บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน27)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26
โดย “มือเก่า”

“ไทยรัฐ” 16 สิงหาคม 2535 (สัมภาษณ์คุณหญิงแอ๋ว)

หัวข้อ ถาม “จำลอง” รู้ว่าทหารจะยิง ทำไมไม่บอก…ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีประชาชนมากมายถามว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุม รู้หรือไม่ว่าทหารจะปราบปรามประชาชนอย่างเด็ดขาด ด้วยการยิง

เรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยถาม พล.ต.จำลอง ว่าทหารจะปราบปรามประชาชนหรือไม่ ซึ่ง พล.ต.จำลองตอบว่า หากจะปราบต้องประกาศภาวะฉุกเฉินก่อน

ดังนั้น เมื่อทหารประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อเที่ยงคืนครึ่งวันที่ 17 พฤษภาคม ก็แสดงว่า พล.ต.จำลองก็ทราบดีว่า ทหารจะใช้กำลังปราบปรามประชาชนแน่ คุณหญิงแอ๋ว แฉ (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์)

ดังนั้น ถ้าต้องให้มีประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็เท่ากับต้องการให้เกิดความรุนแรงใช่หรือไม่

 

“ข่าวสด” 13 มิถุนายน 2535 หน้า 21

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ สอบสวนวิกฤตการณ์การเมือง 17-20 พฤษภาคม ที่ประชุมได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง

พล.ต.จำลองชี้แจงว่า การเตรียมการเคลื่อนย้ายม็อบได้เตรียมการกันมาก่อน แต่ตนไม่ได้ประกาศให้เคลื่อนย้าย ผู้ประกาศคือ นพ.เหวง โตจิราการ กระทำตามมติสมาพันธ์ ส่วนขบวนการมอเตอร์ไซค์ ตนไม่ทราบ

…เรารู้ว่า ในสภาแทบไม่มีโอกาสในการต่อสู้ เราจึงทำกันทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งพวกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามใจ แต่ถ้าไม่ทำ ก็คงไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนถึงวันนี้…ตอนหลังรัฐบาลกลับใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งไม่มีใครคิดมาก่อน หากรู้ว่าจะเกิดเรื่อง ตนก็จะไม่ไปร่วมชุมนุม…ส่วนแก๊งมอเตอร์ไซค์นั้น ตนไม่เห็นมี…

ในสภาแทบไม่มีโอกาสในการต่อสู้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเสียงข้างน้อยทุกสมัย แต่ถ้าสิ่งที่ฝ่ายค้านเสนอ ไม่ชนะรัฐบาลก็จริง แต่อาจชนะใจประชาชน เลือกตั้งครั้งต่อไปฝ่ายค้านก็อาจจะได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล เป็นไปตามกติกาแห่งประชาธิปไตย แต่ท่านไม่ยอมรับกติกา ไม่ยอมทำตามกฎหมาย แต่กลับใช้กฎหมู่ เพื่อให้ได้ดังใจ
เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นนายกฯ คนกลาง ก็มีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 ใช้มาตลอดเกือบ 60 ปี ทำไมจะต้องรีบเร่งแก้ไขให้ได้ในเดี๋ยวนี้ เดือนนี้ เพื่อให้ทันใจผู้ใดกันเล่า
ส่วนทหารใช้กำลังเข้าปราบปราม ท่านไม่เคยพูดถึงสาเหตุเลย ดูเหมือนท่านพยายามกลบเกลื่อนมาตลอด โดยชี้นำแต่ว่า ทหารฆ่าประชาชน ทั้งๆ ที่ทหารไม่มีเจตนาฆ่า แต่ทหารต้องรักษาบ้านเมือง
ท่านอ้างว่า ท่านไม่รู้ว่าจะเกิดเรื่อง ทั้งๆ ที่ท่านเป็นทหารย่อมรู้ดีว่า ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว ทหารมีสิทธิ์ปราบปรามขั้นเด็ดขาดได้
เรื่องขบวนการมอเตอร์ไซค์ ท่านบอกไม่ทราบ ไม่เห็นมี ทั้งๆ ที่ท่านเขียนเล่าไว้เอง ใน “ร่วมกันสู้” หน้า 175

 

“บ้านเมือง” 16 มิถุนายน 2535 ให้สัมภาษณ์วันชุมนุมพรรค ที่โรงแรมเดอวิลล์

ผู้สื่อข่าวถามว่า อีกฝ่ายบอกว่า ท่านจะต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.จำลองตอบว่า ตนไม่ผิด และผู้ร่วมชุมนุมทุกคนก็ไม่ผิด…การเคลื่อนย้ายที่ชุมนุมก็ทำมาแล้วถึง 2 ครั้ง วันที่ 17 ก็เป็นครั้งที่ 3 การเคลื่อนย้ายก็ใช้เส้นทางเดิม เวลาเดิมเหมือนกันหมดทุกอย่าง ดังนั้น จึงไม่มีใครผิด

…สำหรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะตน แต่เกิดจากการใช้กำลังเข้าปราบปราม

ย้ายครั้งที่ 3 ไม่เหมือนเดิมแน่นอน เพราะรู้แล้วจากการย้ายครั้งที่ 2 ว่ามีด่านสกัดที่ผ่านฟ้าแน่ ย้ายครั้งที่ 3 จึงมี “กองหน้า” มีกระสอบป่านไว้พาดลวดหนาม มีรถปิกอัพ รถมอเตอร์ไซค์ ไว้ฝ่าด่าน
สำหรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ธรรมดาผู้นำจะต้องรู้จักรับผิดชอบ แต่ท่านคอยซัดทอดผู้อื่นตลอด ท่านกล่าวโทษทหารครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมท่านไม่พูดถึงการก่อเหตุบ้าง เพราะผลย่อมเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล

 

“เดลิมิเรอร์” 7 กรกฎาคม 2535 (ตอบคำถามคณะกรรมการสอบสวน)

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นที่คณะกรรมการสนใจเป็นพิเศษคือประเด็นอะไร พ.อ.วินัย สมพงศ์ ได้กล่าวว่า ตนก็แสดงความเห็นส่วนตัวว่า :-

1. ประชาชนไม่พอใจกับการสืบทอดอำนาจเผด็จการของ รสช. นับสิบปี

ไม่น่าเชื่อ ว่านักการเมืองไม่รู้ว่า การเลือกตั้งก็คือการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน อำนาจปฏิวัติ อำนาจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ล้วนหมดไป แล้วจะเอาอำนาจอะไรสืบทอดไปอีก 10 ปี

 

2. ประชาชนไม่พอใจ ที่ 5 พรรค (รัฐบาล) ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขาได้พูดไว้ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนรู้สึกว่าถูกหลอก

ในเมื่อ พล.ต.จำลองไม่ต้องการ และไม่เลือกวิธีแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น แต่ต้องการบีบบังคับให้ พล.อ.สุจินดาลาออกทันที อย่างเดียวเท่านั้น แล้วจะให้แก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าได้อย่างไร

3. พล.อ.สุจินดาเคยบอกว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับมารับ แม้ว่าจะมีเหตุผล แต่เป็นเหตุผลที่ประชาชนไม่ยอมรับ ในเรื่องการเสียสัจจะ

สำคัญที่เจตนา ถ้า พล.อ.สุจินดามีเจตนาจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ ได้ตั้งแต่ รสช. แล้ว แต่กลับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ปฏิวัติแล้วไม่ยอมขึ้นสู่อำนาจบริหาร หลังเลือกตั้ง เมื่อ 5 พรรคการเมืองมาเชิญให้ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล ท่านก็ปฏิเสธอีก แสดงว่า พล.อ.สุจินดาเจตนาจะผิดคำพูดหรือไม่ และใครบ้างที่ไม่เคยผิดคำพูดเลยในชีวิต

4. ประชาชนไม่พอใจที่ พล.อ.สุจินดาได้เอารัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์มาเข้าร่วมรัฐบาล

นี่คือมูลเหตุหลัก (4 ประการ) ที่ตนคิดว่า ทำให้ประชาชนมาชุมนุมกัน

พล.อ.สุจินดาไม่ได้ใช้อำนาจปฏิวัติ ยึดทรัพย์โดยลำพัง แต่ได้นำเรื่องขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม ในที่สุด ศาลก็ตัดสินให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่ผู้ถูกยึดทรัพย์เหล่านั้น

 

“ร่วมกันสู้” จากข้อเขียนของ พล.ต.จำลอง หน้า 206

1. เพราะ “ร่วมกันสู้อย่างอหิงสา” จึงทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องลาออกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 แม้จะมี 4 เหล่า 5 พรรคหนุนหลัง ก็ยังต้องพ่ายแพ้

พล.อ.สุจินดา ต้องแพ้แน่ๆ เพราะอีกฝ่ายใช้บ้านเมืองเป็นเดิมพัน ถ้ารัฐบาลไม่เข้าระงับเหตุด้วยการปราบปราม การก่อการจลาจลก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ เมื่อปราบปรามก็กลายเป็นรัฐบาลฆ่าประชาชน
ทั้งๆ ที่มี 4 เหล่าทัพ และ 5 พรรคการเมืองหนุนหลัง พล.อ.สุจินดาก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เท่ากับขอรับผิดแต่ผู้เดียว เฉกเช่นประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กร มักจะออกมารับผิดชอบเสมอเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงขึ้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นต้นเหตุแห่งเหตุร้ายนั้น
และ พล.อ.สุจินดาแสดงความรับผิดชอบด้วยวิธีลาออก ไม่ใช่ยุบสภา ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนักการเมืองที่หวังจะกลับมาอีก แสดงว่า พล.อ.สุจินดาต้องการหรือยึดติดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่

 

2. เพราะ “ร่วมกันสู้อย่างอหิงสา” จึงสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2535 เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รวดเร็วง่ายดายที่สุด เหมือนปาฏิหาริย์

การแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน วุ่นวาย ย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าจะว่าอุปสรรคมาจากฝ่ายรัฐบาล แต่ที่จริงพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีอะไรจะต้องเสีย ถ้าแก้รัฐธรรมนูญตัดประเด็นนายกฯ คนกลางออก พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังร่วมกันตั้งรัฐบาลต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ คนสำคัญที่สุดคือนายกฯ พล.อ.สุจินดา ก็ไม่ขัดข้อง บอกไม่เสียดายตำแหน่งเลย เพราะเป็นผู้ไม่ปรารถนาในอำนาจอยู่แล้ว เพียงขอให้ทำตามกติกา ไม่ใช่อยู่ๆ ก็นำกฎหมู่มาบังคับขู่เข็ญให้ออก ดังนั้น ถ้าต้องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ก็สามารถใช้ชีวิตเจรจาให้สำเร็จได้แน่นอน อย่างน้อยอาศัยบารมี พล.อ.สุจินดาดำเนินการให้
แต่ฝ่ายที่ไม่สนใจ และไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นจนตลอดมา คือ คนสำคัญของฝ่ายค้าน เช่น คำพูดว่า อย่าเอาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาเบี่ยงเบน เหมือนกางเกงคับไปแก้เสื้อ หรือแก้รัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องรอรักษาการไปอีก 3 เดือน
และถ้า “ร่วมกันสู้อย่างอหิงสา” จริง บ้านเมืองก็คงสงบ ไม่มีการเสียชีวิต แต่เพราะ “ร่วมกันสู้อย่างไม่อหิงสา” จึงสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ทั้งคณะ โดยสังเวยด้วยชีวิตมนุษย์ 40 ชีวิต บาดเจ็บอีกหลายร้อย บ้านเมืองพังพินาศ เศรษฐกิจทรุด สะดุดเป็นแสนล้าน นี่หรือคือง่ายดายที่สุด สมควรจะภูมิใจหรือไม่?

 

3. เพราะสืบเนื่องมาจาก “ร่วมกันสู้” ใช่หรือไม่ ที่ 5 พรรค 195 เสียง ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ คนที่ 20 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2535

ใช่แล้ว ใช่แน่นอน ถ้าแก้รัฐธรรมนูญบนโต๊ะเจรจาก็เพียงทำให้ พล.อ.สุจินดาหมดสิทธิ์แต่ผู้เดียว พรรคเสียงข้างมากก็ยังเป็นรัฐบาลอยู่ แต่เพราะ “ร่วมกันสู้” ที่ทำให้เกิดความรุนแรง บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ทำให้รัฐบาลต้องไปทั้งคณะ และยังถูกยุยง ป้ายสีให้เป็นที่เกลียดชัง แล้วผลประโยชน์จะอยู่ที่ใครเล่า