เผยแพร่ |
---|
15 พฤษภาคม 2567 นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผย บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ว่า การเสียชีวิตของนักกิจกรรมทางการเมืองรายนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ที่อดอาหารประท้วงในระหว่างการถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์นั้น มีข้อที่น่าสังเกตหลายประการดังนี้
1. การที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ต้องส่งตัวบุ้งซึ่งป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเพื่อช่วยชีวิตนั้น แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถหรือศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า มิได้มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงที่อยู่ภายนอก ดังนั้น การที่นักโทษบางรายได้ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลภายนอก และมิได้ถูกส่งกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
2. ผู้ต้องขังรายนี้เป็นผู้ต้องหาในคดีการเมืองที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองให้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิดหรือยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ แต่ผู้ต้องขังรายนี้และผู้ต้องหาในคดีการเมืองอีกหลายคนกลับถูกปฏิเสธจากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดอันมีลักษณะเป็นการลงโทษล่วงหน้า ทำให้ผู้ต้องหาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงอดอาหารประท้วงและนำมาซึ่งความสูญเสียดังกล่าว
3. แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 จะให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวก็ตาม แต่ดุลพินิจดังกล่าวสมควรถูกตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาศาลจะใช้เหตุผลในการไม่อนุญาตทำนองเดียวกันว่า คดีมีอัตราโทษสูงกลัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ทั้งที่ยังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถป้องกันการหลบหนีได้ แต่ศาลกลับเลือกใช้ดุลพินิจตามความรู้สึกที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเป็นความคิดของศาล ในขณะที่บางคดีมีอัตราโทษสูงกว่ากลับได้รับการอนุญาต จึงทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุดรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ไม่สามารถดำเนินการอย่างไรได้เพราะเป็นดุลพินิจของศาล และแม้จะมีการหลบหนีก็เป็นส่วนน้อยและไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะต้องตามจับกุมตัวมาศาล
การเสียชีวิตของบุ้งจึงไม่ควรเสียเปล่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงตระหนักว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาอยู่จริงในทุกขั้นตอน จึงสมควรได้รับการปฏิรูปเพื่อให้การใช้อำนาจหรือดุลพินิจเป็นไปโดยชอบและสามารถตรวจสอบได้ ทุกฝ่ายพึงระลึกว่าการใช้อำนาจด้วยความชอบธรรมจะทำให้ผู้ถูกบังคับใช้อำนาจนั้นยอมรับ แต่หากเป็นการใช้อำนาจตามความรู้สึกหรือเป็นไปตามแรงกดดันทางการเมืองจะขาดการยอมรับ และนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะการปฎิบัติกับผู้เห็นต่างทางการเมืองจะต้องอยู่บนหลักการที่ทั่วโลกยอมรับว่า
“บนโลกใบนี้ไม่มีห้องขังสำหรับผู้ที่เห็นต่าง”
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติมิตรของบุ้งด้วยความจริงใจครับ