70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (2)

AFP PHOTO / STR

ตอน 1

ประเด็นที่สาม เกี่ยวกับปัญหาใหญ่ใจกลางของการเมืองไทยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นั่นคือ

ปมปัญหาระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับผู้นำคณะราษฎรภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจอันโด่งดังแล้ว

ปัญหาสำคัญซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของความขัดแย้งอันนำไปสู่การสละราชสมบัติในที่สุด อยู่ที่เรื่องขอบเขตแห่งพระราชสิทธิ์หรือพระราชอำนาจทางการเมืองการปกครอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่มาของสมาชิกรัฐสภาประเภทที่สอง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเด็นเรื่องอำนาจการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาควรอยู่ที่ผู้ใด จะกลับมาเป็นปมปัญหาอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยปัจจุบันในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ.2494

แต่เรื่องนี้มิได้ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ใจกลางทางการเมืองที่สำคัญที่สุดสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยรัชกาลที่ 7 อีกต่อไป

โจทย์ที่ใหญ่และสำคัญกว่านั้นในบริบทการเมืองของไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์และระบบการเมืองใหม่ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการอำนาจนิยมและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยเคลื่อนเข้าสู่ยุคสงครามเย็นและสงครามเวียดนามในเวลาต่อมา ก็คือ ปัญหาความเป็นปึกแผ่นของชาติบ้านเมือง

อันมีที่มาจากปัญหาการจัดอำนาจรัฐในระบบการเมือง ปัญหาเรื่องความเป็นไทยกับความเป็นชาติ ปัญหาความมั่นคงภายในอันเกิดจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนอันโยงอยู่กับปัญหาการพัฒนาประเทศ

และปัญหาการขาด/ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ปัญหาความเป็นปึกแผ่นของชาติบ้านเมืองข้างต้น ล้วนเป็นประเด็นใหญ่ใจกลางของปัญหาการพัฒนาทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปทั้งสิ้น

ในบริบทที่สังคมการเมืองไทยต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ การกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมืองใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน มีแนวทางที่แตกต่างออกไปจากแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

และถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่เสด็จสวรรคตเสียก่อน และระบบการเมืองของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตามครรลองของระบบรัฐสภา ภายใต้ผู้นำทางการเมืองที่เป็นพลเรือน สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คงจะวิวัฒน์ไปในอีกรูปแบบหนึ่ง

แต่เหตุปัจจัยที่อิงอาศัยกันหลายประการทำให้ในที่สุดแล้ว เส้นทางสายนั้นได้หักเหไป

ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงเผชิญกับโจทย์ทางการเมืองในลักษณะที่แตกต่างออกไป

กล่าวคือ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงมุ่งไปที่การหาทางคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการจัดสรรและถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองในรัฐสภา

แต่การเมืองไทยภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จกลับมาประทับที่เมืองไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ.2493 เป็นต้นมา รัฐสภาจะค่อยๆ หมดความสำคัญลงจนกระทั่งหมดบทบาทไปในที่สุดหลังจากรัฐประหารในปี พ.ศ.2500

และภายใต้บริบทของระบบการเมืองแบบเผด็จการทหารได้เปิดโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกวางบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเป็นรัฐ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นชาติ ปัญหาเกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครอง และปัญหาเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมือง

โดยทั้งหมดนี้มีประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งในแง่ของการฟื้นฟูความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนในชาติ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถเป็นแหล่งที่มาแห่งความชอบธรรม และการใช้สถานะที่มีความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นแกนกลางในการประคับประคองการพัฒนาระบบการเมือง

รวมทั้งเป็นพลังในการจัดการกับปัญหาความชอบธรรมของรัฐ ความชอบธรรมของระบบการปกครอง ความชอบธรรมของรัฐบาล และความชอบธรรมของการใช้ความเป็นไทยมากำหนดความเป็นชาติ เพื่อเอื้อให้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ

สร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติและของพระราชวงศ์ไปในเวลาเดียวกัน และในลักษณะที่เป็นองค์ประกอบของกันและกันอย่างมิอาจแยกขาดจากกันได้

ซึ่งทั้งหมดนี้มีทั้งผลสำเร็จและข้อจำกัด ดังจะกล่าวต่อไป

 

บทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์
ในบริบทการเมืองใหม่

จากรูปแบบปกครองใหม่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปดังที่กล่าวไปข้างต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงต้องสร้างและวางบทบาทสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นใหม่ด้วยพระองค์เอง เนื่องจากยังมิได้มีตัวอย่างแบบแผนของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ต้องเผชิญสภาพการณ์เช่นนั้น

กล่าวคือ จากรูปแบบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากตะวันตก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษเป็นสำคัญนั้น เริ่มปรากฏให้เห็นจากการบัญญัติ Magna Carta ในปี ค.ศ.1215 ซึ่งกำหนดหลักการสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

และเริ่มจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

อันมีสาเหตุมาจากสภาวะในยุคดังกล่าวที่มีความจำเป็นในการทำสงครามที่เกิดขึ้นทั่วไป ด้วยเหตุผลในการป้องกันการรุกรานหรือการขยายดินแดนรวบรวมความเป็นปึกแผ่นของราชอาณาจักร

แต่เนื่องจากการทำสงครามจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก การใช้เงินทำสงคราม รวมถึงการใช้จ่ายเงินเพื่อพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ทำให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บภาษีและการดำเนินโนบายต่างประเทศ

จึงเกิดความพยายามที่จะจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ปรากฏออกมาในรูปของกฎหมายที่เรียกว่า “Magna Carta” ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นแนวคิดของการปกครองของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

และอาจกล่าวได้ว่า Magna Carta ถูกใช้โดยรัฐสภาเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับทฤษฎีอำนาจอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์ตามแนวคิดเทวสิทธิ์ในช่วงสมัยราชวงศ์สจ๊วร์ต (Stuart) นั่นคือ ระหว่าง ค.ศ.1603-1714

 

การจำกัดการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์เริ่มจากการมีองค์กรที่จะมาให้คำปรึกษาแก่พระองค์ สู่การพยายามจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยสภาที่ยังไม่มีสภาพเป็นตัวแทนของประชาชนโดยทั่วไป

จนกระทั่งในยุคของ ซิมอน เดอ มองฟอร์ต (Simon de Monfort) จึงได้เปิดให้ประชาชนมีโอกาสคัดเลือกตัวแทนจากบรรดาอัศวิน (Knight) และผู้มีทรัพย์ (Gentry) ของเมืองต่างๆ เข้ามาประชุมร่วมกันที่รัฐสภา

ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐสภาดังกล่าวจะยังไม่มีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นการปกครองโดยผู้แทน (representative government) แบบเต็มตัวก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นความพยายามในการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษให้น้อยลง

ซึ่งต่อมาจะถูกเน้นย้ำยิ่งขึ้นในยุคการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี ค.ศ. 1689 (Glorious Revolution of 1689) และส่งผลสำคัญตามมาสองประการ คือ

หนึ่ง การเปลี่ยนเส้นทางของการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ แสดงให้เห็นว่ารัฐสภาสามารถที่จะเลือกพระมหากษัตริย์ที่จะขึ้นสู่ราชบังลังก์ได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ปกครองผิดพลาด

และประการต่อมาคือ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ได้จำกัดอำนาจขององค์อธิปัตย์เพื่อที่จะป้องกันความผิดพลาดในการใช้อำนาจ ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในยุครัชกาลของพระเจ้าเจมส์ที่สอง

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษกับฝ่ายต่างๆ อาทิ สภาสามัญชน (House of Commons) สภาขุนนาง (House of Lord) ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บภาษี การใช้เงินในการทำสงคราม ทำให้เกิดการโต้แย้งแนวคิดการใช้อำนาจเด็ดขาดโดยพลการของพระมหากษัตริย์และทฤษฎีเทวสิทธิ์

โดยแนวคิดของทฤษฎีสัญญาประชาคมที่เห็นว่าการใช้อำนาจปกครองในสังคมการเมืองมีฐานที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชน

ซึ่งต่อมาการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปเป็นร่างได้เริ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน และเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

และต่อมา กระแสอิทธิพลแนวคิดและรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในฐานะที่เป็นรูปแบบการปกครองในสังคมสมัยใหม่นี้ก็ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศต่างๆ ในโลก

และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองสมัยใหม่ดังกล่าว