แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน (11)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใช้ได้อยู่ไม่ถึง 7 ปีดี ก็มีอันพังพาบไปจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงจนทำให้รัฐไทยเริ่มนับหนึ่งในขั้นตอนของความเป็นรัฐพุเสื่อม (state decay) ที่หมิ่นเหม่ต่อการเกิดสงครามกลางเมืองจนอาจทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) หรือรัฐล่มสลาย (collapsed state) ได้

เงื่อนไขของวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ควบแน่นระหว่าง พ.ศ.2556-2557 ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำทหารเข้าแทรกแซงและบริหารจัดการปัญหาวิกฤตไม่ให้ขยายตัวบานปลายต่อไป

แต่หนึ่งในสิ่งที่จำเป็นต้องสูญเสียไปคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้กำหนดไว้ใน “มาตรา 2” และในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 กล่าวไว้ว่า

“ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ยังคงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ และภายใต้บังคับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ที่ใดในบทบัญญัติดังกล่าวอ้างถึงรัฐสภาหรือประธานรัฐสภาให้หมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี”

นั่นหมายความว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ถือตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเนื้อหาใจความหลักไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492, 2517, 2521, 2534, 2540

แต่ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.2560 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (11 มกราคม 2560 http://www.thaipost.net/?q=ร10รับสั่งแก้รธน-นายกฯปรับใหม่ฉบับประชามติหมวดกษัตริย์ก่อนทูลเกล้าฯ) ได้ลงข่าวว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดช่องแก้ไข รธน.ฉบับประชามติ หมวดพระมหากษัตริย์ 3-4 มาตรา ขณะที่คณะรัฐมนตรีส่งร่างแก้ไขให้ “สนช.” พิจารณา 3 วาระรวดวันศุกร์นี้ นายกฯ ระบุเป็นเรื่องพระราชอำนาจ ไม่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เตรียมตั้งกรรมการ 10 คนร่วมแก้ไข รธน.ฉบับประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง ยืนยันทุกขั้นตอนยึดโรดแม็ปเลือกตั้งหลังงานพระราชพิธีฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นไปตามขั้นตอน เนื่องจากวานนี้ (9 ม.ค.) คณะองคมนตรีได้มาพบ เนื่องจากสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ได้ทำเรื่องมาที่รัฐบาลว่ามีประเด็นที่ต้องหารือในเรื่องรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางฝ่ายองคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว และมีพระราชกระแสลงมาว่ามี 3-4 รายการที่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน ซึ่งเราก็รับสนองพระบรมราชโองการ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การจะทำได้ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน ประมาณไม่เกิน 1 เดือน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะแก้ได้ก่อน และแก้ในสาระตรงนี้ เมื่อนำลงมาแล้วก็แก้ฉบับที่ส่งขึ้นไป ก็จะต้องเอาลงมาก่อนแล้วแก้ และดำเนินการให้เร็วที่สุด ฉะนั้นก็ยังอยู่ในกรอบเวลา ซึ่งจะครบในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เมื่อนำลงมา แก้ไขใช้เวลาประมาณ 1 เดือน น่าจะเสร็จได้ไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ จะได้เสนอโปรดเกล้าฯ มาอีกครั้ง ก็ขอเถอะ เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน

นายกฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจำเป็นต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติไปแล้ว ฉะนั้น เมื่อจะแก้ในส่วนนี้ ก็ต้องหาวิธีการแก้ให้ได้ โดยไม่ต้องไปทำประชามติ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน เป็นไปการถวายพระราชอำนาจพระองค์ท่านเท่านั้นเอง”

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

และผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 15 มกราคม พ.ศ.2560 โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นําความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”

และมาตรา 18-20 ที่มิให้นำมาใช้บังคับมีเนื้อความดังนี้คือ

“มาตรา 18 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมาตรา 19

ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง มาตรา 20 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน”

AFP PHOTO / STR

เมื่อเป็นไปตามมาตรา 2 แล้วและมิให้นำมาตรา 18-20 มาใช้บังคับก็หมายความว่า

“เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้”

และในกรณีที่ไม่ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะองคมนตรีก็ไม่สามารถเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และประธานองคมนตรีก็ไม่สามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ด้วยแต่เดิมตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492, 2517, 2521, 2534, 2540 และ พ.ศ.2550 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อำนาจในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะอยู่ที่คณะองคมนตรีหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง

และหากในกรณีที่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

น่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า ย่อมต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสมอเมื่อ “พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม”