่งเป็นชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าเป็นคนดี …เขาเดือดร้อน ตนจึงมา และมีบัตรสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมาด้วย พล.ต.ต.รังสิต เล่า ตามเอกสารภาพถ่ายที่แนบมา พร้อมจดหมายฉบับนี้

แล้วมือที่ 3 ก็เป็นคนของพรรคพลังธรรม (มือเก่า)

“เดลิมิเรอร์” 21 สิงหาคม 2535
คอลัมน์ ในที่สุดความจริงก็ปรากฏ ของ สอาด จันทร์ดี

หนังสือของพรรคพลังธรรม ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2535 เรื่อง ขอให้ปล่อยตัว นายสุทัศน์ พูนลำพู ถึง พล.ต.ต.รังสิต ญาโณทัย ผู้บังคับการกองปราบฯ โดยมีเนื้อความโดยย่อว่า ให้ตำรวจปล่อยตัว เนื่องจากถูกจับกุมในข้อหา “ร่วมชุมนุม” ในการเรียกร้อง รธน. โดยสันติของประชาชน ในระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ที่ผ่านมา …ลงชื่อโดย ดร.ชินวุธ สุนทรสิมะ เลขาธิการพรรคพลังธรรม

นายสุทัศน์ อดีตเป็นทหารพรานอยู่ค่ายปักธงชัย เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังธรรม เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2535 ได้เป็นสมาชิกหมายเลข 164552

คำให้การของนายสุทัศน์ เปิดเผยว่า นายวิเชียร ไม่ทราบนามสกุล แกนนำของพรรคพลังธรรม ได้นำพาข้าฯ และพรรคพวก 20 คน เดินทางจาก อ.วังสะพุง เข้ากรุงเทพฯ บอกให้รู้ว่า จะไปให้กำลังใจ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่จะเปิดปราศรัยที่สนามหลวง วันที่ 17 พฤษภาคม 2535

นายสุทัศน์ ถูกตำรวจคุมขังเอาไว้ จนพรรคพลังธรรมต้องมีหนังสือไปขอให้ปล่อยตัว โดยอ้างว่ากฎหมายนิรโทษกรรมก็เป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่มีโทษแล้ว ดังนั้น นายสุทัศน์ พูนลำพู จึงควรได้รับการปล่อยตัวทันที แต่ตำรวจก็ว่าปล่อยไม่ได้ เพราะจับตัวได้ มีของกลางด้วย ของทั้งหมดเป็นของโรงพักตำรวจนางเลิ้ง จึงแยกตัวไปอีกคดีหนึ่งต่างหาก เรื่องจึงแดงแจ๋ออกมาว่า พรรคพลังธรรม ได้เตรียมการมาก่อนในการที่จะก่อการประท้วงใหญ่ มีการขนคนมาจากต่างจังหวัด

ลงทุนจัง เพื่อจะโค่นรัฐบาล พล.อ.สุจินดา ให้ได้ ว่าแต่ว่า นายสุทัศน์ คงจะเป็นคนสำคัญ พ.อ.ชินวุธ ถึงได้ออกหน้าเอง (มือเก่า)