บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน20)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19
โดย “มือเก่า”

 

“บ้านเมือง” 16 มิถุนายน 2535 ให้สัมภาษณ์วันชุมนุมพรรค ที่โรงแรมเดอวิลล์

ผู้สื่อข่าวถามว่า อีกฝ่ายบอกว่า ท่านจะต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.จำลอง ตอบว่า ตนไม่ผิด และผู้ร่วมชุมนุมทุกคนก็ไม่ผิด …การเคลื่อนย้ายที่ชุมนุม ก็ทำมาแล้วถึง 2 ครั้ง วันที่ 17 ก็เป็นครั้งที่ 3 การเคลื่อนย้ายก็ใช้เส้นทางเดิม เวลาเดิมเหมือนกันหมดทุกอย่าง ดังนั้น จึงไม่มีใครผิด

…สำหรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะตน แต่เกิดจากการใช้กำลังเข้าปราบปราม

ย้ายครั้งที่ 3 ไม่เหมือนเดิมแน่นอน เพราะรู้แล้วจากการย้ายครั้งที่ 2 ว่ามีด่านสกัดที่ผ่านฟ้าแน่ เพราะทางการไม่ยอมให้ผ่าน ย้ายครั้งที่ 3 จึงมี “กองหน้า” มีกระสอบป่านไว้พาดลวดหนาม มีรถปิกอัพ รถมอเตอร์ไซค์ ไว้ฝ่าด่าน

สำหรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ธรรมดาผู้นำจะต้องรู้จักรับผิดชอบ แต่ท่านคอยซัดทอดผู้อื่นตลอด ท่านกล่าวโทษทหารครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมท่านไม่พูดถึงการก่อเหตุบ้าง เพราะผลย่อมเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล

“พฤษภาทมิฬ” เล่มเล็ก หน้า 41

หัวข้อ น.ศ. จับตัวการเผารถปูนซีเมนต์

ประมาณ 03.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม บริเวณถนนรามคำแหง กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ได้ยึดรถบรรทุกปูนซีเมนต์ขนาดยาวเพื่อขวางถนน แต่ต่อมามีมือดีแอบมาเผารถบรรทุกดังกล่าว นักศึกษาจึงกรูเข้าไปจับตัว และพยายามค้นหา เพราะคิดว่าเป็นทหารที่พยายามจะสร้างสถานการณ์ แต่มือดีไม่ได้เป็นทหาร และทราบชื่อว่า นายสุชาติ ศรีพิพัฒน์ อายุ 21 ปี แต่กว่าที่นายสุชาติจะถูกส่งตัวไปดำเนินคดี ก็ถูกซ้อมอ่วมจนเกือบไม่รู้สติ (วันที่ 19 ผู้ชุมนุมย้ายไปชุมนุมที่รามคำแหง)

ไม่คิดว่า เป็นหนึ่งใน “กองหน้า” บ้างหรือ

“แพรว เฉพาะกิจ” หน้า 47-48 โดย ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย

มีประชาชนประมาณ 20 คน เผชิญหน้ากับทหารอยู่ ประชาชนก็ร้องเพลงกันใหญ่ เพลงที่ร้องคือ “ต.ช.ด. ย่อมาจากตำรวจชายแดน…” และตบท้ายว่า แล้วพวกมึง (หมายถึงทหาร) มาอยู่กรุงเทพฯฯ ทำไม น่านับถือทหารอยู่จุดหนึ่ง เขาพยายามรักษาอารมณ์ และบอกว่า “กลับไปเถอะ กลับบ้านไป อย่าออกมา” แต่ไม่มีใครเชื่อ

…มีผู้ชายออกสำเนียงทางใต้ ตะโกนบอกทหารว่า “เรามาต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยของเราคืนมา” ทหารตะโกนโต้ตอบอย่างเผ็ดร้อนว่า “พวกเอ็งทำไม่ถูก ให้ไปทำในสภา มาทำนอกสภาทำไม”

…บนรถกระบะ มีคนคนหนึ่ง ถือโทรโข่งประกาศขอวิงวอนให้พี่น้องอยู่ในความสงบ เพื่อประชาธิปไตยของเรา ขอให้ไปสู้กันในสภา สารพัดจะพูดต่างๆ นานาจากฝ่ายทหาร

“พฤษภาทมิฬ” เล่มเล็ก หน้า 29

20.45 น. …ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้กล่าวขอร้อง ผ่านทางเครื่องขยายเสียงว่า อย่าทำลายทรัพย์สินของบ้านเมือง และกล่าวหว่านล้อมให้ทุกคนกลับบ้าน

“ผู้จัดการ” พฤษภาทมิฬ หน้า 79

ทหารได้ประกาศให้ประชาชนทราบว่า ทหารรักประชาธิปไตยเหมือนกัน อย่าใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย หากมีการชุมนุมอยู่หลัง 18.00 น. ทางราชการจะไม่รับประกันความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น

ทหารไม่ได้คิดแต่จะใช้กำลังอย่างเดียว แต่พยายามเจรจาอยู่ตลอด ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และตามท้องถนน ตรอกซอกซอย ขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน เพื่อบ้านเมืองจะได้สงบ แต่ไม่เป็นผล

“บ้านเมือง” 21 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ น.ศ. ยึดรถหมอชิต

…กลุ่มผู้ประท้วง ได้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็กร้องรำทำเพลง พูดยั่วยุให้ทหารยิงพวกเขาได้เลย ถ้าอยากจะยิง แต่อย่ายิงขึ้นฟ้า ให้ยิงมาที่พวกเขา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังนิ่งเฉยอยู่

หัวข้อ ยั่วยุ ทหาร ตำรวจ

…ได้มีประชาชนจำนวน 100 คน มีการพูดยั่วยุ และประกาศจะเผาโรงพักชนะสงคราม แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังนิ่งเฉย “พฤษภาทมิฬ” เล่มเล็ก หัวข้อ เผารถเสบียงทหาร หน้า 28

19.35 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เผารถบรรทุกน้ำของทหาร 1 คัน พร้อมกับรถปิกอัพส่งเสบียงอีก 1 คัน เปลวเพลิงลุกโชติช่วง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชน ในขณะที่กองกำลังของทหาร ต่างนั่งมองเฉยๆ

ท.ทหารอดทน

“แพรว เฉพาะกิจ” หน้า 67 โดยเหยื่ออธรรม

เสียงโทรโข่งจากฝ่ายทหาร ขอให้ผู้คนกลับบ้านดังตลอดเวลา แต่ก็ถูกผู้คนบางคนด่าด้วยคำหยาบคาย พร้อมกับขว้างปาด้วยวัสดุต่างๆ

…พอทหารหยุดยิง คนก็มายืนตะโกนด่าอีก ซึ่งเท่าที่สังเกตดู คนที่ตะโกนนั้น จะเป็นพวกหน้าเดิมๆ อยู่ไม่กี่คน และพยายามชักชวนคนอื่นๆ ให้ร่วมร้องโวยวายด้วย แต่เราก็ไม่ได้บ้าจี้ไปด้วย

…ท้องฟ้าเริ่มมืด พร้อมๆ กับจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย เสียงด่าทอขับไล่ดังกึกก้องมาจากด้านหน้าที่ตั้งประจันกับแผงรั้วลวดหนาม ที่มีทหารนับพันนั่งอยู่ข้างหลังอย่างสงบ

…แถวๆ หน้ากรมประชาสัมพันธ์ มีรถของ ขส.ทอ. 2 คันถูกไฟเผาโชติช่วง ผู้คนมีท่าทีที่ฮึกเหิมยิ่งนัก เสียงตบมือกับเสียงตะโกนด่าขับไล่ดังรับกันอย่างได้จังหวะ

คิดถึงคำพูดของ พล.ต.จำลอง ในการชุมนุมครั้งแรก “ให้มันรู้ไปว่า พลเอกสุจินดา ถูกด่ามา 5 วัน 5 คืนแล้วจะอยู่ได้อย่างไร” และยังมีการจัดตั้งหน่วยด่า ให้ไปด่าหน้าบ้านหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งเช้าและเย็น แสดงว่ากลุ่มด่าอาจมาจากการจัดตั้ง

“เดลิมิเรอร์” 22 มิถุนายน 2535 โดย ม.หันหุน

ขอให้สังเกตดูภาพโดยละเอียด สีหน้าของทหารแต่ละคนที่นั่งเรียงแถว ขวางหน้าขบวนก่อการจลาจลอยู่นั้น แต่ละคนเคร่งเครียด บางคนเม้มปาก บางคนกัดกราม บางคนจ้องตาถมึงทึง ด้วยความรู้สึกที่ต้องเก็บกด ต้องอดทน อดกลั้น ต่อเสียงด่าทอ ที่พวกก่อการจลาจลก่นด่า ด้วยถ้อยคำที่ไม่รู้ไปสรรหามาจากไหน …แม้แต่บนตัก ปืนที่วางพาดอยู่ก็ไม่ได้บรรจุกระสุน ทหารคนที่นั่งอยู่ทางซ้ายสุดในภาพจะมองเห็นช่องบรรจุซองกระสุน ยังเปิดว่างอยู่

มันเรื่องอะไร ที่เขาจะต้องมาทนนั่งฟังใครที่ไหนก็ไม่รู้ มายืนก่นโคตรด่าทหาร ด้วยความเก็บกดเหล่านี้…ภาพความรุนแรงในการใช้กำลังเตะถีบ และถองด้วยพานท้ายปืนของทหารจึงเกิดขึ้น เพราะอารมณ์แค้นที่ถูกด่าทอ เหยียดหยาม จึงเกิดขึ้นดังปรากฏให้เห็นไปทั่วโลก

…ทำอย่างไรจึงจะให้คนต่างชาติเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงประโยคที่ว่า “ฆ่าได้หยามไม่ได้”…ถ้าด่าขึ้นไปถึงพ่อแม่บุพการีหรือเหยียดหยามศักดิ์ศรีละก็ ถ้าไม่หามไปวัด ก็ต้องหามไปโรงพยาบาล

สันติ อหิงสา

ชุมนุมโดยสงบ!!