พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (4) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ 3

 

ตอน 1  2  3

(4)

นานาธาตุญาณ (ญาณหยั่งรู้ธาตุต่างๆ) ในตำราพูดถึง ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ของบุคคลว่าสภาวะมันเป็นอย่างไร

ธาตุก็คือองค์ประกอบใหญ่ๆ ของชีวิตคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์คือหมวด หรือกลุ่มของรูปธรรมกับนามธรรม อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น

สรุปด้วยคำพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นครูสอนคนอื่น ต้องรู้จักองค์ประกอบต่างๆ และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านั้นในกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล อันจะเป็นเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนให้ได้ผลดี

คงไม่ต้องเกณฑ์ให้ครูต้องไปฝึกถือมีดผ่าศพ เพื่อจะเรียนรู้ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกายว่า ตับไตไส้ปอดเป็นอย่างไร เอาเพียงแค่ให้เรียนรู้หน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านั้นในกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ แล้วรู้จักเสริมเติมต่อให้การเรียนรู้นั้นเป็นไปด้วยดี

ตามีหน้าที่ดู หูมีหน้าที่ฟัง จมูกมีหน้าที่สูดกลิ่น ลิ้นมีหน้าที่ในการลิ้มรส กายมีหน้าที่รับสัมผัส ใจมีหน้าที่คิด จะต้องดูอย่างไร คิดอย่างไร ที่จะให้เกิดการเรียนรู้และปฏิบัติอย่างถูกต้อง ครูต้องเก่งในการให้คำแนะนำ

พระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงรู้ดีว่า ปุถุชนทั่วไปมักจะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อองค์ประกอบเหล่านี้อย่างถูกต้อง พระองค์จึงทรงสอนให้มีสติสัมปชัญญะ (รู้เท่าและรู้ทัน) มีสังวร (ระวังควบคุมการแสดงออก) หาไม่แล้วจะตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่ได้เห็นได้ยิน เป็นต้นนั้น

ในพระสูตรหนึ่ง พระองค์ตรัสเปรียบเทียบว่า มีสัตว์อยู่ 6 ตัว คือ งู นก จระเข้ สุนัขบ้าน สุนัขป่า และลิง เมื่อเอามาผูกติดกันไว้ ต่างก็จะดิ้นรนเพื่อไปสู่ที่ที่ตนเคยชิน งูก็จะเลื้อยเข้าจอมปลวก นกจะบินขึ้นฟ้า จระเข้จะลงน้ำ สุนัขบ้านจะวิ่งเข้าบ้าน สุนัขป่าจะวิ่งเข้าป่า ลิงจะปืนขึ้นต้นไม้ ฉันใด

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของคนมักจะทำหน้าที่ ดู ฟัง สูดกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และคิดคำนึงตามความเคยชินของมัน

ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปตามความอยาก ไม่รู้จักควบคุม ก็จะถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำฉันนั้นแล

ผู้เรียนรู้บางคนตกเป็นทาสตา ชอบแส่หาแต่สิ่งที่สวยงาม หรือสิ่งที่ชอบใจดู เช่น เรียนไม่เรียน ชอบเที่ยวเตร่ไปดูหนังดูละคร ดูคอนเสิร์ต ดูลิเกละคร

บางคนก็ตกเป็นทาสของลิ้นหรือปาก เช่น ชอบหากินแต่อาหารที่เอร็ดอร่อย อยู่ไกลถึงไหนก็อุตส่าห์ถ่อสังขารไปกิน

 

หรือบางคนก็ชอบลิ้มชอบลองยาบ้า ยาเสพติดจนตกเป็นทาสถอนไม่ขึ้น บางคนก็ตกเป็นทาสทุกข์ “อายตนะ” ไม่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาหมดทุกอย่าง ขอแต่ให้ “อยาก” ทางไหนก็พยายามแสวงหามาปรนเปรอหมดสิ้น

พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามดู ห้ามฟัง แต่ทรงสอนให้ดู ให้ฟัง เท่าที่จำเป็น หรือดูฟังด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติสัมปชัญญะกำกับ ขณะเห็น ได้ยิน จะรู้เท่ารู้ทัน เกิดญาณปัญญา

บางคนเวลาดูเวลาฟังก็พอจะมีสติสัมปชัญญะเท่าทันดี แต่เวลาคิดแล้วมักจะไม่สามารถควบคุมได้ พระพุทธองค์จะมีวิธีสอนที่เหมาะแก่เขา ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

พระภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความท้อแท้ไม่อยากบวชอยู่อีกต่อไป เพราะเกิดความรู้สึกว่าศีลมีวัตรที่จะต้องรักษามากเกินไป จะทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ทำอย่างโน้นก็ไม่ได้ พูดอีกนัยหนึ่งว่า จะหันไปทางไหนก็ผิดหมด แทบกระดิกตัวไม่ได้อะไรทำนองนั้น จึงคิดจะลาสิกขาไปครองเรือนตามประสาโลกียชนต่อไป

อุปัชฌาย์นำตัวเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสถามสาเหตุว่าทำไมจึงคิดสึก พระหนุ่มก็กราบทูลตามนั้น พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ถ้าเธอคิดว่า ศีลวัตรมีมากเกินไป ตถาคตจะลดให้เหลือศีลข้อเดียวให้เธอรักษา เธอจะยินดีอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปไหม” ภิกษุหนุ่มรับปากทันที เพราะรักษาศีลเพียงข้อเดียวง่ายกว่ารักษา 227 ข้อ เป็นไหนๆ

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ต่อไปนี้ ขอให้เธอรักษาจิตของเธอให้ดี”

ข้อเดียวจริงๆ ครับ แต่ถ้ารักษาข้อนี้ได้ ก็เท่ากับรักษาได้ทุกข้อนั่นแล

สรุปตรงนี้ก็คือ เป็นครูสอนคนก็ต้องมีนานาธาตุญาณคือ รู้จักวิธีพัฒนาการเรียนรู้ผ่านองค์ประกอบทางร่างกายต่างๆ เป็นอย่างดี ศิษย์คนใดควรจะเน้นองค์ประกอบใดเป็นพิเศษหรือไม่อย่างใด ครูต้องรอบรู้ทั้งปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไขเป็นอย่างดี ดังที่พระพุทธองค์ทรงแก้ไขให้สาวกของพระองค์ในเรื่องข้างต้น

(5)

นานาธิมุตติกญาณ (ญาณหยั่งรู้ความโน้มเอียงของผู้เรียน) ว่ากันว่าแต่ละคนมีอัธยาศัย ความโน้มเอียง แนวความสนใจ ความถนัดไม่เหมือนกัน

ไม่ต้องดูอื่นไกล พ่อแม่มีลูกสามคน คลานตามกันออกมาจากท้องเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเดียวกัน

คนโตชอบวาดรูป เขียนรูปเก่งทั้งๆ ที่ไม่ได้ฝึกฝนมาจากไหน

คนกลางดูกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ เปิดดูทีวีจ้องดูแต่บอล มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อแต่หนังสือกีฬา วันไหนไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับกีฬาให้รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย

คนเล็กหนังสือไม่ชอบอ่าน ชอบช่วยคุณแม่ทำครัว ทำอาหารเป็นแทบทุกอย่าง มีความสุขมากที่ได้เข้าครัวทำอาหาร

แนวความสนใจ หรือความโน้มเอียงไปคนละทาง เมื่อชอบเรื่องใดก็จะทำเรื่องนั้น ทำบ่อยๆ เข้าก็เกิดความเคยชินและชำนาญ เรียกว่ามีความถนัดในด้านนั้นๆ ใครถนัดทางด้านใด ถ้าครูผู้สอนรู้ดีก็จะทำหน้าที่สอนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นจะต้องสังเกตรู้แนวโน้มความถนัดของศิษย์ แล้วสอนให้เหมาะแก่แนวโน้ม ความถนัดนั้นๆ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างอย่างดีที่สุดในเรื่องนี้

ขอยกเรื่องเดียวสั้นๆ พระสารีบุตรมีสัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้เอง) รูปหนึ่ง ท่านพยายามให้กรรมฐาน เพื่อให้ศิษย์ฝึกฝนปฏิบัติ ศิษย์ที่คร่ำเคร่งปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์

ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ก้าวหน้าสักที มีแต่ถดถอย จนอาจารย์เองก็เกือบๆ จะ “ถอดใจ” อยู่แล้ว

วันหนึ่งท่านนำนักศึกษาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถึงเรื่องนี้และขอพระสารีบุตรว่า พระองค์จะให้กรรมฐานแก่ศิษย์พระสารีบุตรเอง

จากนั้นพระองค์ทรงนำเธอไปยังริมน้ำแห่งหนึ่ง ประทานดอกบัว (ตำราว่าทรงเนรมิตดอกปทุมขึ้นดอกหนึ่ง) ให้เธอ รับสั่งให้ปักที่กองทรายแล้วนั่งเพ่ง ขณะภิกษุหนุ่มเพ่งดอกบัวพลางบริกรรมหรือท่องในใจเบาๆ กำกับไปด้วย สักพักหนึ่งดอกบัวค่อยๆ เหี่ยวเฉาลง

เธอมองเห็นแล้วเกิดความคิดเปรียบเทียบมองเห็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) สักพักใหญ่ๆ ก็บรรลุพระอรหัต

คัมภีร์บอกว่า พระสารีบุตรผู้อุปัชฌาย์ ไม่รู้อธิมุติ (ความถนัด) ของศิษย์ สอนให้ศิษย์พิจารณาดูความไม่งามของร่างกาย สอนยังไงๆ ศิษย์ก็มองไม่เห็นความน่าเกลียดของร่างกาย ยิ่งมองก็ยิ่งเห็นแต่ความงดงาม ความน่าพิศวงของร่างกาย ทั้งนี้เพราะในชาติปางก่อนไม่รู้กี่ชาติๆ ภิกษุหนุ่มเกิดเป็นช่างทอง วันๆ ขลุกอยู่กับการหลอมทองทำเครื่องประดับทองแบบต่างๆ ล้วนแต่สวยสดงดงามทั้งนั้น

เมื่อมาเกิดชาตินี้นิสัยชอบสวยชอบงามเป็นพื้นของจิตอยู่แล้ว เมื่อมีใครไปสอนว่าให้มองอะไรๆ ว่าน่าเกลียดไม่สวยงาม ก็จะขัดกับแนวโน้มความสนใจ

 

ทางที่ถูกก็ต้องเอา “หนามบ่งหนาม” คือ สอนให้ดูความงามของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังพระพุทธเจ้าให้เธอจ้องดูดอกบัว เมื่อสิ่งที่จ้องดูนั้นมันแปรสภาพไป เธอก็จะเกิดความ “ฉุกคิด” ขึ้นมาเอง มิพักต้องให้ใครชี้นำ

อย่าลืมว่า ความรู้เกิดขึ้นที่ผู้เรียนเอง มิใช่สิ่งที่ครูยัดเยียดให้ และอย่าคิดว่าครูชอบอะไรแล้วจะต้องบังคับให้ศิษย์ชอบตามด้วย ครูคิดอย่างไรแล้วต้องให้ศิษย์คิดเหมือนตนด้วย ถ้าคิดอย่างนี้เมื่อไหร่ หน้าที่การสอนศิษย์จะล้มเหลว

ดูละครเรื่องหนึ่ง พ่อเป็นวิศวกรก็เคี่ยวเข็ญให้ลูกซึ่งชอบศิลปะ เรียนวิศวะ ในที่สุดก็หมดโอกาสที่ชื่นชมกับวิศวกรหนุ่มหล่อที่วาดหวังเอาไว้ เพราะลูกชายเมื่อถูกเคี่ยวเข็ญหนักเข้าก็เลยฆ่าตัวตาย น่าสงสารแท้ๆ

(6)

อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ญาณหยั่งรู้ความยิ่งหรือความหย่อนแห่งอินทรีย์) ตีความง่ายๆ ไม่ต้องให้คิดให้ปวดสมองก็คือ รู้ความพร้อมของศิษย์ ว่าศิษย์แต่ละคนพร้อมที่จะให้สอนเรื่องนี้เมื่อไร

อย่าว่าแต่การสอนเลย เรื่องอื่นๆ เช่น ปลูกมะม่วงเอาผลมากิน ก็ยังต้องการความรู้ชนิดนี้เลย ไม่ต้องยกคนอื่นดอก ยก (ความโง่) ของตัวเองนี่แหละ มีมะม่วงที่หน้าบ้านต้นหนึ่ง เพื่อนเขาให้มาปลูก เป็นมะม่วงสามฤดู ปีหนึ่งออกลูกไม่รู้กี่ครั้ง ไม่ค่อยได้ดูแลเพราะไม่มีความรู้ ออกดอกแล้วก็ติดบ้างไม่มาก ส่วนมากโดนแมลงดูดกินเกสรหมด เห็นว่ามะม่วงมันโตพอสมควรแล้ว ก็ไปยืมตะกร้าสอยมะม่วงจากเพื่อนบ้านมาสอยลงบ่มไว้สามสี่วัน กะว่าจะกินมะม่วงให้อิ่มอร่อยสักหน่อย

เปิดออกมาดูปรากฏว่ามะม่วงทั้งตะกร้าเน่าหมด กินไม่ได้แม้แต่ลูกเดียว ถามคนรู้เรื่องมะม่วงว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เขาอธิบายให้ฟังพร้อมหัวเราะไปด้วยว่า “มะม่วงมันยังไม่แก่พอ เอามันมาบ่มมันก็ไม่สุกนะสิ” แล้วเขาก็สอนวิธีดูมะม่วงว่า แค่ไหนอย่างไร ยังอ่อนอยู่แค่ไหนแก่พอเอามาบ่ม ไม่ใช่เห็นลูกใหญ่ๆ แล้วนึกว่าใช้ได้

มะม่วงยังไม่แก่พอก็บ่มไม่สุก คนที่อินทรีย์ยังไม่แก่ คือคนยังไม่มีความพร้อมที่จะรับสอน สอนยังไงก็ไม่สำเร็จ ฉันใดก็ฉันนั้นแล