บทความพิเศษ : ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ เรียนรู้คุก (8) นักโทษคดียาเสพติด

ตอน 1 2 3 4 5 6 7

ในบรรดานักโทษ 300,000 กว่าคน กว่าครึ่งเป็นนักโทษคดียาเสพติด ที่เขาว่ากันว่า “นักโทษล้นคุก” ล้วนเป็นนักโทษคดียาเสพติดทั้งสิ้น

ในกรุงเทพฯ มีคุกสำหรับขังนักโทษคดียาเสพติด ได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดกลาง ส่วนฟื้นฟู … ที่จะมีแต่นักโทษฐานเสพยาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพวกจำหน่าย โดยมีระยะเวลาบำบัด 45 วัน

ส่วนนักโทษหญิงไม่ได้มีสถานที่แยก ต้องอยู่รวมกับคดีอื่นๆ

เนื่องจากการปราบปรามยาเสพติดเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล กฎหมายจึงกำหนดโทษรุนแรง เช่น ยาบ้า แม้จะจับได้แค่ 2-3 พันเม็ด แต่หากมีสารบริสุทธิ์ที่เรียกว่า เมทแอมเฟตามีน หรือเรียกสั้นๆ ว่า เมท อยู่ในครอบครองด้วย โทษไปได้ถึงขั้นตลอดชีวิต

ขณะที่ผมเป็นนักโทษอยู่ ได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ชื่อเต็มว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อยู่ติดกับเรือนจำคลองเปรม

พบนักโทษที่ป่วยมาหาหมอที่โรงพยาบาล หากเป็นอัตราโทษสูงอย่างตลอดชีวิตจะต้องถูกใส่กุญแจมือ

และร้อยทั้งร้อยของนักโทษที่ใส่กุญแจมือล้วนเป็นคดียาเสพติดทั้งสิ้น

 

ผมทำหน้าที่ตรวจบันทึกข้อมูลเบื้องต้น จัดคิว ถามน้ำหนัก ส่วนสูง พอเจอนักโทษใส่กุญแจมือมาผมจะถามด้วยว่า “กี่เม็ด?”

บางคนบอก 30,000 บางคน 100,000 บางคน 400,000 จนถึงเป็นล้านเม็ด บางคนชูมือว่า 5 ไอ้ผมก็นึกว่า 5 เม็ด ที่ไหนได้ ยาไอซ์ 5 กิโลกรัม โดยมากยาที่ทำให้มาติดคุกโทษถึงตลอดชีวิตมักเป็นยาบ้า และยาไอซ์ เฮโรอีนมีน้อยมาก

นอกจากนักโทษคนไทยแล้ว นักโทษต่างชาติเจ้าประจำมี 2 ประเทศ คือ ไนจีเรีย และอิหร่าน ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมสองประเทศนี้ถึงนิยมมาติดคุกเมืองไทยกันเป็นสิบๆ คน

เท่าที่ผมพูดคุยกับนักโทษคดียา คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมือหิ้ว เป็นกลุ่มชาวเขาทางภาคเหนือ หากขนย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ มักจะมาพักยาอยู่ที่อยุธยาก่อน มีคนหนึ่งขนยาบ้าถึง 1,000,000 เม็ด ผมจึงถาม

“ขนมายังไง?”

“เอาขึ้นรถทัวร์มา” เขาตอบ

“ยาบ้าตั้งล้านเม็ดเอาขึ้นรถทัวร์ ใครเขาจะให้ขึ้น?”

เขาจึงชี้ไปยังนักโทษที่นั่งอยู่ติดกัน ใส่กุญแจมือเหมือนกัน แล้วบอกว่า

“คนนี้เป็นเจ้าของรถทัวร์”

 

ส่วนอีกคนเป็นนักโทษหญิง มาหาหมออยู่หลายครั้ง

เธอหน้าตาสวย พูดจาดี บุคลิกดี อายุประมาณ 30 ปี เล่าให้ผมฟังว่า ตอนถูกจับอายุเพียง 21 ปี เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง

เธอควรมีอนาคตที่สดใสหากเรียนจบการศึกษา มีงานดีๆ ในบริษัทหรือรับราชการ อยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง

แต่ทุกอย่างพังทลายลงเพราะเธอมีแฟนเป็นมือขนยาบ้า

คืนนั้นเธอนั่งรถไปกับแฟนหนุ่มวัยไล่เลี่ยกันโดยมียาบ้าซุกซ่อนอยู่ภายในรถจำนวน 20 มัด (มัดละ 2,000 เม็ด) เท่ากับมี 40,000 เม็ด

โดยแฟนหนุ่มได้รับค่าจ้างเพียง 50,000 บาท ปรากฏว่าเจอด่าน ถูกตำรวจตรวจค้นเจอยาบ้าที่ซุกซ่อนอยู่

ความจริงอันเจ็บปวดอย่างหนึ่งของยาเสพติดคือ เมื่อเข้าไปอยู่ในวงจรนี้แล้วยากที่จะแยกแยะว่ารู้หรือไม่รู้ เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง

จวบจนวันนี้เธอยังไม่เคยกลับไปสู่โลกภายนอกอีกเลยเป็นเวลาเกือบ 10 ปี และเธอยังมีโทษที่รอจำอีก 32 ปี

คิดดูแล้วกัน หากเธออยู่จนครบถึงวันที่ได้ออกไปสู่โลกภายนอก เธอจะมีอายุ 62 ปี
ชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ปลายทางอยู่ที่คำตัดสินของศาล หากศาลยกก็ได้กลับบ้าน แต่ถ้าลง อัตราโทษอาจถึงตลอดชีวิต

นั่นหมายความว่า จะต้องติดคุกอย่างน้อย 20 ปี เพราะการพักโทษสำหรับคดียาเป็นเรื่องลำบากกว่าคดีอื่นๆ ทั่วไป

โดยเฉพาะถ้ามีรายชื่ออยู่ที่ ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ว่าเป็นผู้ค้ารายสำคัญหรือมียาในครอบครองในปริมาณมากๆ พวกนี้แทบไม่มีโอกาสพักโทษหรืออภัยโทษ

นักโทษคดีอื่นๆ หากได้รับการอภัยโทษในวโรกาสสำคัญต่างๆ โทษจะลดลงมาจากไม่มีตัวเลข (ตลอดชีวิต) เป็น 50 ปี ส่วนพวกมีตัวเลขจะได้ลดโทษ 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 แล้วแต่ชั้นนักโทษ

แต่หากเป็นคดียาเสพติดแม้ว่าจะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ก็ได้ลดแค่ 1 ใน 9 (ติด 9 ปี ลดให้ 1 ปี) โอกาสออกมาสัมผัสโลกภายนอกจึงต้องรอตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หากไม่ตายในคุกเสียก่อน

ร้อยละ 90 ของคนที่โดนจับคดียาเสพติดเป็นพวกมือขน กองทัพมด ไม่ใช่นายทุนรายใหญ่ซึ่งมีโอกาสติดน้อยเนื่องจากไม่เอายาไว้ที่ตัวโดยเด็ดขาด

พวกตัวเล็กรับจ้างขนก็อยากได้เงินก้อน

ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ระหว่างเงินหมื่น เงินแสน หรือแม้กระทั่งเงินล้าน แลกกับการต้องสูญเสียอิสรภาพถึง 20 ปี

บางคนติดตั้งแต่หนุ่มสาวยันแก่ บางคู่ติดทั้งผัวทั้งเมียทิ้งลูกไว้ข้างนอก

วัยรุ่นบางคนมาโตในคุก ยิ่งไปกว่านั้นคือ ถึงได้พ้นโทษออกไปก็ไม่มีใครรออยู่ที่โลกภายนอก

 

นักโทษคนหนึ่งติดคุกมานานเล่าให้ผมฟังว่า ปีแรกมีญาติมาเยี่ยมเป็นประจำ

แต่พอขึ้นปีที่ 2 ญาติค่อยๆ หายไป

พอปีที่ 3 ส่งมาแค่จดหมาย จนไม่ทันพ้นปีที่ 3 เมียเลี้ยวเสียแล้ว (ภาษาคุกหมายถึง เมียทิ้ง) จะไปโทษคนข้างนอกก็ไม่ได้ ใครเขาจะมาเฝ้ารอส่งเสียคนในคุกถึง 20 ปี

ยิ่งในคุกมีแต่เรื่องต้องใช้เงิน คนข้างนอกจึงค่อยๆ หายไป จนหลังปีที่ 10 จะไม่เหลือใครอยู่เลย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงความทรงจำ นักโทษที่ติดคุก 10 ปีขึ้นไปจึงมักถูกลืมจากโลกภายนอกว่าเคยมีตัวตน

หลายครั้งที่สังคมภายนอกได้ยินถึงเรื่องยาเสพติดในเรือนจำที่เรียกว่า “เครือข่ายยาเสพติดในคุก” มีการซื้อขายกันผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งสั่งการจากคนในคุก ยากต่อการจับกุมเพราะตัวอยู่ในคุก

ที่จริงทุกเรือนจำมีความเข้มงวดเรื่องของโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ยังมีเล็ดลอดเข้ามาได้โดยตลอด

เรือนจำใหญ่ๆ ตรวจเจอเป็นร้อยเครื่องก็เคยมีมาแล้ว
เมื่อหมดโอกาสใช้ชีวิตภายนอกคุก นักโทษคดียาเสพติดจึงใช้ชีวิตในคุกแบบมองไม่เห็นปลายอุโมงค์ หากเป็นรายใหญ่ การใช้เงินในเรือนจำจึงฟู่ฟ่า ยอมจ่ายกันได้ถึงสามแสน ห้าแสน เพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือ

แต่หากเป็นรายย่อย ต้องอยู่อย่างอนาถา เพราะคุกสำหรับคดียาในกรุงเทพฯ นั้นมันแออัด ถึงขนาดต้องผูกเปลนอน ส่วนต่างจังหวัดและนักโทษหญิงนั้นไม่ได้แบ่งแยกคดียากับคดีทั่วไป แต่สภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันเสียเท่าไหร่

จะติดคดีอะไรก็ติดเถอะครับ แต่อย่าติดคดียาเสพติดโดยเด็ดขาด ในวงจรอุบาทว์ของยาเสพติดมีทั้งหักหลังกันเอง เป็นสายแจ้งตำรวจ ลวงไปให้ถูกจับ พวกที่คิดว่าจะได้เงินได้ทองไปตั้งตัว ท้ายสุดกลับต้องมาติดคุก พักโทษก็ไม่ได้ อภัยก็ได้น้อย แถมญาติพี่น้องต้องเดือดร้อนเพราะถูกยึดทรัพย์อีกด้วย

ทุกครั้งที่ผมมองสายตาของนักโทษคดียาเสพติด ทั้งโทษตลอดชีวิตไปจนถึงประหารชีวิต แววตาพวกเขาบ่งบอก หากมีโอกาสย้อนเวลาอีกสักครั้ง และรู้ว่าจุดจบในคุกมันคือนรกบนดินอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ คงกลับตัวกลับใจไม่ไปยุ่งเกี่ยว แม้วันนี้จะมีเงินน้อยหน่อย แต่อย่างน้อยยังมีอิสรภาพ

ถึงวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันสายไปเสียแล้ว