หลุมหลบภัย ส่วนตัวของประชาชนและท่านผู้นำ ในช่วงสงคราม

ณัฐพล ใจจริง

เมื่อครั้งพระนครถูกโจมตีทางอากาศในยามกลางคืนช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น

ชาวปากคลองตลาดบันทึกไว้ว่า เสียงหวอที่ได้ยินนั้นมันช่างโหยหวนเสียดแทงเข้าไปในใจดุจเสียงปีศาจแห่งความตายที่ร้องเรียก

ผู้คนที่นอนอยู่ในที่พักต่างต้องรีบลุกขึ้นคลำทางหาทางท่ามกลางความมืดไปหลุมหลบภัยในบ้าน หรือออกไปตามหลุมหลบภัยสาธารณะ

แต่สำหรับคนแก่บางส่วนที่ไม่หนีลงหลุมนั้น พวกเขาและเธอเอาแต่สวดมนต์ เอาพระเป็นที่พึ่ง เพราะถือว่า หากจะต้องตาย อยู่ตรงไหนก็ต้องตาย (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 214)

ช่วงเวลานั้นรัฐบาลไม่แต่เพียงสร้างหลุมหลบภัยสาธารณะใกล้แหล่งยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้สร้างหลุมหลบภัยส่วนตัวขึ้นอีกด้วย

ชาวพระนครใช้ท่อระบายน้ำเป็นที่หลบภัย

ขุนวิจิตรมาตรา บันทึกชีวิตในช่วงสงครามไว้ว่า เสียงหวอเตือนภัยอยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2485 เขาเห็นว่า มันเป็นเสียงที่สร้างความแตกตื่นหวาดเสียวอย่างที่สุด แม้นในยามกลางวัน ที่ข้าราชการทำงาน ห้างร้านค้ายังไม่ปิด ฟ้าสว่างคาตานั้น ก็มีการโจมตีทางอากาศ ผู้คนมองเห็นเครื่องบินข้าศึกชัดเจน และเมื่อเสียงหวอดังขึ้น ชาวพระนครวิ่งกันสับสนอลหม่านทันที ต่างวิ่งหาที่หลบภัย วิ่งเข้าซ่อนในวัด หรือวิ่งลงหลุมหลบภัย

บางคนที่ไม่สามารถหาหลุมหลบภัยทัน พวกเขาจะลงไปหลบซ่อนในท่อระบายน้ำ เมื่อเครื่องบินผ่านไป แต่ละคนที่คลานออกมาจากท่อระบายนั้นเนื้อตัวมอมแมมสกปรก พร้อมบ่นกันว่า ยุงชุม ทั้งเหม็น และหายใจไม่ออก การหลบภัยในท่อน้ำริมถนนนั้น กระนั้นก็ดี ขุนวิจิตรมาตราเล่าว่า มีบางครั้งระเบิดลงบนถนน ดินแยกเบียดท่อทับคนหลบภัยตายบ่อยๆ ก็มี (ขุนวิจิตรมาตรา, 470-471)

ด้วยเหตุที่การมีหลุมหลบภัยตามบ้านเรือนในเขตชุมชนเมืองเป็นการยาก หากใครต้องการหลบภัยจึงต้องไปที่หลบภัยสาธารณะซึ่งอยู่ห่างจากที่พักไกลออกไป ชาวตึกแถวจึงมักหลบในท่อระบายน้ำ ทำให้เทศบาลกรุงเทพฯ ครั้งนั้นเปิดฝาท่อเอาไว้ให้ชาวบ้านใช้หลบภัยในยามฉุกเฉิน

ชาวบ้านบางส่วนลงไปทำความสะอาดผนังท่อน้ำหน้าบ้านให้สะอาด พร้อมหาแผ่นกระดาน 2 แผ่นวางเรียงตามความกว้าง มีคานตอกตะปูกระดานให้แน่นไว้นั่งปูเหนือน้ำในท่อ เวลาหลบภัยแล้วตัวและเท้าจะได้ไม่เปียกน้ำสกปรก และหากเป็นการหลบภัยในช่วงฤดูหนาวแล้ว คนที่หลบภัยต้องเอาผ้าห่มลงไปในท่อด้วย (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 215)

แม้นรัฐบาลประกาศให้ชาวบ้านขุดหลุมหลบภัย แต่บางคนก็ไม่สามารถรอดพ้นความตายได้ แม้นว่าจะรอดจากระเบิดได้ แต่บางคนโดนงูกัดตายภายในหลุมหลบภัยนั่นเอง (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 269)

ตุ่มเก็บน้ำที่ใช้แทนหลุมหลบภัย

ในระหว่างข้าพเจ้าค้นคว้าเรื่องหลุมหลบภัย คุณจุมพฏ สายหยุด แนะนำข้อมูลว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเคยมีบทบาทในการสร้างหลุมหลบภัยให้แก่ประชาชนไทยในช่วงสงครามด้วย ดังในหนังสือรายงานประจำปี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด พ.ศ.2500 ให้ข้อมูลว่า

“ในระหว่างสงคราม บริษัทได้คิดทำสินค้าใหม่ขึ้นอย่างหนึ่งซึ่งได้กลายเป็นกิจการอันเจริญคึกคักรวดเร็วจนบริษัทเองแทบไม่ทันรู้ตัวคือการหลุมหลบภัยทางอากาศในราคาย่อมเยาว์ หลุมหลบภัยนี้ ความจริงคือตุ่มคอนกรีตเสริมเหล็กเล็กน้อยซึ่งมีผู้ซื้อไปฝังลงตามลานบ้าน” (บริษัทปูนซิเมนต์ไทย, 2500, 18)

ตุ่มคอนกรีตเสริมเหล็กในช่วงสงครามจึงเป็นสินค้าขายดีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่คนไทยในครั้งสงครามนั้นนิยมประยุกต์ใช้แทนการขุดหลุมหลบภัยสำหรับครัวเรือน ด้วยการฝังตุ่มลงในดินที่ลานหรือสนามหน้าบ้าน “แล้วไม่ช้า ก็ได้กลายเป็นหลุมหลบภัยที่มีสรรพคุณโด่งดัง เพราะมีข่าวแพร่ไปว่าผู้ที่ใช้หลุมหลบภัยแบบนี้จะรอดพ้นจากภัยทางอากาศได้ทุกครั้งอย่างน่าประหลาดและมหัศจรรย์”

ช่วงนั้นมีข่าวเกี่ยวกับตุ่มหลบภัยช่วยชีวิตที่แพร่สะพัดในสังคมไทยยามถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนักว่า “ครั้งหนึ่งในเวลากลางคืน หลุมหลบภัยแบบนี้ได้พาครอบครัวหนึ่งลอยไปตามลำน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ตลิ่งหน้าบ้านของครอบครัวนี้ถูกลูกระเบิดทลายในแม่น้ำ เจ้าตุ่มคอนกรีตนี้ซึ่งเป็นแต่เพียงหลุมหลบภัยได้เปลี่ยนภาวะของมันกลายเป็นยานพาหนะทางน้ำได้เป็นอย่างดีด้วย ทำให้ครอบครัวที่รอดจากภัยแห่งลูกระเบิดมาได้อย่างหวุดหวิด และสดๆ ร้อนๆ นั้นสิ้นความกลัวแล้วกลับมีอารมณ์ขันที่ได้ไปตากอากาศกลางแม่น้ำในแบบอย่างอันประหลาดและไม่น่านึกฝันว่าจะเป็นไปได้เลย” (บริษัทปูนซิเมนต์ไทย, 2500, 21)

ตัวอย่างตุ่มน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กที่ชาวบ้านครั้งนั้นนิยมใช้ฝังดินแทนหลุมหลบภัย

หลุมหลบภัยที่วังปารุสกวัน
ของพระยาพหลฯ

หลุมหลบภัยที่วังปารุสกวันในช่วงนั้นเป็นที่พักของพระยาพหลฯ อดีตนายกฯ คาดว่าน่าจะสร้างในช่วงสงคราม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเล็ก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนหลังคามีปล่องระบายอากาศจำนวน 1 ปล่อง

จากภาพคาดว่าบรรจุได้ราวไม่เกิน 20 คน ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพดี

สภาพภายในหลุมหลบภัยที่วังปารุสกวัน
อาคารหลุมหลบภัยที่วังปารุสกวัน

หลุมหลบภัยของบ้านสหกุลพาณิชย์ กาญจนบุรี

ด้วยจังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่แหล่งยุทธศาสตร์ที่กองทัพญี่ปุ่นตั้งกองบัญชาการทหารและเป็นศูนย์กลางของการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า เป็นที่ชุมนุมของทหารญี่ปุ่น

บ้านสหกุลพาณิชย์ ตั้งที่ถนนปากแพรก อ.เมือง เป็นอาคารเก่าที่สร้างด้วยคอนกรีต สูง 2 ชั้น ที่ทหารญี่ปุ่นเคยขอเช่าเป็นที่พักของนายทหารและติดตั้งปืนกลไว้บนดาดฟ้า

ภายในอาคารยังมีหลุมหลบภัยในสมัยสงครามที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์

บ้านสหกุลพาณิชย์ ที่กาญจนบุรี ในตัวบ้านมีห้องใต้ดินหลบภัย เครดิตภาพ : https://mgronline.com/

หลบหลุมภัยของจอมพล ป.ที่ปทุมธานี

สําหรับหลุมหลบภัยที่ปทุมธานีแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง นั้นสร้างขึ้นในช่วงปลายสงคราม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้ข้อมูลว่า คนเก่าแก่แถวนั้นเล่ากันว่า “นายประสิทธิ์ ปานย้อย อดีตกำนันตำบลบ้านใหม่ พ.ต.ท.จำนง ดำนิล และ ส.อ.เชิด บุญเอื้อ ซึ่งเป็นบุคลที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ได้ให้ข้อมูลว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างบ้านพักไว้ 2 หลัง และหลุมหลบภัย 1 แห่ง โดยขนวัสดุก่อสร้างมาทางน้ำ ใช้กำลังทหารในการก่อสร้าง…”

ตัวอาคารหลบภัยนั้นสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าปากทางเข้า-ออกทางทิศเหนือและใต้ มีแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ตั้งห่างจากทางเข้าออกราว 1 เมตร เพื่อกั้นแรงอัดของระเบิดที่จะเข้าไปในหลุม

ปัจจุบันอาคารหลุมหลบภัยมีสภาพทรุดโทรม ปูนผุกร่อน มีน้ำขังในหลุม แต่สภาพแวดล้อมได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจาก อบต.บ้านใหม่ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ (archaeology.sac.or.th/blog/736)

หลุมหลบภัยของจอมพล ป. ที่ปทุมธานี

หลุมหลบภัยที่โคราช

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลุมหลบภัยในนครราชสีมา ที่บ้านพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) อดีตข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา (2476-2479) สร้างขึ้นสำหรับครอบครัว ด้วยเหตุที่บ้านของเขาตั้งใกล้สถานีรถไฟ

หลุมหลบภัยแห่งนี้ มีขนาดความจุได้ประมาณ 20 คน ลักษณะของหลุมขุดเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2.00 x 2.50 เมตร ลึกประมาณ 2.4 เมตร มีประตูทางเข้าสองฝั่งเยื้องกัน เป็นบันไดกว้างประมาณ 60-70 ซ.ม. ตัวหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงปั้นหยา มีช่องท่อระบายอากาศ 2 ด้าน วัสดุและโครงสร้าง โครงสร้างพื้นด้านล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา 40 ซ.ม. ผนังทุกด้านเป็นผนังดินก่ออิฐฉาบปูน หนา 40 ซ.ม

นี่คือตัวอย่างของหลุมหลบภัยส่วนตัวของประชาชน หน่วยราชการ และของผู้นำซึ่งสร้างขึ้นในช่วงสงครามที่สะท้อนถึงความทุกข์ยากของผู้คนในครั้งนั้น

หลุมโคราช เครดิตภาพ : innnews.co.th