แพทย์ พิจิตร : “แบบแผนคติคุณธรรมของผู้ปกครองโบราณ” ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่

AFP PHOTO / STR

ตอน 1 2 3 4 5 6 7

70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (8) : ทรงยึดมั่นและประยุกต์ “แบบแผนคติคุณธรรมของผู้ปกครองโบราณ” ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่

การดำรงบทบาทหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสองประการดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วให้บังเกิดเป็นผลอันสมบูรณ์ ด้วยการยึดหลักค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นทีละตอนนั้น

สะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี ดุจดังพระมหาชนก ที่แม้จะยังไม่เห็นฝั่งอยู่ข้างหน้า ก็ยัง “พยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร”

จนกระทั่งได้พบกับนางมณีเมขลาที่มาช่วยประคองพระองค์ขึ้นจากห้วงน้ำและพาเหาะไปส่งถึงฝั่งอันเป็นที่หมาย

ในแต่บริบทของสังคมการเมืองไทยและในการดำเนินบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเสมือนไม่เพียงแต่พระมหาชนก พระโพธิสัตว์ผู้ควรแก่การเป็นอุดมคติสำหรับผู้ที่มุ่งหวังกระทำกิจอันสำเร็จได้ยากยิ่งเท่านั้น

แต่ในเวลาที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังเปรียบเสมือนนางมณีเมขลา ที่คอยช่วยประคับประคองยามที่รัฐนาวาของไทยต้องเผชิญกับความปั่นป่วนจวนเจียนจะอับปาง

และเหตุที่ทรงสามารถกระทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะพระบารมีและทศพิธราชธรรมทั้งหลายที่ได้ทรงบำเพ็ญตลอดมา

ถึงแม้ในเวลานี้ รัฐนาวาของไทยอาจจะยังไปไม่ถึงฝั่งอันเป็นที่หมาย แต่ตราบใดที่เราทั้งหลายยึดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นอุดมคติแบบอย่างของการไม่ละลดความเพียรพยายาม ตราบนั้นพวกเราก็จะสามารถประคับประคองกันและกันให้มีกำลัง และมีความอดทนเพียงพอจนสามารถลุถึงฝั่งอันเกษมได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

 

ด้วยทรงยึดมั่นและประยุกต์ “แบบแผนคติคุณธรรมของผู้ปกครองโบราณ” ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่นี้ จึงสามารถสร้างสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้กลายเป็นสถาบันสำคัญสูงสุดในระบบการปกครองใหม่ได้บนฐานของความชอบธรรมทั้งในเชิงจารีตและตัวบุคคล

เพราะหากพิจารณาจากการสืบสานธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ อาจมีลักษณะร่วมและคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ

แต่บทบาทที่พระมหากษัตริย์ในแต่ละประเทศเลือกแสดงนั้นพบว่า มีความแตกต่างกันไป

อาจกล่าวได้ว่าการแสดงบทบาทของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือถูกกำหนดโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณเพียงอย่างเดียว

หากแต่การแสดงบทบาทของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ยังขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพ และพระปรีชาสามารถในการมีพระราชวินิจฉัยต่อสถานการณ์เป็นสำคัญด้วย

โดยทั่วไปจะพบว่าบทบาทพระราชอำนาจและพระราชสิทธิดำรงอยู่ในหลายมิติทั้งๆ ที่ดูเหมือนสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ได้ทรงมีอำนาจโดยตรงทางการเมืองอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในกรณีของพระราชสิทธิและพระราชอำนาจที่เป็นทางการ ดังในกรณีประเทศไทยและสหราชอาณาจักรนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแก้ไขวิกฤตการณ์บ้านเมืองเช่นเดียวกัน แต่ในรายละเอียดจะพบว่ามีบางส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง

โดยเฉพาะในสองประเด็นดังนี้

 

ประเด็นแรก พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงใช้พระราชอำนาจส่วนพระองค์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการวินิจฉัยกรณีที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตทางรัฐธรรมนูญหรือทางเศรษฐกิจ

ดังเช่นกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเสียงในสภาสามัญเกินกว่ากึ่งหนึ่งหรือการชะงักงันของสภาสามัญ (hung parliament) หรือในปี ค.ศ.1931 ที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ไม่ต้องการให้นาย MacDonald ลาออกในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำจึงทรงแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาชั่วคราว เป็นต้น

เหล่านี้ถือเป็นกรณีวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อพิพาทที่มีผลทางภาคการเมืองมากกว่าภาคประชาชน ซึ่งจะต่างจากกรณีของการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยที่จะทรงใช้พระราชอำนาจต่อเมื่อเกิดวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐบาลอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณี 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้แล้ว พระมหากษัตริย์ไทยทรงไม่เคยลดพระองค์ลงมายุ่งเกี่ยวกับปัญหาการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองดังเช่นกรณีของอังกฤษ

ซึ่งนี้แสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงดำรงพระองค์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริงยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษที่เป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ประเด็นที่สอง การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษในข้างต้นก่อให้เกิดข้อโต้แย้งในเชิงวิชาการมาโดยตลอดว่า พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด และจะเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่ในกรณีของพระมหากษัตริย์ไทย การใช้พระราชอำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์มีอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ ขอบเขตของพระราชอำนาจจะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ (Royal Charisma) แต่ละพระองค์เอง

ในกรณีของประเทศไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงสร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรมาโดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ด้วยแนวคิดและทฤษฎีที่ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ

ทั้งเรื่องการเกษตรกรรม เช่น น้ำ ดิน อากาศ การเพาะปลูก ตลอดจนการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากร การพัฒนาสังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นการแบ่งเบาภาระ อุดช่องว่างและเสริมกระตุ้นงานด้านการพัฒนาประเทศของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นพระราชกรณียกิจตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่พระมหากษัตริย์แต่ละประเทศทรงมีพระราชจริยวัตรแตกต่างกันไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกเหนือจากที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเสมือนหนึ่งเป็นพ่อของแผ่นดินในการดูแลทุกข์สุขของปวงชนชาวไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และมีพระราชกรณียกิจตามพระราชอำนาจที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญแล้ว ในภาวะที่บ้านเมืองมีวิกฤต พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งชาติ เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความสับสนทางการเมือง บทบาทของพระองค์และพระราชวินิจฉัยในประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ

ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยหลายครั้งที่ผ่านมาได้ตอกย้ำพระอัจฉริยภาพและพระบรมเดชานุภาพ และปลูกฝังความชอบธรรม การยอมรับ ความจงรักภักดี และการยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในจิตใจคนไทย

ไม่ใช่เป็นเพียงการยอมรับที่เกิดจากบทบาทและพระราชอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น

 

ขณะที่การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศอังกฤษสามารถกระทำได้ ทั้งในภาวะปกติอันได้แก่ พระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยเห็นชอบในร่างกฎหมาย พระราชอำนาจในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการแต่งตั้งขุนนาง พระราชอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีและปลดรัฐมนตรี และพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

อีกทั้งยังทรงสามารถใช้พระราชอำนาจส่วนพระองค์ในภาวะฉุกเฉินอันได้แก่ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และพระราชอำนาจในการปฏิเสธคำแนะนำของรัฐมนตรีในการยุบสภา เหล่านี้ถือเป็นการใช้พระราชอำนาจในรูปแบบต่างๆ ของพระองค์

นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์อังกฤษยังคงไว้ซึ่งพระราชสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินต่างๆ เช่น ที่ดิน ทรัพย์สินติดที่ดิน และพระราชวังต่างๆ เป็นต้น

แต่ในส่วนของการเสื่อมถอยในความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษจะได้ปรากฏขึ้นจากสัญญาณต่างๆ ที่อาจสะท้อนให้เห็นถึงการเสื่อมถอยของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์อังกฤษ ถึงกระนั้นผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็ยังคงแสดงให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นที่เคารพของประชาชนต่อไป

แต่ท้ายที่สุดหากนำไปเปรียบเทียบกับพระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยแล้ว

จะพบว่าพระราชอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ไทยยังคงมีมากกว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษอย่างเห็นได้ชัด