บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน7)

ตอน 1 2 3 4 5 6

โดย “มือเก่า”

 

คําแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ประการแรก ขอกราบเรียนว่า กระผมรับราชการเป็นทหารมาโดยตลอด ไม่เคยใฝ่ฝันว่าจะมาเล่นการเมืองหรือเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่เคยมีการตระเตรียมตนเองเพื่อเข้าสู่การเมืองด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น…การที่กระผมปรารถนาแต่เพียงการได้รับราชการในกองทัพ เพราะผมรู้ตัวดีว่า เป็นคนที่ชอบพูดตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ซึ่งในการเมืองนั้น การพูดจาอย่างมีศิลปะเป็นสิ่งจำเป็น ความปรารถนาที่จะเป็นข้าราชการทหารแต่เพียงอย่างเดียว ยังคงดำรงอยู่ แม้กระทั่งวันที่กระผมจำเป็นต้องลาออกจากชีวิตทหาร เพื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

…ในการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในครั้งนั้น กระผมในฐานะรองประธาน รสช. ได้รับข้อเสนอแนะจากบุคคลหลายฝ่าย ให้ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด ในการเข้าขจัดปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง และสถาปนาระบบการเมืองที่ดีงามขึ้นมาใหม่ แต่กระผมกลับเห็นว่า การใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดนั้น แม้จะแก้ปัญหาบางประการได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลกระทบอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายในภายหลัง…กระผมจึงได้แถลงแก่พี่น้องประชาชน ในวันที่ 2 ของการยึดอำนาจ…ว่าจะไม่ใช้อำนาจโดยปราศจากขอบเขต จะไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าประการใดๆ จะจัดให้มีการร่าง รธน. และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

เสียดายที่ท่านไม่ได้ทำตามคำแนะนำ เพื่อสะสางปัญหาบ้านเมือง เพราะท่านเป็นสุภาพบุรุษ และยึดติดกับคำว่า “ประชาธิปไตย” เกินไป (มือเก่า)

การที่กระผมจะลาออกไปตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วงนั้น ในส่วนตัวของกระผม มิได้เป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นการสูญเสียอำนาจแต่อย่างใด เพราะกระผมมิใช่ผู้ปรารถนาในอำนาจ และเชื่อมั่นในตนเองว่า มิเคยใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมไปข่มเหงรังแกผู้ใด หรือใช้อำนาจในหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ ตลอดจนความร่ำรวยโดยมิชอบ ดังนั้น การที่จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะวิตกกังวลแต่อย่างใด และตำแหน่งนี้ ก็เป็นตำแหน่งที่จะต้องมีผู้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาบริหารประเทศต่อไปอยู่แล้ว

ท่านได้พิสูจน์แล้วว่า ท่านและคณะ รสช. ไม่ปรารถนาในอำนาจ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มีการปฏิวัติแล้วไม่ยอมขึ้นสู่อำนาจ กลับดำรงตำแหน่งข้าราชการทหารอย่างเดิม และอย่างเดียว

เสียดายผู้ที่สอบได้ที่ 1 ของรุ่น มีความรู้ ความสามารถ และความจริงใจ ตรงไปตรงมาที่หายากในปัจจุบัน ถ้าได้ขึ้นบริหารประเทศ ประเทศไทยก็อาจจะมีจุดเปลี่ยนแน่นอน (มือเก่า)

กระผมเข้าใจและเห็นใจ ความทุกข์ทรมานของผู้อดอาหารเป็นอย่างยิ่ง และในฐานะนายกรัฐมนตรี กระผมปรารถนาที่สุดที่จะให้ท่านพ้นจากความทุกข์ทรมานโดยเร็ว แต่จะต้องสนองตอบต่อกันด้วยเหตุและผล มีการเคารพซึ่งกันและกัน และยึดมั่นในหลักการ…

กระผมตระหนักดีว่า เราต่างเป็นคนไทยด้วยกัน บางท่านเป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน จึงย่อมไม่ใช่ผู้เป็นศัตรูที่จะจ้องทำลายล้าง…

กระผมใคร่ขอให้พี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมกัน ช่วยกันระแวดระวังบางกลุ่ม ซึ่งมุ่งจะโน้มน้าวจิตใจให้มีความรุนแรง และกระทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ “มติชน” 9 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ จำลองยื่น 3 ข้อแก้ รธน.

…ระหว่างที่ พล.อ.สุจินดา ออกโทรทัศน์ชี้แจงประชาชนนั้น พล.ต.จำลองได้นั่งดูโทรทัศน์ร่วมกับ ส.ส. ด้วยความสนใจ

ในที่ชุมนุม มีโทรทัศน์ โทรศัพท์ วิทยุ ครบทุกสื่อ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 106

สายๆ ของวันที่ 8 มีข่าวมาว่า ทางราชการจะใช้พื้นที่สนามหลวงทั้งหมด เตรียมจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 10-16 พฤษภาคม กรรมการที่จัดการชุมนุมส่งข่าวว่า อย่างไรเสีย ในวันที่ 9 ต้องย้ายออกจากสนามหลวงแน่

มีบางท่านถามผมว่า เราไปสวนจิตรฯ เพื่อถวายฎีกาจะดีไหม ผมห้ามว่า อย่าไปทำอะไรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเลย รัฐบาลจะกล่าวหาว่า พวกเราไปล้อมวัง เรื่องจะไปกันใหญ่

คืนวันที่ 7 ผู้ชุมนุมเพิ่งส่งตัวแทน คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ พล.ต.ศรชัย มนตริวัต ไปทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาที่สวนจิตรฯ วันที่ 8 จะไปถวายฎีกาอีกทำไม มิหนำซ้ำ มีขบวนผู้ชุมนุมจำนวนมหึมาไปด้วย มิกลายเป็นไปกดดันพระเจ้าอยู่หัวหรือ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 107

ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ควรจะเคลื่อนขบวน แต่จุดหมายปลายทางยังสับสน ยังตกลงกันไม่ได้ จึงสรุปว่า ควรกลับไปที่หน้ารัฐสภาอย่างเก่าอีกครั้งหนึ่ง

ประมาณ 2 ทุ่ม ก็เริ่มออกเดิน โดยใช้รถตู้ที่มีเครื่องขยายเสียงแล่นนำ ผมปีนขึ้นไปพูดบนรถตู้ เพื่อให้ขบวนประชาชน ซึ่งมีมากมายกว่าวันที่ 7 พฤษภาคม เดินไปอย่างเรียบร้อย

คืนวันที่ 7 เพิ่งย้ายจากหน้ารัฐสภา เพราะบอกว่าไม่มีแม้ที่จะยืน แออัด และอึดอัด แล้วคืนวันที่ 8 จะพาผู้ชุมนุม ซึ่งมีมากมายกว่าวันที่ 7 กลับไปที่เก่าได้อย่างไร เหตุผลไม่น่าเชื่อ เจตนาจะไปไหนกันแน่ (มือเก่า)

“เนชั่น” เหลียวหลังรำลึก

8 พฤษภาคม พล.ต.จำลอง เคลื่อน “ม็อบ” อีกครั้ง โดยไม่ได้บอกกล่าวกับ ครป. และ สนนท. เวลาประมาณ 20.45 น. โดยฝูงชนกว่าครึ่งแสน …ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีเป้าหมายที่ใด แต่หัวขบวนของม็อบ ไม่สามารถผ่านสะพานผ่านฟ้าไปได้ เพราะมีเครื่องกีดขวางพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่

มติชน

…ทางนายโคทม กับนายปริญญา ได้ขึ้นไปบนเวทีเพื่อประกาศให้ประชาชนยืนหยัดอยู่ที่สนามหลวงต่อไป เพราะสถานที่เหมาะสมกว่า พร้อมกันนั้นประกาศห้าม ส.ส.พลังธรรม ใช้เวทีปราศรัย ทำให้ประชาชนรู้สึกสับสนมาก

เวลา 22.50 น. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ นายโคทม อารียา ได้พยายามตรึงคนไว้ที่สนามหลวงให้ได้ อย่างไรก็ตาม นายทินวัตร มฤคพิทักษ์ ส.ส.พรรคพลังธรรม ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีว่า ขอปิดเวทีปราศรัยแห่งนี้ และขอให้ทุกคนไปร่วมชุมนุมกับ พล.ต.จำลอง ที่สะพานผ่านฟ้าทันที

ย้ายครั้งที่ 2 ครป. และ สนนท. ไม่รู้เรื่องด้วย (มือเก่า)

“มติชน” 10 พฤษภาคม 2535 หน้า 23

2 ทุ่มเศษ 8 พฤษภาคม ขณะที่เวทีปราศรัยดำเนินไปด้วยความเร่าร้อน พล.ต.จำลองก้าวขึ้นรถตู้ เคลื่อนออกจากสนามหลวงอย่างฉับพลันทันที พร้อมกับกระจายเสียงแก่ผู้ชุมนุมว่า พล.ต.จำลองนั่งอยู่บนรถคันนี้ จะย้ายสถานที่ชุมนุม ไปสู่ที่ซึ่งดีกว่า ขอให้ประชาชนก้าวเดินตามรถของ พล.ต.จำลอง

…ก่อนหน้านี้ สายข่าวของตำรวจและทหาร ระบุตรงกันว่า พล.ต.จำลองจะเปิดเกมรุกในวันนี้ โดยมีการตระเตรียมเทียนไขนับแสนเล่ม เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ชุมนุมประท้วง ภายหลังจากเคลื่อนขบวน…ถึง ณ สวนจิตรลดา

ย้ายสถานที่ชุมนุม ไปสู่ที่ซึ่งดีกว่า ก็ต้องไม่ใช่หน้ารัฐสภาแล้ว ไปไหนก็ไม่ยอมบอก ข่าวของทางการจึงน่าจะเป็นจริง ว่าจะไปสวนจิตรฯ ซึ่งเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง ต้องการชัยชนะ จนไม่นึกถึงความปลอดภัยขององค์พระประมุข ถ้ามีผู้ไม่หวังดี ปะปนอยู่กับผู้คนจำนวนหมื่นจำนวนแสนนั้นเล่า (มือเก่า)

“มติชน” 9 พฤษภาคม 2535

พล.ต.จำลองคว้าไมค์ประกาศ “ขีดเส้นตาย” ให้ตำรวจเปิดเส้นทางภายใน 20 นาที …น้ำเสียงของ พล.ต.จำลอง ปลุกเร้ากระตุ้น “ม็อบ” ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น…

พล.ต.จำลอง ย้ำว่า การปิดกั้นถนนเป็นเรื่องเล็ก เพราะเคยผ่านสนามรบมาอย่างโชกโชน จึงขอให้ พล.ต.ท.ธนู ซึ่งเป็นรุ่นพี่มาเจรจา …ราว 15 นาทีต่อมา พล.ต.ท.ธนู เดินทางมาที่เชิงสะพานผ่านฟ้า แลเห็นผู้คนเรือนแสนมืดฟ้ามัวดิน

พล.ต.ท.ธนู ถามว่า “จะพาม็อบไปไหน”

“บอกจุดแน่นอนไม่ได้ แต่ต้องเปิดทางให้ผมผ่านเพราะคนของผมมีมาก”

“ไปชุมนุมประท้วงกันที่สนามไชย หรือที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าได้มั้ย เพราะเส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางเสด็จ”

“ผมถอยไม่ได้”

“ถ้าอย่างงั้น ผมจะต้องหารือกับผู้บังคับบัญชาก่อน”

ถือว่ามีพลังมวลชนอยู่ในมือ จึงกล้าขู่เข็ญทางการ… ไม่ยอมบอกจุดหมายปลายทาง เจตนาที่น่าสงสัย (มือเก่า)