ยุทธการ 22 สิงหา ทดสอบ วัดพลัง การเมือง รัฐบาลสมัคร กับ กองทัพ

สาระนิยาย Psy ฟุ้ง

 

ยุทธการ 22 สิงหา

ทดสอบ วัดพลัง การเมือง

รัฐบาลสมัคร กับ กองทัพ

 

สถานการณ์รัฐบาล สถานการณ์พรรคพลังประชาชน หากมองผ่านแต่ละจังหวะก้าวของนายกรัฐมนตรี ของ นายสมัคร สุนทรเวช

ไม่สู้จะเป็นผลดีเท่าใดนัก

ไม่ว่าจะมองผ่านสภาพการณ์ “ภายใน” ไม่ว่าจะมองผ่านสภาพการณ์จาก “ภายนอก”

เนื่องจากตกอยู่ในลักษณะ “ตั้งรับ”

ไม่เพียงแต่จะเห็นปฏิบัติการรุกไล่เพื่อกำจัด “องค์ประกอบ” ของรัฐบาล ของพรรคพลังประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หากแต่สัมพันธภาพกับเครือข่าย “ราชการ” ก็ไม่ราบรื่น

แม้ นายสมัคร สุนทรเวช จะควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เห็นได้จากการรุกไล่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช จากตำแหน่งประธานสภา เห็นได้จากการรุกไล่ นายจักรภพ เพ็ญแข จากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เห็นได้จากการรุกไล่ นายนพดล ปัทมะ จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ยิ่งมองไปยัง นายสมัคร สุนทรเวช ยิ่งน่าเป็นห่วง

 

หลังเกิดการปะทะระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับฝ่ายปกป้องรัฐบาลกระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิต

วันที่ 2 กันยายน 2551 รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการเข้ม

นั่นก็คือ การประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร

มอบให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ

ในตอนสายของวันเดียวกันนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงและส่วนราชการต่างๆ หารือ

แสดงความตั้งใจจะแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยโดยยึดถือระบอบประชาธิปไตย

และจะไม่ให้มีการปะทะกันเกิดขึ้นอีก

ในวันที่ 4 กันยายน รัฐบาลเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉุกเฉินด้านหลักเพื่อรับทราบและให้ความเห็นชอบเรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่ไฮไลต์ของการประชุมกลายเป็นประกาศเพิ่มเติม 2 ฉบับ

 

1คือการประกาศของนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้อำนวยการ

1 คือประกาศให้อำนาจนายกรัฐมนตรีตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โอนอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายมาเป็นของนายกรัฐมนตรี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา

หรือช่วยในการแก้ไขปราบปรามระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

“มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2551” ตั้งข้อสังเกตว่า

คำสั่งดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายสมัคร สุนทรเวช รวบอำนาจกฎหมาย 20 ฉบับมาไว้ในมือ

โดยเฉพาะข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อมที่จะทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งเคลื่อนย้ายกำลังทหารได้เอง

มีการจับตามองว่า นายสมัคร สุนทรเวช อาจหวาดระแวงกองทัพและไม่พอใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด

โดยไม่ได้สลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

เมื่อมีข้อสังเกตโน้มเอนไปในลักษณะเช่นนี้ ท่าทีและการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารบก

จึงล้วนอยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์

วันที่ 5 กันยายน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมรับประทานอาหารเช้าและหารือสถานการณ์การเมืองกันเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง

เมื่อนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ทราบเรื่อง จึงโทรศัพท์ให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เข้าพบ

เป็นการอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ผลที่ตามมาเห็นได้จากคำแถลงของ นายสมัคร สุนทรเวช ระบุว่า ได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แล้ว

ยืนยันว่า หลังประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องตั้งคณะทำงาน จากนั้น อำนาจที่อยู่ในมือรัฐมนตรี 21 คนก็มาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี

แล้วก็มอบอำนาจให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ “ผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)” อย่างเป็นทางการ

ผลที่ตามมาคือราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์คำสั่งโดยระบุเป็นทางการว่า

“ให้ผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ขึ้นเป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรี”

เท่ากับถ่ายโอนอำนาจของ “นายกรัฐมนตรี” ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

 

หากมองในท่วงทำนองแบบ “ขงเบ้งหลังสถานการณ์” ก็ย่อมจะสัมผัสได้ในความหวาดระแวงที่ดำรงอยู่ในทางการเมือง

ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

ความไม่พอใจภายหลังการประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงสะท้อนปัญหาและความไม่ไว้วางใจที่ดำรงอยู่ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล

ที่ประเมินว่า นายสมัคร สุนทรเวช มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทหารและกลุ่มกุมอำนาจ “รัฐพันลึก”

จึงเป็นการประเมินที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อน

เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอำนาจ “รัฐพันลึก” กับพรรคพลังประชาชนมีรากฐานมาจากความขัดแย้งกับพรรคไทยรักไทย สัมพันธ์กับบทบาทและการเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร

บทบาทของ นายสมัคร สุนทรเวช ในยุคหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 และหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 จึงแทบไม่มีประโยชน์

ไม่ว่าในด้าน “เครือข่าย” ความสัมพันธ์ ไม่ว่าในด้าน “การเมือง”

เงาสะท้อนแห่งความขัดแย้งจึงปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านการแย่งยื้ออำนาจระหว่าง นายสมัคร สุนทรเวช กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ยืนยันถึงสถานะที่ไม่มั่นคงเท่าใดนักของ นายสมัคร สุนทรเวช