แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน (7)

สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานิงคมนตรี คนที่ 6 (5 ธันวาคม พ.ศ.2516-4 กันยายน พ.ศ.2541)

ตอน 1 2 3 4 5 6

ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (7) : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน

 

ถ้าพิจารณาในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2517 รวมเวลา 32 ปี ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือชั่วคราว ไม่ว่าการเมืองจะอยู่ในเงื่อนไขอย่างไร ไม่ว่าจะมีมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้โดยตรงหรือไม่มีแต่ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครอง

สิ่งที่เป็นแบบแผนปฏิบัติและยึดถือตามกันมาตลอดคือ “เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม” ย่อมต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ

หลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ต้องยุติลงเนื่องจากการรัฐประหารเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 ต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ซึ่งก็ไม่ต่างจากธรรมนูญ พ.ศ.2502 และธรรมนูญ พ.ศ.2515 นั่นคือ ไม่ได้มีมาตราที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่มีมาตรา 30 ที่กำหนดไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด”

และมาตรา 31 “ในกรณีมีปัญหาว่า การกระทำหรือการปฏิบัติใดขัด หรือแย้ง หรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด”

 

ต่อมามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 ส่งผลให้ธรรมนูญ พ.ศ.2519 สิ้นสุดลง และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั่นคือ มาตรา 16-19 มีเนื้อหาดังนี้คือ

มาตรา 16 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

มาตรา 17 “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 ก็ดีในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดีให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”

มาตรา 18 “ในระหว่างที่ไม่มีผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน ในกรณีที่ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ประธานองคมนตรีทําหน้าที่ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่งก็ดีในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทําหน้าที่ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสองก็ดีประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ในกรณีเช่นว่านี้ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทําหน้าที่ประธานองคมนตรีชั่วคราว”

และมาตรา 19 “ก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคําดังต่อไปนี้ “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่าข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””

สังเกตได้ว่า มาตรา 16-19 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ไม่ต่างจากมาตรา 21-24 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และไม่แตกต่างจากมาตรา 19-22 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 เท่ากับว่ายังคงรักษาเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 อยู่

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 มีอายุยืนยาว 13 ปี แต่ก็ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากมีการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 และมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ต่างจากธรรมนูญการปกครองฉบับก่อนหน้านี้ อันได้แก่ ธรรมนูญ พ.ศ.2502, ธรรมนูญ พ.ศ.2515 และธรรมนูญ พ.ศ.2519 แต่มีมาตราเกี่ยวกับประเพณีการปกครองไว้ นั่นคือ

มาตรา 30 “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด”

และมาตรา 31 “ในกรณีมีปัญหาว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด”

 

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2534 ได้มีการประกาศรัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2534 และมีมาตราที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ 4 มาตรา นั่นคือ มาตรา 16-19 มีเนื้อความดังนี้คือ

มาตรา 16 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

มาตรา 17 “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่งก็ดี ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีชั่วคราว”

และมาตรา 19 “ก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””

 

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น อันได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521, พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2492

อันเป็นเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดติดต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมาในการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2475