ก้าวไกล เห็นด้วย แก้ระเบียบกลาโหม สกัดรัฐประหาร

กรณีที่ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. …

มีสาระสำคัญ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใด ที่ใช้กำลังทหาร เพื่อยึดหรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ

รวมทั้งกำหนด เงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล จะกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ 3 ประการ อาทิ ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล หรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม และยังเสนอให้ยกเลิกศาลจังหวัดทหาร

ก้าวไกลหนุนพร้อมแนะ ต้องปรับให้มีตัวแทนเชื่อมโยงพลเรือนมากขึ้น

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความจริงร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกฎหมายฉบับแรกๆ ที่พรรคก้าวไกลยื่นให้มีการแก้ไขต่อสภา และเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ หรือมีความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขเพื่อยืนยันหลักการว่า กองทัพควรอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ดังนั้นเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการแก้ไขร่างดังกล่าว เพียงแต่อยากให้แก้ไขเนื้อหาที่แก่นสารโดยแท้จริง ซึ่ง ตัวแปรสำคัญคือ จะปฏิรูปเรื่องอำนาจที่มาของสภากลาโหมอย่างไร

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า หากเป็นร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลจะเห็นว่าปรับในส่วนของอำนาจที่เปลี่ยนจากเดิม คือสภากลาโหมมีอำนาจเหนือกว่า รมว.กลาโหมที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน มาทำให้บทบาทของสภากลาโหมเป็นเหมือนสภาที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลกับตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน ส่วนที่มาจะมีการปรับสัดส่วนให้มีตัวแทนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล และพลเรือนมากขึ้น ไม่ได้เป็นเหมือนปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหาร เพราะฉะนั้นต้องรอดูว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของรัฐบาลจะแก้ไขเรื่องที่มาของอำนาจสภากลาโหมเช่นไร แต่เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลเห็นความจำเป็นของการแก้ไขร่างนี้

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งของเดิมและของใหม่ จึงยังพูดไม่ได้ แต่คิดว่าการปรับปรุงพ.ร.บ.กลาโหมเป็นเรื่องที่ดี เพราะ พ.ร.บ.กลาโหมฉบับที่ใช้ปัจจุบัน ออกตั้งแต่สมัยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการปฏิวัติรัฐประหาร

ต่อกรณี การแก้ไขคุณสมบัตินายพลจะสามารถป้องกันการรัฐประหารได้หรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ขอก้าวลึกไปขนาดนั้น เพราะไม่ทราบในรายละเอียด

ด้าน โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ผมเห็นด้วย และมองว่าเป็นการเมืองที่ซับซ้อน โดยนายทักษิณ ชินวัตร วางแผนได้ดีมาก เนื่องจากนายทักษิณ มีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอำนาจเก่า ที่จะนำน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับบ้าน แต่ระยะยาวแล้ว จะต้องวางแผนในการป้องกันการทำรัฐประหาร มีการทำแบบแนบเนียนมาก ที่ผ่านมาจะเห็นว่านายสุทินไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตาเลย แต่พอจะปรับคณะรัฐมนตรี กลับมีการปล่อยของออกมา ถ้าหาก พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่สภา เมื่อมีการปรับสุทินออกมา รมว.กลาโหม รวมทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่มีผลในเชิงบวกกับฝ่ายประชาธิปไตย เห็นได้ว่ากองทัพกำลังถูกรุกคืบจากฝ่ายประชาชน