ซ้ายพอเพียง

คำ ผกา

ฉันคิดว่าได้พยายามอธิบายไปหลายร้อยหลายพันรอบเรื่องทำไมรัฐบาลให้ใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกับร้านสะดวกซื้อได้ว่า

หนึ่ง โครงการนี้ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องการกีดกันการค้า หรือไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องเพิ่มปริมาณร้านโชห่วย

สอง หากมีเงื่อนไขห้ามซื้อในร้านสะดวกซื้อก็จะโดนโจมตีอยู่ดีว่า ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต

และอย่างน่าอัศจรรย์ใจที่หลังจากนั้น บรรดากลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คนหัวก้าวหน้า” ในประเทศนี้พากันออกมาโจมตีเรื่องรัฐบาลทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเอื้อนายทุน สนับสนุนทุนเจ้าสัว สนับสนุนทุนผูกขาด

ซึ่งฉันได้พยายามอธิบายต่อดังที่ปรากฏในบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยว่า รัฐบาลเปิดอิสระว่าจะซื้อที่ไหนก็ได้ที่เราสะดวก หากเราอยากประกาศเลิกสนับสนุนทุน “เจ้าสัว” ก็แค่ไปซื้ออย่างอื่นจากที่อื่นที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ไม่เห็นจะเข้าใจยากตรงไหน

สิ่งที่ฉันอยากจะอธิบายให้บรรดา “คนหัวก้าวหน้า” ในสังคมไทย (ที่มักจะมีปัญหากับรัฐบาลเพียงเพราะรัฐบาลนั้นไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มีจริตตรงกันกับตนเอง) ว่า เวลาที่พูดเรื่องทุนผูกขาด ทุนเจ้าสัว

ผู้พูดมีความเข้าใจระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจการบริโภคของผู้คนในสังคมไทยและแม้กระทั่งของตนเองแค่ไหน

และที่ฉันได้เจอมาและต้องหัวเราะออกมาดังมากคือ มีบรรณาธิการอาวุโสคนหนึ่งที่จัดว่าเป็นอดีตฝ่ายซ้าย คนหัวก้าวหน้า เคยสนับสนุนคนเสื้อแดงและเปลี่ยนมาเป็นส้มคนหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ถ้าไม่มี cp ผมจะมีความสุขมาก ผมไม่มีปัญหาเรื่องการซื้ออาหารการกิน เช่น ผมชอบซื้อขนมครกจากแม่ค้าหน้าปากซอยวัดกิน”

อ่านแล้วฉันก็ถอนหายใจว่า เมื่อไหร่ so called ปัญาชนประเทศนี้จะเลิกไร้เดียงสา

 

อันดับแรกที่อยากจะถามคือ ตลอดชีวิตลุงนอกจากเป็นบรรณาธิการหนังสือเมื่อห้าทศวรรษที่แล้ว ชีวิตลุงเคยหาอยู่หากินเอง เข้าครัว จ่ายตลาด ทำอาหารเองหรือไม่?

เพราะลุงจะเห็นแม่ค้าขนมครกหน้าปากซอยวัดแบบในภาพวรรณกรรมว่านี่แหละคือชาวบ้าน “ที่แท้”

แม่ค้าตัวเล็กๆ ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับทุนใหญ่

ถ้าเขียนเป็นนิยายก็เป็นพล็อตว่าด้วยแม่ค้าขนมครกต่อสู้กับขนมครกทุนใหญ่ในร้านสะดวกซื้ออย่างเดียวดาย ทว่า เด็ดเดี่ยว

แต่ในความเป็นจริงคือ แม่ค้าซื้อแป้งข้าวเจ้า น้ำมันพืช กะทิ และน้ำตาลจากแม็คโคร

ไม่มีแม่ค้าคนไหน โม่แป้ง คั้นกะทิ หรือทำน้ำตาลเอง ตัวกำหนดว่าแม่ค้าจะซื้อวัตถุดิบจากตลาด จากผู้ค้ารายย่อย หรือจากแม็คโคร คือ “ราคา” ที่ไหนราคาถูกกว่า อะไรสะดวกสำหรับเขามากกว่า เขาจะซื้อที่นั่น ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นธุรกิจเจ้าสัวหรือไม่

ขายของเสร็จ แม่ค้าขนมครกหากเขาสะดวกเขาก็เอาเงินของลุงไปซื้อของกินของใช้ในร้านเจ้าสัว

ห่วงโซ่ของการบริโภคมันเป็นเช่นนี้ ที่สำคัญลุงคงไม่ได้กินขนมครกสามมื้อทุกวัน

และฉันพนันว่าลุงไม่เคยรู้ว่าที่มาของอาหารแต่ละจานของลุงมาจากไหน

เพราะถ้ารู้ ความสุขของลุงก็อาจจะหลุดลอยไปเลยก็เป็นได้

 

ฉันเป็นหนึ่งในคนที่พูดเรื่องความสำคัญของการสร้างทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่ไม่ได้มาจาก “ทุนใหญ่” มาตลอดชีวิต

และมั่นใจว่าเป็นคนหนึ่งที่เขียนเรื่อง “อาหาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารถิ่น

ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่า บทความเรื่อง “ลาบควาย” ในหนังสือ “จดหมายจากสันคะยอม” ตั้งแต่ปี 2003 ของฉันน่าจะเป็นงานเขียนเกี่ยววัฒนธรรม “ลาบ” ก่อนที่มันเพิ่งจะฮิป และกลายเป็นเรื่องเก๋ไก๋มาในกระแสเชฟเทเบิล หรือกระแสฟู้ดดี้ ที่เพิ่งมาบูมกันในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ที่ต้องเล่า ไม่ได้เพื่อจะเคลม แต่เพื่อจะบอกว่า ฉันเข้าใจประเด็นของการ “ต่อสู้เพื่อที่ทางของคนตัวเล็กตัวน้อย” (ชุดคำศัพท์ประโยคแบบเอ็นจีโอ) ทางเลือกที่จะไม่ตกเป็นทาสของทุนใหญ่

ความรุ่มรวยในวัฒนธรรมอาหารที่อาจสูญหายไปจากวัฒนธรรมการบริโภคที่มาพร้อมกับการผูกขาดอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร

และยืนยันห้าร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันต้องดีกว่าแน่ๆ หากเรามีทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่หลากหลายยิ่งมากยิ่งดี

และฉันมั่นใจในฐานะที่เป็นคน “เยอะ” ที่สุดคนหนึ่งในเรื่องอาหาร

ในฐานะที่มีน้ำตาลเป็นสิบๆ ชนิดอยู่ในบ้านตั้งแต่น้ำตาลอ้อยของโอกินาวา จากดอยสะเก็ด จากแม่สอด มีน้ำตาลปัตตานี มีน้ำตาลมะพร้าวจากอัมพวา น้ำตาลก้อน น้ำตาลปึก น้ำตาลอ้อยบดจากจันทบุรี มีแบบผง แบบเหลว เป็นน้ำตาลจากเกสรดอมะพร้าว มีแบบก้อน

มีสารพัดจากความบ้าคลั่งวัตถุดิบอาหารที่ไม่ได้มาจาก “อุตสาหกรรมเกษตร”

ยังไม่นับว่ามีเกลือจากหลายจังหวัดในไทย และจากประเทศต่างๆ ทั้งโลกนี่แหละ

และฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่กินไก่ “ฟาร์ม” จากอุตสาหกรรมเกษตร แต่เลือกกินไก่บ้านเท่านั้น

หากไม่มีเวลาไปหาไก่บ้านในตลาด สมัยนี้ก็สามารถสั่งไก่บ้านจากฟาร์มเกษตรกรสมัยใหม่ได้มาตรฐานที่สามารถสั่งทางออนไลน์ได้

 

ยังไม่นับว่าฉันมีไลน์ของร้านขายผักออร์แกนิกส์ ผักพื้นบ้านและสินค้าอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้าน สดกิ๊กที่ส่งมาวันต่อวัน สั่งของทางไลน์ ของมาส่งถึงประตูบ้าน

และยังไม่นับว่า ฉันซึ่งมีบ้านอยู่เชียงใหม่ สามารถให้ที่บ้านส่งผักพื้นบ้านนานาชนิดจากสวนผักของคนรู้จัก หรือแม้กระทั่งผักป่า ผักธรรมชาติ ซึ่งฉันก็มั่นใจอีกว่าปัญญาชนต้านทุนใหญ่ทั้งหลายไม่รู้จัก ไม่เคยกิน (เพราะปัญญาชนต้านทุนใหญ่ส่วนใหญ่ก็กินแต่อาหารอุตสาหกรรมนั่นแหละ เพียงแต่พวกเขาส่วนใหญ่ไม่มีความรู้)

แม้กระทั่งยอดมะพร้าวอ่อนที่มาจากต้นมะพร้าวที่เพิ่งถูกโค่นลงไปกลิ่นหอมจรุง ไม่ใช่ยอดมะพร้าวขาวจั๊วะที่ขายอยู่มากมายในตลาดอันไร้กิ่น ไร้รสชาติ ฉันก็มั่นใจว่ามีน้อยคนจะเคยเห็นและเคยกินจริงจัง

ในตู้เย็นของฉันมีทั้งตัวต่อ จี้โกร่ง ตัวอ่อนผึ้ง แมงมัน ไข่มดแดง หมูป่า

ยังไม่นับวิถีชีวิตที่ฉันปลูกผักสวนครัวเล็กๆ อยู่เสมอแม้ในพื้นที่จำกัดในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นกะเพรา โหระพา ขิง ข่า ใบเตย ใบแมงลัก สะระแหน่ แม้แต่ลูกหม่อน และยังทำอาหาร ทำขนมปัง อบขนมกินเอง เป็นชีวิตประจำวัน

ดังนั้น ฉันจึงมั่นใจว่าหากจะมีใครสักคนลุกมาต้านทุนใหญ่และไม่เข้าเซเว่นฯ เลย 1 ปี ก็คือตัวฉันนี่แหละที่จะทำสำเร็จเพราะฉันมีความฟุ่มเฟือยในชีวิตทั้งทางด้านการเงินและเวลา ที่จะแสวงหาอาหาร “ทางเลือก” โดยไม่ต้องพึ่งผลิตภัณฑ์ที่มาจากทุนใหญ่เลย ยกเว้นฉุกเฉินเดินไปซื้อที่ชาร์ตแบตโทรศัพท์ หรือซื้อยา

แต่ฉันไม่เคยมีไอเดียจะทำแคมเปญต้านทุนใหญ่ ต้านโลตัส บิ๊กซีใดๆ และยิ่งนั่งมองวิธีการเล่าเรื่องหรือวิธีการโจมตีทุนใหญ่ของ ngos ที่ทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารฉันยิ่งสลดใจ

 

อันดับแรก ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางอาหารและความยั่งยืนของโลกก็เป็นหนึ่งในธุรกิจของ ngos โดยเฉพาะประเทศโลกที่หนึ่ง เช่น ขบวนการ slow food

คนเหล่านี้โจมตีการทำแพลนเทชั่นข้าวโพดในอเมริกาเพื่อมาเลี้ยงวัว ต่อต้านน้ำตาลจากข้าวโพด เหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายป่า และทำลายสุขภาพ เคลื่อนไหวกันมายาวนานหลายทศวรรษ

ฉันยอมรับว่ามันสร้างความตระหนักรู้ แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

เพราะการเมืองเรื่องเศรษฐกิจอาหารและการเกษตรมันมีฟังก์ชั่นที่ฉันอยากใช้คำว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

เว้นแต่ว่าเราทั้งโลกจะผละออกจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้แล้วพร้อมใจกันเป็นเกษตรพอเพียงหาอยู่หากิน ไม่ต้องมีรถไฟ รถไฟฟ้า เครื่องบิน ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และทุกอย่างที่เรามีจนเรา take it for granted

สุดท้าย awareness ที่ ngos เหล่านี้สร้างขึ้น ก็แค่กลายเป็นเครื่องประดับไลฟ์สไตล์ของ “ชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน” ที่อยากมีอาภรณ์ประดับกายเป็นฝ่ายซ้าย wannabe

นั่นคือในขณะที่ชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลางธรรมดา กินหมู กินไก่ ราคาถูกจากร้านค้าส่งราคาถูก เพราะมันสมเหตุสมผลกว่าในมิติเศรษฐกิจการเงินภาคครัวเรือน ผู้มีอันจะกิน ชนชั้นกลาง มีการศึกษาและมีจิตสำนึกอุดมการณ์รักษ์โลก ก็อยู่บ้านที่ดีไซน์มาติดดิน ใกล้ชิดธรรมชาติ (แต่แพงมาก ยิ่งธรรมชาติยิ่งแพง) มีสวน มีห้องครัว มีเครื่องอำนวยความสะดวกนานา มีเตาฟืน เตาถ่าน และมีเงินพอที่จะซื้อผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่มาจากเกษตรกรรายย่อย แยมโฮมเมด ไวน์ออร์แกนิกส์ ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ กาแฟแฟร์เทรด หรือบางคนก็กลายเป็นวีแกน

คนเหล่านี้ใช้ถุงผ้า ใช้เครื่องสำอาง สกินแคร์ออร์แกนิกส์ ที่ไม่ได้มีขายดาษดื่น

ชีวิตแบบนี้หาชมได้ทั่วไปใน The Cloud

 

เหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อความมั่นคงและทางเลือกแห่งอาหาร ไม่เฉพาะในไทยแต่คล้ายกันทั่วโลกก็มีคอมมูนิตี้ของปัญญาชนที่ทำงานเพื่อ endorsed แนวคิดเหล่านี้

สร้างเกษตรกรที่ทำการเกษตรไบโอบ้าง ออร์แกนิกส์บ้าง ไปเป็นพระผู้ไถ่ให้ชาวนา ชาวบ้านที่ยากจนบ้าง สุดท้ายกลายเป็น “ตัวกลาง” สร้างชาวบ้าน เกษตรกร ผลิตสินค้า niche ตอบสนองรสนิยมของผู้มีอันจะกินที่มีความรักษ์โลก ความยั่งยืน ความใกล้ธรรมชาติ เป็นอาภรณ์ประกาย

แล้วก็บอกโลกใบนี้ว่า ดูสิ ฉันทำงานหนักนะเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และพวกฉันก็กลับไปใช้ชีวิตในฟาร์มพอเพียง

ชีวิตเรียบง่ายแบบไม่ต้องมีเงินมากมาย เราเลือกแล้วว่าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้ อย่ามาด่าฉันนะว่าฉันพริวิเลจ

อือม ฟังดูดี แต่แน่ใจนะว่านี่ไม่ใช่พริวิเลจ?

เพราะสำหรับฉันไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่จะพริวิเลจเท่ากับการมีความสามารถที่จะ “เลือก”

สิ่งเหล่านี้ไม่ผิด หาก ngos เหล่านี้จะยอมรับว่า นี่คือสัมมาอาชีวะของตนเอง และเป็น “ความฝัน” ของตนเองแทนการสถาปนา ความเหนือกว่าทางศีลธรรม และเที่ยวเทศนาสั่งสอนคนอื่นว่าเป็นทาสทุนใหญ่ ไม่มีความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั่งนั่งสงสารคนจนที่ต้องกินไก่ซีพี

ทำไมรัฐปล่อยให้ทุนใหญ่ผูกขาดอุตสาหกรรมอาหาร รัฐมันชั่วช้าเลวทราม นักการเมืองเลว ฯลฯ (คนจนในเมืองใหญ่ เดี๋ยวจะมีคนมาเถียงว่าคนบ้านนอกเลี้ยงไก่กินเอง)

อันดับแรก ngos เหล่านี้ควรถ่อมตัว หรือ humble ก่อนว่าการงานและการขับเคลื่อนของตนเองเป็น alternative ของผู้มีความสามารถที่จะเลือกได้

เป็น alternative เล็กๆ บนโลกที่ mainstream หรือ เศรษฐกิจกระแสหลักมันขับเคลื่อนทั้งองคาพยพด้วยห่วงโซ่การบริโภคแบบนี้ไม่เฉพาะอาหารและกลืนกินไลฟ์สไตล์ของเราทั้งหมดและเราได้เป็นส่วนหนึ่งของมันแล้วโดยสินเชิง

สำหรับฉัน “ผู้มีความสามารถในการเลือก” ของยุคสมัยนั้นหมายรวมถึงผู้คนที่ยังได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงไก่ หาหน่อไม้สดๆ กินได้ มีสวน มีนา มีน้ำ ไม่เฉพาะผู้มีอันจะกินอาหาร “ทางเลือก”

แต่เราต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ กับจำนวนแรงงานมหาศาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอยู่อาศัยในเขต “เมือง” เป็นร่างและเงาของกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมมุติครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกในครอบครัว 6 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน และตา ยาย มีรายได้หกหมื่นบาทต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีงบฯ ค่าอาหาร 10,000 บาทต่อเดือน คำนวณออกมาแล้วมีงบฯ ค่าอาหารคนละ 55.55 บาทต่อคนต่อวัน หรือมื้อละ 18.51 บาท เท่าๆ กับที่คำนวณงบฯ ค่าอาหารกลางวันเด็กนั่นแหละ

นี่คือเหตุผลที่ฉันบอกว่า วันนี้ หากไม่มีหมู ไม่มีไข่ ไม่มีไก่จากอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ คนจนในเมือง หรือแม้แต่คนชั้นกลางในเมืองจะกินอะไร?

 

ไม่ได้บอกว่าเราต้องสนับสนุนเอื้อทุนใหญ่ให้ผูกขาด แต่ฉันก็ทำใจไม่ได้ จะมาต่อสู้ฟาดฟันเรื่องนี้ในร่างทรงของ “คนดีมีความรู้มีความมานะอดทนหักห้ามใจไม่ไหลตามกระแส” เป็นพอเพียงแบบอินดี้นั่นแหละท้ายที่สุด ซ้ายไทยกับขวาไทยก็ติดหล่ม คนดีกับพอเพียง เหมือนกันเปี๊ยบ

ย้ำสิทธิการเข้าถึงอาหารที่ดีที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่ฉันสนับสนุน แต่ที่ฉันไม่สนับสนุนคือจริต ngos ที่ชอบสวมวิญญาณลูกช่างสั่งช่างสอน แต่ตัวเองไม่เคยอัพเดตความรู้ให้ไกลกว่าการต้านทุนสามานย์ไปพร้อมๆ กับการมีชีวิตดัดจริตแต่อ้างรักษ์โลกและพร้อมล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถ้ามาจากพรรคการเมืองที่ตัวเองไม่ชอบ

เป็นซ้าย เป็นอินดี้ และเป็นฮิปปี้ที่ตกยุคจริงๆ