ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
“โรคพุ่มพวง” มีชื่อทางการว่า “โรคภูมิแพ้ตัวเอง” หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) บางแห่งเรียกว่า “โรคลูปัส” (Lupus)
แต่คำว่า “โรคพุ่มพวง” ในบ้านเรา มีความพิเศษกว่าใครในโลก เพราะชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา
มีที่มาจากอาการป่วยของ “ราชินีลูกทุ่ง” เมืองไทย คือ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ที่ค้นพบว่าป่วยเป็น SLE ที่ตอนนั้นบ้านเรายังไม่รู้จัก ว่าคือโรคอะไร
แต่เมื่อสื่อมวลชนขนานนามให้ว่า “โรคพุ่มพวง” จึงใช้คำนี้เรียกแทน “โรคภูมิแพ้ตัวเอง” หรือ SLE กันในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
“โรคพุ่มพวง” เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายร่างกายตนเอง
สาเหตุที่ภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคพุ่มพวง” ได้
เช่น ความเสี่ยงจากสารเคมีต่างๆ หรือยาประเภทควบคุมความดันเลือด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงการเติบโตในแต่ละวัย เป็นต้น
การถ่ายทอดพันธุกรรม โรค หรืออาการบางชนิด ที่เกิดในวงเครือญาติ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคพุ่มพวง” ได้เช่นกัน
และสำหรับผู้ที่ผิวหนังมีปฏิกิริยาไวต่อแสงแดด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากอาการแพ้ดังกล่าวได้
อาการของ “โรคพุ่มพวง” มีหลายระดับ โดยถึงแม้จะรักษาได้ แต่ในผู้ป่วยบางราย ถึงแม้จะเริ่มรักษา หรือรักษาไปแล้ว แต่อาการอาจจะยังคงอยู่แบบถาวร โดยอาการจะมีหลายแบบดังนี้
มีการตรวจพบแอนตี้บอดี้ต่อดีเอ็นเอ (anti-dsDNA) หรือตรวจพบแอนตี้ฟอสโฟไลปิดแอนตี้บอดี้ หรือการตรวจเลือดพบผลบวกปลอมต่อการตรวจซิฟิลิส หากมีการตรวจเลือด จะพบแอนตินิวเคลียร์แอนตี้บอดี้ (antinuclear antibody)
มีผื่นผิวหนังที่บริเวณใบหู แขนขา และลำตัว มีผื่นบริเวณใบหน้าเป็นรูปผีเสื้อ มีแผลในปาก หากโดนแดดจะมีผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนังอย่างรุนแรง
มีอาการผิวซีด จากเม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดต่ำ เกิดอาการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจ หรือเยื่อหุ้มสมอง และไตอักเสบ
มีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น อาการชัก เป็นต้น รวมถึงข้ออักเสบด้วย
หากพบว่า มีอาการข้างต้นตั้งแต่ 3 หรือ 4 อาการขึ้นไปพร้อมกัน อาจเป็นสัญญาณ ว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคพุ่มพวง” ได้
ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยให้แน่นอนอย่างเร่งด่วน
ภาวะแทรกซ้อนจาก “โรคพุ่มพวง” เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง หรือความจำเสื่อม เป็นต้น
ปัญหาทางโลหิต เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดปัญหากับอวัยวะอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเป็น ภาวะไตวาย ไปจนถึงเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่อาการที่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากแล้วแต่บุคคล และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
อย่างไรก็ดี มีการให้ข้อมูลความรู้ ว่า “โรคพุ่มพวง” สามารถรักษาได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการรักษาเนิ่นนานพอสมควรก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง เน้นหนักที่การทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ร่วมกับการดูแลตนเอง ซึ่งอ่านแล้วก็คงจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ควรทำทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น การอยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
สำหรับในส่วนของการติดตามเฝ้าระวังอาการที่อาจกำเริบนั้น ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากบางอาการหากเกิดขึ้นอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
แนวทางการป้องกัน “โรคพุ่มพวง” นั้นค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างชัดเจน
ทำได้เพียงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรค ซึ่งถือเป็นการป้องกันที่พอจะทำได้ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้นั่นเอง
เพราะการรักษาโรคมีความยากลำบาก การมีวินัยตลอดการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูแลตนเองของผู้ป่วย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้
มาถึงตรงนี้ หากย้อนกลับไปนึกถึงข่าวคนที่เป็น “โรคพุ่มพวง” ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนดัง จะพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็น “เพศหญิง”
ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford รัฐ California สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุที่ “เพศหญิง” เป็น “โรคพุ่มพวง” มาก
ว่าอาจเชื่อมโยงกับวิธีการที่ร่างกายทำงานร่วมกับ Chromosome X “ตัวที่สอง” ของ “เพศหญิง”
โดยเชื่อว่า การค้นพบนี้ จะสามารถช่วยพัฒนาความสามารถของแพทย์ในการตรวจหา “โรคพุ่มพวง” ได้ดีขี้น
John Wherry “นักภูมิคุ้มกันวิทยา” แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับกระบวนการของ “โรคพุ่มพวง” อย่างสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ พบชาวอเมริกันเกือบ 50 ล้านคน ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของ “โรคพุ่มพวง” ไม่ว่าจะเป็นอาการของโรคผิวหนัง โรคไขข้ออักเสบ โรคเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายแข็งตัว และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกมากมาย
งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford พบว่า ราว 4 ใน 5 ของผู้ป่วย “โรคพุ่มพวง” เป็น “เพศหญิง”
เรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นหาสาเหตุมานานหลายปี ทฤษฎีหนึ่งซึ่งมีการเอ่ยถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาก็คือปัญหา Chromosome X ใน “เพศหญิง”
กล่าวคือ “เพศหญิง” มี Chromosome X สองตัว ขณะ “เพศชาย” มี Chromosome X และ Chromosome Y อย่างละตัว
งานวิจัยนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ระบุว่า Chromosome X ส่วนเกินของ “เพศหญิง” คือปัจจัยสำคัญของ “โรคพุ่มพวง”
เพราะหากพิจารณาถึง DNA มนุษย์ มี Chromosome 23 คู่ โดย Chromosome คู่สุดท้ายเป็นตัวระบุเพศ Chromosome X อัดแน่นด้วยยีนจำนวนหลายร้อย ซึ่งมากกว่า Chromosome Y ของ “เพศชาย” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก
โดยปกติ “เซลล์เพศหญิง” ทุกเซลล์ จะต้องปิดการคัดลอก Chromosome X หนึ่งชุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับยีนเหล่านั้นในปริมาณสองเท่า ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
นักวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนการนี้ว่า การยับยั้ง Chromosome X ด้วย RNA ชนิดพิเศษ ที่มีชื่อว่า Xist ซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของ Chromosome X
นายแพทย์ Howard Chang หมอผิวหนังแห่งมหาวิทยาลัย Stanford ได้ศึกษาการทำงานของ Xist และพบโปรตีนที่ติดอยู่เกือบ 100 ชนิด
คุณหมอ Howard Chang พบว่า โปรตีนจำนวนมากเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องที่แสดงอาการทางผิวหนัง ผู้ป่วยจึงพบความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ที่โจมตีโปรตีนปกติเหล่านี้โดยไม่ตั้งใจ
นายแพทย์ Howard Chang ชี้ว่า โมเลกุลที่พบใน “เพศหญิง” เท่านั้น ที่อาจเป็นตัวทำให้โปรตีนทำงานในลักษณะที่ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
และหากเป็นเช่นนั้นจริง Xist เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองได้ มิฉะนั้น “เพศหญิง” ทุกคนคงจะได้รับผลกระทบกันหมด
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ได้มีการสันนิษฐานกันมานานแล้วว่า การที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างปัญหาในร่างกาย น่าจะเกิดจากการการทำงานของยีนบางชนิด ร่วมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม แต่ John Wherry กล่าวว่า การค้นพบดังกล่าว อาจช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยผู้ป่วย “โรคพุ่มพวง” ได้รวดเร็วขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022