‘Drone Warfare’ ในสงครามเมียนมา กองทัพอากาศของฝ่ายประชาธิปไตย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

‘Drone Warfare’ ในสงครามเมียนมา

กองทัพอากาศของฝ่ายประชาธิปไตย

 

“เราทำลายได้ตรงเป้าหมาย… เราโจมตีในแบบที่พวกเขาตั้งตัวไม่ติด และเราสังหารทหารฝ่ายรัฐบาลได้เป็นจำนวนมากด้วย… โดรนคือ กองทัพอากาศของพวกเรา”

นักบินโดรนของกองกำลังแห่งชาติชิน

 

สงครามโดรน หรือ “Drone Warfare” เป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น โดยเฉพาะจากบริบทของสงครามยูเครน ที่รัสเซียเปิดการโจมตีทางอากาศด้วยการใช้โดรนราคาถูกจากอิหร่านในการโจมตีเมือง ส่วนยูเครนในช่วงที่ผ่านมาได้ตอบโต้การโจมตีทางอากาศของรัสเซียด้วยโดรนเช่นกัน

หรือการโจมตีในทะเลแดงของกลุ่มฮูติก็อาศัยโดรนเป็นอาวุธหลักส่วนหนึ่งในการโจมตีเรือสินค้า จนเห็นได้ชัดว่าสงครามโดรนเป็นหนึ่งในรูปแบบของสงครามสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 21 จนต้องยอมรับว่าโดรนที่เป็นเสมือน “ของเล่น” หรือเป็น “อุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศ” นั้น ได้กลายมาเป็นอาวุธสงครามที่ทรงพลังชุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภารกิจล่าสังหาร หรือภารกิจโจมตีทิ้งระเบิด เป็นต้น

ดังนั้น ในสภาวะการสงครามในเวทีโลกปัจจุบัน การใช้โดรนจึงกลายเป็นเรื่องทั่วไป แม้จะมีโดรนสมรรถนะสูง เช่นที่ใช้ในกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีราคาแพงมาก พร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์และระบบอาวุธที่มีความก้าวหน้า

แต่ในอีกด้านก็มีโดรนราคาถูก เช่น ในแบบที่ผลิตจากอิหร่าน และกลายเป็นอาวุธหลักที่รัสเซียใช้ในการโจมตียูเครน หรือโดรนราคาถูกอีกแบบที่ประกอบขึ้นจากอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องตลาด และอาจไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์สมรรถนะสูง เช่น โดรนที่ใช้ในการเกษตรแบบทั่วไป แต่โดรนเช่นนี้สามารถดัดแปลงให้มีขีดความสามารถทางทหารที่ใช้ในการโจมตีเป้าหมายที่ต้องการได้

อีกทั้งแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า แม้ในสงครามก่อความไม่สงบในบริบทของประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม เช่นในกรณีของสงครามกลางเมืองเมียนมา โดรนก็ปรากฏตัวให้เห็นในความเป็น “กองทัพอากาศ” ของผู้ก่อความไม่สงบ จนอาจกล่าวได้ว่าสงครามกลางเมืองเมียนมามีส่วนประกอบที่เป็น “สงครามโดรน” ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

กองทัพอากาศของฝ่ายประชาธิปไตย

ข่าวสถานการณ์สงครามในวันที่ 4 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวการรบในเมียนมาอย่างมาก ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเปิดการโจมตีด้วย “โดรน” ต่อฐานทัพอากาศของกองทัพ กองบัญชาการทางทหาร และที่พักของผู้นำทหารระดับสูงของฝ่ายรัฐบาลที่เมืองเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ…

สงครามเริ่มประชิดเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐของฝ่ายรัฐบาลทหาร (หรือฝ่าย SAC) ในรูปแบบของ “สงครามโดรน” อย่างนึกไม่ถึง

การโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในเมืองหลวงนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนตัวของมิติสงคราม เพราะกว่าที่กองกำลังทางบกของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร จะเคลื่อนกำลังรุกประชิดเมือง พร้อมกับเปิดการโจมตีนั้น น่าจะใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่โดรนซึ่งเป็นระบบอาวุธของโลกปัจจุบัน สามารถเดินทางไกล และเปิดการโจมตีทางอากาศได้ทันที อีกทั้งโดรนยังทำให้ระบบป้องกันทางอากาศที่ใช้ในการตรวจจับการบินเข้าโจมตีของอากาศยานแบบที่ใช้นักบินนั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับเป้าหมายที่เป็นโดรน

ว่าที่จริง “สงครามโดรน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสงครามกลางเมืองเมียนมาอย่างแน่นอน… ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เริ่มมีข่าวที่ “กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์” หรือฝ่าย EAO (Ethnic Armed Organizations) เคยเปิดการโจมตีเป้าหมายทางทหารของฝ่ายรัฐบาลด้วยโดรนมาแล้วอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน

 

กองกำลังแห่งชาติของรัฐชิน (The Chin National Army : CNA) ที่อยู่ด้านตะวันตกของประเทศ เปิดปฏิบัติการทางทหารยึดพื้นที่ในรัฐของตนคืนจากกองทัพเมียนมา พวกเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า “ความลับ” ของความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งนี้คือ “โดรนและนักรบทางอากาศ” ซึ่งได้แก่ พลเรือนที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารหลังรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2021 และเข้ามาเรียนรู้ในการควบคุมอากาศยานไร้คนขับเหล่านี้

พวกเขาใช้เวลาในการฝึกบินราว 1 ปีเศษ จนสามารถเปิดการรบทางอากาศด้วยโดรนได้จริง… ใครเลยจะคิดว่าผู้ก่อความไม่สงบในสงครามกลางเมืองเมียนมาจะมีขีดความสามารถในการทำสงครามด้วยโดรน

แม้กองทัพอากาศเมียนมาจะมีเครื่องบินรบแบบต่างๆ ประจำการ และมีความเหนือกว่าของการใช้กำลังทางอากาศในทฤษฎีของการสงครามทางอากาศ และกองทัพอากาศของฝ่ายรัฐบาลสามารถเปิดการโจมตีทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยได้ทั่วประเทศทุกจุด เพราะเป้าหมายภายในประเทศนั้น ล้วนอยู่ในพิสัยของเครื่องบินรบสมรรถนะสูง (เครื่องบินขับไล่/โจมตี) ทั้งสิ้น

การโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศเช่นนี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตของฝ่ายต่อต้าน และชีวิตของประชาชนในพื้นที่เช่นนี้ด้วย

แต่ความเหนือกว่าเช่นนี้ก็ถูกท้าทายโดยตรงจากฝ่ายต่อต้านที่เปิดสงครามทางอากาศในอีกแบบหนึ่ง ที่อาศัยโดรนราคาถูก หรือในบางครั้งมีการใช้โดรนในการเกษตรเป็นเครื่องมือ

ทำการโจมตีเป้าหมายของฝ่ายรัฐบาล และประสบความสำเร็จในหลายจุด จนดูเหมือนกองทัพเมียนมากำลังถูก “ดิสเครดิต” อย่างมากที่ฝ่ายต่อต้านสามารถเปิดการโจมตีทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดการตอบโต้กลับทางอากาศ

ในอดีตการโจมตีทางอากาศเช่นนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่มีขีดความสามารถของการตอบโต้ได้เลย เพราะฝ่ายกบฏหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในสงครามก่อความไม่สงบ ไม่เคยมีกองทัพอากาศเป็นของตนเอง อันทำให้การตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทางอากาศ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่เมื่อโดรนถูกนำมาใช้ในสนามรบ การโจมตีทางอากาศของฝ่ายต่อต้านจึงเกิดความเป็นไปได้ในทางทหาร

การโจมตีด้วยโดรนเช่นนี้เกิดที่ไหนก็ได้… เมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยนึกถึงมาก่อนเลย และต้องยอมรับว่าสงครามโดรนกำลังสร้างให้เกิด “ความกลัวตาย” ในหมู่ทหารของฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่กองทัพเมียนมายังไม่สามารถตอบโต้ได้เท่าใดนัก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสงครามโดรนเป็นปรากฏการณ์ทางทหารชุดใหม่ในสงครามเมียนมา สงครามไม่ได้รบด้วยเพียงอาวุธทางยุทธวิธีของสงครามทางบกในแบบเดิมๆ หากแต่มีมิติของเทคโนโลยีทหาร ที่อยู่ในรูปของอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ที่ทำให้เกิดเงื่อนไขของ “สงครามทางอากาศสมัยใหม่” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากสงครามกลางเมืองในอดีต เป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” ที่มักรบด้วย “อาวุธโลว์เทค” (low tech)

แต่ในครั้งนี้ “นักบิน” ของฝ่ายก่อความไม่สงบโจมตีทางอากาศด้วยโดรน หรืออาจกล่าวในอีกแบบหนึ่งว่า โดรนคือ “กองทัพอากาศของฝ่ายประชาธิปไตย”

 

บุกโจมตีเมืองหลวงทางอากาศ

สําหรับการโจมตีด้วยโดรนของฝ่าย “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (NUG) ที่เกิดขึ้นที่เมืองเนปิดอว์ในวันที่ 4 เมษายนนั้น บ่งชี้ถึง “พลวัตใหม่” ของสงคราม ที่กองบัญชาการทหาร สนามบินทหาร และบ้านพักของนายทหารระดับสูงที่อยู่ในเมืองหลวงถูกโจมตี และเป็นการโจมตีเมืองหลวงครั้งแรกของฝ่ายประชาธิปไตย

การโจมตีนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบป้องกันทางทหารที่เนปิดอว์กำลังถูกท้าทายอย่างมาก

การโจมตีทางอากาศเช่นนี้เป็นเสมือนการ “ตบหน้า” รัฐบาลทหารครั้งสำคัญด้วย เพราะสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศแต่เดิมนั้น แทบจะไม่มีผลกระทบกับชีวิตของผู้คนในเมืองหลวงแต่อย่างใด แต่การโจมตีเมืองหลวงด้วยโดรนครั้งนี้ จึงเป็นสัญญาณในตัวเองไม่เพียงสงครามสามารถคืบคลานมาถึงเมืองได้อย่างไม่ยากนัก แต่ยังเห็นถึงมิติของ “เทคโนโลยีการสงครามสมัยใหม่” ที่เห็นในสงครามเมียนมา แม้การโจมตีเช่นนี้ในความเป็นจริงแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยน “สมดุลสงคราม” ได้แต่อย่างใด

แต่อย่างน้อยการโจมตีทางอากาศของประชาธิปไตยนั้น ก็ช่วยลดทอน “ช่องว่าง” ของความเป็นอสมมาตรของทั้ง 2 ฝ่ายลงได้บ้าง หรือเกิดภาวะที่เรียกว่า “tectonic shift” ในสนามรบเมียนมา

ในส่วนหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลแถลงว่าสามารถทำลายโดรนของฝ่ายต่อต้านได้ 7 ลำ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และว่าที่จริงแทบไม่มีข้อมูลที่ปรากฏเป็นรายละเอียดทางทหาร เช่น โดรนออกจากฐานปฏิบัติการที่ใด โดรนเป็นแบบใด มีพิสัยบินเท่าใด และพิกัดบรรทุกน้ำหนักระเบิดได้เท่าใด (แตกต่างจากสงครามโดรนในยูเครน ซึ่งค่อนข้างจะมีข้อมูลรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวมากพอสมควร) จนต้องถือว่าสงครามโดรนเป็นพลวัตใหม่ของสงครามกลางเมืองเมียนมาอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม พลวัตใหม่ของสงครามชุดนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยทางทหารของฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นได้จากมีการยอมแพ้ของหน่วยทหาร การถูกจับกุม การหนีทหาร การแปรพักตร์ของทหาร เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้สิ่งที่เกิดเช่นนี้จะยังไม่สามารถเปลี่ยน “ดุลภาพสนามรบ” ได้ทั้งหมด แต่ก็เห็นถึงพลังอำนาจทางทหารของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่มีความเข้มแข็งในแบบเดิม และสภาวะเช่นนี้ยังสำทับด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในสงครามก่อความไม่สงบในรูปแบบของสงครามโดรน

ภาวะของความถดถอยทางทหารในอีกด้าน ยังเห็นในอีกด้านด้วยการประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่ ที่ชายอายุ 18-35 หรือในบางกรณีอาจถึง 45 ปี และหญิงอายุ 18-27 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพราะการประกาศเกณฑ์ทหารเช่นนี้ บ่งบอกถึงความขาดแคลนกำลังพลในสนามรบ อันเป็นผลจากความสูญเสียทางทหารที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการประกาศระดมพลของรัสเซีย ที่ประสบกับความสูญเสียในยูเครน ภาวะเช่นนี้ ทำให้คนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากต้องหนีออกจากประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นมาแล้วในรัสเซีย…

คนหนุ่มสาวในโลกยุคปัจจุบันไม่มีใครอยากไป “ตาย” ในสงคราม ที่ผู้นำสร้างขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านตัว

 

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เกิดอาจจะสะท้อนให้เห็นมิติใหม่ของสงคราม เช่น คนหนุ่มสาวที่ตัดสินใจหนี “เข้าป่า” เพื่อร่วมกับกองกำลังของชาติพันธุ์นั้น เป็นนักศึกษาที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น นักศึกษาสาขาวิศวกรรม หรือบางคนเป็นลูกหลานชนชั้นกลางที่ชอบเล่นโดรนเป็นงานอดิเรก

แต่วันนี้พวกเขากลายเป็นนักรบในสงครามทางอากาศสมัยใหม่ ด้วยการเป็นผู้ควบคุมโดรน และเรียนในหลักสูตรสมัยใหม่แบบปัจจุบัน คือ เรียนผ่านยูทูบและอินเตอร์เน็ต อันนำไปสู่การจัดตั้ง “แผนกโดรน” ในกองกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

หรืออาจกล่าวได้ว่า อินเตอร์เน็ตกลายเป็น “ศูนย์ฝึกการบิน” ที่แท้จริง

 

ความท้าทายในอนาคต

สุดท้ายนี้ พลวัตสงครามในเมียนมา เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม และดูจะเป็น “สิ่งบอกเหตุ” ที่บ่งบอกว่า อนาคตของผู้นำรัฐบาลทหารนั้นน่าจะลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะสงครามโดรนได้เดินทางถึงตัวเมืองหลวงที่เป็นฐานที่มั่นหลักของรัฐบาลแล้ว…

สงครามเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดในสนามรบที่เมียนมาแล้วด้วย