สยามรัฐ ‘ใหม่’ ในมือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มบท ‘พลิกโฉม’

บทความพิเศษ

 

สยามรัฐ ‘ใหม่’

ในมือ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เริ่มบท ‘พลิกโฉม’

 

การถูกยื่น “ซองขาว” ไล่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ออกจากหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เป็นคำถามที่คำตอบกระจัดกระจายเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะมองจาก “สยามรัฐ” เอง ไม่ว่าจะมองจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ เอง

การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดก่อนอื่นต้องพิจารณาจากคำบอกเล่าของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เป็นคำบอกเล่าผ่าน “คำนำของผู้เขียน” ในหนังสือ เมด อิน U.S.A.

“ผมอยู่อเมริกาประมาณหนึ่งปีเศษๆ (ไม่กี่วัน) และเมื่อกลับจากอเมริกาแล้วเข้าประจำการที่สยามรัฐตามเดิม ไม่ทันถึงเดือนก็ถูกไล่ออกในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ”

ต่อเหตุผลอันเป็น “ข้อกล่าวหา” สุจิตต์ วงษ์เทศ รู้สึกอย่างไร

“ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อหาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ก็มิได้ผิดความจริงมากนัก เพราะทัศนะในการมองปัญหาไม่ตรงกัน และไม่เคยมีการสอบถามข้อเท็จจริงหรือหาเหตุผลกันมาก่อนเลย ฉะนั้น การจะตั้งข้อหาอะไรก็ย่อมตั้งได้ทั้งสิ้น”

นี่คือท่าทีที่ยอมรับต่อความเป็นจริงซึ่งเผชิญประสบ

 

คึกฤทธิ์ ปราโมช

ลงนาม ไล่ออก

มีความจำเป็นต้องนำเอาข้อกล่าวหาที่ว่า “บ่อนทำลายความมั่นคงของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ”

และจะมีความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นหากอ่าน “คำนำผู้เขียน” ต่อสิ่งที่ปรากฏ

“ผมคารวะนักปราชญ์อย่าง อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เสมอ จนกระทั่งเวลานี้แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานหนังสือพิมพ์ของท่านก็ตาม ทั้งนี้ เพราะหลักการและตัวบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน”

ต้องจำไว้ด้วยว่า การไล่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ออกจากหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รายวัน เป็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ลงนามในฐานะผู้อำนวยการ

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พลิกโฉม สยามรัฐ

ถามว่าเมื่อเข้าประจำทำงานอีกครั้งในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” บทบาทของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นอย่างไร

ตอบได้เลยว่าเป็นเหมือนเดิม

คำว่าเหมือนเดิมในที่นี้ก็คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำรงอยู่ในสถานะเป็นเสมือนกับ “บรรณาธิการบริหาร” รับผิดชอบ “เนื้อหา” ของหนังสือพิมพ์

เป็นการทำงานร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน อย่างเรียงเคียงไหล่

ต้องยอมรับว่าเมื่อเข้ารับผิดชอบอีกครั้งงานแรกของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คือการปรับโฉมของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ครั้งใหญ่

เป็นการปรับอย่างชนิดเปลี่ยน “โฉม” ไปอย่างสิ้นเชิง

เปลี่ยนจากยุค สละ ลิขิตกุล เปลี่ยนจากยุค รำพรรณ พุกกะเจียม เปลี่ยนจากยุค คึกฤทธิ์ ปราโมช เปลี่ยนจากยุค ประจวบ ทองอุไร

และเปลี่ยนจากโฉมเดิมในยุคแรกของ นพพร บุณยฤทธิ์

 

สร้างลักษณ์ สยามรัฐ

ลักษณ์ใหม่ หนังสือพิมพ์

อย่างแรกสุดก็คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ทำให้แต่ละหน้าของหนังสือพิมพ์จบลงในตัวของตัวเอง

จะมีหน้าต่อก็เฉพาะ “ข่าว” จากหน้า 1 เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ได้ขยายหน้าเศรษฐกิจจากที่เคยซุกไว้เล็กๆ หรืออย่างเก่งก็มีเพียง 1 หน้าเพิ่มเป็น 2 หน้า

ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มใหม่อย่างสิ้นเชิงในวงการหนังสือพิมพ์

ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์จากหน้า 1 ถึงหน้า 16 อาจแบ่งเป็นเรื่องๆ ไป แต่เอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือมีหน้าต่อ

ไม่จบลงในหน้าของตัวเอง

แต่เมื่อมีการบริหารจัดการใหม่โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่ว่าจะเป็นหน้าข่าว ไม่ว่าจะเป็นหน้าบทความ อ่านแล้วจบสิ้นไม่จำเป็นต้องพลิกให้เป็นการยุ่งยาก

นี่มิได้พลิกเพียงโฉมของ “สยามรัฐ” หากพลิกโฉมของ “หนังสือพิมพ์”

 

ผลสะเทือน ความคิด

จากอิทะกะ คอร์แนล

ปัจจัยอะไรทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ปรับปฏิรูปแต่ละหน้าของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” อย่างชนิดที่จำทางกลับบ้านเดิมไม่ได้เช่นนี้

คำตอบ 1 มาจากการเรียนรู้ผ่าน เมด อิน U.S.A.

บรรยากาศความตื่นตัวทางการเมืองโดยเฉพาะเรื่องของสงครามเวียดนาม เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ อยู่กับหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเกาะติด

ย่อมสัมผัสได้ในความน่าสนใจของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ทำโดยนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ทำโดยมืออาชีพ

เมื่อเกิดความประทับใจก็ย่อมเก็บเอาผลสะเทือนมาลงมือปฏิบัติ

คำตอบ 1 โอกาสและเงื่อนไขที่บรรณาธิการ นพพร บุณยฤทธิ์ มอบและเปิดทางให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่มีการเข้าไปแทรกแซง ไม่มีการเข้าไปสกัดขัดวางไม่ว่าทางตรง ไม่ว่าทางอ้อม

ระยะเวลา 1 เดือนของการทำงานจึงเป็นการทุ่มเทเพื่อ “ปฏิรูป”

 

อิทธิพล สากล

อิทธิพล ในประเทศ

ที่แหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เก็บรับเอาผลสะเทือนในลักษณะก้าวหน้าเข้ามาปรับประสานกับงานหนังสือพิมพ์

ไม่เพียงในทาง “สากล” หากแม้กระทั่งที่คึกคักอย่างยิ่งใน “สังคมไทย”

อาจกล่าวได้ว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นนักศึกษาที่เจาะทะลวงเข้าไปไม่เพียงแต่ในหน้าบทความของ “สยามรัฐ” รายวันผ่านนาม ทองเบิ้ม บ้านด่าน ตั้งแต่แรกเข้าเรียนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

หากแต่ยังเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีผลงานตีคู่มากับ ณรงค์ จันทร์เรือง “สุวรรณี” โดยความเห็นชอบของ ประมูล อุณหธูป

ยิ่งกว่านั้น ยังนำเสนอกวีนิพนธ์ใน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”

ชื่อของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน จึงวางเรียงเคียงกับนักเขียนอาชีพอย่าง ณรงค์ จันทร์เรือง นักเขียนดาวรุ่งอย่าง “สุวรรณี” รวมถึงคนรุ่นใหม่อย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี วิทยากร เชียงกูล

ยิ่งเมื่อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ขึ้นเป็นบรรณาธิการ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” วิทยากร เชียงกูล เข้าขับเคลื่อนนิตยสาร “ชาวบ้าน” และรวมถึง “ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน” และ “วิทยาสารปริทัศน์”

การถ่ายซึมและส่องทางกันระหว่างแวดวงปัญญาชนกับคนทำหนังสือพิมพ์อาชีพอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงใกล้เคียงกันเป็นอย่างยิ่ง

การถ่ายซึมนี้ทำให้ “สยามรัฐ” มีเนื้อหา “ใหม่” อย่างชนิดไม่เคยเห็นมาก่อน

 

ประชุม กำหนดข่าว

บทบรรณาธิการ

ลักษณะใหม่ของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รายวันในยุคที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน บุกเบิกนำร่อง

ดำเนินไปทั้งในทาง “รูปแบบ” และในทาง “เนื้อหา”

ในทางรูปแบบก็ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ปรับโฉมของหนังสือพิมพ์รายวันให้ต่างไปจากยุคเดิม

ไม่ว่ายุค “พิมพ์ไทย” ไม่ว่ายุค “สารเสรี” ไม่ว่า “สยามรัฐ” ยุคดึกดำบรรพ์

ในทางเนื้อหาได้เก็บรับเอาเนื้อหาใหม่ ความคิดใหม่อันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัย และในบรรดาหนังสือรายสะดวกของนักศึกษาและปัญหาในแต่ละสถาบันเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

กล่าวสำหรับในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ก็เริ่มมีการประชุมข่าวประจำวันเพื่อพิจารณาทิศทางของข่าว

และที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือการกำหนด “บทบรรณาธิการ”

นี่คือการปฏิวัติกระบวนการทำงานในลักษณะประจำวันของหนังสือพิมพ์อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าโดยสิ้นเชิง

ทำให้เนื้อหา “บทบรรณาธิการ” เป็นตัวแทนของ “หนังสือพิมพ์” อย่างแท้จริง

รูปแบบของหนังสือพิมพ์ กระบวนการทำงานอย่างเป็นประจำวันอย่างที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ริเริ่มและผลักดันผ่าน “สยามรัฐ” เมื่อแรกที่เก็บรับประสบการณ์ผ่าน เมด อิน U.S.A. อาจเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติยิ่งในยุคนี้

แต่เมื่อปี 2515 เป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่ง หวาดเสียวอย่างยิ่งเมื่อมองจากผู้อาวุโสซึ่งมากด้วยความจัดเจน