ก้าวหน้าจริงดิ

คำ ผกา

ได้รับไลน์จากคุณอั๋น ภูวนาท ผู้ร่วมจัดรายการ “ข่าวจบคนไม่จบ” ด้วยกันในช่อง “ข่าวสด” ว่า เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต คนยังงงๆ โดยเฉพาะเรื่องร้านสะดวกซื้อเป็นร้านค้าย่อยหรือไม่ ทำไมซื้อของ “เซเว่น” ได้ เมื่อยังงงๆ ก็จะไม่เห็นด้วย ออกมาด่า (แบบงงๆ) สุดท้ายคุณอั๋นกำชับว่า “ต้องไม่ขี้เกียจตอบ”

เมื่อได้รับคำแนะนำมาเช่นนั้น ฉันจึงขออธิบายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้งในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวตั้งแต่วันแรกตอนที่เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สามารถหาดูคลิปปราศรัยหาเสียงย้อนหลังได้ ฉันยังจำฉากเปิดตัวเลข 10,000 บาท บนเวทีปราศรัยได้ติดตา เพราะตอนนั้นยังไม่มีรายละเอียดของโครงการ และอยากรู้มากว่า ดิจิทัลวอลเล็ตคืออะไร

หลังจากนั้นมีการแถลงข่าวถึงหลักคิด หลักการ และรายละเอียดของโครงการ

ซึ่งฉันขอสรุปมาเตือนความทรงจำกันอีกครั้ง

 

ทีมนโยบายของพรรคเพื่อไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยซบเซายาวนานต่อเนื่องและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างน้อยสองตัว ไม่ทำงานเลย

นั่นคือการส่งออกสินค้า บวกกับราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือยางพารา (ยังจำเรื่องข้าวเปลือกกิโลกรัมละห้าบาทในสมัยรัฐบาลที่แล้วได้หรือไม่?)

ที่สำคัญในช่วงโควิด รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยแทบจะเป็นศูนย์ ทั้งๆ ที่รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นส่วนพยุงจีดีพีของเราอยู่ประมาณ 14% มาโดยตลอด

หนักกว่านั้น ในรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้เตรียมแผนยุทธศาสตร์ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดเลย เรียกได้ว่า ภาคเอกชนของไทยล้มลุกคลุกคลาน ช่วยเหลือตัวเองตามยถากรรมมาตลอดระยะเวลาวิกฤตโควิด

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมาถามว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่

แต่โปรดเปรียบเทียบจีดีพีของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน เป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หลังโควิด จีดีพีเราโตไม่ถึง 2% ในขณะที่คนอื่นโต 5% หรือ 7%

เพราะฉะนั้น วิกฤตหรือเปล่าไม่รู้แต่เราถดถอยอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

และหากเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับภาวะถดถอยนี้ ในขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้า เราก็จะยิ่งถูกทิ้งห่างไว้ข้างหลังแบบยกกำลังสองยกกำลังสามไปเรื่อยๆ

 

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดและมองเห็นคือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทยต้องการ “ยาแรง” ไม่ใช่แค่หายป่วย แต่ต้องหาย แข็งแรง และสามารถลุกจากเตียงมาลงสนามแข่งขันกับคนอื่นแล้วมีโอกาสชนะ

การชุบชีวิตเศรษฐกิจแบบ “ประเพณีนิยม” ของสำนักเศรษฐกิจเสรีนิยมโดยทั่วไปมีมาตรการที่เรียกว่า เฮลิคอปเตอร์มันนี่

นั่นคือการ “แจกเงิน” ให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายใน เช่น การแจกเช็คช่วยชาติสองพันบาท สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งมาตรการคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

หรือประเทศญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศส เพื่อพยุงประเทศหลังโควิด รัฐบาลก็มีแพ็กเกจแจกเงินประชาชนในหลายรูปแบบ และแจกเป็นก้อนใหญ่ๆ ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ส่วนจะได้ผลมากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าหากจะกระตุ้น ชุบชีวิตเศรษฐกิจขึ้นมาให้มีศักยภาพการแข่งขัน ยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

การแจกเงินต้องถูกอัพเกรดขึ้นไปให้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้วย และนี่คือคำตอบว่า ทำไมถึงไม่โอนเงินให้ประชาชนง่ายๆ ตรงๆ ไปเลย จะทำดิจิทัลวอลเล็ตทำไม?

ดิจิทัลวอลเล็ตคืออะไร?

 

หนึ่ง มองสิทธิการใช้จ่ายให้พลเมืองไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ผ่านแอพลิเคชั่นที่กำกับด้วยบล็อกเชน ดูตัวเลขแล้วจะมีคนไทยได้รับสิทธินี้ 53.5 ล้านคนโดยประมาณ

สอง เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของการให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียน ทวีคูณ อยู่ในระบบเศรษฐกิจรากหญ้า รายย่อยหลายรอบที่สุด จึงมีเงื่อนไขกำกับด้วยเวลา และสถานที่

แรกสุดเดิมที กำหนดที่รัศมี 4 ก.ม. และต้องใช้ให้หมดในเวลา 6 เดือน

นั่นหมายความว่า สิทธิการใช้จ่ายนี้ มีเพื่อให้เอาไปใช้ๆๆๆๆๆ ไม่ใช่ให้เอาไปเก็บออม และการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ กับจำนวนเงินมากถึงหนึ่งหมื่นบาท เพราะต้องการส่งแรงเหวี่ยงให้เกิดการลงทุนต่อ ไม่ใช่แค่บริโภคหมดไปแล้วจบแค่นั้น

สิทธิการใช้จ่ายหนึ่งหมื่นบาท จะนำมาซึ่งการลงทุนต่อยอด สำหรับธุรกิจขนาดจิ๋ว หรือแม้กระทั่งการลงทุนในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การซ่อมแซมบ้าน การซื้อเครื่องทุ่นแรงในภารคเกษตร หรือการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้กระทั่งการซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ เพื่อให้รับงาน ทำงานได้ดีขึ้น เช่น อาชีพ ขายของออนไลน์ ไรเดอร์ คนขับแกร็บ เป็นต้น

สาม การออกแบบให้อยู่ในระบบบล็อกเชน และเป็นสิทธิการใช้จ่ายคูปองดิจิทัล ก็เพื่อผลลัพธ์ในเชิงโครงสร้างนั่นคือสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ดังนั้น การเตรียมการก่อนย่อมได้เปรียบ เพราะไม่ช้าก็เร็ว ยังไงก็ต้องทำอยู่แล้ว

 

เพราะฉะนั้น โดยหลักคิดเบื้องหลังโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคือการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว

นกตัวที่หนึ่งคือ ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ

นกตัวที่สองที่สำคัญคือการวางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

และพรรคเพื่อไทยก็อธิบายหลักคิดนี้มาตลอดการหาเสียง

หลังการเลือกตั้งเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็พยายามผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามที่หาเสียงไว้

แต่เมื่อจะผลักดันนโยบายนี้ ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้าน

ทักท้วงทั้งจากฝ่ายค้านที่ไม่เพียงแต่ทักท้วงแต่พยายามจะบอกว่านโยบายนี้จะไม่มีวันสำเร็จจากอุปสรรคทางข้อกฎหมาย ยังถูกขัดขวางจากฝ่ายเทคโนแครตเช่นธนาคารแห่งประเทศไทย ว่านี่คือนโยบายแจกเงิน ประชานิยม ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำแล้วจะก่อหนี้เพิ่ม เป็นภาระทางการเงินการคลัง

ควรพิจารณาแจกเฉพาะกล่มคนเปราะบาง

ท้ายที่สุดนำมาสู่อีกทางเลือกหนึ่งนั่นคือออก พ.ร.บ.กู้เงินห้าแสนล้าน แล้วให้ผ่านสภา และประนีประนอมกับเสียงทักท้วงของเทคโนแครตเรื่องอยากให้แจกเฉพาะกลุ่ม จนนำมาสู่การตัดคนที่รายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝาก 500,000 ขึ้นไป

ทำให้ตัวเลขของผู้ได้รับสิทธินี้จาก 53.5 ล้านคน มาจบที่ตัวเลข 50 ล้าน

 

ซึ่งหากเรานั่งไตร่ตรองสักนิด จะต้องตกใจว่า โห… กลุ่มคนที่รายได้ 70,000 ขึ้นไปและมีเงินฝาก 500,000 ในประเทศไทย ทำไมถึงมีจำนวนน้อยนิดขนาดนี้ นั่นคือมีแค่ 3.5 ล้าน

และควรจะคิดได้ว่า พวกเราที่เป็นคนเกือบทั้งประเทศล้วนแต่เปราะบางยากจน

เมื่อรัฐบาลปรับมาใช้แนวทางนี้ฝ่ายค้านเจ้าเก่าเจ้าเดิมก็ออกมาโจมตีรัฐบาลไม่มีปัญญาทำโครงการนี้ให้สำเร็จเลยจะหันมาใช้สภาเป็นทางลง ถ้า พ.ร.บ.เข้าสภาแล้วไม่ผ่าน จะได้มีข้ออ้างว่าทำไมถึงไม่ทำ (ฟังแล้วก็ขมวดคิ้ว เพราะหากฝ่ายค้านรู้ทันรัฐบาลขนาดนี้ วิธีแก้ลำรัฐบาลคือมาช่วยยกมือให้ พ.ร.บ.ผ่าน ก็จบแล้ว)

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน รัฐบาลก็เจออีกด่านหนึ่งที่ต้องฝ่าฟันนั่นคือ ด่านของ ป.ป.ช. ที่อ้างข้อกฎหมายว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจเร่งด่วนเท่านั้น

นำมาสู่การดีเบตครั้งใหญ่อีกระลอกว่า ตกลงเศรษฐกิจประเทศไทยของเราวิกฤตหรือไม่

ซึ่งเถียงกันจนโลกแตกก็ไม่จบเพราะนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักต่างก็มีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจคนละตัว

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำไปดิสเครดิตโจมตีต่อว่า ถ้ารัฐบาลอยากสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำไมถึงพยายามจะตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤต

รัฐบาลก็คงอยากเอาตีนมาก่ายหน้าผาก เพราะรัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศวิกฤต ตกต่ำ ย่ำแย่ จึงต้องพยายามฟื้นฟูด้วยการเดินสายชวนนักลงทุนมาลงทุน พร้อมๆ กับให้คำมั่นสัญญาว่า รัฐบาลแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้างในประเทศ

และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและผลลัพธ์ของมันก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

 

แม้จะเจอด่านสกัดขัดขวางไม่ให้นโยบายนี้สำเร็จ แต่ทั้งพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเห็นชัดเจนว่าต้องการยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญนี่เป็นนโยบายหลักที่ใช้หาเสียง รัฐบาลมีหน้าที่ทำตามที่ไปสัญญาไว้กับประชาชน

แม้จะล่าช้ากว่าที่ได้เคยหาเสียงไว้ แต่สิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้คือ “ไม่ทำ” เพียงเพราะว่ามีอุปสรรคขัดขวางเยอะ (อย่าลืมว่า สังคมไทยเคยทุ่มสุดตัวเพื่อขัดขวางโครงการ Thailand 2020) มาแล้วเพียงเพราะกลัวพรรคที่ตัวเองไม่ชอบมีผลงานและได้รับความนิยม

ในที่สุดรัฐบาลก็งัดไม้เด็ดออกมานั่นคือ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อถกเถียงอันไม่รู้จบว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ จำเป็นต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน หรือไม่ มาเป็นการแถลงล่าสุดในวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ได้ข้อยุติว่า

หนึ่ง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คงหลักการเดิม นั่นคือมอบสิทธิให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ยกเว้นคนที่มีเงินเดือน 70,000 บาทขึ้นไป และคนที่มีเงินออม 500,000 บาทขึ้นไป ดังนั้น จะมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน (จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน)

สอง รัฐบาลจะสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ ไม่ใช้แอพพ์ที่มีอยู่เดิม

สาม ขยายพื้นที่ใช้จากรัศมี 4 กิโลเมตรเป็นภายในอำเภอและหมดอายุในเวลา 6 เดือน

สี่ ใช้ในร้านค้าย่อย ไม่สามารถใช้ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นห้างใหญ่ได้

ห้า ร้านที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมาลงทะเบียนก่อน, ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษี

หก ร้านค้าย่อยสามารถเอาคูปองดิจิทัลที่ได้รับจากลูกค้าไปซื้อของในร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีได้ทุกร้าน รวมทั้งห้างขนาดใหญ่ จากนั้น ร้านค้าในระบบภาษีสามารถนำยอดคูปองดิจิทัลในบัญชีของตนเองไปขึ้นเงินสดได้ ในระยะเวลาที่รัฐบาลจะกำหนดให้ เช่น อาจจะเป็นสองปี หรือสามปี เป็นต้น

เจ็ด ห้ามซื้อทอง หวย ใช้หนี้ จ่ายค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะเหล่านี้เงินไม่หมุน และใครใช้สมองเป็นก็จะคิดได้ว่า จงเอาคูปองดิจิทัลไปใช้จ่ายอย่างอื่น แล้วเซฟเงินสดไปซื้อในสิ่งที่คูปองดิจิทัลซื้อไม่ได้

แปด ที่มาของเงิน ได้จากงบฯ ประจำปี และอีกส่วนหนึ่งจาก ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28

 

สรุปสั้นๆ อีกครั้งว่า โครงการนี้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และทำเพียงครั้งเดียว ใช้เงินก้อนเดียวคือห้าแสนล้าน โดยหวังผลให้เกิดการใช้จ่าย ต่อยอดการลงทุนในผู้ลงทุนรายย่อย กระตุ้นเศรษฐกิจ

เงินหมุนเวียนในตลาดหลายรอบจากการหมุนคูปองผ่านกระเป๋าเงินของผู้คนจำนวนมากในอัตราเร่งสูงอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางเวลาที่กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้คือ 6 เดือน พร้อมกับได้วางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

ถามว่าจะก่อภาระหนี้สาธารณะหรือไม่?

ตอบว่าไม่ เพราะหากจีดีพีโตขึ้น ส่วนของหนี้สาธารณะก็จะลดลงตาม ตรงกันข้ามหากจีดีพีไม่โต ต่อให้ไม่มีการกู้เงินใดๆ สัดส่วนของหนี้สาธารณะก็จะสูงขึ้นอัตโนมัติ – ตรงนี้หากคนค้าขายเป็นจะเข้าใจได้ไม่ยาก

ส่วนที่กรีดร้องกันว่า ทำไมให้ซื้อในร้านสะดวกซื้อได้ กรี๊ดๆๆๆ เธอเอื้อนายทุน

 

ขอตอบในเชิงหลักการว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายพึงกำหนดข้อห้ามให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เพราะเราหวังผลที่ “การใช้จ่าย” และเม็ดเงินที่สะพัดในตลาด

และถ้าจะให้ตอบแบบ “หยุมหัว” กลุ่ม fake woke นายทุน ฉันก็ขอตอบว่า รัฐบาล ไม่ได้กำหนดว่า “ให้ซื้อสินค้าของซีพี และร้านค้าของซีพีเท่านั้น”

รัฐบาลบอกว่าซื้อที่ร้านค้าย่อยที่ไหนก็ได้ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ นั่นแปลว่า ถ้าใครแน่วแน่ต่อต้านเจ้าสัวจงมุ่งมั่นไปซื้อร้านอื่นๆ ไม่มีอะไรยากและซับซ้อนเลย ไม่มีใครมัดแข้งมัดขา สั่งให้ไปซื้อเซเว่น บอกตัวเองทุกวันและทำให้ได้ว่า “กูจะไม่เข้าเซเว่น” ไม่ใช่ตัวเองมีแต้มออลเม็มเบอร์จุกๆ แล้วด่ารัฐบาลเอื้อนายทุน

ส่วนคนต่างจังหวัด มีเงินหมื่นให้ใช้ฟรี นู่น เขาไปซื้อสุขภัณฑ์ กระเบื้อง ปูน หิน ทราย โต๊ะ เก้าอี้ เตียง อุปกรณ์การเกษตร จอบ เสียม รถเข็น เคยเห็น hardware store ในต่างจังหวัดไหม?

นั่นแหละ เขาไปซื้อของเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือสร้างงาน สร้างรายได้ต่อ

หรือใครจะเอาไปบริโภค อย่างเดียวไม่ต่อยอดก็เป็นสิทธิ ชีวิตเรา เราเลือกเอง และไม่ต้องไปเสือกประเมินคุณค่าชอยส์ของคนอื่น หากจะเป็นคนลิเบอรัลที่แท้จริง

ก่อนจะด่า ก่อนจะโจมตี ฝึกตัวเองให้อ่านข่าว ฟังข่าว จับใจความสำคัญให้ได้ อย่าอ่านแต่พาดหัว อย่าอ่านแต่ข่าวใส่สีตีไข่ที่ส่งต่อกันตามกลุ่มไลน์

รักจะก้าวไกล หัวก้าวหน้าต้องเริ่มจากคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ประเมินความน่าเชื่อถือของข่าวสารตามเนื้อผ้ามากกว่าจะเลือกเชื่อจากการดูว่า “ใคร” เป็นคนพูด

ถ้าคนที่ฉันเชียร์พูดอะไรฉันก็เชื่อหมด สิ่งนี้จะทำให้เป็นคนก้าวไกลไม่ได้ แต่จะเป็นคนล้าหลังเพราะติดอยู่กับลัทธิบูชาตัวบุคคล สุดท้ายสมองจะดับโดยอนาถ