24 ปีผ่านไป มาดูว่าใครเป็นใครใน ส.ว.กทม. ชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 หรือที่ได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” นั้นได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2543 เพราะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

ความน่าสนใจของ ส.ว.ชุดนี้ก็คือเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% และมีผู้สมัครที่มีชื่อเสียงเด่นดังจากแวดวงต่างๆ ในสังคมหลั่งไหลมาลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนมาก จึงทำให้ได้รับการจับตามองจากประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างสูง

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่สนาม กทม. ซึ่งอัดแน่นไปด้วยผู้สมัครซึ่งมีประวัติโดดเด่นจากวงการอันหลากหลาย ไม่ว่าจะนักการเมือง นักธุรกิจ ศิลปิน สื่อมวลชน ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักบริหาร อดีตข้าราชการระดับสูง NGO ผู้ประกอบการ นักพัฒนา แพทย์ นักกฎหมาย และวิชาชีพอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

โดยมีจำนวนเก้าอี้ ส.ว.ของ กทม.ทั้งหมดเพียง 18 ที่นั่ง แต่มีผู้สมัครหลายร้อยคน

ทำให้การชิงชัยในสนามนี้ดุเด็ดเผ็ดมันเอามากๆ

ผลปรากฏว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งทั้ง 18 คนเรียงตามลำดับ มีดังนี้

 

1.นายปราโมทย์ ไม้กลัด 421,515 คะแนน

หากเอ่ยชื่อ ปราโมทย์ ไม้กลัด ในวันนี้ เด็กรุ่นหลังคงไม่ค่อยคุ้นชื่อเท่าไหร่นัก แต่หากย้อนหลังไปเมื่อ 24 ปีก่อน ปราโมทย์คือข้าราชการคนดังซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เขาเป็นศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน จากรั้วนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดล สาขาวิศวกรรมชลประทาน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เมืองเดวิส ประเทศสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งเป็นอดีตอธิบดีกรมชลประทานผู้โด่งดังและคุ้นตาประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำโครงการในพระราชดำริสนองเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 9 มาช้านาน

ทำให้ปรากฏอยู่ในภาพข่าวในพระราชสำนัก ตลอดสื่อต่างๆ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาชลประทานอยู่บ่อยครั้ง

เช่น รับผิดชอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 หรือประมาณ 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนั้นนั่นเอง

ส่งผลให้กระแสความนิยมในหมู่ประชาชนที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขยายผลมาสู่ตัวคนทำงาน ข้าราชบริพารต่างๆ รวมทั้งปราโมทย์ ไม้กลัด ด้วย

นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากกระแสปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี พ.ศ.2534 ประกอบกับกระแสความนิยมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ภายหลังการคลี่คลายความขัดแย้งนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้บุคลากรต่างๆ ที่ทำงานใกล้ชิดกับพระองค์ได้รับอานิสงส์

ภาพลักษณ์ของปราโมทย์ในฐานะที่เป็นคนทำงานถวายใต้เบื้องพระยุคลบาทนี้เอง ได้ทำให้ “ม้านอกสายตา” ที่ดูสมถะ มือสะอาด และจงรักภักดีผู้นี้ ทะยานขึ้นสู่การเป็น ส.ว. ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งคู่แข่งคนอื่นๆ ไปแบบไม่เห็นฝุ่น เหนือกว่าดำรง พุฒตาล ที่ได้อันดับ 2 อยู่ 39,521 คะแนน และทิ้งห่างอันดับ 3 อย่างเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ถึง 224,618 คะแนน!

ปัจจุบัน ปราโมทย์ ไม้กลัด ในวัย 84 ปี ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็หายไปจากหน้าข่าวการเมืองมาหลายปีแล้ว

 

2. นายดำรง พุฒตาล 387,994 คะแนน

ในขณะที่ผู้คว้าอันดับ 1 คือข้าราชการใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ อันดับที่ 2 กลับมีเส้นทางที่แตกต่างออกไปคนละโลก

เขาเป็นชาวมุสลิมจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ดูเป็นมิตร น่าเชื่อถือ ดูอ่อนโยน และเข้าถึงง่าย รวมทั้งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านสื่อ “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” สิ่งพิมพ์ที่ครองใจมหาชนมาอย่างยาวนานทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและต่างแดน

รวมทั้งรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่างเช่น “เจาะใจ” ในฐานะพิธีกรคู่กับดู๋ สัญญา คุณากร รวมทั้งรายการอื่นๆ อย่างเช่น รายการ “สู้แล้วรวย” เป็นต้น

ดำรงมีน้องชายที่โด่งดังไม่แพ้กันชื่อว่า มาโนช พุฒตาล แต่ต่างกันตรงที่มาโนชเป็นที่ยอมรับอย่างมากในแวดวงดนตรี ขณะที่ดำรงนั้นได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนโดยทั่วไปในวงกว้าง ไม่ได้เน้นที่กลุ่มเฉพาะเจาะจงแบบมาโนช

ปัจจุบันนี้ดำรงไม่ได้มีอิทธิพลและคะแนนเสียงสูงเท่ากับในยุคสมัยนั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยจากอะนาล็อกสู่ดิจิทัล และจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อออนไลน์

ดำรงในวันนี้ที่มีอายุ 80 ปี จึงใช้ชีวิตอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเองที่อยุธยาเป็นหลัก และแทบไม่มีข่าวคราวเคลื่อนไหวปรากฏให้เห็นในแวดวงการเมืองมากนัก

 

3. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 196,897 คะแนน

อันดับที่ 3 คือ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างชื่อจากการเป็นพิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดังหลายรายการ เช่น มองต่างมุม, ฃอคิดด้วยฅน, เวทีชาวบ้าน, เหรียญสองด้าน และตามหาแก่นธรรม ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงในบทบาทของสื่อมวลชนและนักวิชาการทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

ภายหลังจากได้เป็น ส.ว.ในปี พ.ศ.2543 เจิมศักดิ์โด่งดังอีกครั้งจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือชุด “รู้ทันทักษิณ” ที่ออกมาทวนกระแสความนิยมในตัวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในสมัยนั้น ส่งผลให้หนังสือชุดนี้เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากและสร้างยอดขายถล่มทลาย ขึ้นหิ้งเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ไปในปี พ.ศ.2547 ก่อนที่จะเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลทักษิณ กระทั่งนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน เจิมศักดิ์อายุ 73 ปี และยังคงกระตือรือร้นกับการมีบทบาททางการเมืองและสังคมในที่สาธารณะอยู่เสมอ ทำให้ในการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ที่ใกล้จะมาถึงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 นี้ เจิมศักดิ์ยังคงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ในการขอความเห็นและขอสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ อยู่แทบไม่เว้นแต่ละวัน

ต่างกับผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. 2 อันดับแรกอย่างปราโมทย์ ไม้กลัด และดำรง พุฒตาล ที่ต่างก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบเงียบในพื้นที่ของตัวเอง

 

4. นายโสภณ สุภาพงษ์ 162,993 คะแนน

คนถัดมาคือ โสภณ สุภาพงษ์ นักธุรกิจและนักพัฒนาที่มีชื่อเสียงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนได้รับการกล่าวถึงว่ามีส่วนช่วยพลิกฟื้นบริษัทบางจากปิโตรเลียมจากภาวะขาดทุน

ที่สำคัญคือเขาได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขางานบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ.2541 หรือไม่ถึงสองปีก่อนการเลือกเลือกตั้ง ส.ว.ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2543

ด้วยผลงานต่างๆ ที่กล่าวมา ซึ่งกำลังอยู่ในจังหวะเวลาที่ยังสดใหม่ ทำให้ผู้คนยังคงจดจำโสภณในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับการยอมรับ และมีต้นทุนทางสังคมสูงลิ่ว ณ ห้วงเวลานั้น

พื้นเพเดิมของโสภณเป็นคนราชบุรี จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีสายสัมพันธ์ที่แนบชิดกับสำนักสันติอโศกของสมณะโพธิรักษ์ที่ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว รวมทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม และผู้นำการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ปัจจุบันโสภณอายุ 78 ปี และเริ่มห่างหายจากแวดวงการเมืองออกไปเรื่อยๆ หลังจากที่กระโจนเข้าสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ ชินวัตร อย่างต่อเนื่องอยู่นับสิบปี

ก็ดูเหมือนว่าโสภณในวัยเกษียณจะหันเหความสนใจจากเรื่องการบ้านการเมืองไปสู่วิถีของการรักษาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเสียมากกว่า

(อ่านต่อตอนต่อไป)