ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (10)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พระยาพหลฯ
ปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังผ่านเหตุการณ์กบฏบวรเดช และมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมื่อปลายปี พ.ศ.2476 แล้ว แต่ความเคลื่อนไหวในลักษณะ “คลื่นใต้น้ำ” จากกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังดำรงอยู่ตลอดเวลาด้วยวิธีการต่างๆ ขณะที่การเมืองสยามก็ดำเนินการไปตามวิถีทางรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง โดยมีลำดับความเป็นมาที่สำคัญดังนี้

27 กรกฎาคม พ.ศ.2480 นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามและกล่าวหารัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาอย่างรุนแรงในกรณีที่สำนักงานพระคลังข้างที่ตัดแบ่งที่ดินขายให้กับเอกชนซึ่งกว่า 25 รายเป็นสมาชิกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่ประกาศให้มหาชนทราบ และขายผ่อนชำระกันเป็นรายเดือนในราคาค่อนข้างถูกกว่าราคาตลาด พระคลังข้างที่เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการซื้อขายแทนผู้ซื้อ และการสำรวจแบ่งแยกที่ดินตามปกติใช้เวลา 2 เดือนแต่คราวนี้ใช้เพียง 2 วันพร้อมทั้งตั้งคำถามถึงเหตุผลในการขายที่ดิน

จากกระทู้ได้ขยายเป็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งก่อนการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดโอกาสให้มีการสอบสวนโดยชอบธรรม

แต่พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

28 กรกฎาคม พ.ศ.2480 เนื่องจากถูกมองว่าให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรจากกลุ่มอำนาจเก่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจ้าพระยายมราช และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมคณะ จึงมีหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง

31 กรกฎาคม พ.ศ.2480 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จากบุคคลหลายท่าน อาทิ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เจ้าพระยามหิธร เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ แต่ได้รับการปฏิเสธ

4 สิงหาคม พ.ศ.2480 สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจเลือกคณะผู้สำเร็จราชการชุดเดิมดำรงตำแหน่งต่อไป และในวันเดียวกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ยืนยันให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงยอมรับตำแหน่งอีกครั้ง

7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

11 กันยายน พ.ศ.2481 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาแพ้ญัตติเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมและวิธีเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ จึงตัดสินใจตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

10 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ครั้งนี้พระยาพหลพลพยุหเสนาปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

ถึงเวลา

ในการยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ไม่มีใครรู้จักและให้ความสนใจหลวงพิบูลสงครามนายทหารชั้นผู้น้อยยศเพียงนายพันตรีเลยแม้แต่น้อย

แต่ผ่านไปเพียงปีเศษเท่านั้น ความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จงดงามในฐานะผู้รับผิดชอบการปราบปรามกบฏบวรเดชเมื่อตุลาคม 2476 ส่งผลให้นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม เลื่อนยศเป็นพันเอก

แล้วก้าวขึ้นสู่ความนิยมยกย่องของประชาชนอย่างรวดเร็วกว้างขวางทาบรัศมี 4 ทหารเสือผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองทันที

การใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นที่ทราบกันดีในเวลาต่อมาว่า คณะผู้ก่อการซึ่งล้วนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ยกเว้นนายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์แล้วไม่มีใครมีหน่วยทหารในบังคับบัญชาของตนเองเลย ฐานะของผู้นำการยึดอำนาจเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับนับถือในแง่ความเก่งกาจทางวิชาความรู้เท่านั้น

แต่เหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชซึ่งตัดสินกันด้วยกำลัง นำไปสู่ความเป็นจริงประการหนึ่งว่า หน่วยกำลังที่เป็นจริงต่างหากที่เป็นปัจจัยชี้ขาดแห่งอำนาจ ไม่ใช่ความเคารพนับถือซึ่งจับต้องไม่ได้

เส้นทางสู่ความสำเร็จของหลวงพิบูลสงครามจากนี้ไปจะเป็นตัวอย่างให้ทหารรุ่นต่อมายึดถือความสำคัญของหน่วยคุมกำลังว่าเป็นปัจจัยชี้ขาดของอำนาจ

เมื่อสามารถเป็นผู้นำหน่วยระดับคุมกำลังได้อย่างมั่นคง แม้พระยาพหลพลพยุหเสนาจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก แต่ด้วยปัจจัยชี้ขาดเรื่องคุมกำลัง ฐานะของหลวงพิบูลสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก ก็มีความสำคัญเทียบรัศมีพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นทุกขณะ

จนกระทั่งหลวงพิบูลสงครามก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2477 และจะยังคงอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปแม้เมื่อมีการลาออกและกลับเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ.2477

ขณะที่สถานการณ์ในยุโรปส่อเค้าความยุ่งยากที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา นายพันเอกหลวงพิบูลสงครามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เริ่มสร้างลัทธิชาตินิยมขึ้นตามแนวทางการก่อตัวและเติบโตของพรรคนาซีเยอรมัน

รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มยุวชนในสยามจนคล้ายกับยุวชนของฮิตเลอร์ในเวลาต่อมา มีการเสริมสร้างบทบาทของกองทัพให้เข้มแข็งขึ้นให้เป็น 1 ใน 4 ของสถาบันหลักของชาติอันประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ รัฐสภา ระบบราชการ และกองทัพ

มีการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพ มีการประกาศคำขวัญ “ชาติคือบ้าน ทหารคือรั้ว” ให้กระทรวงกลาโหมจัดสร้างภาพยนตร์ชื่อ “เลือดทหารไทย” ขึ้นในปี 2478 ฯลฯ

หลวงพิบูลสงครามจึงประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้นตามลำดับและใกล้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นทุกขณะ

ในทุกเส้นทางสู่อำนาจ ความจำเป็นในการกำจัดผู้ที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางเป็นเรื่องที่ต้องทำ

คิวเชือด

หลังการโค่นล้มพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาทรงสุรเดชและพระประศาสน์พิทยายุทธ หลุดพ้นจากอำนาจไปแล้ว นอกจากพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงเหลือเพียง พระยาฤทธิอัคเนย์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นซึ่งอยู่ในฐานะที่อาจเป็นอุปสรรคขวางเส้นทางสู่ดวงดาวของหลวงพิบูลสงคราม

ขณะนั้นพระยาฤทธิอัคเนย์ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในทางการทหารแล้ว แต่ก็ยังพอมีฐานะอยู่บ้างในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

“เสทื้อน ศุภโสภณ” บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ใน “ชีวิตทางการเมือง ของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์” ที่ให้สัมภาษณ์โดยตรงจากพระยาฤทธิ์อัคเนย์ในเวลาต่อมาไว้ว่า

วันที่ 28 กันยายน 2481 หลังจาก พระยาพหลพลพยุเสนาประกาศยุบสภาไปได้เพียง 16 วัน เวลา 13.15 น. ขณะที่พระยาฤทธิอัคเนย์กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ กระทรวงเกษตราธิการ นายตำรวจใหญ่แห่งสันติบาลสองนายคือ พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลในขณะนั้นกับ พ.ต.ต.บรรจง ชีพเป็นสุข ก็ได้เข้าไปพบพระยาฤทธิ์อัคเนย์แจ้งว่า “เจ้าคุณพหลฯ ให้เชิญใต้เท้าไปประชุมที่วังปารุสฯ เดี๋ยวนี้”

พระยาฤทธิ์อัคเนย์ไม่ทราบว่าจะมีเรื่องประชุมกันเป็นการด่วนอะไร แต่เข้าใจว่าคงจะมีเรื่องที่ต้องปรึกษากันเป็นพิเศษในฐานะผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงรีบเดินทางไปตามคำเชิญนั้นทันที

โดยมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่ากำลังจะพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต จึงเพียงคาดเดาว่าคงเกี่ยวกับข่าวการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเวลานั้น แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับตนเนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวใดๆ

เมื่อพระยาฤทธิ์อัคเนย์ไปถึงวังปารุสกวันก็ปรากฏว่ามีบรรดาผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่หลายคนประชุมกันอยู่ก่อนแล้ว มีพระยาพหลพลพยุเสนาเป็นประธานในที่ประชุม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงพิบูลสงคราม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายดิเรก ชัยนาม ทำหน้าที่เลขานุการ ซึ่งได้มีการประชุมกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ครั้นพระยาฤทธิ์ฯ ได้เข้าร่วมประชุมโดยเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้มอบหมายให้หลวงพิบูลฯ เป็นผู้เจรจากับพระยาฤทธิ์ฯ แทนในนามของคณะผู้ก่อการ แล้วหลวงพิบูลฯ ก็ได้กล่าวอารัมภบทขึ้นว่า เขาได้รับมอบหมายจากหลวงอดุลฯ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งได้ขอตัวไม่เข้าร่วมประชุมด้วย ให้เป็นผู้เจรจากับพระยาฤทธิ์ฯ แทน

จากนั้น หลวงพิบูลฯ ก็ได้เริ่มตั้งข้อหากับพระยาฤทธิ์ฯ หลายประการด้วยกัน

เช่น หาว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในการกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476

และได้พยายามให้ความช่วยเหลือจุนเจือแก่พวกกบฏด้วยประการต่างๆ เช่น สนับสนุนให้พวกกบฏที่พ้นโทษแล้วได้กลับเข้ารับราชการตามเดิม

หาว่าพระยาฤทธิ์ฯ รู้เห็นและเป็นตัวการว่าจ้างให้นายพุ่มฯ ยิงหลวงพิบูลที่ท้องสนามหลวงเมื่อปลายปี 2477

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องปลีกย่อยอันเกี่ยวด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองที่แล้วๆ มาอีกเป็นอันมาก

และลงท้ายได้หาว่าพระยาฤทธิ์ฯ ร่วมคิดกับพระยาทรงฯ เพื่อวางแผนล้มล้างรัฐบาล ซึ่งหลวงพิบูลฯกล่าวว่าทางอธิบดีกรมตำรวจมีหลักฐานว่า พระยาฤทธิ์ฯ เกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้ไว้พร้อมแล้ว

ทันทีที่ได้ฟังถ้อยแถลงของหลวงพิบูลฯ พระยาฤทธิ์ฯ ก็ตระหนักชัดว่า ณ บัดนี้ ได้เกิดมีการสร้างสถานการณ์กันเพื่อกำจัดบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาออกไปจากวงการเมืองขึ้นแล้ว”