แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน (5)

French President General de Gaulle (2nd R) and his wife Yvonne de Gaulle (L), king Bhumibol Adulyadej of Thailand (3rd R) and his wife queen Sirikit (2nd L) and French Prime minister Michel Debre (R) pose for the photographers after a lunch at the Elysee Palace in Paris 11 October 1960 during an official visit of the royal couple in France. AFP / STF Le roi Bhumibol Adulyadej et la reine Sirikit, en visite officielle เ Paris, posent le 11 octobre 1960 sur le perron de l'Elys้e en pr้sence du G้n้ral de Gaulle, de madame de Gaulle et du premier ministre Michel Debr้. / AFP PHOTO / STF

ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (5) : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน

กฎหมายสูงสุดก่อนหน้าธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ล้วนมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสิ้น

แต่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 แตกต่างไปจากฉบับก่อนหน้าทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้

แต่มีมาตรา 20 ที่กล่าวว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด”

และภายใต้ธรรมนูญฯฉบับชั่วคราว พ.ศ.2502 ที่มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 9 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลายฉบับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศระหว่าง พ.ศ.2502-2510 ถึง 31 ครั้ง

และในช่วงเวลาที่พระบาทพระสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรทั้ง 31 ครั้งนี้ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และเข้าใจว่าภายใต้มาตรา 20 ของธรรมนูญ พ.ศ.2502 จะอิงกับรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ นั่นคือ อิงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 มาตรา 19-22 และถือว่าเป็นการตีความประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 20 ของธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2502

โดยมาตรา 19 บัญญัติไว้ว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

 

การเสด็จเยือนต่างประเทศทั้ง 31 ครั้งภายใต้ธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2502 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ครั้งที่หนึ่ง ประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502

สอง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ 2503

สาม สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม 2503

สี่ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2503

ห้า ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2503

หก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2503

เจ็ด สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2503

แปด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2503

เก้า ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2503

สิบ ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2503

สิบเอ็ด ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2503

สิบสอง สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม 2503

สิบสาม นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503

สิบสี่ ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2503

สิบห้า สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2503

สิบหก ประเทศลักเซมเบิร์ก ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2503

สิบเจ็ด ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2503

สิบแปด ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 3-8 พฤศจิกายน 2503

สิบเก้า สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ 11-22 มีนาคม 2505

ยี่สิบ สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ 20-27 มิถุนายน 2505

ยี่สิบเอ็ด ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 18-26 สิงหาคม 2505

ยี่สิบสอง ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-12 กันยายน 2505

ยี่สิบสาม ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2506

ยี่สิบสี่ สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ 5-8 มิถุนายน 2506

ยี่สิบห้า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 9-14 กรกฎาคม 2506

ยี่สิบหก สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-5 ธันวาคม 2507

ยี่สิบเจ็ด สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 22-28 สิงหาคม 2509

ยี่สิบแปด สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-2 ตุลาคม 2509

ยี่สิบเก้า ประเทศอิหร่าน ระหว่างวันที่ 23-30 เมษายน 2510

สามสิบ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 6-20 มิถุนายน 2510

สามสิบเอ็ด ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2510

และหลังจาก พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกเลยเป็นเวลา 27 ปี

จนปี พ.ศ.2537 พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2537 และหลังจากนั้นมิได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกเลย

และทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนต่างประเทศโดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ด้วยระหว่าง พ.ศ.2502-2510 “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้ง

แต่ในคราวเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2537 โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามเสด็จฯ ด้วย และมิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร และก็มิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ซึ่งในช่วงเวลานั้นคือ พ.ศ.2537 ประเทศไทยอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ซึ่งก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไป

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2537 เพื่อทรงร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย และเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อจัดตั้งต้นแบบของการบูรณาการและเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แก่ประเทศลาว

ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศลาวเท่านั้น แนวพระราชดำริที่เป็นองค์ความรู้และวิทยาการต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาชนบท แต่ยังเผยแพร่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหภาพพม่า รวมทั้งแนวพระราชดำริในการปลูกหญ้าแฝกก็ได้รับการเผยแพร่ไปสู่หลายประเทศทั้งราชอาณาจักรภูฏาน และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ราชอาณาจักรเลโซโท ก็นำแนวพระราชดำริดังกล่าวไปปรับใช้ในประเทศของตนด้วย

การเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2537 ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 แม้ว่าธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 จะกำหนดไว้ก็ตาม

จะด้วยเหตุผลใด ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ในภายหลัง