ต้นแบบจากโยกย้าย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

 

ต้นแบบจากโยกย้าย

 

เห็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้แล้ว แม้จะเข้าใจในเรื่องการบริหารการเมือง

แต่อดรู้สึกไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยยังคงบริหารแบบเดิม

เผลอๆ จะแย่กว่าเดิมด้วย

พรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย เขาจะแบ่ง “คนการเมือง” เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง คือ เป็น ส.ส.พื้นที่ กลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร

กลุ่มที่สอง เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

กลุ่มนี้จะเป็นฝ่ายบริหารหากพรรคได้เป็นรัฐบาล

กติกาดั้งเดิม คือ ใครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากได้รับคัดเลือกเป็นรัฐมนตรี

เขาจะต้องลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อให้คนลำดับถัดมาขึ้นมาทำงานในสภา

เพราะถ้าให้ควบทั้งรัฐมนตรีและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยเข้าประชุมสภา

ทำให้เสียงในสภามีปัญหาได้

ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือกลยุทธ์การบริหาร “การเมือง” ของ “ทักษิณ”

หลักการบริหารของ “ทักษิณ ชินวัตร” คือ ต้องบริหารบ้านเมือง และบริหารการเมือง

บริหารบ้านเมือง คือ ต้องเป็นรัฐบาลที่มีผลงานจับต้องได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

บริหารการเมือง คือ บริหารบรรดานักการเมือง ซึ่งเป็น “มนุษย์พันธุ์พิเศษ” ทั้งเรื่องเสียงในสภา

และทำให้ไม่เกิดการแข็งข้อต่อรองจนทำงานไม่ได้

การกำหนดให้ “รัฐมนตรี” ต้อง “ขาลอย” จากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ การสร้างอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าของ “ทักษิณ”

เพราะถ้ามีปัญหาก็ปลดจากตำแหน่ง “รัฐมนตรี”

นักการเมืองคนนี้ก็จะไม่มีพื้นที่ในสภาที่จะแข็งข้อได้

ดังนั้น เขาต้องทำตัวดีๆ ไม่เช่นนั้น “ขา” อาจ “ลอย” ได้

เป็นวิธีการบริหารการเมืองแบบ “ทักษิณ” ในอดีต

ในวันที่พรรคมีเสียงข้างมากในสภาระดับ “แลนด์สไลด์” หรือเกือบๆ แลนด์สไลด์

และพรรคยังต้องพึ่งพาบารมีของเขา

ระดับลาออกจากพรรคเมื่อไร

เลือกตั้งครั้งหน้ามีโอกาสสอบตก

 

แต่วันนี้การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว

พรรคเพื่อไทยไม่ได้ “แลนด์สไลด์”

เป็นพรรคอันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกล

จำนวน ส.ส. 141 คน แม้จะมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยที่มี ส.ส. 71 คนเกือบเท่าตัว แต่เมื่อรวมเสียงพรรคทั้งหมดแล้ว พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองสูงที่สุด

เพราะเพื่อไทยไม่สามารถตัดพรรคภูมิใจไทยออกได้

แม้จะดึงพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล

จำนวน ส.ส. 141 คน ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเก้าอี้รัฐมนตรีน้อยกว่าที่เคยได้เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเคยเป็นแกนนำ

แบ่งสันปันส่วนได้ไม่มากพอ

และเจอการต่อรองจากพรรคอื่นๆ ทำให้กระทรวงสำคัญหลายกระทรวงต้องหลุดมือ

ตามธรรมเนียมของพรรคเพื่อไทย ครม.ชุดแรกจะมีรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่งที่ให้เป็น “รางวัล” สำหรับคนที่ทำงานให้พรรคมายาวนาน

กลุ่มนี้มักเป็นรัฐมนตรีได้ประมาณ 6 เดือนก็จะถูกปรับออก

เปลี่ยนคนใหม่เข้ามาบ้าง

และมีรัฐมนตรีอีกกลุ่มหนึ่งที่มาจาก “กลุ่มการเมือง”

สมัยก่อน จะมีวังบัวบาน วังน้ำเย็น ฯลฯ

เป็นโควต้ารัฐมนตรีจากกลุ่ม

สมัยพรรคไทยรักไทย “ทักษิณ” จะบริหารอำนาจด้วยการถ่วงดุลกลุ่มการเมืองในพรรค

ไม่ให้ใครใหญ่เกินไป

และรัฐมนตรีกลุ่มสำคัญ คือ บรรดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลุ่มที่วางตัวไว้เป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่เริ่มต้น และนักบริหารมืออาชีพ “คนนอก”

แต่จำนวนเก้าอี้ที่น้อยกว่าปกติ ทำให้คนกลุ่มนี้มีน้อยมากใน ครม.ชุด “เศรษฐา 1”

ไม่แปลกที่ “เศรษฐา” จะบริหารด้วยความอึดอัด เพราะนอกจากไม่มีบารมีทางการเมืองเหมือน “ทักษิณ”

เขายังไม่มีมืออาชีพที่สามารถสั่งการได้แบบสมัยบริหารในภาคเอกชน

การสื่อสารการเมืองของ “เศรษฐา” กับนักการเมืองก็ยังต้องใช้ “วุ้นแปลภาษา” อยู่พอสมควร

มีคนเล่าว่าในการเจรจากันก่อนที่ “เศรษฐา” จะตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ทั้งสองฝ่ายมีเงื่อนไข 2 ข้อ

ข้อแรก อำนาจในการตั้งรัฐมนตรีเป็นของพรรคเพื่อไทย

ใครที่กุมอำนาจในพรรคเพื่อไทยคนนั้นเป็นคนเลือก

“เศรษฐา” คงมีสิทธิเสนอได้บ้าง

แต่อำนาจหลักในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่กับเขา

ข้อที่สอง เป็นอำนาจของ “เศรษฐา” คือ อำนาจในการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี

ใครทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย เขาขอสิทธิในการปลด

ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยอาจมีอำนาจทัดทานบ้าง

แต่หลักใหญ่เรื่องนี้ต้องฟัง “เศรษฐา”

ส่วนจะให้ใครมาเป็นรัฐมนตรีแทน

ให้กลับไปดูเงื่อนไขข้อแรก

ครม.ชุดใหม่ น่าจะเป็นไปตามข้อตกลงนี้

 

ครม.ชุด “เศรษฐา 1/1” ที่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว

เราจะเห็นเงาของ “กลุ่มการเมือง” ชัดเจน

เจ้าสัวรถไฟฟ้าก็ได้โควต้าหนึ่งเหมือนเดิม

“บ้านใหญ่” โคราชก็ยังได้ 1 เก้าอี้

“บ้านใหญ่” เมืองอุบล ก็รักษาเก้าอี้ไว้ได้ ฯลฯ

ส่วนคนที่รวบรวมเสียงไม่ได้ก็ต้องหลุดจากเก้าอี้ไป แม้จะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคก็ตาม

แต่ที่น่าสนใจก็คือ การก้าวสู่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”

และการควบเก้าอี้รองนายกฯ ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”

2 คนนี้คือ “ลูกหม้อ” สมัยพรรคไทยรักไทย แต่ย้ายออกจากพรรคไปหลังการรัฐประหารปี 2549 เพิ่งกลับเข้าพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

เมื่อเทียบกับคนที่อยู่กับพรรคมาโดยตลอดอย่าง “หมอชลน่าน-ไชยา-พวงเพ็ชร” ที่หลุดจากเก้าอี้

แน่นอนคงต้องมีคนในพรรคเพื่อไทยตั้งคำถามอยู่ในใจ

เพราะการโยกย้ายทุกครั้ง คือ การกำหนด “คนต้นแบบ” ขององค์กร

ตามปกติเราจะเลื่อนตำแหน่ง หรือให้โบนัสกับคนที่ “ทำดี”

ใครทำดีต้องได้ดี

ทำงานไม่ดีก็เข้ากรุไป

แต่ “ทำดี” แบบไหนที่องค์กรต้องการ

วิธีการง่ายๆ คือ ดูจากการโยกย้าย

คนทำดีแบบไหนได้รับการโปรโมต

นั่นคือ “ต้นแบบ” ที่คนทำงานควรทำตาม

การส่งสัญญาณ “วัฒนธรรมองค์กร” แบบนี้ น่าจะเป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยในอนาคต

ในวันที่การเมืองไทยไม่เหมือนเดิม