70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ (4)

ตอน 1 2 3

นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร สภาพการณ์ทางการเมืองไทยที่พระองค์ต้องทรงเผชิญก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสภาพที่อ่อนแอและตกต่ำอย่างยิ่ง

ไม่สามารถแสดงออกซึ่งพระราชอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด

พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่เพียงในนามเท่านั้น

อีกทั้งกล่าวได้ว่า การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงการทำรัฐประหาร พ.ศ.2500 ไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง

ในช่วงเวลาเพียงเจ็ดปี ประเทศไทยมีรัฐบาลถึงสิบสี่ชุด นายกรัฐมนตรีหกคน รัฐประหารสามครั้ง กบฏห้าครั้ง และเปลี่ยนรัฐธรรมนูญถึงสี่ฉบับ

กล่าวได้ว่า ประเทศไทยขาดสถาบันทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมั่นคงเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีชีวิตที่ดีปลอดภัยและมั่นคงได้อย่างกว้างขวางทั่วถึง

สถาบันทางการเมืองในระบบการปกครองใหม่ในนามของประชาธิปไตย อันได้แก่ รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง ประชาชนกับการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

อีกทั้งยังมีอุปสรรคจากการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกด้วย

ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันอำนาจดั้งเดิมของสังคมไทยจึงดูจะเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ ที่จะนำพาสังคมไทยฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ

อีกทั้งยังเป็นสถาบันสำคัญที่เป็นหลักแห่งดุลยภาพที่สามารถประนีประนอมความขัดแย้งต่างๆ และสร้างความประสานกลมกลืนอันนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพของชีวิตผู้คนในสังคมไทย

ด้วยทั้งถ่วงดุลฉุดรั้งและหมุนไปข้างหน้าอย่างสุขุม

สามารถฝ่าแรงเสียดต้านในรูปแบบต่างๆ ของสภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่

 

ในระยะแรกของรัชสมัย พระองค์ทรงจำกัดบทบาทของพระองค์เป็นเวลาเกือบสิบปี

ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับครอบครัวและงานอดิเรกไม่ต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบพระมหากษัตริย์มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะมีบทบาทในประเด็นสำคัญของบ้านเมือง

เช่น การพิจารณาการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 กลับมาใช้อีกหลังรัฐประหาร พ.ศ.2494 แต่ก็ไม่เป็นผล ด้วยการขัดขวางของ จอมพล ป.

พระองค์ทรงเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ในระยะแรกของการครองราชย์ของพระองค์นั้น

“เมื่อข้าพเจ้าจะเปิดปากแนะนำอะไร พวกเขาก็กล่าวว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ท่านไม่ทรงรู้อะไรหรอก” ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงปิดปากข้าพเจ้า พวกเขาไม่ต้องการให้ข้าพเจ้าพูด ดังนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่พูด”

(New York Times, 24 สิงหาคม 2532 อ้างใน ศุภมิตร ปิติพัฒน์, วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในช่วงรัฐธรรมนูญ 2475 ถึงปัจจุบัน เอกสารประกอบ โครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบการครองราชย์ 60 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548)

 

เห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น อย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ราบรื่น ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตทำให้ยากที่จะก่อให้เกิดความไว้วางใจและความร่วมมือกันได้

ยิ่งกว่านั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังพยายามที่จะแย่งชิงบทบาทของพระมหากษัตริย์โดยผ่านนโยบายทางวัฒนธรรมของเขา

การเน้นให้ความสนใจในประเด็นทางศาสนาและวัฒนธรรมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำไปสู่การแข่งขันกับพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกแห่งพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของไทยตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ

การใช้งบประมาณแผ่นดินไปในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากถือเป็นความพยายามของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะทำตัวเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนาขึ้นแทนผู้นำไทยในการปกครองโบราณ

ดังจะเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งจากงานฉลองกึ่งพุทธกาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ขอรับพระราชทานคำปรึกษาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการจัดงานดังกล่าว

แต่กลับใช้บรรดาลูกน้องคนสนิทของเขาจัดเตรียมงานดังกล่าวแทน

และได้เชิญ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่ามาเป็นอาคันตุกะในงานพิธีดังกล่าว

และจากการที่ จอมพล ป. พยายามที่จะลดความสำคัญของบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในพิธีทางศาสนาที่สำคัญนี้ก็คือ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำคือ พระองค์แทบมิได้เสด็จเข้าร่วมพิธีการสำคัญต่างๆ ในช่วงนั้นเลย

 

แน่นอนว่า ในบริบทภายใต้การปกครองที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของอดีตผู้นำคณะราษฎรอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พยายามจะจำกัดลดทอนอำนาจบารมีของสถาบันพระมหามหากษัตริย์อันเป็นสถาบันการปกครองดั้งเดิมที่สืบสานยาวนานของสังคมไทย ย่อมไม่เอื้อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสามารถมีบทบาทอะไรได้มากนัก และแทบจะไม่มีบทบาทในทางการเมืองเลย

แต่สิ่งที่น่าสังเกตสนใจอย่างยิ่งก็คือ ในที่สุดแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์กลับได้ประโยชน์จากระบอบการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยที่แปรปรวนนี้

และสามารถจัดการให้กลับมามีสถานะที่มีอิทธิพลสำคัญและยั่งยืนกว่าสถาบันการเมืองอื่นๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ของสังคมการเมืองไทย

จุดเปลี่ยนสำคัญที่เปิดโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสามารถฟื้นฟูสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

และนับตั้งแต่นั้น บทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หลังรัฐประหารปี พ.ศ.2500 ก็ได้เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น

เมื่อพระองค์ทรงออกพระบรมราชโองการให้บรรดาข้าราชการทั้งหลายเชื่อฟังคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์

และทรงแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ เป็น “ผู้ปกป้องรักษาพระนคร”

และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารอีกครั้งใน พ.ศ.2501 พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายนิรโทษกรรมผู้มีส่วนร่วมในการก่อการรัฐประหารครั้งนั้นด้วย

ซึ่งสะท้อนให้ถึงจุดเริ่มต้นหรือการกลับมาของการที่ความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลจำต้องอิงอยู่กับความเห็นชอบจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้นำทหารอย่างกลุ่มคณะราษฎรและผู้นำทหารอย่างจอมพลสฤษดิ์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร นั่นคือ ผู้นำทหารทั้งสามนี้เป็นทหารรุ่นหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่กลุ่มทหารในคณะราษฎรได้กระทำลงไป

อีกทั้งทั้งสามล้วนเป็นทหารที่ได้รับการศึกษาอบรมภายในประเทศมาโดยตลอด จึงไม่ได้มีหัวไปในทางนิยมเสรีตะวันตก และไม่ได้เป็นพวกต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงด้วย

ประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัดอยู่ภายในสังคมไทย ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีความสำคัญศักดิ์สิทธิ์ต่อกลุ่มผู้นำข้าราชการทหารทั้งสามนี้อย่างยิ่งยวด

ขณะเดียวกัน สังคมไทยภายใต้การปกครองเผด็จการอันยาวนานของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพวกพ้องนั้น ก็มิได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้

อีกทั้งยังใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีอยู่นั้นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวกเสียเป็นส่วนใหญ่

และใช้อำนาจมืดในการจัดการกับคู่ต่อสู้ทางการเมืองและประชาชนที่คัดค้านวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล ตลอดจนไม่ได้พัฒนาเสริมสร้างการปกครองโดยรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า เข้มแข็ง

ผนวกกับการนำประเทศไทยไปร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

นอกจากนี้ การพยายามสร้างตนเองให้เทียบเท่าพระมหากษัตริย์โดยการเสนอนโยบายสนับสนุนทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมดังที่กล่าวไปแล้ว ในขณะที่ตนมิได้เป็นผู้ปกครองที่อยู่ในทำนองคลองธรรมอย่างแท้จริง

จึงทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันอำนาจดั้งเดิมของสังคมไทยจึงดูจะเป็นความหวังที่พึ่งอันเดียวที่เหลืออยู่

สภาพการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่

และไม่มีสิ่งใดจะทัดเทียมได้ในบริบทดังกล่าว