แพทย์ พิจิตร : แบบแผนคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์กับ “ความเป็นสถาบันสูงสุด” ในสังคม

ตอน 1 2 3 4

70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (5) :
แบบแผนคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์กับ “ความเป็นสถาบันสูงสุด” ในสังคม

 

สังคมไทยภายใต้การปกครองเผด็จการอันยาวนานของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพวกพ้องนั้น ก็มิได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้

อีกทั้งยังใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีอยู่นั้นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวกเสียเป็นส่วนใหญ่ และใช้อำนาจมืดในการจัดการกับคู่ต่อสู้ทางการเมืองและประชาชนที่คัดค้านวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล

ตลอดจนไม่ได้พัฒนาเสริมสร้างการปกครองโดยรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า เข้มแข็ง

ผนวกกับการนำประเทศไทยไปร่วมมือกับญี่ปุ่นทำสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

นอกจากนี้ การพยายามสร้างตนเองให้เทียบเท่าพระมหากษัตริย์โดยการเสนอนโยบายสนับสนุนทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมดังที่กล่าวไปแล้ว ในขณะที่ตนมิได้เป็นผู้ปกครองที่อยู่ในทำนองคลองธรรมอย่างแท้จริง

จึงทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันอำนาจดั้งเดิมของสังคมไทยจึงดูจะเป็นความหวังที่พึ่งอันเดียวที่เหลืออยู่

สภาพการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่และไม่มีสิ่งใดจะทัดเทียมได้ในบริบทดังกล่าว

ความหวังความศรัทธาสุดท้ายที่ประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองอันฉ้อฉลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมีก็คือ องค์พระมหากษัตริย์ของพวกเขา และที่สำคัญยิ่ง พระองค์ทรงตระหนักถึงความศรัทธาและความหวังของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขา พระองค์ก็ย่อมทรงตระหนักถึงภาระหน้าที่ผูกพันของผู้ปกครองที่มีต่อประชาชน เยี่ยงองค์พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบการปกครองดั้งเดิมของไทย

(ดังเหตุการณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2489 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ ในขณะที่พระองค์ต้องเสด็จฯ ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ในวันเสด็จเดินทางว่า “ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้” จาก บทพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” เดือนสิงหาคม 2490)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า บริบททางการเมืองในขณะนั้น จะมีส่วนทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งหลักหนึ่งสำหรับประชาชนชาวไทย

แต่กระนั้น หากผู้เป็นพระมหากษัตริย์มิได้ประพฤติตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมและมิได้ตระหนักในความผูกพันในภาระความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชนของพระองค์แล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยากที่จะดำรงความเป็นสถาบันหลักแห่งชาติได้

แบบแผนคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์
กับ “ความเป็นสถาบันสูงสุด” ในสังคม

ด้วยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยึดมั่นและประยุกต์ “แบบแผนคติคุณธรรมของผู้ปกครองโบราณ” ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองสมัยใหม่ จึงนับเป็นการสร้างสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้กลายเป็นสถาบันสำคัญในระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งยังมีปัญหาไม่ลงตัวหลายประการ

การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยึดมั่นวางพระองค์อยู่ภายใต้คติคุณธรรมตามแบบแผนการปกครองในระบอบโบราณ ซึ่งอำนาจพระมหากษัตริย์อยู่เหนือขอบเขตแห่งกฎหมาย และทรงมุ่งพากเพียรในคุณธรรมในเงื่อนไขที่รัฐเป็นประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ในนาม และภายใต้การแก่งแย่งอำนาจผลประโยชน์

ในทางปฏิบัติ ผู้ทรงธรรมจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจบารมีเหนือกรอบเกณฑ์ของกฎหมาย

และเมื่อถึงยามวิกฤตแห่งความขัดแย้งทางการเมืองและรัฐธรรมนูญกฎหมายมิได้รับการเคารพ สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่สามารถเป็นหลักในการแก้ไขความขัดแย้งนั้นได้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นทางออกสุดท้ายของทางตันทางการเมืองต่างๆ

ที่ผ่านมา เป็นสถาบันหลักในการฝ่าฟันวิกฤตการณ์ร้ายแรงสำคัญหลายครั้งที่ผ่านมาของชาติได้

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตที่เกิดจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ

และสามารถยุติปัญหาต่างๆ ได้ด้วยคุณธรรมบารมีที่ท่านทรงสั่งสมมาตลอดนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา

ดังที่กล่าวไปในส่วนที่ผ่านมาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ ด้วยหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ในนามประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เพียงสามปี พระองค์ก็ทรงสละราชสมบัติ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงมีพระชนมายุเพียงสิบพรรษา ยังต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระชนมายุได้สิบเก้าพรรษา ได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยในปลายปี พ.ศ.2488

แต่ในปีต่อมาพระองค์ก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงเป็นผู้ต้องรับพระราชภาระในการสร้างและวางบทบาทสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นใหม่ด้วยพระองค์เอง

เนื่องจากยังมิได้มีตัวอย่างแบบแผนของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ต้องเผชิญสภาพการณ์เช่นนั้น

กระนั้น ก็เป็นที่ทราบดีว่า คติของความเป็นผู้ปกครองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยึดมั่นนั้น ได้แก่ แบบแผนของคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตโบราณ ซึ่งมีวิวัฒนาการและการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจากการประยุกต์และตีความโดยพระองค์เองให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

แบบแผนของคติคุณธรรมของความเป็นผู้ปกครองของไทยนั้นคือ การผสมผสานกลมกลืนของคติแนวคิดเกี่ยวกับผู้ปกครองของพุทธศาสนาเถรวาท พราหมณ์และความเชื่อผี

ซึ่งในประเด็นนี้มีผู้ศึกษาไว้แล้วไม่น้อย อีกทั้งการศึกษาตีความเนื้อหาของคติทางพราหมณ์และฮินดูที่เทียบพระมหากษัตริย์ดั่งสมมุติเทพ คติทางพุทธศาสนาในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ปกครองในฐานะของมหาชนสมมุติ พระเจ้าจักรพรรดิและธรรมราชาที่ปรากฏในอัคคัญสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกของนักวิชาการผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ก็มิได้แตกต่างกันมากนัก

รวมทั้งการไม่มีข้อโต้แย้งในการตีความอิทธิพลแนวคิดเกี่ยวกับผู้ปกครองที่ปกครองประชาชนเยี่ยงบิดาปกครองบุตรที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากหลักการธรรมราชาของพระเจ้าอโศกมหาราชและพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในศิลาจารึกของพระเจ้าลิไทในสมัยสุโขทัยด้วย

ขณะเดียวกัน วรรณกรรมที่เป็นหลักฐานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนการสืบสานคติแนวคิดทางการปกครองที่ผสมผสานจากอิทธิพลพราหมณ์-ฮินดูและพุทธศาสนาจากตอนปลายสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์คือ “ปูมราชธรรม” ซึ่งมีเนื้อหาสอดรับกับคติทั้งสามที่ว่าไว้

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า แบบแผนของคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตโบราณมีวิวัฒนาการและการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจากการประยุกต์และตีความโดยในแต่ละสมัยให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังจะเห็นได้จาก การประยุกต์ตีความคติคุณธรรมของผู้ปกครองตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1

และผู้เขียนจักได้กล่าวขยายความในตอนต่อไป