ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
มหากาพย์ ‘เผา’ ขยะพิษ
ถ้าเป็นไปตามข้อมูลที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเปิดเผยไว้จึงน่าสงสัยได้ว่า เหตุเกิดไฟไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมีของบริษัทวิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่ที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีพฤติการณ์จงใจ “เผา” เพื่อทำลายสารเคมีที่ซุกทิ้งไว้?
คุณกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเปิดเผยว่า โรงงานแห่งนี้ปิดกิจการและตัดกระแสไฟฟ้ามานานแล้ว เพราะฉะนั้น การตั้งข้อสังเกตสาเหตุไฟไหม้ในโรงงานบริษัทวิน โพรเสส มาจากไฟฟ้าลัดวงจรจึงเป็นไปไม่ได้
เช่นเดียวกับคุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ระบุว่า เหตุไฟไหม้โรงงานที่ระยองครั้งนี้มีพิรุธ และยังเชื่อมโยงกับเหตุไฟฟ้าโรงงานเก็บกากสารเคมีที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
“เรื่องนี้เป็นมหากาพย์จริงๆ ไม่ใช่พื้นที่ในภาชีและพื้นที่ระยองเท่านั้น รวมไปถึงพื้นที่จังหวัดราชบุรีด้วย ได้สั่งให้กรมอุตสาหกรรมรับผิดชอบต่อประเด็นนี้ด้วย ต้องนำความจริงมาตอบสังคมให้ได้ มันเป็นจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่” คุณพิมพ์ภัทราบอกกับสื่อ
“มหากาพย์” ในคำให้สัมภาษณ์ของคุณพิมพ์ภัทราน่าจะหมายความว่า เหตุการณ์เผาสารพิษทั้งในอยุธยา ระยอง และราชบุรี เป็นเรื่องใหญ่ยืดเยื้อมานานแล้วและยังหาจุดจบไม่ได้
เราตามไปดูเหตุโกดังเก็บสารเคมีเถื่อนที่ อ.ภาชี เกิดไฟไหม้เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา โกดังแห่งนี้มีวัตถุอันตรายกว่า 4,000 ตันทิ้งเกลื่อนกลาด บางจุดนั้นเอาถังสารพิษมีความเป็นกรดเข้มข้นเทลงในแหล่งน้ำใกล้ๆ กับคลองชลประทาน ซึ่งมีแปลงนาข้าวอยู่รอบๆ
ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้กับโกดังเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ร้องเรียนเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิดและยึดของกลางเอาไว้รอการทำลาย
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เกิดเหตุไฟไหม้ในโกดังเก็บสารพิษดังกล่าว เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานระบุเป็นการวางเพลิงเพราะพบระเบิดเพลิงตั้งเวลาด้วยการจุดธูปในจุดเกิดเหตุไม่ต่ำกว่า 30 จุด
พฤติการณ์ของการวางเพลิงโกดังที่ อ.ภาชี นับได้ว่าอุกอาจเย้ยอำนาจรัฐและจงใจทำลายหลักฐานการทิ้งกากของเสียอันตราย
การตามล่าหามือวางเพลิงและคนบงการเผาไม่รู้ไปถึงไหนแล้ว รู้เพียงว่า ความเสียหายที่เกิดจากการทิ้งของเสียอันตรายต้องใช้งบประมาณของกรมอุตสาหกรรมในการจำแนกสารเคมีในแต่ละประเภท 6.9 ล้านบาท และต้องหางบฯ มาบำบัดของเสียพร้อมกับฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
ส่วนเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีของบริษัทวิน โพรเสส จำกัด ที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา หลายฝ่ายเชื่อได้ว่าเป็นการวางเพลิงเพื่อทำลายหลักฐานเช่นกัน
ก่อนหน้านี้โรงงานเก็บสารเคมีของบริษัทวินฯ มีเรื่องมีราวกับชาวบ้านยืดเยื้อยาวนานไม่น้อยกว่า 14 ปี เนื่องจากชาวบ้านรู้ว่าบริษัทวินฯ เอาของเสียสารอันตรายมาเก็บไว้ในพื้นที่เกรงจะเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงรวมตัวคัดค้านการตั้งโรงงาน
กรมโรงงานอุตสาหกรรมในเวลานั้นเปิดรับฟังเสียงของประชาชนและไม่อนุญาตให้เปิดกิจการ แต่โรงงานก็ยังแอบลักลอบขนถ่ายขยะพิษ เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์ น้ำมันเครื่องใช้แล้ว
ชาวบ้านร้องเรียนอีกจนกระทั่งศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออกเก็บตัวอย่างในโรงงานไปตรวจสอบพบสารอินทรีย์ระเหยสูงเกินค่ามาตรฐานและส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง
ปี 2556 ชาวบ้านหนองพะวา รวมตัวชุมนุมเรียกร้องหน้าโรงงานและผู้ว่าฯ ระยองมีคำสั่งให้โรงงานหยุดกิจการและขนย้ายของเสียอันตรายออกจากโรงงานโดยเร็ว
แต่อีก 4 ปีต่อมาสถานการณ์เปลี่ยน กรมโรงงานอุตสาหกรรมพลิกกลับเซ็นใบอนุญาตให้โรงงานบริษัทวินฯ ประกอบกิจการได้ 3 ใบ และถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วอีก 4 ใบ
การเซ็นอนุมัติให้โรงงานที่มีพฤติการณ์ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเดินเครื่องได้จึงเป็นที่งงๆ ของชาวบ้านว่าใช้มาตรฐานอะไรในการออกใบอนุญาตให้โรงงานแห่งนี้?
หลังโรงงานได้รับใบอนุญาตแล้ว ปรากฏว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษในหมู่บ้านหนองพะวา ทวีความรุนแรงขยายเป็นวงกว้าง กรมควบคุมมลพิษของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปตรวจสอบพื้นที่พบน้ำรอบโรงงานมีสภาพเป็นกรด มีสารโลหะหนัก นิกเกิล แมงกานีส แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน
ปี 2564 ชาวบ้านหนองพะวา 15 คนทนความเดือดร้อนไม่ไหว รวมตัวยื่นฟ้องบริษัทวิน โพรเสส และผู้บริหารต่อศาลจังหวัดระยอง ฐานละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหายทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและรายได้ของชาวบ้านรวม 47 ล้านบาทเศษ อีกทั้งยังขอให้ศาลสั่งเจ้าของโรงงานฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทางน้ำสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
ปีถัดมาศาลพิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวหนองพะวาทั้ง 15 คนเป็นเงิน 20 ล้านบาทเศษ และควบคุมไม่ให้สารเคมีรั่วไหล พร้อมกับฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
คดีโรงงานวิน โพรเสส กลายเป็นประเด็นที่นักสิ่งแวดล้อมหยิบยกมาใช้เป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเราได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ระยะเวลาพิจารณาสั้นกระชับใช้เวลาเพียง 1 ปีก็พิพากษา
แต่ข้อน่าสงสัยเรื่องการบังคับใช้กฎหมายภายหลังมีคำพิพากษาให้โรงงานควบคุมการรั่วไหลของสารเคมีและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพราะปรากฏว่า โรงงานไม่ได้ควบคุมให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน มิหนำซ้ำยังมีเหตุเพลิงไหม้ที่เป็นพิรุธ
ผู้บงการเผาจงใจทำลายหลักฐาน เหมือนที่เกิดขึ้นในโกดังเก็บสารเคมีที่ อ.ภาชี จ.พระนครอยุธยา หรือไม่?
การเผาโรงงานวิน โพรเสส สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในละแวกใกล้เคียง มีการอพยพออกจากเหตุอันตราย และเกิดอาการเจ็บป่วยอาเจียนเพราะสูดควันพิษมากกว่า 50 คน
คราวนี้ย้อนไปดูเหตุไฟไหม้โรงงานแว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล ที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในเวลานั้นคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม
คุณสุริยะได้สั่งให้ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมลงไปตรวจสอบหาเหตุไฟไหม้แล้วให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แถมยังให้โรงงานนำของเสียที่ตกค้างไปบำบัดหรือกำจัดให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ปรากฏว่า ปี 2566 การขนย้ายและแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในโรงงานแว็กซ์ กาเบ็จฯ ยังไม่คืบไปถึงไหน ถังเก็บกากสารพิษหลายพันแกลลอนยังอยู่ในโกดัง ดินยังปนเปื้อนสารพิษ
ที่น่าสะท้อนใจ เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดวาระ รัฐบาลชุดใหม่มีคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คุณสุริยะโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่สถานการณ์เปื้อนพิษที่โรงงานแว็กซ์ กาเบ็จฯ ยังคงเดิมๆ
ที่เพิ่มเติมก็มีล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงงานและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายใน 20 วัน และเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษา นั่นคือการเปิดเผยผลการศึกษาสารอินทรีย์ระเหยง่าย ประเภทไตรคลอโรเอทธิลีน ไวนิลคลอไรด์ เกิดค่ามาตรฐาน คุณภาพน้ำใต้ดินในบ่อสังเกตการณ์และบ่อน้ำบาดาลของชาวบ้านที่อยู่ห่างจากโรงงานแว็กซ์ กาเบ็จฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร พบสารเบนซินมีค่าเกินมาตรฐาน
ผลการศึกษาดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่าโรงงานแห่งนี้ปล่อยสารพิษปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อนำเหตุการณ์เผา 3 โรงงานทั้งที่ระยอง อยุธยา และราชบุรี มาต่อจิ๊กซอว์ เราจะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจด้านบริการจัดการกำจัดสารพิษวัตถุอันตราย ไร้มาตรฐานอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกันการทำธุรกิจเป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบ ไร้คุณธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ฉะนั้น ถ้าคุณเศรษฐาเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อย่าเพียงแค่ออกคำสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ทำเหมือนที่คุณสุริยะสั่ง นั่นเป็นแค่โชว์ฝีปากไม่ใช่การลงมือปฏิบัติการ
เพราะถึงที่สุดแล้วการโชว์ฝีปากเฉยๆ จะทำให้ปัญหาคาราคาซังกลายเป็นมหากาพย์ ดังที่คุณพิมพ์ภัทราให้สัมภาษณ์นั่นแหละ •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022