บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน26)

ภาพหญิงชี้รอยเลือดที่ต้นประดู่บริเวณ ถ.ราชดำเนิน 2 ปี รอยยังไม่จางหาย

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
โดย “มือเก่า”

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับที่ 614 หน้า 17

เหตุการณ์เริ่มชุลมุนขึ้นอีก เมื่อผู้ชุมนุมขับรถเมล์เข้าใส่เหล่าทหาร ทหารเหล่านั้นล่าถอยอย่างไม่เป็นขบวน พร้อมกับยิงเข้าใส่รถเมล์ดังห่าฝน

เท่าที่สังเกต ทหารเหล่านี้ยังควบคุมสติไม่แน่นอน ถ้ามีเสียงปืน ทุกคนก็จะยิงตามกันหมด และถอยอย่างไม่มีขบวน

ผู้ชุมนุมคนหนึ่ง ได้วิ่งเข้าไปยังรถเมล์เพื่อที่จะเผา กระสุนได้เจาะร่างผู้ประท้วงคนนั้นฟุบลงกับพื้น

เสียงเชียร์ให้ยิงขา วินาทีนั้นเสียงปืนเพียงนัดเดียว เจาะเข้าที่ขาผู้ประท้วงคนนั้น

คนแล้วคนเล่า เราไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นบาดเจ็บหรือตาย ที่ร่วงลงไปกองกับถนนแห่งประชาธิปไตย เบื้องหลังเป็นเปลวเพลิง เหมือนกับเมืองทั้งเมืองจะถล่ม ผู้ประท้วงเริ่มเงียบเสียงลง มีแต่เสียงระเบิดเป็นระยะๆ ของเปลวเพลิงที่ลุกโชติช่วง

“ประชาธิปไตย” คำนี้ช่างขลัง และศักดิ์สิทธิ์จริงหนอ ทำให้ผู้คนยอมพลีชีพได้ กลัวแต่ว่า เป็นเพียงประชาธิปไตยบังหน้าเท่านั้น

 

“แพรวเฉพาะกิจ”
คืนหนึ่งในโรงแรมรอแยล โดย ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย

แถวแรก หน้า 50

ครั้งหนึ่ง เสียงปืนก็ดังประชิดมาก สิ้นเสียงปืนไม่นาน มีคนหามชายหนุ่ม 2-3 คนเข้ามาในโรงแรม เนื้อตัวเต็มไปด้วยเลือด น่าแปลกที่มักจะบาดเจ็บเฉพาะบริเวณเอวลงมา

“ดิฉัน” 15 กรกฎาคม 2535 โดย คุณอิสระ วสวานนท์

แถวที่ 2 หน้า 223

ผมคุยกับหลายท่านที่เชื่อถือได้ ที่อยู่หน้าสยามรัฐและอยู่หน้าโรงแรมแถวนี้ เขาบอกว่า ยิงเยอะ ยิงขึ้นฟ้ามาก เขาบอกว่า ยิงผ่าน ตายคงไม่มาก แต่บาดเจ็บมาก นี่เขาว่ากันนะครับ ผมเห็นว่า เจ็บขามาก เพราะคงจะยิงขากัน ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร

แสดงว่า ทหารก็ไม่ได้เจตนาจะฆ่าประชาชน ถ้าเลี่ยงได้ ก็ยิงขา ตามข่าวจากสื่ออย่างน้อย 3 ฉบับ

 

“ดิฉัน” โดย อิสระ วสวานนท์ 15 กรกฎาคม 2535

ดูในทีวี เห็นชัดว่า รถไม่มีคนเลย คงจะใช้อะไรดันคันเร่ง ฝ่าฝูงทหารเข้ามา…เราทำฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งมีปืนอยู่ในมือ แล้วทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องคิดถึงเขาบ้าง

ทหารถือปืน เช้า ข้าวก็ไม่ได้กิน ร้อนก็ร้อน น้ำก็ไม่มีกิน ตอนเย็นจะกินข้าวเย็น รถขนเสบียงโดนเผาอีก คนเราหิวทั้งวัน เครียดอยู่แล้ว เมื่อรถโดนเผาอีก มันก็หนัก

ผมคุยกับหลายๆ ฝ่าย ต่างมีความเห็นว่า ถ้าอยู่ในสนามหลวง ไม่เป็นอะไรหรอก พอออกมา เป็นเรื่อง มีปัญหา

พล.ต.จำลอง บอกว่า สมาพันธ์ประชาธิปไตยเป็นผู้พาออกจากสนามหลวง แล้วสมาพันธ์เคยรับผิดชอบอะไรบ้างหรือเปล่า อย่างน้อยแสดงความเสียใจ ขอโทษประชาชนบ้างไหม?

“ดิฉัน” 15 กรกฎาคม 2535
หน้า 222-224 โดย อิสระ วสวานนท์

หมอขอที่จอดรถข้างหลัง เอาไว้จอดรถพยาบาล เพราะทางเข้า-ออกสะดวก จอดรถได้ 200 กว่าคัน ถ้ารถออกด้านหน้า คนเจ็บก็ตาย เพราะไม่มีทางออกได้เลย คนไหนเจ็บหนัก ก็เอาขึ้นรถพยาบาล คนไหนเจ็บน้อยก็ให้กลับบ้าน

สุดท้ายทหารก็มาเคลียร์ ในห้องพักถ้ามีเกิน 4 คน เขาเชิญออก บางห้องเข้าไป 10 กว่าคนก็มี มีห้องทั้งหมด 300 ห้อง แต่เขาไม่ได้ตรวจทุกห้อง

ตอนเช้าผมมา ยังเจอคนอยู่ข้างนอกเต็มไปหมด เขาขนคนไปตอนเช้า ไม่ใช่ตอนกลางคืน ผมก็ยืนดูอยู่หน้าโรงแรม คอยเช็กว่า มีแขกติดไปบ้างหรือเปล่า…ส่วนคนเจ็บไม่มีแล้ว ส่งโรงพยาบาลหมดแล้ว ผมคุยกับหมอ เขาว่า ไม่มีคนตายในนี้ครับ

ไม่มีผู้เสียชีวิตในโรงแรม เพราะส่งโรงพยาบาลหมด เป็นไปได้ไหมว่า คืนวันที่ 18 ทหารไม่มีรถหรือไม่ใช้รถ รถเสบียง และรถน้ำทหารเข้ามา ยังถูกยึด ถูกเผา ทหารใช้วิธีเดินแถว ผ่านตามตรอกซอกซอย สู่ถนนราชดำเนิน เพื่อสกัดผู้ชุมนุม ให้ไปรวมตัวกันที่โรงแรมรอแยล แล้วกวาดจับผู้ชุมนุมที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งที่ขึ้นไปหลบอยู่ตามห้องพัก แต่ไม่มีรถมารับผู้ถูกจับในเวลากลางคืน
จนรุ่งเช้า เคลียร์สถานการณ์ได้แล้ว จึงได้มีรถยีเอ็มซีทหารเข้ามารับผู้ชุมนุมออกไปทั้งหมด
ดังนั้น จึงไม่เห็นภาพทหารขนคนเจ็บ หรือลำเลียงผู้เสียชีวิต มีแต่ภาพผู้ชุมนุมด้วยกันประคองหรือหามคนเจ็บสู่โรงแรมรอแยล ที่มีหมอและรถพยาบาลรออยู่ จึงได้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลทั้งหมด 40 ราย
รถพยาบาลก็อยู่ในความดูแลของหมอและพยาบาลโดยเฉพาะ ทหารไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น ข่าวลือที่ว่าทหารขนผู้เสียชีวิตไปทิ้งตามที่ต่างๆ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะไม่มีการขนย้าย

 

“ดิฉัน” โดย อิสระ วสวานนท์ (ต่อ)

วันที่ 19 มีคนเป็นพัน จะเข้ามาดูในนี้ เขานึกว่ามีคนตายเยอะ เก็บศพไว้ในนี้เป็นร้อย และเผาหลังโรงแรม ถ้ามีการเผา มันต้องมีหลักฐานเหลืออยู่ แต่นี่ข้างหลังเป็นสลัม ถ้าเป็นอย่างนั้น เขาก็ต้องโวยวายกันตาย

มีขวดเลือดที่หมอเตรียมมาให้เลือด แต่ไม่ได้ใช้หลายขวด ผมก็เอาใส่ถุงดำไปทิ้ง…คนเห็นขวดเลือดก็ไปคุ้ยและตีขวดแตกหมด แล้วหาว่าเลือดของผู้บาดเจ็บ คนมามุงกันใหญ่

ผมบอกว่า นี่เป็นความสัตย์จริง ไม่ใช่เลือดคนตาย แต่เป็นเลือดในขวด แล้วคนมาตีขวดแตก เอากระถางต้นไม้มาตั้ง เอาผ้าเปื้อนเลือดมาแขวน และคงมีหน้าม้าเอาเงินมาใส่ไว้ก่อน เริ่มอีกแล้ว หาเงิน ไปชี้ว่าคนตายตรงนี้ ตรงนี้ คนก็สนใจ ทำบุญ

คนไทยใจบุญ เชื่อง่ายอีกต่างหาก
เจ้าของกระถางเลยสบายไป

 

“สยามรัฐ” 23 พฤษภาคม 2535 “เกร็ดเศรษฐกิจ”

กรณีต้นประดู่ หน้าแบงก์ออมสิน ที่มีคนบ้าเอาเลือดอะไรก็ไม่รู้ไปทา นั่นก็ไม่ควรเชื่อ

ประดู่ต้นนั้นเกิดบาดแผลขึ้นมา ก็เพราะรถเมล์ที่ผู้ประท้วงขับ แล้วเสียหลักไปชนเอา ไม่มีทหารคนไหนบ้าพอที่จะเอาผู้ประท้วงไปผูกเชือกขึงพืดแล้วยิงเล่นหรอก ถ้าหากจะยิงทิ้ง ก็ไม่เห็นเหตุที่จะต้องทำกันแบบนั้นให้เหนื่อยเปล่า

ที่สำคัญคือ ด้านหน้าแบงก์ออมสินนั้น เต็มไปด้วยทหารและนักข่าว วิถีกระสุนที่จะยิงเป้าเล่น มันพุ่งเข้าหากลุ่มทหารด้วยกันแน่นอน ขอย้ำว่าข่าวลือตอนนี้ยังเชื่อถือไม่ได้

“สยามรัฐ” หน้า 5 วันที่ 14 มิถุนายน 2535 ของ จ. ดวงธิสาร

“ประดู่เลือดก็เดือดร้อน”

ผมได้ยินเสียงใครต่อใครพูดกันว่า ต้นประดู่สีเลือดนั้น เกิดจากผู้เคราะห์ร้ายถูกจับมัดกับต้นประดู่ แล้วถูกยิงด้วยปืนเลือดอาบเลอะต้นประดู่ ทำให้ต้นประดู่กลายเป็นประดู่เลือด

ประดู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์หรือชนิดใดก็มีธรรมชาติเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ มียางที่เปลือกสีแดง เหมือนเลือดคนเลือดสัตว์ ท่านผู้ใดไม่เชื่อลองใช้ปลายมีดกรีดดู จะเห็นยางสีแดงไหลอาบออกมา แดงเหมือนเลือดคนเลือดสัตว์ ไม่ผิดกันเลย

“เนชั่น” สุดสัปดาห์ 13-19 พฤษภาคม 2537
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

“รำลึกพฤษภาคมทมิฬ”

2 ปีประดู่เลือด! ต้นไม้ประชาธิปไตยริมราชดำเนิน ที่ไม่ควรลืม

คืนแห่งฝันร้ายของมวลชน ที่อยู่บริเวณราชดำเนินกลาง สมรภูมิของคนมือเปล่า กับเหล่าทหารผู้ถืออาวุธสงครามครบมือ ดาหน้ากราดกระสุนกวาดล้างขบวนการประชาชน คาวเลือด กลิ่นควันปืน เปลวไฟตลบไปทั่วย่าน ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2535 จึงยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ตกอยู่ในวงล้อมเงื้อมเงาเผด็จการอย่างไม่มีวันลืม

บนถนนราชดำเนิน ริมสองฟากฝั่งถนน ต้นประดู่ใหญ่น้อยยืนตะคุ่ม ตั้งแต่ต้นทางสะพานผ่านฟ้า ได้ยืนเป็นพยานรับรู้ความอัปยศอดสูของเหตุการณ์ครั้งนั้น

หากใครจำต้นประดู่อายุน้อย วัดรอบโคนได้ประมาณ 100 เช็นติเมตร ติดริมถนนด้านหน้าธนาคารออมสิน ที่ซึ่งเป็นไม้ยันร่างของนิรนามร่างหนึ่ง ถูกมัดตรึงไว้และกระสุนได้ทะลวงร่างเขา ปลิดชีพสิ้นใจในบัดนั้น ทั้งกระสุนได้เปิดเปลือกลำต้นเป็นแผลใหญ่ เลือดในกายก็ไหลริน ชโลมอาบลำต้นประดู่นั้น จนรุ่งสางศพเขาได้อันตรธานไป ทิ้งไว้แต่รอยเลือดแห้งกรัง แม้ฝนแรกแห่งเดือนพฤษภาคมศกนั้นจะได้พร่ำพรมในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่อาจชะล้างรอยคราบเลือดได้

นางนวล เลาหลีรุกุล วัย 52 ปี ค้าขายน้ำอยู่ใกล้บริเวณประดู่น้อยนั้น เล่าว่า “ป้าขายน้ำมาตั้งแต่ปี 2527 เขาเล่ากันว่า ทหารเอาผู้หญิงมามัด แล้วเล็งยิง ป้าไม่เห็นหรอก เห็นแต่รอยเลือด…”

ในโลกโซเชียลปัจจุบัน มีการเตือนให้ระวังการกระจายข่าว ถ้าไม่จริง จะกลายเป็นความผิดได้ แต่พฤษภาคม 2535 มีการกระจายข่าวที่ล้วนบิดเบือนความจริง เช่น ผู้ชุนนุมมือเปล่า ชุมนุมอย่างสันติ แต่ที่จริงมีการก่อจลาจล เผาบ้านเผาเมือง เสียดายที่คนไทยใจอ่อน เชื่อง่าย ดังเช่น 2 ปีรอยเลือดยังไม่จางหาย ยิ่งคนเชื่อ เป็นนักข่าว มีหน้าที่กระจายข่าว ทหารก็เลยเหมือนเป็นยักษ์เป็นมาร ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อย่างไม่ต้องสงสัย