บทความพิเศษ : ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ เรียนรู้คุก (5) ทำความรู้จัก “บ้านหลังใหม่”

ตอน 1 2 3 4
ไม่มีใครอยากติดคุก และคงไม่มีใครนึกฝันว่าตัวเองจะต้องไปนอนอยู่ในคุก

แต่ของแบบนี้มันไม่แน่ไม่นอนหรอกคุณ

ขนาดคนใหญ่คนโตระดับนายพล นายแพทย์ ส.ส. ไปยันรัฐมนตรี ต่างพาเหรดกอดคอกันเข้าคุกเป็นว่าเล่น

ผมจึงอยากแนะนำให้คุณเรียนรู้เรื่องราวจากคุกไว้เสียหน่อย

วันหนึ่งวันใดพลาดพลั้งจำต้องก้าวเข้าไปอยู่ในซังเตจะได้ไม่ขวัญผวา

เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคุกตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี อินเตอร์เน็ต แต่จะมีใครสนใจหนักหนา นอกเสียจากว่าคุณมีคดีความ และถูกศาลตัดสินให้ “จำคุก”

คุณคงอยากรู้จัก “บ้านหลังใหม่” ที่จะต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ให้มากขึ้น

คุกถูกแบ่งออกไปตามพื้นที่ที่เกิดคดีความ และระยะเวลาของการรับโทษ

หากคดีความเกิดขึ้นใน กทม. ศาลตัดสินเป็นที่สิ้นสุดให้จำคุกไม่เกิน 15 ปี คุณจะถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

แต่ถ้าไปเกม (ภาษาคุกหมายถึง ถูกจับกุมได้) ที่ย่านฝั่งธนฯ ก็ต้องไปอยู่เรือนจำพิเศษธนบุรี

หรือถ้าไปเกมแถวมีนบุรี ก็ต้องไปอยู่เรือนจำพิเศษมีนบุรี

นอกจากผู้ที่ถูกศาลตัดสินให้รับโทษจำคุกแล้ว บรรดาผู้ต้องหาที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก็จะถูกส่งมา “ฝากขัง” ที่เรือนจำทั้งสามแห่งนี้เช่นกัน

ในที่นี้จะขอกล่าวถึง “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังที่ผมคุ้นเคยที่สุด

จริงๆ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องเรียกเรือนจำพิเศษ

เพราะสำหรับผม มันไม่เห็นมีอะไรพิเศษตรงไหน

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถูกแบ่งออกเป็น 8 แดน

คำว่า “แดน” หมายถึง เขตพื้นที่ ผู้ถูกคุมขังทุกคนจะต้องมาที่ “แดนแรกรับ” ซึ่งคือ แดน 1

ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นใครตอนอยู่ข้างนอก มีเกียรติยศ มีคำนำหน้าชื่อว่า นาย ด๊อกเตอร์ พลเอก ทั้งหลายเหล่านี้กรุณากองทิ้งไว้หน้าประตู

เพราะเมื่อก้าวพ้นประตูคุกเข้ามาแล้ว จะเหลือเพียงคำนำหน้าชื่อว่า น.ข. (ขังชาย จากคดีที่ยังไม่สิ้นสุด)

หรือ น.ช. (นักโทษเด็ดขาดชาย) หรือ น.ญ. (นักโทษเด็ดขาดหญิง)

ขั้นตอนแรกเมื่อมาถึงคือ ตรวจสุขภาพ นักโทษทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้พกอะไรเข้าไป ต้องเข้าไปแบบตัวเปล่า

คำว่าตัวเปล่าในที่นี้หมายถึงตัวเปล่าจริงๆ

เพราะแม้แต่เสื้อผ้าทุกชิ้นก็ต้องเปลือยล่อนจ้อนเพื่อแหกก้นให้ผู้คุมตรวจ

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนตรวจสุขภาพแล้ว ขอต้อนรับเข้าสู่โลกใหม่ “โลกของคุก” ที่คุณจำเป็นจะต้องเรียนรู้ ไม่ว่าอยากจะเข้ามาอยู่หรือไม่ก็ตาม

 

แดน 1 มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ครึ่ง มีนักโทษอยู่ประมาณ 500-700 คน

ยิ่งบางฤดูตำรวจฟิตจัด จับพม่า เขมร ที่หลบหนีเข้าเมืองมาอีก ตัวเลขจะวิ่งไปถึง 1,000 คน

ลองหลับตานึกดูแล้วกัน ว่าพื้นที่แค่ 2 ไร่ครึ่ง จับคนเข้าไปอัดกัน 1,000 คน สภาพจะเป็นอย่างไร

ภายในแดนจะมีโรงเลี้ยง เรือนนอน บ่ออาบน้ำรวม และบล็อก (โถส้วมที่มีผนังกั้นซ้ายขวา ขนาด 50 x 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 1 เมตร)

เวลานั่งยองๆ ถ่ายทุกข์คุณสามารถหันไปคุยกับเพื่อนนักโทษได้ตามอัธยาศัย เพราะมันมองเห็นกันทุกอณูตั้งแต่หน้าอกขึ้นไป

ส่วนเรือนนอนเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องนอน 13 ห้อง

สำหรับคืนแรกที่แดน 1 จะได้นอนในห้องหมายเลข 13 พร้อมกับผ้าห่ม 1 ผืน

กลิ่นเหม็นสาบเหมือนผ้าเช็ดเท้าไม่ได้ซักมา 6 เดือน

ห้องนอนมีขนาด 4 x 10 เมตร ภายในมีบล็อก 1 บล็อก นักโทษนอนอัดกันระเกะระกะอยู่บนพื้น 40-50 คนโดยไม่มีพื้นที่ว่างให้เดิน

หากจะเดินไปถ่ายทุกข์ หรือแอบสูบบุหรี่ในบล็อก จะต้องเดินแหวกบรรดานักโทษที่หลับอยู่เพื่อหาพื้นที่เหยียบเข้าไป

จะไปนานก็ไม่ได้ เพราะกลับมาอาจจะไม่เจอที่นอนของตัวเองแล้ว

แต่สำหรับพวกขาใหญ่ VIP (หมายถึง นักโทษที่มีชื่อเสียง มีอำนาจเงิน หรือรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ มีการฝากฝังให้ดูแลเป็นพิเศษ) จะได้อยู่ห้องหมายเลข 11 ซึ่งอยู่ชั้นล่าง อากาศไม่ร้อน มีฝักบัว ชักโครก สะดวกสบายกว่าห้องอื่นๆ

และที่สำคัญอยู่กันแค่สิบกว่าคน

คิดดูแล้วกัน แม้แต่ในคุกยังมีการแบ่งชนชั้น

 

ส่วนผมนั้น เมื่อแรกเริ่มเข้ามา เขาสอยเอาผมไปไว้ที่ห้อง 5 ชั้น 2 (บอกว่า ผมเป็นชูวิทย์ I”m No.5 เลยจับไปอยู่ห้อง 5)

แต่ความเป็นจริงแล้วเขาไม่ต้องการให้ผมเห็นหรือรับรู้อะไรที่ไม่ควรเห็น เพราะเมื่อปี 2546 ศาลไม่ให้ผมประกันตัว ต้องมาติดอยู่ที่นี่ 1 เดือน พอออกมาได้ก็แฉเรื่องความสะดวกสบายที่ผมจะต้องจ่าย แม้แต่ข้าวผัดจานละ 5,000 บาทก็เคยจ่ายมาแล้ว

เวลาผ่านไป 13 ปี ไวเหมือนโกหก จากปี 2546-2559 ผมกลับมาติดคุกคดีเดิม โทษ 2 ปี ไม่รอลงอาญา บรรดาผู้คุมยังคงอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาไม่ได้หายไปไหน

06.30 น. ของเช้าวันรุ่งขึ้น ทุกคนแย่งกันลงจากเรือนนอนเพื่อไปอาบน้ำ เข้าส้วม กินอาหารเช้า ให้ทันเวลา 08.00 น. เข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ให้เจ้ากรรมนายเวร

แล้วแยกย้ายกันเข้ากองงาน

 

กองงาน

ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเช้าที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นแสงแดดแผดเผาใกล้เที่ยง เสียงผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตะโกนแทรกเสียงเจี๊ยวจ๊าวของนักโทษนับร้อย “เข้ากองงานๆ” เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับสูงเข้ามาตรวจภายในแดน เพื่อให้บรรดานักโทษที่เอ้อระเหยอยู่ภายนอกเข้าไปอยู่ในกองงานที่ตัวเองสังกัด

กองงาน หมายถึง งานที่นักโทษต้องทำระหว่างถูกคุมขัง

แต่ละแดนจะมีงานแตกต่างกันไป เช่น เย็บรองเท้า พับถุงกระดาษ พับแก้วกระดาษ พับกงเต็ก

ที่กล่าวมานี้สำหรับนักโทษธรรมดาๆ ทั่วไป

แต่หากเป็นนักโทษ VIP งานก็จะสะดวกสบายอยู่ในห้องสมุด หน้าแดน ร้านตัดผม

ซึ่งแน่นอนว่า “มาแต่ชื่อ” ไม่ต้องทำงานจริง โผล่มาเฉพาะตอนเช็กชื่อเท่านั้น

อย่างว่าล่ะครับ สังคมเรานี้ยังมีเรื่องของชนชั้นฝังรากลึกไม่เว้นแม้แต่นักโทษ พวกขาเล็กไร้เงินทองไร้บารมีก็ต้องไปสังกัดกองงานที่ต้องการแรงงานจริง

เช่น…

นายวัน เป็นคนลาวมาจากสุวรรณเขต รูปร่างสันทัด ต้องคดีปล้นทรัพย์มีโทษ 12 ปี ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีคนส่งเสีย ถูกส่งไปสังกัดกองงานเย็บรองเท้า ต้องนั่งเย็บให้ได้อย่างต่ำวันละ 15 คู่

หลังจากชำนาญแล้วก็ถูกเพิ่มเป็นยอดเต็มคือ 20-30 คู่ต่อวัน หลังขดหลังแข็งกันอยู่อย่างนั้นเพราะไม่มีเงินไปตัดยอด

ส่วนคนไหนที่มีญาติ มีเงิน สามารถจ่ายเงินเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานหนักๆ ในอัตราค่างวด 10,000 บาท

เมื่อชำระเรียบร้อยจะได้ไปสังกัดกองงานสบายๆ อย่าง หน้าแดน (งานธุรการ) หรือโยธาเรือนนอน (นั่งๆ นอนๆ)

หรือแฝงชื่ออยู่ในกองงานตัดผม ห้องสมุด โรงเลี้ยง ซึ่งไม่ต้องช่วยงานอะไร

แต่หากใครไม่มีเงินก้อนก็ผ่อนจ่ายแบบชั่วครั้งชั่วคราวเป็นรายวัน

หน่วยเงินยอดนิยมในคุกคือ “บุหรี่” จ่ายบุหรี่ 1 ซอง สบายไป 1 วัน

คนใหม่เข้ามาจึงต้องเรียนรู้ไว้ พวกไม่มีเส้น ไม่ใช่เด็กฝาก ต้องทำงานหนัก เพราะเสมียนกองงาน (นักโทษที่เก๋าๆ หรือผ่านคุกมาหลายรอบ) จะรู้ช่องทางในการจ่ายงานให้ได้ผลประโยชน์

โดยที่นาย (ผู้คุม) ไม่รู้เรื่อง

 

กองงานทั่วไปแบ่งออกเป็นสองประเภท

ประเภทแรกเรียกว่า แรงงานรับจ้าง ซึ่งจะมีผู้ว่าจ้างนอกเรือนจำมาจ้างให้ทำ เช่น เย็บรองเท้า พับถุง นักโทษจะได้รับเงินปันผลเป็นค่าตอบแทนที่แสนต่ำต้อยเดือนละประมาณ 30-40 บาท ซึ่งไม่รู้จะเอาไปทำไม

ส่วนประเภทที่สองเรียกว่า งานฝึกวิชาชีพ เช่น ช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างจักสาน งานเชื่อม งานพวกนี้เรามักเห็นในงานแสดงของกรมราชทัณฑ์ เงินที่ขายได้จะถูกชักเปอร์เซ็นต์เข้ากรม ส่วนที่ตกถึงนักโทษเป็นเพียงเศษเงินเท่านั้น

ชีวิตใครกำลังเฉียดเข้าใกล้คุกจงจำไว้ให้ดี บรรดากองงานโหดๆ อย่างพับถุง เย็บรองเท้า อย่าได้ไปสังกัด ถ้าไม่อยากตกระกำลำบากอย่างนายวัน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป นายวันนักโทษใหม่ที่ไม่รู้เดียงสาก็จะพัฒนาตัวจนกล้าแกร่ง ถีบตัวเองขึ้นมาเป็นเสมียนกองงาน รู้ลูกเล่นในการจ่ายงานให้กับนักโทษใหม่

หากคนไหนไม่ต้องการถูกกำหนดยอดในการทำงานก็ต้องจ่ายบุหรี่ให้กับนายวัน

เมื่อนายวันมีบุหรี่เยอะๆ สามารถนำไปต่อยอดโดยการปล่อยกู้ อัตราปล่อยกู้ส่วนใหญ่คือ 4 ซอง ดอกเบี้ย 1 ซองต่อสัปดาห์

นอกจากปล่อยกู้แล้วยังสามารถหารายได้ให้กับนาย โดยการเรียกเงินจากนักโทษที่ไม่ต้องการทำงานคนละ 10,000 บาท

ลองคิดดูเล่นๆ ใน 1 แดน มีนักโทษประมาณ 1,000 คน ทุกคนต้องสังกัดกองงาน แยกเป็นงานประเภทรับจ้างประมาณ 100 คน หากมีคนไม่ต้องการทำงานสัก 10 คน ก็รับแล้วเหนาะๆ 100,000 บาท

จะว่าไปแล้วลูกหลานเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนหมอ วิศวะให้ปวดหัว เรียนเป็นนายในคุกดีกว่า หาเงินง่าย งานสบาย นั่งเฝ้า นอนเฝ้า ให้นักโทษนวด แล้วส่องพระ (นายในคุกชอบทุกคน)

นักโทษคนไหนมีเงิน มีญาติมาเยี่ยมบ่อยๆ เรื่องพวกนี้ผู้คุมแกหูตาไว เข้าดูแลใกล้ชิด แต่หากเป็นนักโทษไร้ญาติ ไร้เงินทอง ไม่มีใครคนไหนเขาแยแสหรอก แดนสนธยามันเป็นแบบนี้มาเนิ่นนาน อย่าได้แปลกใจ

อ่านถึงตรงนี้ หากใครคิดว่าชีวิตที่ต้องพลัดหลงเข้าเรือนจำมันช่างเลวร้าย ใจเย็นๆ นี่มันแค่เรื่องราว 8 ชั่วโมงกว่าภายนอกห้องขัง แต่หลังจากนี้ตั้งแต่บ่าย 3 โมงจนกระทั่งฟ้าสางของวันรุ่งขึ้น คุณต้องไปนอนคุดคู้อยู่ใน “เรือนนอน”

มันสุดแสนทรมานเสียยิ่งกว่าการนั่งเย็บรองเท้าวันละ 30 คู่เป็นไหนๆ