เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (2) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์

คราวที่แล้วพูดถึงปรัชญาพื้นฐานของการสอน ได้พูดว่า ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า ทุกข์ คือปัญหาของชีวิตนั้น มาจากสาเหตุคือตัณหา ความทะยานอยากในรูปแบบต่างๆ และตัณหาความอยากเองก็มาจากอวิชชา หรือความไม่รู้ตามเป็นจริงอีกต่อหนึ่ง การอบรมสั่งสอนคนก็เพื่อเป้าหมาย คือให้เกิดปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงเพื่อที่จะได้ลดละตัณหาอวิชชานั้นเอง

ได้พูดว่า ปัญญานั้นมี 2 ระดับ คือปัญญาระดับพื้นฐาน เป็นความรู้ที่ได้จากการสะสม เช่น ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้ศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ปัญญาระดับนี้ว่า ตามจริงแล้วไม่เรียกว่า “ปัญญา” ดอกครับ ท่านเรียกว่า “สุตะ” ถ้ามีมากๆ ท่านเรียกว่า “พาหุสัจจะ” (ความเป็นผู้มีสุตะมาก, ความเป็นผู้คงแก่เรียน)

อีกระดับหนึ่งได้แก่ ความรู้ความเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกคิดวินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ เป็นความ “สว่างโพล่งภายใน” เป็นประสบการณ์ตรง ไม่ใช่จำมาจากคำบอกเล่าของผู้อื่น ทางพระท่านเรียกว่า วิชชาบ้าง โพธิบ้าง ปริญญาบ้าง ปฏิสัมภิทาบ้าง วิปัสสนาบ้าง

ที่ตรงมากที่สุดและพูดถึงบ่อยกว่าคำอื่นคือ ญาณ (การหยั่งรู้) ฝรั่งแปลว่า insight, enlightenment

ท้ายสุดได้พูดว่า ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นในตัวผู้เรียนเอง มิใช่สิ่งที่ครูไปยัดเยียดให้ ผู้สอนทำหน้าที่เป็นเพียง “กัลยาณมิตร” (ผู้แนะนำที่ดี) และอิสรภาพในทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการเรียนการสอนตามแนวพุทธ

วันนี้ก็จะขอ “เทศน์” ต่อ (สงสัย 30 ตอนจบ)

 

เมื่อพูดถึงกระบวนการเรียนการสอน สิ่งแรกที่จะพูดถึงนอกจากผู้เรียนแล้ว ก็คือผู้สอน หรือครู ครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี หรือประสบความสำเร็จ

เมื่อ “แหงนดู” พระบรมศาสดาผู้ทรงเป็นพระบรมครู (เป็นครูชั้นยอด) ของโลกเราจะมองเห็นคุณสมบัติของพระองค์เด่นอยู่ 2 ประการคือ บุคลิกภาพ กับคุณธรรม

ก. ด้านบุคลิกภาพ

จะไม่พูดว่าบุคลิกภาพคืออะไร เดี๋ยวจะหมดไปอีกสามสี่ตอน เอาเป็นว่ารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าคืออะไร (เข้าใจว่าอย่างนั้น) พระพุทธเจ้าทรงมีบุคลิกภาพดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความสง่างามแห่งพระวรกาย พระสุรเสียงที่มีพลังโน้มน้าวจิตใจ

และพระบุคลิกลักษณะอันควรแก่ศรัทธาปสาทะทุกประการ


1)

ในด้านความสง่างามแห่งพระวรกายนั้น เรามักจะได้ยินเสมอว่าพระพุทธองค์ทรงประกอบไปด้วย ปุริสลักษณะ (ลักษณะอันสง่างามของบุรุษ) 32 ประการ และอนุพยัญชนะ (รายละเอียดปลีกย่อยอีก) 80 ประการ มีอะไรบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่ต้องไปค้นหาเอาภายหลังครับ

สรุปสั้นๆ พระพุทธองค์นั้น “หล่อ” อย่างหาผู้เปรียบปานมิได้ มีผู้ชมพระองค์ด้วยคำสั้นๆ แต่ได้ความสมบูรณ์ว่า “พระสมณโคดม มีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก วรรณะ และพระสรีระดุจดังพรหมน่าดูน่าชมนักหนา”

เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ทันทีที่เห็นพระพุทธองค์ ก็ติดใจในความหล่อเหลาของพระองค์ ติดตามไปดู

ดูอย่างไรก็ไม่เบื่อ มีแต่ความเพลิดเพลิน เจริญเนตรเป็นอย่างยิ่ง

เรียกว่า ไม่อิ่มในการดู

จะว่าเธอเป็นเกย์ก็คงไม่ใช่ คงเป็นบุคคลประเภท “รูปัปมณิกา” (พวกที่เลื่อมใสเพราะรูปงาม, พวกที่ถือบุคลิก สง่างามเป็นประมาณ) มากกว่า

เพื่อจะได้ดูได้เห็นตลอดเวลา จึงตามไปขอบวชอยู่ด้วย

ต่อมาเมื่อ “อินทรีย์แก่กล้า” (เป็นภาษาพระ หมายถึง เมื่อมีความพร้อมแล้ว) พระพุทธองค์จึงตรัสสอนด้วยคำแรงๆ ว่า ประโยชน์อะไรด้วยการมาจ้องดูรูปกายอันเน่าเปื่อยนี้

วักกลิเอ๋ย ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม

ภิกษุหนุ่มรูปนี้ชื่อ วักกลิ เธอได้ฟังคำตักเตือนจากพระพุทธองค์แล้วตอนแรกก็เสียใจที่ถูกพระองค์ขับไล่ไม่ให้มานั่งจ้องดูอีกต่อไป คิดจะทำลายตัวเองด้วยเข้าใจว่าพระพุทธองค์ไม่เมตตาปรานีตนอีกต่อไปแล้ว

ในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือจากพระพุทธองค์ให้บรรลุพระอรหันต์

พราหมณ์คนหนึ่งมีบุตรสาวสวยงาม ใครมาสู่ขอก็ไม่ยอมให้ (ที่จริงน่าจะเป็นไม่ยอมให้ลูกสาวสู่ขอใครมากกว่า เพราะธรรมเนียมแขก ฝ่ายหญิงเป็นผู้ขอฝ่ายชาย)

วันหนึ่งพบพระพุทธเจ้าประทับใจในความหล่อเหลาของพุทธองค์ ดีใจว่าลูกสาวตนจะได้คู่ครองที่เหมาะสมกันแล้วคราวนี้ บอกพระพุทธองค์ว่า สมณะๆ อย่าเพิ่งไปไหนนะ รออยู่ที่นี่ก่อน ข้าพเจ้ามีลูกสาวสวยมากคนหนึ่ง คู่ควรแก่ท่าน รอเดี๋ยวจะพาเธอมาหาท่าน

ว่าแล้วก็รีบไปเรือนตะโกนบอกให้ลูกสาวรีบแต่งตัวจะพาไปดูหนุ่มหล่อที่คู่ควรกัน

พราหมณ์เฒ่าและภรรยารีบจูงมือลูกสาวมาเพื่อพบพระพุทธเจ้า

แน่นอนบรรดาชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ตามมาเป็นขบวน ไม่ว่าชนชาติไหนย่อมมีความอยากรู้อยากเห็นเหมือนๆ กันแหละครับ อย่านึกว่าจะมีแต่ “ไทยมุง” “แขกมุง” ก็มีเหมือนกัน

เมื่อพบพระพุทธองค์แล้ว ได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระองค์ พราหมณ์เฒ่าสองคนเข้าใจในธรรม ไม่คิดยัดเยียดลูกสาวให้เป็นคู่ครองพระพุทธองค์อีกต่อไป

 

พราหมณ์เฒ่าอีกคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูบุคลิกลักษณะ พูดให้ทันสมัย ก็คือเป็นหมอดูโหงวเฮ้ง จะคบใคร จะนับถือใคร ต้องดูโหงวเฮ้งก่อน

ถ้ามีลักษณะดีงามครบตามคัมภีร์จึงจะยอมรับ

แกได้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีบุคลิกลักษณะครบสมบูรณ์ ได้ข่าวว่าพระองค์เสด็จมาอยู่ที่หมู่บ้านของตน จึงส่งศิษย์หนุ่มไปดู

บังเอิญศิษย์หนุ่มแทนที่จะไปดูมหาปุริสลักษณะของพระพุทธองค์ กลับไปแสดงความโอหัง ดูหมิ่นพระพุทธองค์ จนถูกพระองค์ “ปราบ” ด้วยเหตุผลจนรู้สำนึก

ขณะเดียวกันก็ถูกพวกพราหมณ์อื่นๆ ในที่ประชุมเล่นงานเอาจนอับอาย กลับไปหาอาจารย์ถูกอาจารย์ตำหนิอย่างแรงอีก ฐานไปทำเกินคำสั่ง

พราหมณ์เฒ่าจึงต้องไปดูด้วยตนเอง ทันทีที่เห็นมหาปุริสลักษณะของพระองค์ครบ 32 ประการตามตำรา ก็ก้มลงกราบแทบเท้า ยอมนับถือทันที

ยิ่งได้ฟังธรรมจากพระองค์อีกก็ยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น

เล่ามาสามเรื่องนี้ เพื่อจะบอกว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระบุคลิกลักษณะสง่างาม น่าเลื่อมใสเพียงใด


2)

พระสุรเสียงไพเราะ ไม่เฉพาะแต่รูปงาม สมาร์ต องอาจ ผึ่งผายเท่านั้น เสียงก็ไพเราะด้วย เสียงพูดก็เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่จูงใจให้ผู้ได้ยินได้ฟังติดใจ โดยเฉพาะสุภาพสตรี ถ้าเพียงแต่รูปร่างสวยงาม แต่เสียงที่เปล่งออกมายังกับเสียงวัวถูกเชือด เสน่ห์ที่มีคงลดไปไม่น้อย จริงไหมครับ

พราหมณ์คนหนึ่งนามว่า จังกี ได้สนทนากับพระพุทธเจ้า กล่าวชมพระองค์อย่างจริงใจว่า

“พระสมณโคดม มีวาจาไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำงดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวยไม่มีโทษยังผู้ฟังให้เข้าใจความได้ชัดแจ้ง”

เด็กหนุ่มอีกคนหนึ่ง กล่าวชมพระพุทธองค์หลังจากที่ได้สนทนากับพระองค์ว่า

“พระสุรเสียงที่เปล่งออกมานั้น ประกอบด้วยคุณลักษณะ 8 ประการ คือ แจ่มใส 1, ชัดเจน 1, นุ่มนวล 1, ชวนฟัง 1, กลมกล่อม 1, ไม่พร่า 1, ซึ้ง 1, กังวาน 1”

เสียงที่มีลักษณะครบทั้ง 8 องค์ประกอบนี้เป็นอย่างไร เชื่อว่ายังไม่มีใครได้ยิน อย่างเก่งก็เพียงหนึ่งหรือสองอย่างเท่านั้น เพียงแค่นี้ก็น่าฟังยิ่งแล้วครับ

พระอากัปกิริยามารยาท พระพุทธองค์นั้นทรงมีคุณสมบัติผู้ดีครบถ้วน ทรงมีมารยาทอันเป็นที่ยอมรับของสังคม การเคลื่อนไหวพระอิริยาบถเป็นไปด้วยความสงบ สำรวม องอาจ สง่างาม ชวนให้อยากเข้าใกล้ชิด ชวนให้อยากเข้าไปสนทนาปราศรัย

 

พราหมณ์แก่คนหนึ่ง หลังจากแบ่งสมบัติให้ลูกชายและลูกสะใภ้ทุกคนแล้ว นึกว่าลูกๆ จะช่วยกันเลี้ยงดู พอเขาได้สมบัติแล้วเขาก็ขับไล่ไสส่ง อยู่บ้านลูกคนไหนก็ไม่ได้ จนต้องเร่ร่อนขอทานเขากิน พราหมณ์เฒ่าซัดเซพเนจรเข้าไปพบพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสปฏิสันถารเขาด้วยอัธยาศัยไมตรี จนเขาคลายทุกข์โศก และทรงแนะอุบายให้บรรดาลูกๆ สำนึกผิดและรับกลับไปดูแลได้สำเร็จ (อุบายนั้นคืออะไร มีโอกาสค่อยเล่าภายหลัง)

ที่ต้องการพูดตรงนี้คือ อีตาพราหมณ์ทันทีที่ได้สนทนากับพระองค์ เปล่งอุทานขึ้นมาว่า พระสมณโคดมทรง “อุตตานมุขี” (มีพระพักตร์เบิกบาน) “ปุพพภาสี” (ทักทายแขกก่อน) สุขีสัมภาสี” (พูดไพเราะ ฟังแล้วมีความสุข)

สามข้อนี้น่านำมาปรับใช้สำหรับคนที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนหมู่มาก โดยเฉพาะนักประชาสัมพันธ์ หรือผู้มีหน้าที่รับแขก พูดง่ายๆ ว่าเป็นหลักมนุษยสัมพันธ์อย่างดีทีเดียว

ไม่ต้องครบถึง 3 ข้อดอกครับ เพียงแค่ข้อแรกก็เกินพอแล้ว “อุตตานมุขี” แปลตามศัพท์ว่า มีหน้าหงาย ก็คือหน้าไม่คว่ำเป็นจวักตักแกงหรือ “หน้ารับแขก” ไม่ใช่ “หน้าไล่แขก” เพียงเห็นหน้ายังไม่ทันพูดก็เปิงแล้ว

 

สรุปสำหรับวันนี้ก็คือ คุณสมบัติของผู้สอนโดยดูตามพระจริยาวัตรของพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นบรมครูก็คือ

บุคลิกภาพต้องดี

และมีคุณธรรม น่าเลื่อมใส

บุคลิกภาพได้พูดมาจนจบแล้ว

คราวต่อไปจะพูดถึงคุณธรรมที่ครูผู้สอนพึงมีว่ามีอะไรบ้าง