แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน (8)

Thai King Bhumibol Adulyadej (L) and Queen Sirikit (C) stand near Belgium King Baudouin I, on October 1960 in Brussels, during their offcil visit to Belgium. / AFP PHOTO / BELGA

ตอน 1 2 3 4 5 6 7

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น อันได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521, พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2492 อันเป็นเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดติดต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมาในการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2475

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารของคณะ รสช. ได้บังคับใช้ต่อมา และเริ่มมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่โดยปรากฏผลพวงที่เป็นรูปธรรมในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาทันสมัย

เป็นประชาธิปไตยและผ่านกระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านประชามติก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นที่ยอมรับจากสังคมทั่วไป

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ในปี พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537 และมิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร และก็มิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ซึ่งในช่วงเวลานั้นคือ พ.ศ.2537 ประเทศไทยอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ซึ่งก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้

ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไป

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537 เพื่อทรงร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย และเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อจัดตั้งต้นแบบของการบูรณาการและเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แก่ประเทศลาว

การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537 มิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

และการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่เก้า ในขณะที่การเสด็จเยือนต่างประเทศ 31 ครั้งในช่วงระหว่าง พ.ศ.2502-2511 มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้ง

และประเทศต่างๆ ที่เสด็จเยือนนั้น มีสามประเทศที่จัดได้ว่าเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย นั่นคือ ประเทศเวียดนามใต้ (เสด็จเยือนระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502) สหภาพพม่า (ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม 2503) และสหพันธรัฐมลายา (ระหว่างวันที่ 20-27 มิถุนายน 2505)

นอกนั้นเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลประเทศไทยทั้งสิ้น
และการเสด็จเยือนประเทศเพื่อนบ้านทั้งสามประเทศดังกล่าวนั้นเป็นการเสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่ง

เช่น ในการเสด็จเยือนประเทศเวียดนามใต้ เสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังสนามบินตัน ซัน ยึด เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม

ในการเสด็จเยือนสหภาพพม่า เสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังสนามบินมิงกาลาดอน กรุงย่างกุ้ง (http://www.thairath.co.th/content/772737)

ส่วนการเสด็จเยือนสหพันธรัฐมลายา ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าพระองค์ท่านเสด็จอย่างไร แต่คาดว่าใน พ.ศ.2505 น่าจะเสด็จด้วยเครื่องบินพระที่นั่งเช่นกัน

https://www.youtube.com/watch?v=N47Tq1vOcWg

ส่วนการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537 นั้น ทั้งสองพระองค์และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งผ่านทางจังหวัดหนองคายสู่นครเวียงจันทน์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถือเป็นประเทศที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดในสามประเทศเพื่อนบ้านที่เสด็จเยือน และมีเส้นทางทางรถยนต์ที่เชื่อมต่อกันผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่จังหวัดหนองคาย

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ในการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537 นั้น แม้ว่า “พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร” จริงๆ แต่ด้วยระยะทางการคมนาคมที่ใกล้และระยะเวลาในการเสด็จเยือนเพียง 2 วัน ไม่ทำให้พระมหากษัตริย์ “จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้”

จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เพราะข้อความในมาตราที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 และก่อนหน้านั้นกำหนดไว้ว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือ (เน้นโดยผู้เขียน) จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม”

ดังนั้น จากพระราชกรณียกิจครั้งเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2537 โดยไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงทำให้เกิดการตีความมาตราที่เกี่ยวกับเหตุผลในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญของไทยได้ว่า แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร แต่ถ้ายัง “ทรงบริหารพระราชภาระได้” ก็ไม่จำต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และอาจจะถือเป็นกรณีแบบอย่าง (precedent) ในการตีความมาตราที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในโอกาสต่อจากนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือประเพณีการปกครองการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของประเทศที่ปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ผู้เขียนเข้าใจว่า แต่เดิมทีนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร ก็ย่อมอาจกินความได้ว่า “ทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้”

ขณะเดียวกัน แม้พระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร ก็ย่อมมีกรณีที่ “ทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้”

เช่น ในกรณีที่ทรงผนวชหรือทรงพระประชวรหรือยังทรงพระเยาว์ และในกรณีที่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ด้วยกฎมณเฑียรบาลหมวดที่ 6 ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ ได้กำหนดไว้ว่า

“มาตรา 14 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือเมื่อมีพระชนมายุยังไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ไซร้ ท่านว่ายังทรงสําเร็จราชการสิทธิ์ขาดโดยพระองค์เองหาได้ไม่ ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 14 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีพร้อมกันเลือกเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์จึงให้ท่านผู้สําเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์นั้นพ้นจากหน้าที่ มาตรา 16 ท่านผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้สําเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังกล่าวไว้ในมาตรา 15 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ต้องเป็นผู้ที่มีพระชนมายุเกินกว่า 20 พรรษาบริบูรณ์แล้ว และต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในมาตรา 11 และ 12 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้”

โดยมาตรา 11 และ 12 มีเนื้อความดังนี้คือ

“มาตรา 11 เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ถ้าแม้ว่าเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลําดับสืบราชสันตติวงศ์ ลักษณะที่กล่าวนี้คือ (1) มีพระสัญญาวิปลาส (2) ต้องราชทัณฑ์เพราะประพฤติผิดพระราชกําหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ (3) ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก (4) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้ (5) เป็นผู้ที่ได้ถูกถอนออกแล้วจากตําแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะได้เป็นไปในรัชกาลใดๆ (6) เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ มาตรา 12 ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 11 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น”