บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน9)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8
โดย “มือเก่า”

“แนวหน้า” 12 พฤษภาคม 2535 หน้า 5

…ตรงที่ว่า ผมนั่ง นอนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันไม่เหมือนเดิม ไม่มีทางที่ผมจะเสียคำสัตย์ เข้าใจไหมครับ…

เอาอย่างนี้ดีกว่า …คุณพยายามจะบอกว่าผมนั้นตระบัดสัตย์…แต่ผมนั้นไม่ได้ตระบัดสัตย์ คุณอยากจะให้ผมตายในตอนนั้น โดยที่ทำงานไม่สำเร็จ …มีคนมาเสนอว่ามันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว มันไม่เหมือนเดิมแล้ว การอดอาหารทั่วโลกนั้น ต้องพยายามสงวนพลัง คือ นั่งเท่านั้น นอนเท่านั้น แม้กระทั่งพูดก็ต้องไม่พูด

ใครเป็นผู้เสนอให้เลิกอดอาหาร

ผมไม่จำเป็นต้องบอก คุณจะเอาผิดผมใช่ไหม ผมอยากจะรู้นัก ว่าคุณมาจากหน่วยงานไหน

…ผมเป็นนักข่าวครับ

นักข่าวหนังสืออะไร บอกหน่อย

ตอบว่า ไทยรัฐ

ไทยรัฐ ผมจะได้รู้ไว้เท่านั้นเอง (ยิ้ม)

“มนต์ขลังนักข่าว” (มือเก่า)

พฤษภาทมิฬ” หน้า 30

ผมไม่ได้เสียสัตย์ การที่ผมออกจากสนามหลวงเพื่อช่วยให้มีส่วนในการนำ ผมแตกต่างกับ พล.อ.สุจินดา อย่างแน่นอน เพราะเหตุการณ์ที่ผมรับปากว่าจะอดอาหารเปลี่ยนไป ผมไม่สามารถนั่งนอนเฉยๆ ได้ ผมบอกได้เพียงว่า ผมไม่ได้ตระบัดสัตย์ คุณจะเอาความผิดผมในเรื่องนี้หรืออย่างไร

การที่ท่านผิดคำพูด ท่านบอกมีเหตุผล ฉะนั้น ไม่ถือว่าตระบัดสัตย์ พล.อ.สุจินดา ก็มีเหตุผลในการผิดคำพูดเช่นกัน แต่กลับถูกท่านและผู้ศรัทธาท่านเอาผิดอย่างเอาเป็นเอาตาย จนบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด

ว่าแต่เขา แล้วอิเหนาก็เป็นเอง (มือเก่า)

“สยามรัฐ” 16 กันยายน 2535 คอลัมน์ ข้างวัด โดยประสก

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แถลงเป็นเอกสารแก้ข้อกล่าวหาตัวท่าน เรื่องท่านกลับสัจจะ ว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศสัจจะ ว่าจะทรงบำเพ็ญเพียรอดข้าว แต่แล้วยังทรงเลิกสัจจะ หันไปทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ

นี่เป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์

เพราะพระพุทธเจ้า ไม่เคยทรงประกาศสัจจะ ในการทดลองอดอาหาร เป็นเพียงทรงทดลองดูว่า จะสำเร็จจริงอย่างที่คนสมัยนั้นนิยมทำกันหรือไม่ เมื่อทรงเห็นว่าไร้สาระก็ทรงเลิก ทรงหันไปฉันอาหาร แล้วทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ คือ สมาธิภาวนา เมื่อทรงเห็นว่า จับทางถูก จึงทรงตั้งสัจจะประกาศว่า ถ้าไม่ได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณคราวนี้ แม้ชีวิต เอ็น เนื้อ และเลือด จะเหือดแห้งดับไป ก็จะไม่เสด็จลุกขึ้น แล้วก็ได้สำเร็จดังมโนปณิธาน

“ร่วมกันสู้” หน้า 122

คืนวันที่ 9 พฤษภาคม ผมยังขึ้นพูดบนหลังคารถว่า “พี่น้องตำรวจ ทหารครับ พรุ่งนี้วันที่ 10 พฤษภาคม ต้องเอาลวดหนามออกนะครับ สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จไปทรงเปิดงานที่สนามหลวง ถ้าไม่เปิดลวดหนาม คราวนี้ละน่าดู”

ผมกระเซ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร โดยไม่ได้มีเลศนัยว่าเมื่อเปิดลวดหนามแล้ว เราจะถือโอกาสเล็ดลอด ข้ามแดนไปฝั่งโน้นก็เปล่า

คืนวันที่ 8 ท่านก็ประกาศให้ทางการเปิดทางให้ ถ้าไม่เปิด ก็ไม่รับรองจะคุมม็อบได้ คืนวันที่ 9 ท่านก็ประกาศอีก ถ้าไม่เปิดลวดหนามละก็น่าดู อย่างนี้เรียกกระเซ้า หรือขู่เข็ญกันแน่

และด้วยคำพูดเช่นนี้ ทางการจะไว้ใจได้หรือ จึงอาจเป็นเหตุทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางเสด็จฯ (มือเก่า)

“บ้านเมือง” 12 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ ทหารชี้แจงย้ายม็อบ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ชุมนุมกันอย่างเสรี ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไป การชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น บางช่วงมีการพูดด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น ฆ่ามัน บวกกับบรรยากาศมีความร้อน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น และอุบัติเหตุนี้ก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้

…ทหารไม่ได้มองว่า ประชาชนที่มาชุมนุมจะมีจิตใจที่ไม่ดี แต่ทหารต้องมีหน้าที่ถวายความปลอดภัย ฉะนั้น เราจะปล่อยให้เกิดการเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งได้ส่งตัวแทนไปเจรจาให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณสนามไชย หรือใต้สะพานพระปิ่นเกล้าแทน…

ปัญหาที่มีอยู่ขณะนี้ คือเรื่องขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งจะต้องเสด็จพระราชดำเนินผ่านตามถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมอยู่ ตนเชื่อว่าประชาชนมีความจงรักภักดี แต่เราไม่ยอมให้เกิดอัตราเสี่ยง

“ร่วมกันสู้” หน้า 125 หัวข้อ หยุดพักชั่วคราว

ตอนค่ำของวันที่ 10 พฤษภาคม ผู้แทนอาจารย์ 15 สถาบัน ผู้แทนกลุ่ม สนนท. และผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้ปรึกษาหารือกัน และลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้แทนอาจารย์ 15 สถาบันว่า ควรจะพักการชุมนุมชั่วคราว รอผลความคืบหน้าของการแก้ไข รธน. แล้วนัดประชาชนฟังผลใหม่

“ร่วมกันสู้” หน้า 130

ในสงคราม ซึ่งผมเคยผ่านมาแล้ว ทั้งสมรภูมิลาวและเวียดนาม ทหารที่เข้าทำการรบ ไม่ว่าที่ไหน ต้องมีเวลาพักบ้างทั้งนั้น พักเพื่อให้ร่างกายสดชื่น แล้วทำการรบใหม่ เราก็เหมือนกันครับ ควรพักชั่วคราว ออมแรงไว้สู้ต่อคราวหน้า

“แล้วกัน นึกว่าประท้วงโดยสันติ กลายเป็นการรบไปเสียแล้ว ข้อสำคัญ ประชาชนนะขอรับ ไม่ใช่ทหาร” (มือเก่า)

“เดลินิวส์” 12 พฤษภาคม 2535

…ตรงนี้ก็เลยต้องให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่าประชาชนมายึดตรงนี้ ตนจะบอกลุยเลย มองไปก็สงสารตำรวจ เพราะเขาน้อยเหลือเกิน เลยไม่ลุย นอนตรงนี้ พอ 07.00 น. ที่ผ่านมาเขาจะลุย เพิ่มกำลังเข้ามาหลายชุด แต่เขาใจไม่ถึง

ผมท้าทุกวัน ว่าเมื่อไหร่จะลุยมาซักที จะได้รู้แล้วรู้เรื่อง…

หัวข้อ พักเพื่อต่อสู้อีกครั้ง

ผมจะจัดพิมพ์หนังสือ เรื่อง รวมกันสู้ ซึ่งจะรวบรวมเหตุการณ์การชุมนุม ขอให้ผู้ที่ร่วมชุมนุมมาซื้อไปเป็นที่ระลึก และเพื่อให้รู้ว่า ในยุคที่ทหาร 3 กองทัพเป็นพวกเดียวกัน แต่เขาไม่กล้าประกาศภาวะฉุกเฉิน ปล่อยให้ประชาชนมายึดถนนราชดำเนิน ไม่มีครั้งไหนจะ สะใจ ไปกว่าครั้งนี้ที่มีการแสดงความเกลียดชังผู้นำประเทศกันอย่างพร้อมหน้า แต่เมื่อเรายุติ ก็ขอให้รู้ว่าเราหยุดเพื่อปรับกระบวนยุทธ์ พักรบ เพื่อตั้งหลักสู้ใหม่ พล.ต.จำลอง กล่าว

“โอ้โฮ ผู้เคร่งศาสนา ผู้ถือศีล สะใจ ที่มีการเกลียดชังผู้นำประเทศ และยังแสดงความผิดหวังที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็แปลว่า ผิดหวังที่รัฐบาลไม่ยอมใช้ความรุนแรง เพราะตามกฎหมาย ถ้าประกาศภาวะฉุกเฉิน ทางการมีสิทธิ์ปราบปรามขั้นเด็ดขาดได้ ท่านนึกถึงประชาชนบ้างหรือเปล่า?

แผนอดข้าวก็ไม่ได้ผล แผนขวางถนนจะให้ทางการมาสลาย ขนาดท้าทุกวันว่าเมื่อไหร่จะลุย จะได้รู้แล้วรู้เรื่อง รัฐบาลก็ยังเฉย น่ากลัวแผนต่อไป จะกดดันอย่างไร ให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินให้ได้ เมื่อรัฐบาลใช้ความรุนแรง รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้ สมใจผู้รอคอย (มือเก่า)

“บ้านเมือง 12 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ จำลองสลายม็อบชั่วคราว

ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 03.00 น.เศษ วันที่ 11 พฤษภาคม พล.ต.จำลอง ได้ขึ้นเวทีกล่าวคำปราศรัยว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 จะได้มีการนัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ขณะนี้ประชาชนได้ปฏิวัติแล้ว โดยยึดถนนราชดำเนิน รัฐบาลหายไปไหน ไม่เคยมีประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งไหนที่จะ สะใจ อย่างนี้ และไม่มีผู้นำสมัยไหน ที่ประชาชนเคียดแค้นอย่างนี้ และ พล.อ.สุจินดา ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ผมเป็นนักรบมา 2 สมัย คือ เวียดนาม กับ ลาว ไม่มีนักรบที่ไหนไม่พักรบ เราจะรบต่อไปในที่ไหน ให้หนักกว่า เราต้องพักรบ เพื่อปรับระบบงาน…

“แล้ว การรบ ในวันที่ 17 พฤษภาคม ก็หนักกว่าจริงๆ (มือเก่า)