โบราณคดี มีกำเนิดจากคณะราษฎร

โบราณคดีมีกำเนิดการเรียนการสอนอย่างทางการ เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2 ครั้งใหญ่โดยคณะราษฎร ครั้งแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2475 (92 ปีที่แล้ว) และครั้งหลังเปลี่ยนชื่อประเทศ จากประเทศสยามเป็นประเทศไทย พ.ศ.2482 (85 ปีที่แล้ว)

ก่อนมีการเรียนการสอนวิชาโบราณคดี คณะราษฎรสถาปนาหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องการเรียนการสอนวิชาโบราณคดีต่อไปข้างหน้า ได้แก่ กรมศิลปากร สถาปนา พ.ศ.2477 (90 ปีที่แล้ว) และมหาวิทยาลัยศิลปากร สถาปนา พ.ศ.2487 (80 ปีที่แล้ว) ในสังกัดกรมศิลปากร ซึ่งมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็น “ผู้อำนวยการ” มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยตำแหน่ง (ไม่เรียกอธิการบดี)

พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) (พ.ศ.2442-2515) อธิบดีกรมศิลปากร (พ.ศ.2493-2498) ผู้ริเริ่มสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนวิชาโบราณคดี และขยับขยายเป็นคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (สังกัดกรมศิลปากร) (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพฯ วัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ.2516)

แผนกโบราณคดี, คณะโบราณคดี

โบราณคดีมีพัฒนาการเป็น 2 ช่วง คือ เริ่มแรกในโรงเรียนศิลปศึกษา (หรือ เตรียมอุดมศิลปากร) หลังจากนั้นขยับขยายเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ช่วงแรก (พ.ศ.2496) แผนกโบราณคดี โรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมอุดมศิลปากร) มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร

รับจากนักเรียนจบ ม.6 เรียน 3 ปี ได้ประกาศนียบัตรวิชาโบราณคดี

ช่วงหลัง (พ.ศ.2498) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร (ขยับขยายจากแผนกโบราณคดี โรงเรียนศิลปศึกษา)

รับผู้เรียนจาก 2 ทาง (1.) รับจากนักเรียนโรงเรียนศิลปศึกษา และ (2.) รับจากผู้เรียนจบเตรียมอุดมศึกษาทั่วไป

ทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อเรียนจบได้อนุปริญญา

มานิต วัลลิโภดม (พ.ศ.2450-2530) “นักปราชญ์สามัญชนสยาม” ผู้ริเริ่มการเรียนการสอนโบราณคดี จนเติบโตเป็นคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ในภาพ) กำลังตรวจสอบเสมาหินที่วัดจามเทวี จ.ลำพูน (ภาพจากหนังสือ รอยต่อทางโบราณคดี จากความทรงจำ ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พ.ศ.2530 หน้า 98)

แผนกโบราณคดี

โรงเรียนศิลปศึกษา กรมศิลปากร

ผู้ริเริ่ม (หรือให้กำเนิด) การเรียนการสอนโบราณคดีในประเทศไทย มี 2 คน คือ พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ-ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศิลปากร) ผู้ร่วมคณะราษฎร 2475 และนายมานิต วัลลิโภดม (ขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร)

พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) พ.ศ.2442-2515 ชาวกรุงเทพฯ (ต.บางซื่อ อ.ดุสิต) ผู้ร่วมในคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นักเรียนนายร้อยทหารบก ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

นายมานิต วัลลิโภดม พ.ศ.2450-2530 ชาวกรุงเทพฯ (อ.บางกอกใหญ่) จบชั้นมัธยมปีที่ 8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เริ่มรับราชการตำแหน่งเสมียนตรี แผนกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (สำหรับพระนคร) สังกัดราชบัณฑิตยสถา

หลักฐานราชการระบุว่าหลวงรณสิทธิพิชัย (อธิบดีกรมศิลปากร) แต่งตั้งนายมานิต วัลลิโภดม (ข้าราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร) เป็นหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2494 (73 ปีที่แล้ว) จากนั้นนายมานิต วัลลิโภดม “ริเริ่มสอนวิชาโบราณคดี แก่ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 และจัดเป็นแผนกหนึ่งในโรงเรียนศิลปศึกษา ชั้นอนุปริญญา แล้วต่อมาขยายเป็นคณะโบราณคดี ในมหาวิทยาลัยศิลปากร”

[จากประวัติ ศ.มานิต วัลลิโภดม ในหนังสือ ทักษิณรัฐ โดย ศ.มานิต วัลลิโภดม กรมศิลปากร จัดพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรติ แด่ ศ.มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย พ.ศ.2530 (ไม่มีเลขหน้า)]

อาคารสถานที่ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนโบราณคดีสมัยแรกสุด เป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนศิลปศึกษา ซึ่งอยู่อาคารเก่าของกระทรวงคมนาคม (ต่อมา อาคารถูกรื้อทิ้ง เพื่อใช้พื้นที่สร้างโรงละครแห่งชาติ ที่สืบเนื่องจนปัจจุบัน)

โบราณคดีเป็นคำที่มีใช้แล้วเมื่อเรือน พ.ศ.2400 แต่ถูกใช้เป็นทางการพบเมื่อ 117 ปีที่แล้ว ในชื่อ “โบราณคดีสโมสร” คือ “สมาคมสืบสวนของโบราณในประเทศสยาม” ตามพระราชดำรัส ร.5 ที่อยุธยา พ.ศ.2450 คำว่าโบราณคดี (ในชื่อ “โบราณคดีสโมสร”) มีความหมายต่างจาก archaeology ที่รู้จักในปัจจุบัน ดังนี้

(1.) เรื่องราวเก่าแก่โบราณ (ดูจากชื่อ “สมาคมสืบสวนของโบราณในประเทศสยาม”) และ (2.) การศึกษาเรื่องราวอะไรก็ได้ที่เก่าแก่ หรือ historical studies (สรุปจากหนังสือ รอยต่อทางโบราณคดี จากความทรงจำ ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม 28 ธันวาคม 2530 หน้า 11)

[หมายเหตุ ข้อมูลได้จาก รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ