แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน (10)

King Bhumibol Adulyadej of Thailand is seen walking out of a tour-boat 12 October 1960 in Paris during an official visit of the Thai royal couple to France. AFP / STF / AFP PHOTO / STF

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9

 

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ส่งผลให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับก่อนๆ นั่นคือ ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ แต่มีมาตราที่อ้างถึงประเพณีการปกครอง

นั่นคือ มาตรา 38 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 กำหนดไว้ว่า

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเมื่อมีกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด”

ในความเป็นจริง ในช่วงเวลาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 พระมหากษัตริย์ทรง “ประทับอยู่ในราชอาณาจักร” และ “ทรงบริหารพระราชภาระได้” จึงไม่ความจำเป็นที่จะต้องตีความมาตรา 38 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชแทนพระองค์แต่อย่างไร

ขณะเดียวกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 สมมุติว่า พระมหากษัตริย์เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเหมือนในครั้ง พ.ศ.2537 ก็จะต้องมีคำถามว่า จะต้องตีความมาตรา 38 อย่างไร?

เพราะก่อนหน้าการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี พ.ศ.2537 ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ไม่ได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แม้ว่าจะมีบทบัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ และเป็นครั้งแรก (precedent) ที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าปี พ.ศ.2537 การเสด็จเยือนต่างประเทศในช่วงระหว่าง พ.ศ.2502-2510 รวมทั้งสิ้น 31 ครั้ง ล้วนมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสิ้น แม้ว่าธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2502 (ซึ่งบังคับใช้จนถึง พ.ศ.2511) จะมิได้บัญญัติไว้ชัดเจน แต่มีบทบัญญัติในลักษณะให้อ้างอิงประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อสมมุติว่า มีการเสด็จต่างประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549 ก็คือ ต้องตีความมาตรา 38 ที่อ้างประเพณีการปกครอง

แต่ประเพณีการปกครองหรือแบบแผนที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549 เกี่ยวกับการที่พระมหากษัตริย์ “จะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร” นั้นมีสองลักษณะ

นั่นคือ ลักษณะแรก มีการตีความมาตราที่อ้างประเพณีการปกครองฯ และมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ลักษณะที่สอง แม้มีบทบัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 แต่การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์?

อีกนัยหนึ่งคือ อะไรคือประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์?

หลังจากมีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แล้ว และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.2550 จะพบว่ามีมาตราที่บัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั่นคือ มาตรา 18-21 :

มาตรา 18 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 19 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 20 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

มาตรา 21 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรานี้

 

จากข้างต้น จะพบว่า มาตรา 18-21 อันเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492, 2517, 2521, 2534, 2540

แต่จะยังคงกล่าวได้หรือไม่ว่า มาตรา 18-21 นั้นคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่เกี่ยวกับหลักการการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่สืบทอดติดต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมาในการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2475?

หลังจากมีกรณีการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี พ.ศ.2539 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 โดยมิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์