‘ปลายทาง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ในครั้งที่กรมป่าไม้ (เดิม) เริ่มต้นประกาศให้พื้นที่ป่าหลายแห่งในประเทศไทยเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เหตุผลสำคัญคือ ต้องการให้เหล่าสัตว์ป่า รวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ ยังคงมีแหล่งอาศัย

จากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งถึงวันนี้ พูดได้ว่า ความตั้งใจนี้บรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี แม้ว่าการทำลายล้างพื้นที่ป่า หรือล่าสัตว์ป่ายังไม่ยุติและหมดสิ้นไป อีกทั้งมีปัญหาใหม่ๆ รวมทั้งการทำลายล้างในรูปแบบใหม่ๆ อันเป็นไปพร้อมกับความเจริญของโลก ก็เป็น “โจทย์” ให้หลายฝ่ายพยายามแก้ไข

การทำลายล้างยังไม่ยุติ แต่ในพื้นที่หลายแห่งก็ยังคงความเป็นแหล่งอาศัยที่ดีของชีวิตสัตว์ป่า พืชพันธุ์มีโอกาสเติบโต และใช้ชีวิตไปตามวิถี

 

ในยุคเริ่มต้น ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายงานให้ไปจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามแผน ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ความทุรกันดารของพื้นที่ ไร้ความสะดวก ไร้อุปกรณ์ พวกเขาเริ่มต้นจากสร้างที่พักอาศัย กระต๊อบเล็กๆ อยู่ในป่าครั้งละหลายเดือน

หลายพื้นที่เป็นเขตผู้มีอิทธิพล บางพื้นที่เรียกว่าเป็นเขต “สีชมพู” มีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ่อยๆ

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าต้องพบ คือ ขาดกำลังคน

ในระยะเริ่มต้น หัวหน้าจึงต้องหาคนพื้นที่มาช่วยทำงาน และเข้าไปพูดคุยกับคนที่ใช้ป่า คล้ายสวนหลังบ้าน บางคนเก็บหาของป่าเป็นอาชีพ

หลายคนเป็นพราน เพื่อชักชวนให้คนเหล่านี้มาร่วมงานด้วย นับเป็นนโยบายที่ดี

หัวหน้ามีคนช่วยงานที่ชำนาญพื้นที่ คนล่าสัตว์ลดลง

“พราน” เหล่านี้ หลายคนเป็นกำลังสำคัญที่เข้มแข็ง

จากถือปืนเพื่อการล่า พวกเขาเปลี่ยนมาคุ้มครอง

 

ผมเริ่มต้น “ฝังตัว” ทำงานอยู่ในป่าแห่งเดียวต่อเนื่องยาวนานไม่น้อยกว่า 4 ปี ในผืนป่าแต่ละแห่ง ราวปี พ.ศ.2534 หนึ่งปีภายหลังการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ผู้ใช้ชีวิตของตัวเอง ประกาศให้โลกรับรู้ถึงความสำคัญของแหล่งอาศัยสัตว์ป่า

ในหน่วยพิทักษ์ป่า คนทำงานส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพคนงานรายวัน มีแค่คนเดียวที่ทำงานมาเกิน 5 ปี แล้วไปสอบเพื่อบรรจุในตำแหน่ง “พิทักษ์ป่า”

คนงานเกือบทุกคน รู้จักพื้นที่ดี รู้จักสัตว์ป่า และเกือบทุกคนเคยมีอาชีพเป็นพราน

ผมอยู่ในสถานภาพของเด็กหนุ่มที่มีความตั้งใจ ไร้ประสบการณ์ พวกเขาจึงไม่ต่างจากครู, พี่เลี้ยง และหลายครั้งที่ครูคงเอือมระอากับความเก้ๆ กังๆ ของผม

“สัตว์น่ะมันกลัวคน แค่ได้กลิ่นหรือได้ยินเสียงก็ไม่มีตัวอะไรออกมาให้เห็นหรอก” คำสอนจากลุงศรี ขณะล้อมวงกินข้าวในตอนค่ำ

“ต้องรู้ด้วยว่าทิศทางลมไปทางไหน สัตว์ใช้ด่านไหนเป็นทางเข้า-ออก จะได้ทำซุ้มบังไพรให้ถูก ไม่ใช่ไปตั้งบังไพรขวางทางมัน” ลุงเหมือนเพิ่มเติม

ทั้งคู่เกิดและเติบโตในป่า หมู่บ้านถูกย้ายออกไปเมื่อป่าได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์

“และอย่าคิดว่าสัตว์มันโง่ จะไม่รู้ว่าเราอยู่แถวนั้น กิ่งไม้ที่จะเอามาบังซุ้ม ต้องไปตัดไกลๆ” ลุงเหมือน ให้ใช้ดินป้ายปิดแผลกิ่งไม้ที่ตัดมาด้วย

“อย่าคิดว่าสัตว์สังเกตไม่เห็นความผิดปกตินี้” ลุงเหมือน ได้ชื่อว่าเป็นพรานที่เก่งกล้า ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ

ช้างป่า – เมื่อแหล่งอาศัยได้รับการดูแลคุ้มครอง สัตว์ป่าก็มีโอกาสที่ดี ได้ใช้ชีวิตไปตามวิถี

การเดินในป่า พวกเขาก็สอนผม “เวลาเดินค่อยๆ ลงส้นเท้า เสียงจะได้ไม่ดัง ยิ่งช่วงแล้ง ใบไม้บนด่านเยอะ อย่าเดินลากเสียงมันดัง”

การใช้ชีวิตในป่า ก็เป็นเรื่องที่พวกเขาย้ำ

“ไม้ฟืน เวลาจะหยิบใช้เท้าเขี่ยๆ ดูก่อน งู แมงป่อง ตะขาบ ชอบอยู่ตามไม้แห้งนี่ ไม่ดูจะถูกมันฉกเอา” เป็นอีกเรื่องที่ลุงเหมือนสอน

“ก่อไฟตอนฝนตก ไม่ยากหรอก ฟืนเปียกๆ ให้ถากเปลือกออกซะก่อน เอาท่อนไม้วางเรียงกัน ก่อไฟข้างบน พวกเราเรียกว่า “ไฟสายฝน” วันหนึ่ง ผมใช้เวลานานอยู่กับการพยายามก่อไฟ กระทั่งลุงเหมือนต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

“หน้าฝนนี่ ถ้ารู้จักผักต่างๆ ก็จะไม่อด ผักกูด ผักหนาม ตามห้วยยิ่งเด็ดจะยิ่งแตกใหม่ เก็บไปแค่พอกิน อย่างอื่น อย่างเห็ด ถ้าไม่แน่ใจ อย่าไปยุ่งกับมัน”

ผมเริ่มเรียนรู้ว่า การทำงานอย่างที่ตั้งใจนั้น คล้ายกับว่า การกดชัตเตอร์ จะเป็นขั้นตอนสุดท้าย จะไปให้ถึงขั้นตอนนั้น มีเรื่องให้เรียนรู้มากมาย

“เวลาจะไอ ก้มลง แล้วไอค่อยๆ แบบนี้” ลุงเหมือนทำท่าให้ดู ตอนเรานั่งอยู่ในซุ้มบังไพร และมีกระทิงตัวหนึ่งอยู่ในโป่ง

ผมนึกถึงช่วงเวลานั้นบ่อยๆ มันคือช่วงเวลาของการเริ่มต้น

จากจุดนั้น เส้นทางทอดยาวมาไกลพอสมควร

 

บ่ายวันนั้น ท้องฟ้าเหนือวัด ขมุกขมัว ใต้ร่มไม้เป็นที่จอดรถ กระบะขับเคลื่อนสี่ล้อมอมๆ และมอเตอร์ไซค์จำนวนมาก

คนทั้งชายหญิง และเด็กๆ ในชุดเสื้อผ้าสีดำ ผู้ชายหลายคนอยู่ในชุดลายพราง

พวกเขามาร่วมส่งลุงเหมือน ผู้ชายซึ่งเดินทางมาถึงปลายทางของเขาแล้ว เสียงพลุดังก้อง นกพิราบฝูงใหญ่บินพรูออกจากต้นมะขามเทศ

ดอกไม้จันทน์ช่อแรกถูกวางบนโลงสีนวลๆ โดยหัวหน้าเขต

คนทยอยขึ้นบันได ท่ามกลางความโศกเศร้า ผมพบกับความหมายอย่างหนึ่ง

 

ผมมองกลุ่มควันสีดำที่ลอยสู่เบื้องบน

เริ่มต้นจากคนถือปืนเพื่อการฆ่า ลุงเหมือนจากไปในฐานะของพิทักษ์ป่า ผู้เข้มแข็งเอาจริง

อาจไม่สำคัญหรอกว่าจะเริ่มต้นมาเช่นไร

เพราะดูเหมือนว่า ความหมายจะอยู่ที่ “ปลายทาง” •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ