เกาะติดปม ‘รัฐบาล VS แบงก์ชาติ’ คำถามเมื่อไหร่จะลดดอกเบี้ย? ปรับ ครม. เปลี่ยนเกม-เปลี่ยนตัว ‘ขุนคลัง’

ปมความเห็นที่แตกต่างเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย อาจเรียกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นในเกือบทุกยุคทุกรัฐบาล และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

เพราะด้วยบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างของนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน

แต่ดูเหมือนว่าในยุคนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือว่ามีสัญญาณความขัดแย้งทางนโยบายและความคิดเห็นอย่างชัดเจน

ทำให้ที่ผ่านมา นายเศรษฐาออกมากดดันให้ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะบอกว่าไม่ได้แทรกแซง เพื่อหวังช่วยลดภาระให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของไทยติดลบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566

ทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในทุกครั้ง แต่บทสรุปของการประชุม กนง. ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี ต่อเนื่องใน 3 ครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ดี ในการประชุมสองครั้งล่าสุด (7 กุมภาพันธ์ และ 10 เมษายน 2567) มติ กนง.เสียงแตก 5 ต่อ 2 ให้คงดอกเบี้ย คือมี 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

 

นอกจากความเห็นต่างเรื่องดอกเบี้ยแล้ว อีกประเด็นที่ทำให้ภาพความขัดแย้งระหว่างนายเศรษฐา กับ ดร.เศรษฐพุฒิ ปริแตกมากยิ่งขึ้นก็คือโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้กับประชาชน 50 ล้านคน ชัดเจนว่าทาง ธปท.ไม่เห็นด้วยกับการนำเงินก้อนใหญ่ 5 แสนล้าน มาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นการแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ เศรษฐา ก็ถามถึงผู้ว่าการแบงก์ชาติทุกครั้ง ถึงสาเหตุที่ไม่มาร่วมประชุม

รวมถึงในการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตครั้งล่าสุด (10 เมษายน) ซึ่งตรงกับวันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่แน่นอนว่าผู้ว่าการแบงก์ชาติ ต้องเข้าประชุม กนง.

วันที่ 10 เมษายน 2567 จึงเป็นวันสำคัญก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่มีการประชุมสำคัญเกิดขึ้น และอย่างที่ทุกคนทราบว่าที่ประชุม กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ต่อปี

ขณะที่บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายกฯ เศรษฐาเป็นประธาน ก็เคาะแหล่งเงินและรายละเอียดการแจกเงิน 10,000 บาทให้ประชาชน 50 ล้านคน ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลที่ยืนยันมาตลอด

โดยพับแผนที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และเปลี่ยนมาใช้ 3 แหล่งเงิน ประกอบด้วย

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

2. ยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 172,300 ล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคนเศษ

และ 3. บริหารจัดการงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

โดยนายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลมีความยินดีที่ประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

“รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนมาถึงวันนี้รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนจะได้ยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้” นายเศรษฐากล่าว

เรียกว่านโยบายเรือธงแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทยเข้าใกล้ความสำเร็จ สามารถฝ่าผันอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว

ถือว่ารัฐบาลเรียกคะเนนเสียงประชาชนกลับมาได้ไม่น้อย แม้ว่าแผนแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจะล่าช้าจากต้นปีมาเป็นปลายปีก็ตาม

 

แต่ในซีกของแบงก์ชาติก็ต้องเรียกว่าถูกบรรดาภาคธุรกิจเอกชนออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หลังจากมติ กนง.ออกมาคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ต่อปี เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้ามาก ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนก็เหือดแห้ง

เช่นกรณี นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 2.7 ล้านราย วิสาหกิจชุมชนอีกเกือบ 100,000 ราย และเกษตรกรอีกราว 7 ล้านครัวเรือน ต่างก็เผชิญมรสุมการเพิ่มขึ้นต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต พลังงาน ค่าครองชีพ

การที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงมาอย่างต่อเนื่องนับปี ทำให้ภาระค่าครองชีพ ขีดความสามารถในการดำรงชีวิตและธุรกิจต่ำลง สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 91 ของ GDP และผลกระทบต่อคุณภาพหนี้ หนี้ค้างชำระ หนี้เสีย และหนี้นอกระบบที่สูงขึ้น

“บทบาทของ ธปท.ที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมกำกับดูแลสถาบันการเงิน ความเป็นธรรมของดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และคุ้มครองทั้งประชาชนผู้ฝากเงิน ประชาชนผู้เป็นลูกค้าสถาบันการเงิน ที่ต้องไม่ถูกเอาเปรียบจากความรู้ไม่เท่าทัน เคยลงไปสัมผัสเศรษฐกิจบนท้องถนน ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำหรือไม่”

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การคงดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนหนึ่งมองว่า กนง.รอดูท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่แน่นอนว่าภาคเอกชนต้องการให้ลดดอกเบี้ย เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เมื่อบวกกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“เมื่อทุกอย่างไม่ได้ถูกคลี่คลาย แถมราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มพุ่งไปแตะ 100 เหรียญ/บาร์เรล ยิ่งซ้ำเติมต้นทุนที่ผู้ประกอบการ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อราคาสินค้าที่อาจต้องปรับขึ้น ตอนนี้เรายังอั้นราคาสินค้าไว้ได้อีก 3-6 เดือน แต่ถ้าเมื่อไรที่ราคาพลังงาน ต้นทุนอื่นๆ ขึ้น ภาระจากอัตราดอกเบี้ย ตอนนั้นเอกชนก็ต้องขึ้นราคาสินค้า”

 

สอดคล้องกับ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ต้นทุนดอกเบี้ยแพงก็เป็นภาระต่อการผ่อนบ้าน โดยสมาคมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว แต่เรื่องดอกเบี้ยเป็นอำนาจของ ธปท. จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้รัฐบาลจะให้ธนาคารของรัฐลดดอกเบี้ยนำร่อง แต่หากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ไม่ลดก็มีค่าเท่าเดิม

“ที่น่าห่วงคือ ปัญหาธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้โอกาสของผู้มีรายได้น้อยเป็นเจ้าของบ้านยากขึ้น” นายกสมาคมอสังหาฯ กล่าว

ขณะที่กระทรวงการคลังก็สวนมติ กนง.ทันที มีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี มีผลหลังสงกรานต์

 

แม้ว่าปมความขัดแย้งทางนโยบายเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย ยังต้องจับตาต่อไปว่า จุดเปลี่ยนดอกเบี้ยขาลงของประเทศไทยจะเริ่มเมื่อไหร่ เนื่องจากยังมีปัจจัยความผันผวนอีกหลายตัวที่ ธปท.และ กนง.จะต้องพิจารณา

แต่สัญญาณชัดที่มาแรงจะเกิดขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ก็คือ กระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังเทศกาลสงกรานต์ เช่นกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีชื่อมาตลอดว่าจะเข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายเศรษฐา ทวีสิน

ขณะที่นายเศรษฐาจะไปนั่งควบกระทรวงกลาโหม แทนนายสุทิน คลังแสง และอีกหลายๆ ตำแหน่ง

โดยหลังมีโผปรับ ครม.ออกมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในช่วงหยุดสงกรานต์ว่า เรื่องการปรับ ครม.ได้แถลงไปแล้ว หากจะมีการปรับต้องมีการพูดคุยกับหลายภาคส่วน โดยต้องมีการพูดคุยกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้วย เมื่อถามว่าหลังสงกรานต์พูดคุยกับพรรคร่วมเลยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “แน่นอนครับ”

และหลังปรับ ครม.เศรษฐา 1 หากมี “ขุนคลัง” เข้ามานั่งประจำกระทรวงการคลัง คงจะเห็นดีกรีการขับเคลื่อนนโยบายการคลัง และเปลี่ยนเกมการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอีกครั้ง