เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก(1) ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน

ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ทุกข์ (ปัญหาต่างๆ ในชีวิต) เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายจะพึงเผชิญ ไม่มีมนุษย์ไหนที่เกิดมาแล้วจะไม่ประสบพบเจอความทุกข์

ทุกข์ระดับพื้นฐานก็คือ ความขัดข้องต่างๆ ในชีวิต ความเดือดร้อน ลำบาก ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก ความประจวบกับสิ่งที่เราไม่รักไม่ปรารถนา เช่น พบหน้าคนที่เราเกลียด ก็เป็นทุกข์

รวมไปถึงทุกข์ระดับสุดยอดแห่งชีวิตคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ

สรุปแล้ว ชีวิตของมนุษย์เรานี้มีปัญหา ว่ากันด้วยภาษาที่สื่อสารกันได้ง่ายๆ อย่างนี้เถอะครับ

 

การแก้ทุกข์ หรือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา มิใช่ว่าจะต้องปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ว่ามันมีทุกข์ มิใช่แกล้งลืมๆ มันเสีย มิใช่วิ่งหนีมันจนสุดโลก ถ้าแก้ปัญหาโดยวิธีนี้ แก้จนตายก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้

ทางที่ถูกที่ควรคือ ต้องหันหน้าเข้ามาประจันกับความทุกข์ หันหน้าเข้ามาทำความรู้ความเข้าใจกับปัญหาให้มันถูกต้อง

การจะรู้จะเข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง จะต้องรู้ลึกไปถึงต้นตอ รากเหง้า หรือเหตุเกิดของทุกข์หรือปัญหาด้วย เพราะฉะนั้น การรู้จักทุกข์หรือปัญหา จึงครอบคลุมถึงการรู้จักต้นตอของมันด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์หรือปัญหาสารพัดรูปแบบนั้น ดูเผินๆ แล้วมีสาเหตุหรือต้นตอมากมาย แต่ดูให้ลึก ดูให้ดีแล้ว มันมาจากสาเหตุ หรือต้นตอใหญ่เพียงประการเดียวคือ ตัณหาความอยากไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์

และตัณหานั้นมาจาก อวิชชา (ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ) อีกต่อหนึ่ง เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น อันมีความอยากเป็นตัวกระตุ้น สนับสนุน มนุษย์จึงกระทำการต่างๆ ในทางที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ตัวเองและสังคมรอบด้าน ยิ่งทำยิ่งเคลื่อนไหวมาก ก็ยิ่งเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้น

ในที่สุดแทนจะเป็นการแก้ปัญหา กลับเป็นการสร้างปัญหาหนักขึ้นไปจนบางทียากที่จะแก้ไข ไม่ผิดอะไรกับลิงติดตัง ว่ากันอย่างนั้น

ไม่เล่าก็ไม่เห็นภาพนะครับ ขอเล่านิทานแทรกตรงนี้เสียเลย

 

ไอ้จ๋อมันซนไปตามธรรมชาติของลิง วันหนึ่งเห็นคนเขาเอาตังสำหรับดักสัตว์มาวางไว้ ด้วยความซนอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร จึงเอามือขวาไปจับตัง ตังติดมือแกะไม่ออก มันก็เอามือซ้ายจับอีกมือหนึ่ง ติดอีก

คราวนี้ไอ้จ๋อมันจึงเอาเท้าซ้ายยัน เท้าซ้ายกลับติดหนึบ

มันจึงเอาเท้าขวายันออก เท้าขวาก็ติดอีก

คราวนี้ไอ้จ๋อผู้หน้าสงสารจึงดิ้นเต็มที่ มันกลิ้งหลุนๆ ดั่งหนึ่งลูกฟุตบอลที่โดนดาวซัลโวเตะ น่าสงสารอย่างยิ่ง

วาดภาพเอาก็แล้วกัน คนที่ถูกอวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริงครอบงำ ถูกตัณหา ความทะเยอทะยานอยากไม่รู้จบผสมหรือสนับสนุนเข้าอีกแรงหนึ่ง ก็จะตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกับไอ้จ๋อติดตังฉันนั้น

 

ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า การจะแก้ปัญหาและต้นตอของปัญหาได้จะต้อง “ศึกษา” ตามศัพท์แปลว่าสำเหนียกรู้และปฏิบัติ ระบบการศึกษาตามนัยพระพุทธศาสนาคือ การฝึกฝนอบรม บุคคล ให้พัฒนาปัญญา มีเจตคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น

เอ๊ะ พูดไปยาวชักจะเป็นวิชาการเกินไป ใช้ศัพท์ใช้แสงฟังไม่รู้เรื่อง “เจตคติ” บ้าง “พัฒนาปัญญา” บ้าง เอางี้แล้วกัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ การศึกษาที่ว่านี้คือ ฝึกให้เกิดความรู้ความเข้าใจนั่นเอง

คนเราเมื่อเข้าใจแล้ว ปัญหาย่อมหมดไปเอง บางทีไม่ทันจะคิดแก้เสียด้วยซ้ำ พอร้อง “อ๋อเข้าใจแล้ว” เท่านั้น ปัญหาหมดไปเลย เหมือนเปิดสวิตช์ปั๊บ แสงสว่างมีปุ๊บ ความมืดมันหายวับไปกับตาทันทีเลย

ไอ้ที่รู้ผิดๆ มาก่อน พอเกิดความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ก็หายสงสัยยังกับปลิดทิ้ง

 

พูดถึงเรื่องนี้นึกถึงหลวงปู่อูติตถิระ แห่งประเทศพม่า (ป่านนี้ท่านคงมรณภาพไปนานแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 ประมาณนั้น ผมยังบวชพระอยู่ ไปศึกษาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ

ระยะนั้นวัดไทยพุทธปทีป (ปทีป นะครับ อย่าเขียน ประทีป) เพิ่งเปิดใหม่ๆ เวลาปิดเทอมผมก็ลงมาช่วยงานพระธรรมทูตที่ลอนดอน จำได้ว่า ปีนั้นทางวัดได้จัดงานวันวิสาขบูชา ค่อนข้างใหญ่โต

พระเถระพม่า พระเถระลังกา และนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา อาทิ คริสต์มาส ฮัมฟรีย์ส นายกพุทธสมาคมกรุงลอนดอน มิสเตอร์และมิสซิสวอลซ์ สองสามีภรรยาผู้มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ได้รับนิมนต์และรับเชิญมาแสดงธรรมและกล่าวธรรมกถาด้วย

หลวงปู่อูติตถิระถูกกำหนดให้แสดงธรรมเรื่อง “นิพพาน” หลวงปู่กล่าวว่า เรื่องนิพพานไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพูดกัน ผู้พูดก็ไม่รู้ ผู้ฟังก็ไม่รู้ ไม่รู้กับไม่รู้บวกกันก็ยิ่งจะเข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่

“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน” หลวงปู่ว่า “อาตมาจะเล่านิทานให้ฟังก็แล้วกัน”

แล้วท่านก็เล่านิทานว่า หญิงสาวคนหนึ่งยังไม่เคยแต่งงาน ไม่รู้ว่าการแต่งงานนั้นเป็นอย่างไร (ความจริงท่านต้องการจะพูดว่า การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไร แต่ท่านเป็นพระ ท่านไม่ใช้คำนี้ ใช้คำให้รู้กันเอาเอง) จึงไปถามแม่ว่า “การแต่งงาน” เป็นอย่างไร

แม่บอกว่า มันไม่ต่างอะไรกับตีนคุดทะราดเหยียบกรวดดอกลูกเอ๋ย

ลูกสาวได้ยินดังนั้น ก็เข้าใจผิด เกิดความกลัวการแต่งงานมาแต่บัดนั้น เมื่อมีผู้มาสู่ขอกี่รายๆ ก็ปฏิเสธหมด

จนกระทั่งในที่สุด พ่อแม่ต้องใช้วิธีบังคับให้แต่งงาน เมื่อขัดพ่อแม่ไม่ได้ก็จำใจแต่งงาน แต่ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา เพราะความเข้าใจผิดที่ฝังอยู่มาเป็นเวลานาน

ในที่สุดสามีก็พยายามจนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเมื่ออยู่สองต่อสองกับแม่ หญิงสาวจึงเอากำปั้นทุบหลังแม่บอกว่า “หนูรู้แล้ว ไม่เป็นอย่างที่แม่บอกสักหน่อย”

หลวงปู่อูติตถิระเล่าถึงตรงนี้ก็สรุปว่าเบื้องแรกหญิงสาวได้ “คอนเซ็ปต์” (concept) ผิด เพราะผู้ให้การศึกษาไม่ทำตนเป็นกัลยาณมิตร จึงไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์ตรง รู้ตามความเป็นจริง ความเข้าใจผิด ความสงสัยต่างๆ ได้ปลาสนาการไปหมดสิ้น ไม่จำต้องถามใครอีกต่อไป พระนิพพานก็เช่นกัน ไม่ใช่จะมัวแต่มาถามคนอื่น อยากรู้ก็ต้องลงมือปฏิบัติให้แจ้งกระจ่างด้วยตัวเอง ท่านว่าอย่างนั้นนับเป็นการเทศนาที่แจ้งจางปางอะไรเช่นนั้น

รวมความก็คือ ปัญญาหรือความรู้ (เรียกว่า วิชชาก็ได้) เป็นตัวแก้ปัญหา การศึกษาคือ การฝึกฝนอบรมคนให้มีปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว รู้ตามความเป็นจริงแล้วปัญหาก็จะแก้ไขได้

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนวิธีการแก้ปัญหา ก็คือ

1. ปัญญา หรือความรู้ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นในตัวผู้เรียนเอง มิใช่สิ่งที่ครูอาจารย์หยิบยื่นให้ มิใช่สิ่งที่ครูบอกว่า นี่คือความรู้ นี่ไม่ใช่ความรู้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่นับว่าเป็นความรู้

2. ผู้สอน คือครูบาอาจารย์ จะต้องเป็นกัลยาณมิตร คือเป็นผู้ชี้แนะที่ถูกต้องให้ ถ้าชี้แนะผิดๆ ก็อาจพาไปนอกทาง หรือผิดพลาดไปได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทของครูอาจารย์อยู่ที่ “ชี้แนะแนวทาง” มิใช่เดินทางเอง ครูที่ทำแทนศิษย์เสียเอง มิใช่กัลยาณมิตร (ทำวิทยานิพนธ์แทนศิษย์นั่นไง ถึงศิษย์จะจบมาก็ไม่มีความรู้อะไร นับว่าล้มละลายทางศีลธรรมทั้งศิษย์และอาจารย์ทีเดียวแหละจ้า)

3. วิธีสอน อุบายและกลวิธีต่างๆ จำเป็นในการสอน เพราะช่วยเป็น “สื่อ” หรืออุปกรณ์ผ่อนแรงการเรียนการสอน และเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วและดีขึ้น

4. อิสรภาพในทางความคิด เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน ครูไม่ใช่ผู้เผด็จการทางปัญญา ครูมิใช่ผู้ให้ “สูตรสำเร็จ” แก่ศิษย์ ครูต้องช่วยให้เด็กดึงศักยภาพของตัวเองออกมาคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองอย่างอิสระ โดยไม่ถูกครอบงำ

พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทรงเป็นอย่างไรจะนำมาเสนอให้ฟังคราวหน้า

 

ขอแถมอีกนิดก่อนจะจบตอนนี้ ปัญญา เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในกระบวนการศึกษาสมควรเข้าใจสักเล็กน้อยว่า ปัญญาคืออะไร

ปัญญามักแปลเป็นไทยว่า “ความรู้” ควรแยกความรู้ออกเป็น 2 ระดับคือ

1. ความรู้ระดับสดับตรับฟัง หรือเล่าเรียน อ่าน หรือรับการถ่ายทอดจากแหล่งต่างๆ ผู้มีความรู้อย่างนี้มากจะเรียกว่า พหูสูต (ผู้คงแก่เรียน) ความรู้ระดับนี้ถึงจะมีประโยชน์มากในการดำรงชีวิต แต่มิใช่เป้าหมายแท้ของระบบการศึกษาตามแนวพระพุทธศาสนา

มีความรู้ระดับนี้ก็ดีกว่าไม่มี แต่ถ้ามีความรู้ระดับนี้มากๆ แล้วหลงผิดใช้ความรู้มากสร้างความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น สู้ไม่มีเสียดีกว่า

2. ความเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกวินิจฉัยและรู้จักจัดการให้ถูกต้อง รู้แล้วปล่อยวาง โลภ โกรธ หลง เบาบางลง ยึดมั่นถือมั่น ทิฐิมานะลดน้อยลง ความรู้อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปัญญา เป็นเป้าหมายสำคัญในระบบการศึกษาแบบพุทธ

ที่เรียกว่า ระบบการฝึกฝนอบรมตามแนวพระพุทธศาสนาคือ สร้างปัญญา (ความรู้) ให้เกิดขึ้นนั้น หมายถึงปัญญาประเภทนี้ขอรับ

ปัญญา หรือความรู้ประเภทนี้ มิได้วัดกันด้วยปริญญาบัตร คนไม่มีปริญญาบัตรแม้แต่ใบเดียวก็มีปัญญาประเภทนี้ได้

พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่เห็นท่านต้องมีใบปริญญาบัตรเลยครับ