จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2567 ฉบับที่ 2281

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2567 ฉบับที่ 2281

 

ผู้วิเศษเด็ก

ทุกข์ให้ถึงที่สุดจนสุดทุกข์

กองทัพธรรมบุกประจบประจวบ

ก่อนที่กิเลสกำลังจะกินรวบ

เด็กเจ็ดแปดขวบกำลังแสดงธรรม

อรูปนาม

 

คอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ

ของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่แล้ว

ให้สติไว้อย่างน่าสนใจ

ว่า “ผู้วิเศษเด็ก” เป็นเรื่องที่สังคมต้องระวังและไตร่ตรอง

โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ ที่ไปจับเอาเด็กมาเป็นผู้วิเศษ

อาจเป็นบาปบริสุทธ์ ในแง่เป็นเพียงความศรัทธา ความเชื่อ

และเป็นจะบาปหนา ในกรณีที่มุ่งหาประโยชน์

โดยใช้เด็กที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ “เป็นเครื่องมือ”

 

ภัยใหม่คุกคามสิทธิฯ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/2567

ที่รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2566

ในรายงานปีนี้ได้ให้ภาพรวมเรื่องสิทธิมนุษยชน 5 ภูมิภาคและข้อมูล 155 ประเทศ

เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่น่ากลัว จากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย

พร้อมฉายภาพให้เห็นความน่ากังวลของการปราบปรามสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมระดับโลกที่หยั่งรากลึกมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศมหาอำนาจเกิดการแย่งชิงความเป็นใหญ่ จนทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศตกอยู่ในสถานะความรุนแรง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังมีหลายประเด็นน่าห่วงใย

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ได้แก่ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

สิทธิเด็ก สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นส่วนตัว

การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย

สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง

สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

และการลอยนวลพ้นผิด

ทางการไทยยังปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและสังคม

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนปี 2566 พบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 1,938 คน ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ปี 2563

ในจำนวนนี้มี 1,469 คนถูกดำเนินคดีตามคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมสาธารณะ ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 และต่อมามีคำสั่งยกเลิกการบังคับใช้ช่วงปลายปี 2565

ส่วนอีกหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์) หรือข้อหายุยงปลุกปั่น โดยในปีนั้นมีการดำเนินคดีทั้งหมด 295 คดี

อนึ่ง เทคโนโลยี AI หรือโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ทุกคนเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เช่น AI หรือแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นที่ถูกสร้างโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) อาจเป็นศัตรูร้ายที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ

เพราะที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานทหาร หน่วยงานการเมือง บรรษัท หลายประเทศทั่วโลก นำเทคโนโลยี AI มาใช้โดยปราศจากกฎหมายกำกับดูแล

มีการใช้สปายแวร์และเครื่องมือสอดแนมโจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว

สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในการควบคุมเรื่องนี้ จนทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ปลุกปั่นเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ สร้างความแตกแยกในสังคม

และยังพบว่ารัฐบาลในหลายประเทศใช้เครื่องมือนี้กับกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบมากที่สุดในสังคม

เดือนสิงหาคม ปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยให้คุ้มครองดูแล ‘อังคณา นีละไพจิตร’ และ ‘อัญชนา หีมมิหน๊ะ’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ที่ถูกข่มขู่คุกคามในโลกออนไลน์

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 คนได้ฟ้องร้องกองทัพและสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับการรายงานข่าวว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อาจมีส่วนในการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) หรือ IO เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ผ่านเว็บไซต์ Pulony

ในปีเดียวกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเขียนจดหมายถึงรัฐบาลแสดงความกังวลเกี่ยวกับสปายแวร์ของบริษัทที่ทำธุรกิจสอดแนมทางไซเบอร์ต่อคนร่วมชุมนุมประท้วงปี 2563 และ 2564 หนึ่งในนั้น ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไผ่ ดาวดิน’ ได้รับผลกระทบ

จนเกิดการฟ้องร้องต่อบริษัทดังกล่าวฐานละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

แอมเนสตี้ ประเทศไทย

 

นอกเหนือข้อเรียกร้อง

คุ้มครองสิทธิมนุษยชนเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจ

คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเทคโนโลยี AI หรือโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์

ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ทำให้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อยู่ในสภาพปัญหาเก่าก็ยังแก้ไม่ตก

ของใหม่ก็กำลังรุกเข้ามา

รุกเข้ามาอย่างน่ากลัว

จะรับมืออย่างไรจึงจะเท่าทัน!?!