แพทย์ พิจิตร : ‘คติแห่งเทวราชา-สมมุติเทพแบบพราหมณ์’ ให้ผู้ปกครองมีอำนาจมากเกินไป อันนำไปสู่ความฉ้อฉล

AFP PHOTO / STR

ตอน 1 2 3 4 5

70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (6) : คติแห่งเทวราชา-สมมุติเทพแบบพราหมณ์ (divine kingship) ให้ผู้ปกครองมีอำนาจมากเกินไป อันนำไปสู่ความฉ้อฉล (corrupted)

ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า แบบแผนของคติคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตโบราณมีวิวัฒนาการและการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจากการประยุกต์และตีความโดยในแต่ละสมัยให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังจะเห็นได้จากการประยุกต์ตีความคติคุณธรรมของผู้ปกครองในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยนักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ความคิดเกี่ยวกับจักรพรรดิได้รับการบรรยายโดยละเอียดใน “ไตรภูมิพระร่วง”

แต่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์แห่งสุโขทัยไม่เคยอ้างพระองค์เป็นจักรพรรดิเลย

ต่างกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแม้ว่าจะรับเอาคติธรรมราชาธิราชเอาไว้ แต่คติจักรพรรดิและจุลจักรพรรดิได้รับการเน้นอย่างมาก…

เมื่อถึงปลายอยุธยา คติจักรพรรดิและธรรมิกราชาธิราชยังคงมีอิทธิพลมาก” {สายชล สัตยานุรักษ์, พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ.2325-2352), หน้า 202} และแม้ว่าคติจักรพรรดิจะปรากฏสืบเนื่องถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ก็มีเน้นที่แตกต่างไปจากสมัยอยุธยา

นั่นคือ “การที่ชนชั้นนำในรัชกาลที่ 1 มีความเป็นกระฎุมพีมากขึ้น มีผลลึกซึ้งต่อความคิดเกี่ยวกับจักรพรรดิ กล่าวคือ ทำให้เน้นภารกิจของจักรพรรดิเฉพาะส่วนที่พระมหากษัตริย์จะสามารถปฏิบัติได้จริงๆ”

ขณะเดียวกัน ราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เลือกเน้นคติธรรมิกราชเสียมากกว่าจักรพรรดิราชอย่างพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา

ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะ “ในหมู่ชนชั้นนำซึ่งมีความคิดแบบเหตุผลนิยมและสัจจนิยมมากขึ้น การที่พระมหากษัตริย์จะทรงแสดงออกว่าทรงเป็นธรรมิกราชาธิราชจะมีรากฐานอยู่บนประสบการณ์ตามที่เป็นจริงมากกว่าการเป็นจักรพรรดิ”

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้การ “ให้ความสำคัญแก่ลักษณะที่เป็นพิธีกรรมในการต่างๆ น้อยลงมาก…ให้ความสำคัญแก่กษัตริยภาพอันศักดิ์สิทธิ์น้อยลง แต่จะเน้นความชอบธรรมของอำนาจที่เกิดจากการทำหน้าที่ต่อสังคมแทน”

 

การเปลี่ยนแปลงจุดเน้นในคติคุณธรรมจากอิทธิพลพราหมณ์ในสัญลักษณ์และพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์โดยกลุ่มชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้มิได้หมายความว่า รัชกาลที่หนึ่งและพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มา ขาดความรู้เข้าใจที่แท้จริงในนัยความหมายของประเพณีและพระราชพิธีแบบพราหมณ์

ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรียังคงรักษาและดำเนินตามจารีตพระราชพิธีดังกล่าวต่อไป

แต่เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะเป็นประเด็นเหตุผลนิยมและสัจจนิยมข้างต้นแล้ว

นักวิชาการบางท่านได้เสริมว่า คติแห่งเทวราชา-สมมุติเทพแบบพราหมณ์ (divine kingship) นั้น ให้ผู้ปกครองมีอำนาจมากเกินไปอันนำไปสู่ความฉ้อฉล (corrupted) ของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาได้ และมีผลทำให้เสียราชอาณาจักร

ขณะเดียวกัน ด้วยความคิดความเชื่อดังกล่าวนี้และความจำเป็นในการหารากฐานใหม่ในการสนับสนุนราชวงศ์ใหม่ซึ่งมาจากสามัญชน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระมหาพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาจึงใช้หลักการพุทธศาสนาและแนวคิดผู้ปกครองแบบพุทธที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมกันมากขึ้น

(ศุภมิตร ปิติพัฒน์, วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในช่วงรัฐธรรมนูญ 2475 ถึงปัจจุบัน)

จนในที่สุดแล้ว จะเห็นได้ว่า การประยุกต์ตีความคติคุณธรรมของผู้ปกครองในสมัยรัชกาลที่ 1 นำไปสู่คติแห่งการปกครองที่เน้นให้ “พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์…เป็นพระโพธิสัตว์และเป็นธรรมิกราชาธิราช”

อันนำมาซึ่งแนวทางแห่งภารกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในด้านต่างๆ

อาทิ ศาสนา อาณาจักร การปกครอง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนที่เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คติคุณธรรมดังกล่าวถูกเลือกและตีความให้สอดคล้องกับภาวะสมัยนั่นเอง

ในรัชกาลต่อๆ มา จะพบการประยุกต์ตีความคติคุณธรรมของผู้ปกครองที่เน้นในประเด็นสำคัญที่ต่างกันไปบ้าง

แต่ประเด็นเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่อยู่ในคติคุณธรรมตามราชประเพณีของสังคมไทยอยู่แล้ว

เช่น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงให้ความสำคัญกับการค้นพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่เน้นคติแห่งการปกครองที่เปรียบผู้ปกครองเสมือน “บิดาปกครองบุตร” และราษฎรสามารถ “ฎีการ้องทุกข์” ต่อผู้ปกครองผู้เป็นเสมือนหนึ่งพ่อเมืองได้ด้วยการสั่นกระดิ่ง

การให้ความสำคัญกับเนื้อหาดังกล่าวในจารึกสุโขทัยก็เพื่อจะตอกย้ำในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการปกครองของไทย และย้ำและรื้อฟื้นในคุณธรรมของผู้ปกครองไทยที่ปกครองราษฎรด้วยหัวใจของบิดาที่มีต่อบุตร

ซึ่งคติคุณธรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองในสมัยอยุธยา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงนำสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความใกล้ชิดประชาชนมากขึ้นอีกด้วย

จากการที่เสด็จนอกพระราชวังและเมืองหลวงบ่อยครั้งในการตรวจเยี่ยมห่วงใยทุกข์สุขของประชาราษฎร

อีกทั้งพระองค์ทรงเน้นว่า พระมหากษัตริย์เป็น “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ตามแนวคิดเรื่องผู้ปกครองคือมหาชนสมมุติในพุทธศาสนาด้วย

เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ของประเทศไทย บทบาทของพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีนับตั้งแต่รัชกาลที่สี่เป็นต้นมา มีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า นโยบายและแนวทางการปฏิรูปและปรับตัวของสยามในบริบทของการล่าอาณานิคม ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดำรงรักษาเอกราช การสร้างรัฐชาติ และระบบบริหารราชการแผ่นดินสมัยใหม่ พร้อมกันไปกับการส่งเสริมสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จที่รับรู้กันโดยทั่วไปเช่นนี้ มีผลทำให้รากฐานแห่งความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมิได้มีแต่เพียงการอาศัยความคิดหรือคติธรรมโบราณเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงบทบาทและพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่างๆ ที่มาพร้อมกับยุคและภาวะสมัยใหม่

และในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงนั้น

รากฐานความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในส่วนที่เป็นคติธรรมโบราณ และในส่วนที่เป็นสดมภ์หลักในการปรับตัวของประเทศเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองได้ในภาวะสมัยใหม่นี้ คือกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจบทบาทและพระราชกรณียกิจต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงปฏิบัติมาตลอดรัชสมัย

จนบังเกิดเป็นผลทำให้พระบรมเดชานุภาพแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูเพิ่มพูนขึ้น จนอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะในใจของเหล่าพสกนิกรถ้วนหน้า

และด้วยพระบรมเดชานุภาพซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานความชอบธรรมอันหนักแน่นนี้ ที่ได้ช่วยประคับประคองประเทศชาติบ้านเมืองให้สามารถก้าวพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเสื่อมโทรมของสถาบันทางการเมือง อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกภายในชาติ

 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การฉวยอำนาจด้วยการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันฉ้อฉลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสถาปนาระบอบปฏิวัติขึ้นแทนที่ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ จำเป็นต้องหาแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมใหม่ให้แก่ระบบของตน

จึงหันมาสนับสนุนและส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่ออาศัยการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของ “ชาติ””

และในฐานะที่ทรง “มีอิทธิพลเหนือความคิดเห็นของประชาชน” ในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลและระบอบการปกครองในสายตาของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้เองที่เปิดโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแสดงบทบาทและปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่พึงเข้าใจด้วยว่า บทบาทและพระราชกรณียกิจเหล่านี้ มิได้ดำเนินไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบเผด็จการ หรือเพื่อมุ่ง “สถาปนาพระราชอำนาจนำ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเป้าหมายหลักในตัวเองดังข้อสรุปของนักวิชาการบางท่าน

ดังจักได้กล่าวถึงในตอนต่อไป