เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (3) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ (ตอนที่2)

ย้อนอ่านตอนที่ 1

ข. ด้านคุณธรรม

ผู้ที่เป็นครูอาจารย์สอนคน จะต้องมีคุณธรรมตามอย่างพระบรมศาสดา 3 ประการใหญ่ๆ คือ ความรู้ ความดีงาม และน้ำใจ

ซึ่งจะขอสาธยายไปตามลำดับมากน้อยแล้วแต่น้ำลายจะแตกฟองมากน้อยเพียงใด

1. ความรู้ หรือปัญญา

ปัญญาเป็นคุณธรรมประการแรกและสำคัญที่สุดสำหรับคนที่จะสอนคนอื่น ไม่มีความรู้แล้วจะเอาอะไรไปสอนเขาเล่าครับ จริงไหม พระพุทธเจ้านั้นทรงมีความรู้ที่เรียกว่าทศพลญาณ (ความหยั่งรู้อันเป็นกำลัง 10 ประการ) และปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในด้านต่างๆ 4 ประการ) การสอนของพระองค์จึงประสบความสำเร็จ สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว ท่ามกลางหมู่ชนผู้มีความเชื่อ “ฝังหัว” ในเรื่องเก่าๆ แปลกๆ นานัปการ

ก. ทศพลญาณ

ผมอยากแปลง่ายๆ ว่า “กำลังภายใน 10 ขั้น” ตามประสาคนที่ชอบดูหนังกำลังภายใน

กำลังภายใน 10 ขั้นนี้เองที่ทำให้พระพุทธองค์สอนใครแล้วคนนั้นได้บรรลุทันที

กำลังภายใน 10 ประการคือ

(1)

ฐานาฐานญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้) ตีความง่ายๆ ก็คือ ทรงรู้ขีดขั้นความสามารถของผู้เรียนรู้ว่าแค่ไหนรับได้ แค่ไหนรับไม่ได้ ควรสอนอะไรได้แค่ไหน ที่ว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ มุ่งไปที่ผู้เรียนว่ารับได้ไหม รู้ไหม เข้าใจไหม ควรจะสอนตื้นลึกเพียงใด เป็นต้น

นึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ขณะเสด็จพุทธดำเนินไปในป่าสีสปาวัน (แปลกันว่า ป่าสีเสียดบ้าง ป่าประดู่ลายบ้าง) พระพุทธองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุสงฆ์ที่ตามเสด็จว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในกำมือตถาคตกับใบไม้บนต้นไม้ในป่าอย่างไหนมากกว่ากัน”

“ในพระหัตถ์ของพระองค์มีนิดหน่อย แต่บนต้นไม้ในป่ามีมากกว่าพระเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลายกราบทูล

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เช่นเดียวกันนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราตถาคตรู้นั้น มีมากดุจใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่เราตถาคตรู้แล้วนำมาสอนมีนิดเดียว ดุจใบไม้ในกำมือตถาคต”

ถามว่า ทำไมพระพุทธองค์ไม่สอนทุกเรื่องที่พระองค์ตรัสรู้ คำตอบก็คือ สอนน่ะสอนได้ แต่ผู้ฟังจะรับไปได้หรือไม่นั้นต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ ความสามารถที่จะรับรู้ของผู้ฟังมีขีดจำกัด พระองค์จึงนำมาสอนเฉพาะที่เขารับได้ และจำเป็นที่สุด

อาจารย์สอนเซนบางรูป เมื่อรับศิษย์ไว้ในสำนักแล้ว กว่าจะลงมือสอนก็ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปตั้ง 4-5 ปี ศิษย์ก็ทำหน้าที่ผ่าฝืนบ้าง ตักน้ำบ้าง หุงต้มบ้าง กวาดลานวัดบ้าง นึกน้อยใจว่าอาจารย์ไม่เมตตาสอนให้สักที ทั้งนี้เพราะอาจารย์รู้ขีดจำกัดของศิษย์ว่ายังไม่พร้อมที่จะรับสอน จึงจำต้อง “ปูพื้นฐาน” หรือสร้าง “เบสิก” ให้ศิษย์ก่อน

อย่างนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว อาจารย์ผู้สอนท่านรู้จักใช้ “ฐานาฐานญาณ” นั้นเอง

ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องพระวักกลิ และเรื่องพระรูปนันทาเถรี เป็นต้น ที่พระพุทธองค์ไม่รีบสอนจนกว่าทั้งสองท่านจะมีความพร้อมที่จะรับ

(2)

กัมมวิปากญาณ (ญาณหยั่งรู้การกระทำและผลของการกระทำ) ถอดความง่ายๆ ว่า หมายถึงเข้าใจกระบวนพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้เรียนเป็นอย่างดีว่าเขาทำอย่างนี้ในขณะนี้เพราะอะไร มีเหตุจูงใจหรือมีแรงกดดันอะไรจึงได้ทำอย่างนี้

กำลังภายในข้อนี้สำคัญมาก ถ้าครูผู้สอนไม่มีหรือมีน้อย จะสอนศิษย์ไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะไม่รู้ปัญหาในใจของศิษย์และไม่รู้วิธีแก้

ลูกชายเพื่อนผมคนหนึ่ง เมื่อตอนเด็ก มีนิสัยชอบขโมยของเพื่อน โดยเฉพาะของเล่น พอเพื่อนเผลอเป็นหยิบ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็มิใช่ยากจน มีฐานะพอสมควร

ครูจับได้ก็สอนไม่ให้ทำอีกก็รับปาก แต่พอเพื่อนเผลอก็หยิบอีก

ครูเองก็จนปัญญา ไม่รู้จะสอนอย่างไรจึงจะให้ศิษย์คนนี้เลิกหยิบเอาของของคนอื่น

พอดีครูนึกขึ้นมาได้ว่า เด็กอาจมีปัญหากดดันจากทางบ้าน จึงไปคุยกับพ่อแม่ของเด็ก สังเกตเห็นว่าพ่อแม่เข้มงวดมาก ไม่ยอมให้ลูกดูทีวี ไม่ยอมให้ลูกมีของเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ อ้างว่าเป็นของฟุ่มเฟือย เด็กอยู่ในวัยกำลังเล่น เห็นเพื่อนมีของเล่น ตัวเองไม่มีก็เกิดความอิจฉา เมื่อมีโอกาสก็หยิบฉวยเอาของเล่นของเพื่อน บางทีได้มาแล้วก็ไม่เอามาเล่น เอามาทำลายทิ้งเพื่อให้ “สะใจ” อะไรทำนองนั้น

ครูจึงอธิบายให้พ่อแม่ของเด็กเข้าใจ ขอให้ซื้อของเล่นให้ลูกเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ บ้าง จากนั้นมาไม่นานพฤติกรรมมือกาวของเด็กนั้นค่อยหายไป

นี่คือตัวอย่างของครูที่รู้จักกระบวนพฤติกรรมของศิษย์และหาทางแก้ไข ความสามารถอย่างนี้นับเป็นกำลังภายในอีกขั้นหนึ่ง

(3)

สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ญาณหยั่งรู้วิธีปฏิบัติที่ให้บรรลุผล) กำลังภายในขั้นนี้ตีความง่ายๆ คือรู้จักอุปสรรคและวิธีแก้ไขอุปสรรคให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการนั้นเอง

มีเรื่องเล่าว่า เมืองสองเมืองทำศึกสงครามกัน เมืองแรกมีขุนศึกที่เก่งกาจในการวางแผนการรบ รบทีไรก็กำชัยชนะที่นั้น จนกระทั่งเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งขยาด ระดมกุนซือที่สำคัญๆ มาปรึกษาหารือกันวางแผนรบ ไม่ว่าจะวางแผนอะไร ก็จะถูกตีโต้จากฝ่ายตรงข้ามเสมอ

เพราะขุนศึกของเมืองแรกนั้นแกมีหูทิพย์ สามารถได้ยินว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังวางแผนอะไร

ต่อมามีคนล่วงรู้ความลับนี้ ไปกระซิบบอกเจ้าเมืองของเมืองที่สอง เสนาบดีหนึ่งเสนอแนะว่า เวลาจะวางแผนโจมตีเมืองข้าศึก ให้ปรึกษากันท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม ว่าแล้วก็สั่งให้หาคนมาตีกลองตูมตามๆ จนแสบแก้วหู ขณะกำลังปรึกษาวางแผนการรบกันอยู่

ถึงเวลารบจริง เมืองที่สองสามารถเอาชนะเมืองที่หนึ่งได้ เพราะขุนศึกเมืองที่หนึ่งนั้น ไม่สามารถล่วงรู้ความลับล่วงหน้า

เรื่องเล่านี้ชี้ความจริงว่า เมืองที่สองไม่รู้อุปสรรคของการรบของตนอยู่ที่ไหนจึงแก้อุปสรรคไม่ได้ รบทีไรจึงพ่ายแพ้ทุกครั้ง ข้าศึกรู้ล่วงหน้าทุกครั้ง ไม่ว่าจะวางแผนโจมตีแบบไหนก็ตาม แต่พอรู้ปัญหาหรืออุปสรรคแล้ว และรู้วิธีป้องกันและแก้ไขแล้วก็สามารถรบชนะอย่างง่ายดาย

การสอนคนก็ไม่ต่างกัน บางคนไม่มีหัวหรือไม่ชอบทางคำนวณ พ่อแม่หรือครูอาจารย์จะเคี่ยวเข็ญให้เรียนทางด้าน สถาปัตย์บ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง เคี่ยวเข็ญไปก็เท่านั้น หากรู้ว่าอุปสรรคมันอยู่ที่เลขที่คำนวณ ก็ให้ไปเรียนวาดรูปเป็นศิลปินตามที่เขาชอบ เด็กก็มีโอกาสไปโลด

พระจูฬปันถกนั้นความจำไม่ดี พระพี่ชายเคี่ยวเข็ญให้ท่องจำ ท่องสามสี่เดือนก็ไม่ไปถึงไหน ได้แล้วลืมอยู่อย่างนี้ตลอด จนพี่ชายจนปัญญาสอน ออกปากขับไล่

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าอุปสรรคของการเรียนของพระพระจูฬปันถกอยู่ที่การท่องจำ พระองค์จึงไม่ทรงให้ท่อง แต่ให้เธอทำกรรมฐาน โดยนั่งเอามือลูบผ้าขาวกลางแจ้ง เมื่อเธอลูบผ้าขาวนานเข้าๆ ผ้ามันเปื้อนด้วยเหงื่อมือ ขณะนั้นจิตของพระจูฬปันถกเป็นสมาธิแน่วดิ่งลืมโลกภายนอกหมดสิ้น วิปัสสนาญาณก็เกิด คิดเปรียบเทียบผ้าขาวที่สะอาดกับสกปรก ดุจจิตใจของตนเดิมมันสะอาดแต่มาสกปรกเพราะกิเลสที่จรมา เมื่อเข้าสู่ทางที่ถูกต้องแล้ว เธอก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จนกลายเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

การรู้อุปสรรคและวิธีแก้ไขอุปสรรคแห่งการเรียนรู้ จึงเป็นกำลังภายในขั้นที่สามที่ครูพึงมีด้วยประมาณฉะนี้