โดมิโนในสงครามกลางเมืองเมียนมา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(Photo by AFP)

โดมิโน (Domino) โดยทั่วไปหมายถึง เกมที่ตัวเล่นตัวหนึ่งล้มลง แล้วทำให้ตัวเล่นอื่นล้มตามไปด้วยจนอาจจบเกม แนวคิดนี้ฝรั่งนำมาใช้เป็นทฤษฎีการเมืองเพื่อใช้อธิบายภัยคุกคามของขบวนการคอมมิวนิสต์ประเทศหนึ่ง อาจลามไปล้มอีกประเทศหนึ่งได้ เคยนำมาใช้อธิบายขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามคุกคาม ล้ม (ยึดครอง) เวียดนามใต้ แล้วลามมาที่ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีการนำแนวคิดโดมิโนมาใช้อีกครั้งแต่ไม่ใช่เรื่องขบวนการคอมมิวนิสต์ แต่นำมาอธิบายความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารเมียนมาต่อฝ่ายต่อต้าน จริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่กล้าสรุป แต่จะย้อนพินิจความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารเมียนมานับตั้งแต่มกราคม 2024 อาจช่วยให้เราเห็นภาพใหญ่ในสงครามกลางเมืองเมียนมาได้

 

เหตุการณ์ที่เมียวดี เมียนมา

9เมษายน กองกำลัง Karen National Liberation Army ซึ่งมีกำลังขององค์กรชาติพันธุ์ติดอาวุธ ได้แก่ Karen National Union-KNU หน่วยต่างๆ จากอดีต Border Guards Force อดีตกำลังทหารและฝ่ายต่างๆ ของ People’s Defense Forces ( PDFs) ยึดเมืองเมียวดี เมืองติดชายแดนไทย หลังจากสู้รบต่อเนื่องด้วยกำลังทหาร 200,000 คน พร้อมการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลทหารด้วยกำลังทางอากาศ ยุติลงด้วยฝ่ายต่อต้านประสบความสำเร็จ

รัฐบาลทหารยังสูญเสียพื้นที่ต่อไป จากการรวมตัวหลวมๆ แต่เติบโตขึ้นของฝ่ายนิยมประชาธิปไตย นำโดยรัฐบาลพลเรือนชื่อทางการว่า National Unity Government (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ

ตอนนี้ดุลอำนาจในเมียนมากำลังเปลี่ยนแปลงด้านการทหาร จากแง่มุมทางยุทธศาสตร์ การมีอำนาจของฝ่ายทหารเมียนมาลื่นไถล แต่ฝ่ายต่อต้านต้องการความเหนือกว่าเพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า Spring Revolution

13 เมษายน ข่าวล่าสุดมีการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านเพื่อบริหารประเทศแล้ว

 

โดมิโนล้มตามชายขอบเมียนมา

หลังสร้างแรงกดดันอย่างช้าๆ ในปี 2023 กองกำลังฝ่ายต่อต้านต่อสู้กับทหารที่ยึดอำนาจเมื่อกุมภาพันธ์ 2021 ยึดพื้นที่สำคัญและเมืองทั่วเมียนมาตลอด 5 เดือน

27 ตุลาคม 2023 พันธมิตรภราดรภาพไตรภาคีแห่งทหารอาระกัน (Three Brotherhood Alliance of the Arakan-AA), Myanmar National Democratic Alliance Army- MNDAA และ Ta’ang National Liberation ARMY-TNLA โจมตีเป้าหมายทางทหารทั่วรัฐฉานเหนือบริเวณชายแดนจีน

ก่อนหน้านี้ กลุ่มต่างๆ สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน แต่ไม่เข้าสู่ ‘ภาวะสงคราม’ โดยตรง แต่ตุลาคม 2023 พันธมิตรภราดรภาพไตรภาคีฯ ใช้ความได้เปรียบจากความรู้สึกตะลึงของจีนเรื่องกลุ่มอาชญากรรมนานาชาติ ยึดเมืองใหญ่และตัดเส้นทางไฮเวย์สำคัญ

นี่เป็นจุดชัดเจนแรกของการสูญเสียเมืองและรายได้สำคัญของรัฐบาลทหาร ที่ส่งสัญญาณให้ขวัญกำลังใจฝ่ายรัฐบาลล่มสลายนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา1

ด้านตะวันตก การได้เปรียบจากความอ่อนแอของรัฐบาลทหาร Army of Arakan ประสบความสำเร็จอย่างสูง ชนะในรัฐยะไข่ (Rakhine) ฝั่งตะวันตกเมียนมา Army of Arakan ยึดเมืองได้ 6 เมืองจาก 17 เมืองของรัฐ แล้วใกล้เข้ายึดท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิว (Kyauphyu) ท่าเรือสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ที่มีท่อส่งน้ำมันและก๊าซสำคัญของประเทศ ฝ่ายต่อต้านมีเป้าหมายเข้ายึดเมืองฉิตต่วย (Sittwe) เมืองหลวงของรัฐ อันมีเป้าหมายชัดเจนจะได้ชายทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศ2

ด้านตะวันออก สถานะของรัฐบาลทหารสั่นไหว Pa-O National Liberation Organization ตัดสินใจเข้าสู่สงคราม รบกับรัฐบาลทหารเมื่อมกราคม 2024 เป้าหมายคือ เมือง Hsihseng ในรัฐฉานใต้ ที่รัฐ Kayah ฝ่ายต่อต้านได้เมือง Loikaw เมืองหลวงของรัฐและดินแดนทั้งหมดของรัฐ กองกำลัง KNU ในรัฐ Kayin ล้อมเมืองเกาว์กะเร็ก (Kawkareik) ตอนนี้ฝ่ายต่อต้านผลักดันกำลังทหารของรัฐบาลออกห่างจาก Asia Highway ที่เชื่อมเมียนมาและไทย ด้วยฝ่ายต่อต้านควบคุมเมืองเมียวดีอย่างสมบูรณ์

สถานะรัฐบาลทหารในตะวันออกอ่อนฮวบ ฝ่ายต่อต้านมุ่งสู่เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศอันเป็นความเสี่ยงแท้จริง

 

แม้ทหารรัฐบาลโจมตีหน่วยจรยุทธ์เมืองได้ไม่น้อย หลายวันมานี้ พื้นที่ภาคกลางและเนปิดอว์ ปฏิบัติการของโดรน (Drone) ของฝ่ายต่อต้าน ได้ชัยชนะเชิงสัญลักษณ์เมื่อมีการโจมตีศูนย์บัญชาการทหารและทำเนียบของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เนปิดอว์

การยึดเมืองต่างๆ เหล่านี้ทั่วชายขอบเมียนมา มีการคาดการณ์ว่า การต่อสู้จะแพร่ตรงมากกว่าเดิมต่อภูมิภาคของคนเบอร์มัน (Burman) หรือคนเชื้อสายพม่า

ฝ่ายต่อต้านได้ท่ามกลางความสิ้นหวังของผู้นำทหาร

5 เดือนของการได้ทางการทหารของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นับได้ว่าปี 2024 เป็นปีที่ฝ่ายต่อต้านก้าวเข้าสู่สถานะทางยุทธศาสตร์ที่ดีกว่าปี 2021 กล่าวคือ ตัดรัฐบาลทหารออกจากชายแดนของตนกับบังกลาเทศ อินเดีย จีน และตอนนี้ไทยด้วย โดยพื้นฐานของรัฐบาลทหารคือ ขาดแนวทางการต่อสู้ทางยุทธศาสตร์ แล้วยังแสวงหาอย่างสิ้นหวังด้านกำลังพลที่เพียงพอในการตอบโต้กลับ

แนวโน้มและความเป็นจริงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจที่ใกล้เคียงความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมืองเมียนมาขณะนี้มีอย่างน้อย 3 ประเด็น

1. การสิ้นสุดของสงครามยังห่างไกล

 

2. ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกำลังร่วมมือกันในระดับที่คาดการณ์ไม่ได้ เพราะสังคมเมียนมาประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์ของสงครามต่อสู้ระหว่างกันชนิดที่ไม่มีทางจะมีความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกันได้

แล้วสถานะล่าสุดของสงครามกลางเมืองหนนี้ยังก่อเกิดขึ้นมาของกรอบทางการเมือง (political framework) ที่มีความพอใจของผู้เล่นที่แตกต่างกันหลายฝ่าย และแน่ใจได้ว่า แนวคิดร่วมเรื่อง Spring Revolution ที่ประกาศออกมาเป็นกรอบทางการเมืองล่าสุดของฝ่ายต่อต้านที่ประกาศว่าพวกเขาเป็นฝ่ายนิยมประชาธิปไตยบ้าง เป็นกองกำลังปฏิวัติบ้าง Spring Revolution เป็นผลประโยชน์ของพวกเขาที่ยังห่างไกลความเป็นจริงมาก

อีกทั้งยังมีสัญญาณของความกังวล รวมทั้งความขัดแย้งความร่วมมือระหว่างกัน (intra coalition) เช่น

การควบคุมรัฐ Chin

ความกังวลของ Arakan Army จากแถลงการณ์ของพวกเขาที่อ้างถึงชาวโรฮิงญา

ความผิดหวังเรื่องภาวะผู้นำของ NUG ที่เป็นบรรดาผู้นำคนหนุ่มสาว

PDF และกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย

 

3. อภิมหาอำนาจกับเมียนมา

จีนและเพื่อนบ้านอื่นๆ กังวลเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะปักกิ่งถือว่าดีเมื่อเมียนมามีการแบ่งแยกภายใน แต่ความสงบช่วยให้การลงทุน หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road initiative) ของจีนทำต่อไปได้ ไม่มีการยับยั้ง จีนไม่กังวลกับผลประโยขน์ของตนที่กระตุ้นความสนใจของพันธมิตรภราดรภาพไตรภาคีฯ หยุดยิง

ตอนนี้การเจรจาในเมียนมากำลังเกิดขึ้นภายใต้ฤกษ์ดีของจีน

สหรัฐอเมริกา เราไม่ควรละเลยบทบาทสหรัฐอเมริกาต่อเมียนมา ตั้งแต่ยุคระบอบทหารหลังปี 1962 ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานและการนำของนางออง ซาน ซูจี นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 แล้วการกลับมาของเผด็จการทหารโดยรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2021

จากการศึกษาของ Lucas Myers3 หลังรัฐประหาร 2021 รัฐบาลสหรัฐเน้นการฟื้นฟูประชาธิปไตย แล้วยุทธการ 1027 ของฝ่ายต่อต้านคือ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ แล้วรัฐบาลสหรัฐหนุนฝ่ายต่อต้าน เพราะมาตรการเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงด้านความไร้เสถียรภาพหลังสงคราม ช่วยต่อต้านอิทธิพลจีนในเมียนมา แล้วทำให้อาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเสถียรภาพมากขึ้น

 

ที่สำคัญรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีนโยบาย Free and Open Indo-Pacific ดังนั้น ต้องมีความชัดเจนเรื่องหนุนฝ่ายต่อต้าน เพราะที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของเมียนมาอยู่ท่ามกลางอิทธิพลจีนและรัสเซีย วงรอบนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาควรสลัดมุมมองเดิมที่ว่า ทหารเป็นพลังอำนาจเดียวที่ลดความแตกแยกในเมียนมา ชนกลุ่มน้อยในเมียนมาสร้างปัญหามากกว่าเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับชัยชนะของฝ่ายต่อต้าน ไม่ยอมรับความขมขื่นของรัฐบาลทหาร แล้วรัฐบาลสหรัฐดูเหมือนไม่ได้เตรียมตัวเผชิญหน้ากับความเป็นไปได้ที่ทหารเมียนมาล่มสลาย4

ประเด็นเหล่านี้ช่วยย้ำให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญต่อพลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ในขณะเดียวกัน อิทธิพลจีนต่อเมียนมาก็อยู่ในกรอบนโยบายของรัฐบาลสหรัฐด้วย

โดมิโนไปทั่วเมียนมา ไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ กระทบภูมิภาคนี้แค่ไหน

 


1Lucas Myers, “The Myanmar Military is facing Death by a Thousand cuts” War on Rocks, 17 November 2023 :1-2.

2Zachary Abuza, “Arakan Army’s gains enough to enable self-rule in Myanmar’s Rakhine” Radio Free Asia, 6 April 2024 : 3.

3Lucas Myers, “US Policy on Myanmar for 2024 and Beyond” Indo-Pacific Program, Wison Center, 9 April 2024.

4Joshua Kurlantzick, “The Myanmar Army Could Actually Collapse-But Are the U.S. and other Power Ready for Such a Scenario?” Council on Foreign Relation, 30 November 2023 : 1-3.